กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน/หมวด 4

จาก วิกิซอร์ซ
หมวด ๔
ความรับผิดของคู่สัญญาในตั๋วแลกเงิน

จะเห็นได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ตามธรรมดาบุคคลย่อมมีความรับผิดในตั๋วแลกเงินในฐานเป็นผู้สั่งจ่าย, เป็นผู้รับรอง และเป็นผู้สลักหลัง

ฐานะแห่งคู่สัญญาในตั๋วแลกเงิน:- ฐานะแห่งคู่สัญญาดังกล่าวมาแล้ว มีผู้กล่าวไว้ดั่งนี้ คือ

"ผลแห่งกฎหมายในการออกตั๋วแลกเงินให้ใช้เงินแก่บุคคลภายนอก (หรือบุคคลที่ ๓) นั้น คือ เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขของผู้สั่งจ่ายว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงิน หรือตามคำสั่งของผู้รับเงิน หรือให้แก่ผู้ถือ แล้วแต่กรณี ถ้าหากว่า ผู้รับรองไม่จ่ายให้"

ผลแห่งการรับรองตั๋วแลกเงินหรือออกตัวสัญญาใช้เงินนั้น เป็นสัญญาเด็ดขาดของผู้รับรองหรือผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงิน หรือตามคำสั่งของผู้รับเงิน หรือแก่ผู้ถือ แล้วแต่ชะนิดของตราสาร

ส่วนผลแห่งการสลักหลังนั้น คือ เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขของผู้สลักหลังว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับสลักหลังถัดตนลงไป หรือผู้รับสลักหลังในภายหลัง หรือผู้ถือ ในกรณีที่ผู้รับรองหรือผู้สั่งจ่ายผิดนัดไม่ชำระเงิน"

นอกจากนี้ มีผู้กล่าวว่า ฐานะของผู้รับรองตั๋วแลกเงินและผู้สั่งจ่ายนั้น มีลักษณะและความเกี่ยวกันคล้ายคลึงกับฐานะของลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันอยู่หลายประการ ตามที่กล่าวเช่นนี้พอจะเห็นเหตุอยู่บ้าง คือ โดยลักษณะแห่งการออกตั๋วแลกเงินนั้น ผู้สั่งจ่ายย่อมเป็นอันผูกพันตนว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงเมื่อรับรองไม่จ่ายให้ เช่นเดียวกับผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ที่จะชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่ง ในการที่ผู้ทรงจะใช้สิทธิของตนตามตั๋วเงินที่รับรองแล้ว ผู้ทรงย่อมมีหน้าที่บางอย่างต่อผู้สั่งจ่าย ทำนองเดียวกับที่เจ้าหนี้มีหน้าที่ต่อผู้ค้ำประกัน เช่น ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่าย ผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้เป็นคู่สัญญาคนก่อน ๆ ซึ่งมิได้ตกลงในการผ่อนเวลานั้น เช่นเดียวกับเมื่อเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันมิได้ตกลงด้วย ย่อมทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไป เป็นต้น (ดูมาตรา ๙๔๘ เทียบกับมาตรา ๗๐๐) อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้ทรงปลดหนี้ให้แก่ผู้รับรอง ก็ย่อมทำให้ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังคนก่อน ๆ หลุดพ้นไปด้วย เช่นเดียวกับเมื่อเจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ย่อมทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นไปด้วย

ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงความรับผิดของผู้รับรอง, ผู้สั่งจ่าย และผู้สลักหลัง โดยลำดับตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะตั๋วเงิน

ผู้รับรอง

ความรับผิดของผู้รับรอง:- มาตรา ๙๓๗ บัญญัติว่า "ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ต้องพูกพันในอันที่จะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน"

มาตรานี้เป็นแม่บทความรับผิดของผู้จ่าย ซึ่งเมื่อได้รับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมเกิดเป็นคู่สัญญา และต้องรับผิดในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในตั๋วแลกเงินในอันที่จะต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่ตนรับรองและตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน เพราะฉะนั้น ถ้าได้รับรองแล้วมีผู้แก้ไขจำนวนเงินในตั๋วให้มากขึ้น ผู้รับรองจะต้องรับผิดแต่ฉะเพาะจำนวนที่ตนรับรองเท่านั้น โดยเหตุว่า ผู้รับรองไม่มีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้ใครเปลี่ยนแปลงแก้ไขตั๋วแลกเงิน

