ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยประกันภัย/หมวด 1

จาก วิกิซอร์ซ
ลักษณะประกันภัย

หมวด ๑
ข้อความทั่วไป

ความมุ่งหมายแห่งสัญญาประกันภัย:- การทำสัญญาประกันภัยก็เพื่อที่จะป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจบังเกิดแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และกิจการงานต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยวิธีผลักให้ความเสียให้ตกอยู่แก่ผู้อื่นซึ่งยินยอมและเต็มใจที่จะเป็นผู้แบกความเสียนั้น โดยมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนเป็นเงินทอง ส่วนการประกันชีวิตนั้น ถ้าบุคคลที่เอาประกันชีวิตตายลงภายในกำหนดอายุของสัญญา ก็ย่อมจะได้เงินทองมาเป็นกำลังช่วยเหลือบุตร์ภรรยาของผู้จาย หรือได้เงินมาเพื่อชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ถ้าและผู้เอาประกันชีวิตมิได้ตายลง ก็จะได้รับเงินที่ตนส่งเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากผู้รับประกันภัยเมื่อครบกำหนดสัญญา เพราะฉะนั้น สัญญาประกันชีวิต นอกจากเพื่อป้องกันภยันตรายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้เอาประกันภัยแล้ว ยังมีลักษณะเป็นวิธีสะสมเงินทองวิธีหนึ่งด้วย

สำหรับผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นฝ่ายที่แบกความเสียหายนั้น โดยเหตุที่ได้รับเบี้ยประกันภัย (Premium) เป็นเครื่องตอบแทน และโดยเหตุที่ภัยที่อาจจะเกิดนั้นย่อมไม่ใช่เป็นของแน่นอนเสมอไป เพราะฉะนั้น ถ้าได้คำนวณผลได้ผลเสียในการนี้โดยรอบคอบแล้ว ก็อาจมีทางนำมาซงผลกำไรได้เหมือนกัน โดยเหตุนี้ การประกันภัยจึงเป็นกิจการที่กระทำกันแพร่หลายทั่วไปทุกประเทศ

ประเภทต่าง ๆ ของสัญญาประกันภัย:- สัญญาประกันภัยมักจัดแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ สามประเภท คือ

(๑)ประกันวินาศภัย (Insurance against loss)

(๒)ประกันชีวิต (Insurance on life)

(๓)ประกันภัยทะเล (Maritime insurance)

สำหรับประกันภัยทะเลนั้น ตามกฎหมายประเทศต่าง ๆ มักมีบทบังคับเป็นพิเศษต่างหากจากประกันภัยอย่างอื่น และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรา มาตรา ๘๖๘ ก็บัญญัติว่า "อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล" เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะได้กล่าวแต่ฉะเพาะที่เกี่ยวกับประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเป็นส่วนใหญ่

สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาทดแทนความเสียหาย:- สัญญาประกันวินาศภัยนั้น มักกล่าวกันว่า เป็นสัญญาทดแทนความเสียหาย (Contract of indemnity) ส่วนสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาประกันภัยชะนิดที่ไม่ทดแทนความเสียหาย (Non-indemnity insurance) จึงมักถือกันว่า มิใช่สัญญาประกันภัยอันแท้จริง

ที่ว่า เป็นสัญญาทดแทนความเสียหาย นั้น หมายความว่า เมื่อมีภัยเกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยเสียหายไปเท่าใด ผู้รับประกันภัยก็จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามจำนวนที่เกิดการเสียหายขึ้นเนื่องจากวินาศภัยที่เอาประกันไว้นั้น เช่น สมมติว่า ข้าพเจ้าเอาบ้านไปประกันไฟไว้เป็นจำนวน ๑๐๐๐ บาท ถ้าไฟไหม้บ้านข้าพเจ้าเสียหายเพียง ๓๐๐ บาท จำนวนเงินที่ข้าพเจ้าจะเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยได้ก็เพียง ๓๐๐ บาทเท่านั้น ถ้าและข้าพเจ้ามิได้เสียหายเลย ก็เรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยไม่ได้เลย ดั่งนี้เป็นต้น

การที่มีหลักว่า สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาทดแทนความเสียหายนั้น เนื่องมาจากเหตุที่ว่า ถ้าไม่ถือหลักดั่งนั้น กล่าวคือ ถ้าจะยอมให้ผู้เอาประกันภัยมีทางได้กำไรจากการประกันภัยแล้ว ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตหรือประมาทเลินเล่อเพื่อให้เกิดภัยขึ้นแก่ทรัพย์ที่ได้เอาประกันไว้นั้น

วิเคราะห์ศัพท์:- มาตรา ๘๖๑ ให้วิเคราะห์ศัพท์ของสัญญาประกันภัยไว้ ดั่งนี้ "อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้ บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย"

