กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน/หมวด 8

จาก วิกิซอร์ซ
หมวด ๘
การแก้ไขตั๋วเงิน ตั๋วเงินปลอม ตั๋วเงินหาย

การแก้ไขตั๋วเงิน:- ในเรื่องที่มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในตั๋วเงินนั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๐๗ ดั่งนี้ "ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดชอบตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่า ตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง ฯลฯ"

อุทาหรณ์

ก. เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่ง ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในตั๋วให้มากขึ้น แล้วสลักหลังตั๋วนั้นให้แก่ ข. ข. สลักหลังตั๋วต่อไปให้กับ ค. โดย ข. กับ ค. รู้เรื่องในการแก้ไขรายนี้

ค. จะฟ้องคู่สัญญาคนก่อน ๆ ก. ไม่ได้

แต่ ค. ฟ้อง ก. และ ข. ได้ เพราะ ก. เป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และ ข. เป็นผู้สลักหลังในภายหลัง ในการฟ้องนี้ ค. ย่อมฟ้อง ก. และ ข. ตามจำนวนเงินที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้นนั้น เพราะการที่ ก. และ ข. สลักหลังตั๋วเงิน ย่อมเป็นอันสัญญาว่า จะมีผู้ใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ซึ่งหมายว่า ตามจำนวนเงินที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งตนได้สลักหลังตั๋วไปนั้น

สำหรับผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ได้รับผลพิเศษดั่งที่บัญญัติไว้ในวรรค ๒ แห่งมาตรา ๑๐๐๗ ดั่งต่อไปนี้ "แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่า ผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดั่งว่า มิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้"

ฉะนั้น ตามอุทาหรณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าการแก้ไขนั้นไม่อาจแลเห็นได้ง่าย และ ค. เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำโดยสุจริต เช่นนี้ ค. จะใช้สิทธิฟ้อง ก. และ ข. ตามความในวรรคแรกดั่งที่ได้อธิบายมาแล้วก็ได้ หรือจะฟ้องคู่สัญญาคนก่อน ๆ ก. ตามจำนวนเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไขตามวรรค ๒ นี้ก็ได้ แล้วแต่จะเลือก

ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอันเกี่ยวกับการสลักหลังนั้น มีคดีอังกฤษเรื่องหนึ่ง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนั้นดั่งต่อไปนี้ ตั๋วสัญญาใช้เงินฉะบับหนึ่งมีข้อความให้จ่ายเงินแก่บริษัทแห่งหนึ่งชื่อ The Goodrich Organ Co. บริษัทนี้ภานหลังเปลี่ยนเป็นบริษัทจำกัด เลขานุการของบริษัทจึงเขียนคำว่า "limited" (จำกัด) เติมลงในตั๋วที่ข้างหลังชื่อบริษัท ต่อมาบริษัทได้สลักหลังตั๋วฉะบับนั้นให้ไปแก่บุคคลผู้หนึ่งซึ่งกระทำการโดยสุจริต มีปัญหาว่า บริษัทจะต้องรับผิดชอบตามตั๋วนั้นหรือไม่ ศาลตัดสินว่า จริงอยู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายนี้ไม่ประจักษ์ แต่ว่า ตามกฎหมายการใช้เงินจะบังคับเอาได้แต่ฉะเพาะเนื้อความเดิมแห่งตั๋ว ก็ตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้น ชื่อของบริษัทหามีคำว่า "จำกัด" ต่อท้ายไม่ เมื่อบริษัทได้สลักหลังไปในชื่อที่มีคำว่า "จำกัด" ต่อท้ายอยู่ด้วยเช่นนี้ การสลักหลังก็ย่อมใช้ไม่ได้ บริษัทจึงไม่ต้องรับผิดชอบตามตั๋วนั้น

เรื่องนี้ บางทีจะมีผู้สงสัยว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะการที่เลขานุการของบริษัทเป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ก็เท่ากับบริษัทเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอง ซึ่งตามกฎหมายตั๋วเงินย่อมจะใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ความจริง เรื่องนี้ ถ้าไม่เกี่ยวกับสลักหลัง ก็อาจเป็นดั่งว่านั้นได้ แต่โดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสลักหลัง ซึ่งเมื่อปรากฏว่า คำสลักหลังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่เป็นคำสลักหลังตามเนื้อความเดิม คือ ตามชื่อเดิมของบริษัทแล้ว ก็เท่ากับไม่มีคำสลักหลังของบริษัท เพราะฉะนั้น บริษัทจึงหาต้องรับผิดชอบไม่

ควรสังเกตว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีผลตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นข้อสำคัญนั้น ตามวรรค ๓ แห่งมาตรา ๑๐๐๗ บัญญัติว่า "กล่าวโดยฉะเพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่า เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้า โดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย"

ปัญหาที่ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไรเป็นข้อสำคัญหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ตั๋วเงินปลอม:- ได้กล่าวมาแล้วว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น (มาตรา ๙๐๐) กล่าวคือ ถ้าได้ลงชื่อในฐานเป็นผู้สั่งจ่ายหรือในฐานเป็นผู้สลักหลัง ก็ต้องรับผิดตามมาตรา ๙๑๔ ถ้าได้ลงชื่อในฐานเป็นผู้รับรอง ก็จะต้องรับผิดตามมาตรา ๙๓๗ แต่ถ้าลายมือชื่อของผู้ใดปรากฏในตั๋วเงินโดยเจ้าของลายมือชื่อเขามิได้ลงเอง กล่าวคือ เป็นลายมือชื่อที่ผู้อื่นเขียนปลอมลง โดยเจ้าของลายมือชื่อมิได้รู้เห็นด้วย เช่นนี้ ตามความคิดธรรมดา ก็ย่อมจะแลเห็นได้ว่า ที่จะไปเกณฑ์ให้เจ้าของลายมือชื่อรับผิดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่เอง

แต่ปัญหาอาจมีขึ้นได้ว่า เมื่อตั๋วเงินมีลายมือชื่อปลอม เช่น ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม เป็นต้น แล้วตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังกันต่อไป ผู้ที่สลักหลังภายหลังที่มีการปลอมเช่นนี้จะต้องรับผิดตามตั๋วนั้นหรือไม่ เพราะอาจมีข้อเถียงว่า เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือปลอมแล้ว ตั๋วแลกเงินนั้นก็เป็นอันใช้ไม่ได้ ผู้ที่สลัดหลังในภายหลังจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ข้อเถียงเช่นนี้ฟังไม่ได้ เพราะตั๋วแลกเงินนั้น กฎหมายต้องการเพียงให้มีรายการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐๙ กฎหมายไม่ได้ประสงค์เลยไปถึงว่า รายการเหล่านั้นจะต้องเป็นรายการอันถูกต้องแท้จริง เพราะฉะนั้น เมื่อตั๋วแลกเงินปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้ว แม้ลายมือชื่อนั้นจะเป็นลายมือปลอมก็ดี ก็หาทำให้ตั๋วนั้นเสียไปไม่ และเมื่อตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังกันต่อไป การสลักหลังก็เท่ากับผู้สลักหลังอันเป็นสัญญาว่า ตั๋วนั้นจะมีผู้ใช้เงิน มิฉะนั้น ตนจะเป็นผู้ใช้ให้ ดั่งนี้ คำตอบในปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือ ผู้สลักหลังภายหลังที่ได้มีการปลอมลายมือชื่อในตั๋วจะต้องรับผิดตามคำสลักหลังของตนนั้น เช่น ตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่งมีชื่อนายแดงเป็นผู้สั่งจ่ายเงินเอาจากตนเองให้แก่ ก. หรือตามคำสั่ง ความจริง ก. เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อนายแดง หรือนัยหนึ่ง ปลอมตั๋วนั้นขึ้นทั้งฉะบับ ก. สลักหลังตั๋วนั้นให้แก่ ข. ข. สลักหลังต่อไปให้ ค. ในการที่ ก. และ ข. สลักหลังตั๋วนั้น ก็เท่ากับ ก. และ ข. สัญญาว่า ตั๋วนั้นจะมีผู้จ่ายเงินเมื่อถึงกำหนด ถ้ามิฉะนั้น ตนจะเป็นผู้ใช้ให้ ดั่งนี้ เมื่อ ค. นำตั๋วไปขึ้นเงินจากนายแดงไม่ได้ เพราะนายแดงถูกปลอมชื่อ ค. ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจาก ก. และ ข. ได้ สำหรับ ข. ถ้าได้ใช้เงินไปแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจาก ก. อีกต่อหนึ่ง ดั่งนี้ มาตรา ๑๐๐๖ จึงบัญญัติว่า "การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม ย่อมไม่กะทบกะทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น"

การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ต้องระวังอย่าเข้าใจเลยไปถึงว่า เพราะเหตุที่กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อลายมือปลอมไม่กะทบกะทั่งถึงความความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ แล้ว ผู้ทรงก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องคู่สัญญาอื่น ๆ ในตั๋วที่มิได้ถูกปลอมชื่อด้วยทุกคนนั้น หามิได้ เพราะสิทธิของผู้ทรงที่จะฟ้องร้องตามตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมนั้นมีบทบังคับอยู่ตามมาตรา ๑๐๐๘ ซึ่งจะเห็นได้ดั่งที่จะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้ว่า ผู้ทรงจะฟ้องผ่านลายมือปลอมขึ้นไปมิได้ อุทาหรณ์ที่ยกมาในเรื่องข้างบนนี้เป็นเรื่องที่ผู้ทรงมีสิทธิฟ้องคู่สัญญาภายหลังลายมือปลอมเท่านั้น ไม่ใช่ฟ้องผ่านลายมือปลอม ฉะนั้น การอ่านมาตรา ๑๐๐๖ จึงต้องอ่านรวมไปกับมาตรา ๑๐๐๘ ด้วย ซึ่งเป็นมาตราสำคัญในเรื่องนี้

มาตรา ๑๐๐๘ บัญญัติว่า "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่า ลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่า ไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ ท่านมิให้กะทบกะทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม"

ข้อความที่ว่า "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้" ในที่นี้มีความหมายอย่างเดียวกับที่จะกล่าวว่า "เว้นแต่ข้อความในประมวลกฎหมายนี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งหมายความว่า มาตรา ๑๐๐๘ นี้เป็นหลักทั่วไปซึ่งมีข้อยกเว้นอยู่ในมาตราอื่น เช่น มาตรา ๙๔๙ และมาตรา ๑๐๐๙ เป็นต้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ เช่น ในมาตรา ๑๐๐๘ มีหลักอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าลายมือในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมหรือลงโดยปราศจากอำนาจแล้ว ผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิจากลายมือปลอมหรือลายมือที่ลงปราศจากอำนาจนั้นเพื่อทำให้ตั่วเงินหลุดพ้นไม่ได้ การใช้เงินตามตั๋วเป็นวิธีที่ทำให้ตั๋วหลุดพ้นได้วิธีหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะถือตามหลักนี้แล้ว บุคคลที่ใช้เงินไปตามตั๋วเงินซึ่งมีลายมือชื่อปลอมหรือลงโดยปราศจากอำนาจก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากความรับผิดได้เลย แต่ในมาตรา ๙๔ช และมาตรา ๑๐๐๙ บัญญัติถึงวิธ๊ที่จะทำให้ผู้ใช้เงินตามตั๋วหลุดพ้นจากความรับผิดแม้มีลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอำนาจ เพราะฉะนั้น มาตรา ๙๔๙ และมาตรา ๑๐๐๙ จึงเป็นข้อยกเว้นของมาตรา ๑๐๐๘ ดั่งนี้เป็นต้น

ข้อความในตอนที่ว่า "ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอยางใดอย่างหนึ่งเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่า ไม่อาจทำได้เป็นอันขาด" นั้น เป็นข้อความจำกัดสิทธิของผู้ทรง (จะเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ดีป ซึ่งจะฟ้องคู่สัญญาแห่งตั๋วคนใดโดยอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิจากลายมือปลอมไม่ได้ หรือนัยหนึ่ง จะฟ้องผ่านลายมือชื่อปลอมขึ้นไปไม่ได้

อุทธาหรณ์

(๑) ตั่วแลกเงินฉะบับหนึ่งมีข้อควาให้จ่ายเงินตามคำสั่งของ ก. ผู้ร้ายลักตั๋วนั้นไปแล้วปลอมชื่อ ก. สลักหลังโอนไปยัง ข. ข. สลักหลังตั๋วนั้นต่อไปให้ ค. ซึ่งได้รับโอนไว้โดยสุจริต ค. จะฟ้อง ก. หรือคู่สัญญาคนก่อน ก. ไม่ได้ แต่ฟ้อง ข. ได้

เหตุที่ ค. ฟ้อง ก. ไม่ได้ ก็เพราะ ก. ไม่ได้เป็นผู้สลักหลัง ลายมือชื่อของ ก. ที่ปรากฏในตั๋วเป็นลายมือปลอม และที่ ค. ฟ้องคู่สัญญาคนก่อน ๆ ก. ไม่ได้ ก็เพราะในการที่ ค. จะฟ้องคู่สัญญาคนก่อน ๆ ก. นั้น ตามกฎหมาย ค. จะต้องอ้างสิทธิของ ก. นั้นเอง เพราะคู่สัญญาเหล่านั้นเป็นผู้สลักหลังตั๋วมาให้ ก. แต่โดยเหตุที่ลายมือชื่อ ก. เป็นลายมือปลอม ค. จึงอ้างสิทธิจากลายมือปลอมนั้นเพื่อฟ้องคู่สัญญาคนก่อน ๆ ก. ไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ค. ฟ้องผ่านลายมือปลอมของ ก. ขึ้นไปไม่ได้ ส่วนการที่ ค. ฟ้อง ข. ได้นั้น หาใช่เป็นการฟ้องผ่ายลายมือปลอมไม่