ควรสังเกตว่า ผู้รับรองตั๋วแลกเงินมีฐานะต่างกับผู้สั่งจ่ายเช็คในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดั่งกล่าวมาแล้ว กล่าวคือ ในเรื่องเช็ค ผู้สั่งจ่ายมีหน้าที่ ๆ จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเขียนเช็คถึงธนาคารที่จะป้องกันมิให้มีทางที่จะแก้ไขข้อความ เช่น จำนวนเงินที่เขียนลง เป็นต้น ในคดีเรื่องหนึ่ง บริษัทค้าขายแห่งหนึ่งมีเสมียนคนหนึ่งที่บริษัทไว้ใจเป็นคนเขียนเช็คไว้เพื่อให้ผู้จัดการลงชื่อ ในโอกาสครั้งหนึ่ง เสมียนผู้นั้นได้เขียนเช็คฉะบับหนึ่งถึงธนาคารที่บริษัทมีเงินฝากอยู่ให้จ่ายเงิน ๒ ปอนด์ แล้วนำไปให้ผู้จัดการลงชื่อ จำนวนเงินนี้ได้เขียนด้วยตัวเลข ไม่ได้เขียนด้วยตัวอักษร และทิ้งช่องว่างไว้ข้างจำนวนเงินทั้ง ๒ ข้าง ผู้จัดการกำลังมีธุระ ได้ลงชื่อในเช็คนั้นโดยมิได้ตรวจตรา ต่อมา เสมียนนั้นได้เขียนค่าเติมลงไปว่า "ร้อยยี่สิบปปอนด์" และแก้เลข ๒ เป็น ๑๒๐ ที่ทำได้เพราะมีช่องว่างเหลือไว้ แล้วนำไปขึ้นเงินและหลบหนีไป บริษัทจึงนำคดีขึ้นฟ้องธนาคารเรียกเงิน ๑๑๘ ปอนด์โดยอ้างว่า ธนาคารจ่ายเกินไป ศาลอังกฤษตัดสินว่า ผู้สั่งจ่ายมีหน้าที่ต่อธนาคารที่จะใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการแก้ไขขึ้นได้ ในเรื่องนี้ การแก้ไขจำนวนเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของผู้จัดการ บริษัทต้องเป็นผู้รับความเสียหาย และฟ้องไม่ขึ้น (ดูมาตรา ๙๙๗ วรรคสุดท้าย ประกอบด้วย)

ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง

ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง:- มาตรา ๙๑๔ บัญญัติว่า "บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้ว จะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว และถ้าตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่า ได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว"

ข้อความในตอนที่ว่า "จะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว" นั้น ย่อมแยกออกพิจารณาได้เป็น ๒ กรณี คือ (๑) จะมีผู้รับรองตามเนื้อความแห่งตั๋ว และ (๒) จะมีผู้ใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว

สำหรับกรณี (๑) ที่ว่า "จะมีผู้รับรองตามเนื้อความแห่งตั๋ว" นั้น ย่อมหมายความว่า จะมีผู้รับรองตามเนื้อความที่ผู้สั่งจ่ายได้มีคำสั่งไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง เท่ากับผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังสัญญาว่า ตั๋วนั้นจะมีการรับรองตลอดไป เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการรับรองตลอดไปแล้ว ย่อมถือได้ว่า ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังผิดสัญญา ซึ่งผู้ทรงชอบที่จะถือว่า ไม่มีการรับรอง และจัดการว่ากล่าวเอาแก่ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อไปได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ทรงไม่จำต้องเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย.

ส่วนในกรณี (๒) ที่ว่า "จะมีผู้ใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว" นั้น หมายความว่า

(ก) จะมีผู้ใช้เงินตามเนื้อความที่ผู้สั่งจ่ายมีคำสั่ง ถ้ามีการรับรองตลอดไป แต่

(ข) ถ้าตั๋วนั้นได้มีการรับรองเบี่ยงบ่าย และผู้ทรงได้ยอมรับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย คำที่ว่า "จะมีผู้ใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว" ก็หมายความว่า ตามเนื้อความที่ได้มีการรับรองโดยเบี่ยงบ่ายนั้น.

อุทาหรณ์

ตั๋วแลกเงินราคา ๑๐๐๐ บาท เมื่อผู้ทรงนำไปให้ผู้จ่ายรับรอง ผู้จ่ายรับรองแต่เพียง ๗๐๐ บาท เช่นนี้ ผู้ทรงอาจถือว่า ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังผิดสัญญา เพราะไม่ได้คำรับรองตลอดไป และจัดการว่ากล่าวเอาทั้ง ๑๐๐๐ บาทก็ได้ แต่ถ้าผู้ทรงได้ยอมรับเอาคำรับรองแต่เพียง ๗๐๐ บาท และได้บอกกล่าวไปยังผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายตามความในมาตรา ๙๓๖ แล้ว ถ้าต่อมาภายหลังปรากฏว่า ผู้รับรองหลบหนีไปเสีย ผู้ทรงก็จะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้แต่เพียงในจำนวน ๗๐๐ บาทเท่านั้น ไม่ใช่ ๑๐๐๐ บาท.