โดยเหตุที่ คำว่า "สัญญาประกันภัย" ในมาตรา ๘๖๑ นี้ย่อมกินความถึงสัญญาประกันวินาศภัยและกินความถึงสัญญาประกันชีวิตด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อให้เห็นความแตกต่างในลักษณะแห่งสัญญาประกันภัยทั้ง ๒ ชะนิดนี้ ข้อความในมาตรา ๘๖๑ จึงควรอ่านทำความเข้าใจในทำนองนี้ คือ "อันสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น (คือ ในเรื่องประกันวินาศภัย) หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งระบุไว้ในสัญญา (คือ ในเรื่องประกันชีวิต) และในการนี้ บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย" ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาทดแทนความเสียหาย ผู้รับประกันภัยจึงตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น ส่วนสัญญาประกันชีวิตมิใช่สัญญาทดแทนความเสียหาย การใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตจึงมิได้เรียกว่า ค่าสินไหมดแทน แต่หากเป็นเงินจำนวนหนึ่งอันพึงใช้ให้ในเหตุอย่างอื่นในอนาคต เช่น เมื่อผู้เอาประกันชีวิตตายลง หรือเมื่อผู้เอาประกันชีวิตมีอายุครบ ๖๐ ปี หรือเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องประสพอุบัติเหตุ เป็นต้น

มาตรา ๘๖๒ ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ศัพท์ของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย บัญญัติว่า "ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า "ผู้รับประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า "ผู้เอาประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า "ผู้รับประโยชน์" ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้นจะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้"

ตามธรรมดาในเรื่องประกันวินาศภัย ผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประโยชน์ย่อมเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ในสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตอาจทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นก็ได้ เช่น บิดาทำสัญญาประกันชีวิตตนเองให้บุตร์เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นต้น.

ความแตกต่างระหว่างสัญญาประกันภัยกับการพะนันและขันต่อ:- เหตุที่ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างสัญญาประกันภัยกับการพะนันและขันต่อ ก็เพราะการพะนันและขันต่อนั้น ตามมาตรา ๘๕๓ วรรคแรก ท่านบัญญัติว่า หาก่อให้เกิดหนี้ไม่ และสิ่งที่ได้ให้กันไปในการพะนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้ ส่วนสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่กฎหมายรับรอง เพระาฉะนั้น ความแตกต่างระหว่างสัญญาประกันภัยกับการพะนันและขันต่อจึงเป็นข้อที่จำเป็นจะต้องพิจารณา เพื่อที่จะได้ทราบว่า ข้อตกลงของคู่สัญญานั้น กฎหมายจะรับบังคับให้หรือไม่เพียงไร.

สัญญาประกันภัยนั้น แม้ว่าจะอาศัยการเสี่ยงภัยเป็นลักษณะสำคัญของสัญญาเช่นเดียวกับการพะนันขันต่อซึ่งอาศัยการเสี่ยงโชคเป็นข้อสำคัญก็ดี แต่สัญญาประกันภัยแตกต่างกับการพะนันขันต่อในข้อที่ว่า ในสัญญาประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันภัยเข้าทำสัญญาโดยหวังจะประกันภัยที่ตนต้องเสี่ยงอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องการพะนันขันต่อ ภัยหรือโชคที่จะต้องเสี่ยงเกิดขึ้นเนื่องจากเข้าทำสัญญากันอย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือ ถ้ามิได้ทำสัญญากัน ภัยหรือโชคที่จะเสี่ยงนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นเลย เช่น ข้าพเจ้าจะส่งข้าวสารไปต่างประเทศ ข้าพเจ้าย่อมต้องเสี่ยงภัยในการที่ข้าวสารอาจเกิดศูนย์หรือเสียหายขึ้นในระหว่างทางอยู่แล้ว หากบริษัทตกลงจะใช้ค่าสินใหมทดแทนให้แก่ข้าพเจ้าเมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น และข้าพเจ้าก็ตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัท เช่นนี้ ย่อมเป็นสัญญาประกันภัย แต่การที่ข้าพเจ้ากับท่านมีความเห็นไม่ตรงกันว่า ม้าแข่งตัวไหนจะชะนะ ข้าพเจ้าจึงตกลงกับท่านว่า ถ้าม้าขาวชะนะ ข้าพเจ้าจะจ่ายเงินให้ ๕๐ บาท หากไม่ชะนะ ท่านจะต้องจ่ายเงินให้ข้าพเจ้า ๕ บาท เช่นนี้ ถ้าข้าพเจ้าไม่ตกลงกับท่าน ข้าพเจ้าก็ไม่มีภัยที่จะต้องเสี่ยง ข้อตกลงระหว่างท่านกับข้าพเจ้าจึงเป็นการพะนัน หาใช่สัญญาประกันภัยไม่.

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับสัญญาประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ (Insurable interest) ส่วนในเรื่องการพะนันหรือขันต่อนั้น คู่สัญญาไม่มีส่วนได้เสียในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เว้นแต่ที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญา.