กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 (รก.)
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า
ตามระเบียบการที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติใหม่แทนพระราชกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งใช้อยู่ในพระราชอาณาจักรในเวลานี้เพื่อปกครองการยุติธรรมของทหาร และในพระราชบัญญัติใหม่นั้น มีทั้งส่วนพิเศษว่าด้วยศาลทหารบกเมื่อได้มีประกาศให้ใช้กฎอัยการศึก เพราะฉนั้น ก่อนที่จะเริ่มใช้พระราชบัญญัติใหม่นี้ สมควรตรากฎอัยการศึกขึ้นไว้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า "กฎอัยการศึก ร.ศ. ๑๒๖"
มาตรา๒เมื่อเวลาที่มีเหตุอันจำเปนเพือจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากไภย ซึ่งจะมีจากภายนอกหรือภายในพระราชอาณาจักรนั้นแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกในส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชอาณาจักร์
มาตรา๓ในประกาศนั้น จะต้องแสดงให้ปรากฎว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตรใด ให้ใช้กฎอัยการศึก
มาตรา๔เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้นณแห่งใด ผู้บังคับบัญชาทหารที่นั้นซึ่งมีกำลังไม่น้อยกว่ากองพัน หรือผู้บังคับบัญชาในที่มั่นของทหาร มีอำนาจที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตรอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่ต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด
มาตรา๕เมื่อจะยกเลิกกฎอัยการในแห่งใด ต้องเปนไปตามประกาศพระบรมราชโองการ
มาตรา๖ในเขตร์ที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหมือนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในการระงับปราบปรามหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องช่วยราชการทหารตามความต้องการของฝ่ายทหาร
มาตรา๗อำนาจของศาลทหารในตำบลที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ต้องเปนไปตามพระราชกำหนดกฎหมายอาญาทหารทุกประการ
แต่ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ยังตกค้างอยู่ก่อนออกประกาศใช้กฎอัยการศึก และศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ยังตกค้างอยู่เมื่อยกเลิกกฎอัยการศึก
มาตรา๘เมื่อใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจที่จะทำดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็ได้
๑)มีอำนาจที่จะเข้าค้นที่หนึ่งที่ใดในเวลาใดได้
๒)มีอำนาจขับไล่ผู้ใดซึ่งไม่มีภูมิ์ลำเนาอาไศรยเปนหลักถานในตำบลนั้น
๓)มีอำนาจบังคับให้คนในตำบลนั้นส่งอาวุธและกระสุนดินปืนซึ่งมีอยู่ไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายทหาร และมีอำนาจตรวจและจับกุมอาวุธ และกระสุนดินปืน และสิ่งของต้องห้ามในการสงคราม ๚
ประกาศมาณวันที่ ๑๐ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ เปนวันที่ ๑๔๒๗๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 (รก.)". (2450, 29 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 24, ตอน 39. หน้า 1029–1030.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"