การจำกัดความรับผิด:- ข้อสัญญาของผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังดั่งกล่าวมาแล้ว อาจมีข้อลบล้างหรือจำกัดความรับผิดไว้ก็ได้ตามมาตรา ๙๑๕ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ

(๑) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อทรงตั๋วเงิน

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ"

ข้อความที่กล่าวแล้วมักใช้คำว่า "จะไล่เบี้ยเอาจากข้าพเจ้าไม่ได้" หรือ "Without resource to me" หรือ "Sans recours" เมื่อได้เขียนเช่นนี้แล้ว ถึงแม้ว่า ตั๋วนั้นจะไม่มีการรับรองหรือไม่มีการใช้เงินก็ดี ก็ฟ้องผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังที่เขียนข้อความลงไว้เช่นนั้นไม่ได้

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นเรื่องความรับผิดฉะเพาะตัวผู้รับรอง ผู้สั่งจ่าย และผู้สลักหลังอันมีต่อผู้ทรง ส่วนอำนาจที่ผู้ทรงจะฟ้องใครได้อย่างไรนั้น มีบัญญัตืไว้ในมาตรา ๙๖๗ ว่า "ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน.

สิทธิเช่นเดียวกันนี้ย่อมมีแก่บุคคลทุกคนซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินและเข้าถือเอาตั๋วเงินนั้น ในการที่จะใช้บังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน.

การว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนหนึ่งซึ่งต้องรับผิด ย่อมไม่ตัดหนทางที่จะว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนอื่น ๆ แม้ทั้งจะเป็นฝ่ายอยู่ในลำดับภายหลังบุคคลที่ได้ว่ากล่าวเอาความมาก่อน"

อุทาหรณ์

ตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่งมีชื่อ ก. เป็นผู้สั่งจ่าย ข. เป็นผู้จ่าย และ ค. เป็นผู้รับเงิน ตั๋วฉะบับนี้ได้มีการสลักหลังกันต่อมาอีก โดย ง. และ จ. เป็นผู้สลักหลัง ในเวลานี้ ฮ. เป็นผู้ทรง.

ถ้า ข. ไม่ยอมรับรอง เป็นเหตุให้ตั๋วแลกเงินขาดความเชื่อถือ ฮ. อาจฟ้อง ก. หรือ ค. หรือ ง. หรือทั้ง ๔ คนก้ได้

ถ้า ข. ยอมรับรองตั๋วแลกเงินแล้วภายหลังไม่จ่าย ฮ. อาจฟ้อง ก. ข. ค. ง. จ. ร่วมกันหรือแต่บางคนก็ได้ ถ้า ฮ. เลือกฟ้องบางคน จะเลือกฟ้องใครก่อนก็ได้ สมมติว่า ฮ. เลือกฟ้อง จ. ก่อน แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ ฮ. อาจฟ้อง ก. ผู้สั่งจ่ายอีกได้ และถ้ายังไม่ได้รับชำระหนี้อีก ก็อาจฟ้องคนอื่น ๆ ได้จนกว่า ฮ. จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วนั้น.

สมมุติว่า ง. ซึ่งเป็นผู้สลักหลัง เข้าใช้เงินและเข้ายึดถือเอาตัวเงินนั้น ง. ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้อง ก. ข. ค. ร่วมกันหรือแต่บางคนได้ แต่จะฟ้อง จ. ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ที่ผูกพันอยู่ก่อน ง. จ. เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วแลกเงินฉะบับนั้น

ถ้า ข. ซึ่งเป็นผู้รับรองชำระเงินตามตั๋ว ก็เป็นอันว่า ตั๋วแลกเงินนั้นบรรลุประสงค์ ได้มีการชำระหนี้กันแล้ว หนี้เดิมเป็นอันระงับ ฮ. ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องผู้ใดอีก.

การที่ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากผู้ที่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินได้เพียงไรนั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖๘ ดั่งนี้ "ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ

(๑) จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้ กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อกำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย.

(๒) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด

(๓) ค่าใช้จ่ายในการคัดค้าน และในการส่งคำบอกกล่าวของผู้ทรงไปยังผู้สลักหลังถัดจากตนขึ้นไปและผู้สั่งจ่าย กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

(๔) ค่าชักส่วนลด ซึ่งถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ท่านให้คิดร้อยละ / ในต้นเงินอันจะพึงใช้ตามตั๋วเงิน และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านมิให้คิดสูงกว่าอัตรานี้

ถ้าใช้สิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนด ท่านให้หักลดจำนวนเงินในตั๋วเงินลงให้ร้อยละห้า"

ส่วนในกรณีที่คู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วคนหนึ่งคนใดใช้เงินไปตามตั๋ว จะไล่เบี้ยเอาแต่คู่สัญญาคนก่อน ๆ ได้เพียงไรนั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖๙ ดั่งนี้ "คู่สัญญาฝ่ายซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน อาจจะเรียกเอาเงินใช้จากคู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตนได้ คือ

(๑) เงินเต็มจำนวนซึ่งตนได้ใช้ไป

(๒) ดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้น คิดอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ใช้เงินไป

(๓) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันตนต้องออกไป

(๔) ค่าชักส่วนลดจากต้นเงิน จำนวนในตั๋วแลกเงิน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๖๘ อนุมาตรา (๔)"

คำว่า "ค่าชักส่วนลด" ตามมาตราทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้ว ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "commission" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับค่าป่วยการ และคิดบวกเข้ากับจำนวนเงินในตั๋วนั้นได้