(๒) ตั๋วแลกเงินมีคำสั่งให้จ่ายเงินตามคำสั่งของนายแดง บุคคลอื่นที่มีชื่อเดียวกันบังเอิญไปได้ตั๋วนั้นเข้า จึงสลักหลังต่อไปให้นายดำซึ่งได้รับไว้โดยสุจริต นายดำไม่มีสิทธิในตั๋วฉะบับนั้น จะฟ้องเรียกเงินตามตั๋วจากใครไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องผ่านลายมือปลอม คือ ลายมือนายแดงผู้รับเงิน

(๓) ตั๋วแลกเงินมีลายมือชื่อผู้รับรองปลอม ผู้ทรงฟ้องผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังได้ทุกคน ไม่เรียกว่า เป็นการฟ้องผ่านลายมือปลอม ควรสังเกตว่า แม้ไม่มีผู้รับรอง ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังก็ต้องรับผิดอยู่แล้ว

(๔) ตั๋วแลกเงินที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม ผู้ทรงฟ้องผู้สลักหลังได้ทุกคน แต่ฟ้องผู้รับรองไม่ได้ เพราะผู้รับรองเป็นลูกหนี้ชั้นต้น การฟ้องผู้รับรองเป็นการฟ้องผ่านลายมือผู้สั่งจ่ายที่ปลอม ควรสังเกตว่า ตามธรรมดาผู้สั่งจ่ายกับผู้รับรองย่อมมีบัญชีต่อกัน ซึ่งเมื่อผู้รับรองจ่ายเงินตามตั๋วไปแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจหักบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้ แต่เมื่อลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายปลอม ผู้รับรองก็หามีอำนาจหักบัญชีได้ไม่ เพราะฉะนั้น นอกจากเป็นการผิดหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๐๘ จะเห็นได้ว่า เป็นการไม่ยุตติธรรมที่ผู้รับรองจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงในกรณีที่ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือปลอม

ตามธรรมดา ถึงแม้ว่า เจ้าของลายมือชื่อปลอม หรือเจ้าของลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจ จะไม่ต้องรับผิดชอบตามตั๋วเงินก็ดี แต่เจ้าของลายมือชื่ออาจแสดงกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดให้คนภายนอกหลงเชื่อว่า ลายมือชื่อที่ลงในตั๋วเงินนั้นเป็นลายมือที่แท้จริงของตนหรือเป็นลายมือที่ลงไปโดยมีอำนาจ จนอยู่ในฐานที่เรียกว่า ต้องตัดบทหรือกฎหมายปิดปากมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือลงโดยปราศจากอำนาจขึ้นเป็นข้อโต้เถียง เช่นนี้ ตนก็จะต้องรับผิดตามตั๋วนั้น

อย่างไรจึงจะเรียกว่า กฎหมายปิดปาก นั้น ได้มีผู้อธิบายว่า เมื่อบุคคลใดแสดงออกว่า เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งจนทำให้คนภายนอกกระทำการลงไปโดยเชื่อว่า เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนั้นจริง และอาจเป็นที่เสียหายต่อเขา เช่นนี้ กฎหมายจะไม่ยอมให้บุคคลนั้นเถียงว่า เหตุการณ์มิได้เป็นอยู่ดั่งที่ตนได้แสดงออกมานั้น

อุทาหรณ์

(๑) ตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่งมีลายมือชื่อของ ก. ผู้รับรองปลอม ผู้ทรงตั๋วเงินโดยสุจริตทราบจากผู้บอกในภายหลังว่า ลายมือชื่อผู้รับรองนั้นหาใช่ลายมือชื่ออันแท้จริงไม่ ผู้ทรงจึงเขียนหนังสือถามไปยัง ก. ก. ตอบว่า ลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นเป็นลายมือชื่อของตน ก. ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น แม้จะปรากฎว่า ลายมือชื่อของ ก. เป็นลายมือปลอมก็ดี

