ข้ามไปเนื้อหา

กลอนเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ และพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ/ส่วนที่ 4

จาก วิกิซอร์ซ
อธิบายเพลงยาว
เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์
ของ
นายหรีด เรืองฤทธิ์เปรียญ

ว่าด้วยหม่อมเป็ดเล่นเพื่อน เป็นเรื่องรู้กันอยู่ในราชสำนัก

นามบุคคลสำคัญในเรื่อง
๑. หม่อมสุด ๒. หม่อมขำ
นามผู้ประกอบในเรื่อง
๓. ท้าวนก ๔. เจ้าจางวางหมอ
๕. หลวงนายศักดิ์ ๖. คุณรับสั่ง
๗. ตาแจ้งวัดระฆัง ๘. นายมี
๙. แพทย์วาโย ๑๐. คุณชีเหม
๑๑. จีนยู
นามสถานที่ในเรื่อง
๑๒. พระราชวังบวรสถานฯ ๑๓. พระวังหลวง, พระวังใหญ่
๑๔. พระตำหนักใหญ่ ๑๕. ตำหนักแพ
๑๖. สรีร์สำราญ ๑๗. พระราชฐาน
๑๘. เมืองละคร ๑๙. ถนนอาจารย์

๑. หม่อมสุด เป็นหม่อมห้ามในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้นสวรรคตแล้ว ลงมารับราชการในพระบรมมหาราชวัง ประจำอยู่ที่พระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นผู้รู้หนังสือดี มักจะโปรดให้อ่านบทกลอนถวายเมื่อบรรทมเสมอ แต่ชอบเล่นเพื่อน ทำหน้าที่เป็นเพื่อนชายของหม่อมขำ (ดูที่ หม่อมขำ) คืนหนึ่ง อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวาย สำคัญว่า บรรทมหลับ ก็ดับเทียน เอาผ้าคลุมโปงกอดจูบหม่อมขำ เพื่อนหญิง อยู่ที่ปลายพระบาท กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพบรรทมยังไม่หลับ ทรงเห็นหม่อมสุดทำเช่นนั้น ก็ประทานชื่อให้ว่า "คุณโม่ง" เพราะเอาผ้าคลุมโปงเล่นเพื่อน

"เอาเพลาะหอมกรอมหุ้นกันคลุมโปง จึ่งตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา"

ในท้องกลอนเรียกหม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" เสมอ

เพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ กล่าวถึงคุณโม่งอยู่ ๒–๓ แห่ง แห่งหนึ่งว่า "คุณโม่งขู่คุณขำทำสิงหนาท"

๒. หม่อมขำ เป็นหม่อมห้ามของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเหมือนกัน ตามคุณโม่งลงมาทำราชการในวังหลวง อยู่ที่พระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นหม่อมที่ชอบไว้กิริยา เมื่อเดินมักจะไว้จังหวะเยื้องย่างไปอย่างเป็ด กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงประทานนามให้ว่า "หม่อมเป็ด" เพราะ—

"เดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา จึ่งชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน"

หม่อมเป็ด มักจะเรียกกันว่า หม่อมเป็ดสวรรค์, หม่อมเป็ดขำ หรือหม่อมขำเป็ด และลางทีก็เรียกว่า คุณขำ คู่กับ คุณโม่ง

เพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เรียกหม่อมเป็ดว่า "คุณขำ"

"พิศดูหน้าคุณขำก็เห็นกลัว คุณโม่งตัวปากสั่นรำพันความ"

๓. ท้าวนก เป็นข้าราชการฝ่ายในของวังหน้า สงสัยว่า จะเป็นคนเดียวกับคุณนกที่กล่าวในเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ว่า "คุณนกคุณน้อยคุณโม่งนั่งอยู่ข้างนอก" เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว คงจะตามคุณโม่ง คุณขำ ลงมารับราชการอยู่ในวังหลวง

๔. เจ้าจางวางหมอ คือ กรมหมื่นวงศาสนิท (เลื่อนเป็นกรมหลวงวงศาธิราชสนิทในรัชกาลที่ ๔) ทรงเป็นหมอถวายพระโอสถเจ้านาย มีออกพระนามโดยตรงอยู่แห่ง ๑ ว่า

"ครั้งหนึ่งพระองค์กรมวงศา เสด็จมาในพระตำหนักนั่น
หม่อมเป็นนั้นเป็นต้นคนสำคัญ สารพันเพ็ดทูลพระอาการ"

๕. หลวงนายศักดิ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานพระอธิบายไว้ในเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ว่า "หลวงนายศักดิ์ ชื่อ ครุฑ เป็นเจ้าพระยายมราชในรัชกาลที่ ๔"

๖. คุณรับสั่ง ฟังเป็นกุลสตรีชั้นสูง รับหน้าที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ เพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เรียกว่า เจ้าคุณ

"สำหรับทูลเมื่อเพลาห้าโมงเช้า เป็นของเจ้าคุณคอยไม่ห่างเหิน"

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานอธิบายว่า "เจ้าคุณหญิงต่าย พระสัมพันธวงศ์ เรียกกันว่า เจ้าคุณปราสาท เป็นผู้ใหญ่ในวัง"

จะเป็นคน ๆ เดียวกับคุณรับสั่งหรือไม่ สงสัยอยู่

๗. ตาแจ้งวัดระฆัง ลางทีก็เรียก ตาแจ้งถนนอาจารย์

"จะฟังเสภาตาแจ้งถนนอาจารย์ ให้หายรำคาญขุ่นคิ่นในวิญญาณ์"

เป็นคนขับเสภา มีชื่อเสียงอยู่ในรัชกาลที่ ๓ แต่มักจะเรียกกันในชั้นหลังว่า ครูแจ้ง เป็นผู้ฉลาดในบทกลอน ว่าดีทั้งกระบวนกลอนแต่งและกระบวนกลอนสด นับว่า เป็นทั้งจินตกวีและปฏิภาณกวีที่เยี่ยมยิ่งผู้หนึ่ง เสภา เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ก็ว่า เป็นสำนวนครูแจ้งแต่งอยู่หลายตอน เพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ ที่หาครูแจ้งไปขับเสภา ก็ว่ากลอนสดเป็นพื้น

๘. นายมี คนขับเสภาคู่กับครูแจ้ง น่าจะเป็นนายมี จินตกวีสูงส่งซึ่งแต่งนิราศพระแท่นดงรัง นิราศเดือน และนิราศสุพรรณ เมื่อหาไปขับเสภาที่ตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มักจะยกเอาความในของหม่อมเป็ดที่พวกนางในกระซิบบอกขึ้นขับรับกับครูแจ้ง ตอดกันคนละที ถึงกับหม่อมเป็ดเอือมระอา บ่นกับคุณโม่งว่า

"เบื่อเดือนสิบสองตาแจ้งขับรับกับนายมี ตลับทองของดีก็หายไป"

๙. แพทย์วาโย เป็นหมอนวด เคยได้ยินราชทินนามว่า ขุนวาโย

๑๐. คุณชีเหม จะเป็นสตรีสูงศักดิ์ผู้หนึ่ง ฝักใฝ่อยู่ในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

๑๑. จีนยู ช่างทำฟัน มีชื่อเสียงอยู่ในรัชกาลที่ ๓ หม่อมเป็ดแพ้ฟัน ชอบใช้ฟันจำลองของจีนยู

๑๒. พระราชวังบวรสถานฯ หรือวังหน้า เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ซึ่งพระองค์สวรรคต พ.ศ. ๒๓๗๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ได้ ๘ ปี

๑๓. พระวังหลวง, พระวังใหญ่ เป็นชื่อสามัญ หมายถึง พระบรมมหาราชวัง

๑๔. พระตำหนักใหญ่ หมายถึง พระตำหนักที่ประทับของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

๑๕. ตำหนักแพ คือ พระตำหนักแพ ลอยอยู่ริมน้ำท่าราชวรดิตถ์

๑๖. สรีร์สำราญ เว็จข้างใน

๑๗. พระราชฐาน พระราชวัง

๑๘. เมืองละคร ชื่อสมมติเรียกตลาดขายของ สงสัยว่า จะเป็นตลาดท้องน้ำท่าวัดกัลยาฯ ท่าวัดแจ้ง หรือท่าวัดระฆัง ฝั่งธนบุรี แห่งใดแห่งหนึ่ง ด้วยข้อความในท้องกลอนว่า ยายปาน (เด็กหญิงในพระตำหนักใหญ่) ซึ่งหม่อมเป็ดเลี้ยงเป็นลูก แล่นเรือใบไปเมืองละครซื้อข้าวเหนียวสังขยามาให้หม่อมเป็ด เช่นที่ว่า