(๒) ก. ปลอมคำรับรองของ ข. ในตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่ง ข. ได้ใช้เงินให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินฉะบั้นไป ต่อมา ก. ปลอมคำรับรองของ ข. ในตั๋วแลกเงินอีกฉะบับหนึ่งซึ่ง ข. ไม่ทราบ และทั้งไม่ทราบว่า ตั๋วแลกเงินฉะบับนี้บังเอิญตกไปอยู่ในมือของผู้ทรงคนเดียวกัน ข. อาจยกข้อต่อสู้ว่า ลายมือชื่อของตนถูกปลอมได้ กฎหมายไม่ปิดปาก

สำหรับลายมือปลอมนั้น เจ้าของชื่อจะให้สัตยาบันไม่ได้ ส่วนลายมือที่ลงโดยปราศจากอำนาจนั้น โดยเหตุที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวการตัวแทน และมาตรา ๘๒๓ บัญญัติว่า การที่ตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น เพราะฉะนั้น การลงลายมือชื่อในตั๋วเงินโดยปราศจากอำนาจ เจ้าของลายมือชื่อจึงอาจให้สัตยาบันได้ ดั่งที่ปรากฏในวรรคสุดท้ายแห่งมาตรา ๑๐๐๘ นั้น

อุทาหรณ์

ตั๋วสัญญาใช้เงินฉะบับหนึ่งราคา ๑๐๐ ปอนด์ มีชื่อ ข. เป็นผู้ออกตั๋ว ความจริง ก. เป็นผู้ปลอมชื่อ ข. ลงในตั๋วนั้น ก่อนตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน ผู้ทรงทราบว่า ลายมือชื่อ ข. ในตั๋วนั้นเป็นลายมือปลอม จึงขู่จะฟ้อง ก. เพื่อที่จะป้องกันมิให้ ก. ถูกฟ้อง ข. เขียนหนังสือให้แก่ผู้ทรงว่า ยอมรับผิดชอบใช้เงิน ๑๐๐ ปอนด์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ปรากฏลายมือชื่อ ข. การให้สัตยาบันเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ข. ไม่ต้องรับผิดชอบตามตั๋วนั้น

ตั๋วเงินหาย:- เมื่อผู้ทรงทำตั๋วเงินหาย หรือตั๋วเงินถูกลักไปจากผู้ทรง ในทันใดนั้นผู้ทรงมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้ออกตั่ว ผู้จ่าย ผู้สมอ้างยามประสงค์ ผู้รับรองเพื่อแก้หน้า และผู้รับอาวัล ตามแต่มี เพื่อให้บอกปัดไม่ใช้เงินตามตั๋วนั้น (มาตรา ๑๐๑๐)

ถ้าผู้ทรงมิได้บอกกล่าว และผู้จ่ายได้ใช้เงินตามตั๋วไปเมื่อถึงกำหนด ผู้จ่ายย่อมพ้นจากความรับผิด (มาตรา ๙๔๙)

ถ้าผู้ทรงทำตั๋วเงินหายก่อนล่วงเลยกำหนดใช้เงิน ก็มีสิทธิที่จะขอให้ผู้สั่งจ่ายออกตั๋วเงินอันมีข้อความอย่างเดียวกันให้แก่ตนใหม่อีกฉะบับหนึ่ง แต่ผู้สั่งจ่ายอาจจะเกี่ยงให้หาประกันไว้เพื่อค่าเสียงหายซึ่งผู้สั่งจ่ายอาจต้องเสียไปเมื่อตั๋วเงินนั้นกลับหาได้ อนึ่ง ผู้สั่งจ่าย เมื่อได้รับคำขอดั่งกล่าวแล้ว หากบอกปัดไม่ยอมให้ตั๋วเงินคู่ฉะบับเช่นนั้น อาจถูกบังคับให้ออกให้ก็ได้ (มาตรา ๑๐๑๑)

ควรสังเกตว่า มาตราที่กล่าวแล้วให้อำนาจผู้ทรงที่จะบังคับผู้สั่งจ่ายเท่านั้น จะบังคับคู่สัญญาอื่น ๆ ไม่ได้ และถ้าเป็นเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้ทรงจะบังคับผู้ออกตั๋วให้ออกใหม่แก่ตนได้หรือไม่ เห็นว่า น่าจะไม่ได้ เพราะในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นย่อมถือกันว่า ผู้สลักหลังคนแรกมีฐานอย่างเดียวกับผู้สั่งจ่าย ส่วนผู้ออกตั่วสัญญาใช้เงินมีฐานอย่างเดียวกับผู้รับรองตั๋วแลกเงิน.