"ยายปานลูกผูกเสาเชือกเพลาใบ แล่นไปครู่หนึ่งถึงเมืองละคร
ซื้อข้าวเหนียวสังขยามาถ้วยโคม ก็แล่นฝืนคลื่นโครมไม่หยุดหย่อน
ครั้นถึงเกาะแบกสังขยาพาจร รีบร้อนเร็วไปในประตูพลัน
หลวงนายศักดิ์ถามทักไปทันใด สังขยาถ้วยใหญ่ของใครนั่น
ยายปานว่าหม่อมเป็ดเธออยากครัน ใช้ฉันไปซื้อถึงเมืองละคร"

๑๙. ถนนอาจารย์ น่าจะอยู่แถววัดระฆัง ภายหลังอาจเปลี่ยนชื่อเป็นอื่นหรือลบเลือนหายไปก็ได้

ผู้แต่งเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นพวกนางในเชี่ยวชาญอยู่ในราชสำนัก แต่งเพลงยาวเรื่องนี้เพื่อจะขับหม่อมเป็ดซึ่งชอบเล่นเพื่อน เป็นเรื่องสนุกกันในหมู่นางใน ด้วยได้ยินเสียงเครงครืนอยู่ทั้งในและนอกราชสำนัก แต่ก็ว่าน่าฟัง

"เฝ้าคมค้อนเคืองเข็ญไม่เว้นใคร โกรธบรรดาข้าไทในพระตำหนัก
หม่อมกระไรใจคอนี้น้อยนัก ฉันประจักษ์แจ้งความตามนิยาย
กระทบเรื่องของซื้อเข้าหรือจ๊ะ จึ่งเกะกะโกรธร่ำระส่ำระสาย
ไม่มีใครบอกนุสนธิ์ต้นปลาย ลายไปผุดขึ้นตำบลถนนอาจารย์
ฉันพบเห็นตำราจึ่งว่าไป ขออภัยเถิดอย่าโทษโกรธดิฉาน
ถ้าแม้นหม่อมรักตัวกลัวอัประมาณ ก็บนบานคนขับจะรับไว้
ถ้าหม่อมอายเสียดายชื่อจะลือชา ก็เอาเงินเอาผ้านั้นมาให้
ฉันจะลบตำรับไม่ขับไป จงถึงใจตาแจ้งเสียเถิดรา"

สำนวนกลอนเป็นของคน ๆ เดียวกับผู้แต่งเพลงยาวว่าด้วยเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งเมื่อยามกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงพระสำราญ แม้จะมีพระโรคเบียดเบียนบ้างก็แต่ละครั้งละคราว ผู้แต่ง ๆ ด้วยอารมณ์สนุก แต่เมื่อแต่งเพลงยาว เรื่อง พระอาการพระประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ดูผู้แต่งเป็นทุกข์ถึงเจ้านายอยู่มาก จึงเห็นได้ว่า เพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งก่อนเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จะแต่งเมื่อศักราชเท่าไรไม่บอก แต่เมื่อแต่งเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บอกไว้ว่า

"นิราศร่ำทำอักษรเป็นกลอนสด ให้ปรากฏด้วยปัญญาอัชฌาสัย
เมื่อเดือนสี่ปีเถาเคราะห์เหลือใจ ละห้อยไห้แสนคะนึงถึงประชวร"

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานพระอธิบายว่า ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๐๕ พ.ศ. ๒๓๘๖

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงประชวรพระโรคเรื้อรังนับแต่เดือน ๔ ปีเถาะถึงปีมะเส็ง แต่ผ่อนให้สำราญพระวรกายบ้าง มาหนักลงในระยะ ๖ เดือนหลัง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ พระชันษา ๓๕ ปี จึงอนุมานได้ว่า เพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ จะแต่งราว ๆ ปีฉลู–ขาล พ.ศ. ๒๓๘๔–๒๓๘๕ ติดต่อกันกับเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งแต่งเมื่อเดือน ๔ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า เพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ คุณสุวรรณ ข้าหลวงในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ อยู่ที่ตำหนัก แต่ง

คุณสุวรรณเป็นจินตกวีที่รู้รสกวีดีคนหนึ่ง แต่งบทกลอนดี ทั้งในเวลาที่สำเริงสุขและเวลาที่ทุกข์ร้อน อื่นจากแต่งเพลงยาว ๒ เรื่องนี้แล้ว ยังได้แต่งบทละคอนอุณรุทร้อยเรื่อง และบทละคอน เรื่อง พระมเหลเถไถ ไว้อีก เป็นกวีหญิงที่มีชื่อเสียงสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้.