พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
งานนี้ยังไม่เสร็จ ถ้าต้องการช่วยเหลือ โปรดดูหน้าช่วยเหลือ หรือทิ้งความเห็นไว้ที่หน้าพูดคุย |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร เสียใหม่จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) วิธีนับอายุ ถ้าเกิดพุทธศักราชใดให้ถือว่ามีอายุครบหนึ่งปีบริบูรณ์เมื่อสิ้นพุทธศักราชที่เกิดนั้น ส่วนการนับอายุต่อไปให้นับแต่เฉพาะปีที่สิ้นพุทธศักราชแล้ว ถ้าไม่ปรากฏปีเกิดให้นายอำเภอท้องที่เป็นผู้กำหนด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๒) “ทหารกองเกิน” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ หรือผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๘ แล้ว
(๓) “ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการ และได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด
(๔) “ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑” หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุนตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) “ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒” หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองเกินตามมาตรา๓๙ หรือปลดจากกองประจำการตามมาตรา ๔๐
(๖) “พ้นราชการทหารประเภทที่ ๑” หมายความว่า ทหารซึ่งถูกปลดโดยที่ได้รับราชการในชั้นต่าง ๆ จนครบกำหนดหรือโดยที่พิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ในระหว่างรับราชการตามพระราชบัญญัตินี้
(๗) “พ้นราชการทหารประเภทที่ ๒” หมายความว่า ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ที่มีอายุสี่สิบหกปีบริบูรณ์แล้วหรือทหารองเกิน หรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ซึ่งพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคอันไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ในระหว่างรับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้ หรือนายทหารสัญญาบัตรที่ถูกปลดโดยถูกถอดหรือออกจากยศ
(๘) “ทหารประจำการ” หมายความว่า ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ
(๙) “อำเภอ” หมายความรวมถึงกิ่งอำเภอด้วย
(๑๐) “ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงที่ว่าการกิ่งอำเภอด้วย
(๑๑) “นายอำเภอ” หมายความรวมถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอด้วย
มาตรา ๕ บุคคลซึ่งต้องลงบัญชีทหารกองเกิน ให้ลงบัญชีที่อำเภอดังต่อไปนี้
(๑) บุคคลซึ่งบิดายังมีชีวิตอยู่ หรือถ้าบิดาถึงแก่กรรมแล้วมารดายังมีชีวิตอยู่ หรือถ้าทั้งบิดาและมารดาถึงแก่กรรมแล้วมีผู้ปกครอง ให้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่ที่บิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองมีภูมิลำเนา แล้วแต่กรณี
(๒) บุคคลซึ่งเกิดนอกสมรสและบิดามิได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือถ้ามารดาถึงแก่กรรมแล้วมีผู้ปกครองให้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่ที่มารดาหรือผู้ปกครองมีภูมิลำเนา แล้วแต่กรณี
(๓) บุคคลนอกจากที่กล่าวใน (๑) และ (๒) หรือบุคคลที่ไม่อาจลงบัญชีทหารกองเกินตาม (๑) หรือ (๒) ได้ไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม ให้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่ที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนา ถ้าบุคคลนั้นไม่ปรากฏภูมิลำเนาก็ให้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่ที่พบตัวบุคคลนั้น
เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้วให้ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่ในท้องที่อำเภอที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกิน
ภูมิลำเนาทหารให้มีได้เพียงแห่งเดียว
มาตรา ๖ การเรียกและการตรวจเลือกคนเข้าเป็นตำรวจกองประจำการตลอดถึงการยกเว้นและการปลดตำรวจซึ่งอยู่ในกองประจำการ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการเรียกและการตรวจเลือกคนเข้าเป็นทหารกองประจำการ การยกเว้น และการปลดทหารการเรียกคนเข้ากองประจำการเป็นตำรวจ ให้กระทรวงมหาดไทยทำได้โดยตกลงกับกระทรวงกลาโหม
หมวด ๑ บททั่วไป
[แก้ไข]มาตรา ๗ ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน
มาตรา ๘ การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการ ให้กระทำด้วยวิธีเรียกมาตรวจเลือกหรือจะรับเข้าเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้ถ้ามีความจำเป็น การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการจะไม่กระทำในบางท้องที่ก็ได้
มาตรา ๙ ทหารกองเกินซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างที่จะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ และเมื่อต้องเข้ากองประจำการจะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการมีกำหนดสองปี ส่วนผู้ซึ่งมีคุณวุฒิพิเศษหรือเมื่อมีกรณีพิเศษ จะให้รับราชการทหารกองประจำการน้อยกว่าสองปีตามที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้ แต่สำหรับผู้ซึ่งมีคุณวุฒิพิเศษนั้น จะอ้างสิทธิดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้แสดงหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกหรือต่อหน่วยทหารที่ตนร้องขอเข้ารับราชการในวันร้องขอวันเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ให้นับแต่วันขึ้นทะเบียนกองประจำการ ในกรณีที่ทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการแล้ว แต่ยังขึ้นทะเบียนกองประจำการให้ไม่ได้ในวันที่ทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น จะขึ้นทะเบียนกองประจำการภายหลังจากวันเข้ารับราชการทหารกองประจำการก็ได้ และให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการตั้งแต่วันที่เข้ารับราชการทหารกองประจำการ เมื่ออยู่ในกองประจำการจนครบกำหนดแล้วให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ดังนี้
กองหนุนชั้นที่ ๑ เจ็ดปี
กองหนุนชั้นที่ ๒ สิบปี
กองหนุนชั้นที่ ๓ หกปี
ตามลำดับชั้นไปจนปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ ๑
บุคคลซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการฝึกวิชาทหารและมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จะให้รับราชการทหารกองประจำการน้อยกว่าสองปี หรือให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ โดยมิต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่จะอ้างสิทธิดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้แสดงหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก หรือต่อหน่วยทหารที่ตนร้องขอเข้ารับราชการในวันร้องขอ หรือต่อหน่วยที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการ แล้วแต่กรณี ส่วนที่จะให้อยู่ในองหนุนชั้นใดและเป็นเวลาเท่าใดนั้น ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลดทหารองเกินที่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามวรรคสอง
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและสัสดีจังหวัดออกหนังสือสำคัญให้แก่ทหารที่ถูกปลดเป็นทหารกองหนุนไว้เป็นหลักฐาน หากหนังสือสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ถือแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่เพื่อขอรับหนังสือสำคัญใหม่ โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละหนึ่งบาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๑๐ นักเรียนทหาร เมื่อมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ ถ้าต้องออกจากนักเรียนในขณะที่อยู่ในองประจำการยังไม่ครบกำหนด ให้ส่งตัวไปรับราชกาในกรมกองทหารจนกว่าจะครบกำหนด
มาตรา ๑๑ การรับราชการทหารประจำการ การแบ่งประเภท และการปลดทหารประจำการ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของกระทรวงกลาโหมทหารประจำการนั้น ถ้ายังมิได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ ก็ต้องขึ้นทะเบียนกองประจำการ และรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กระทรวงกลาโหมจะสั่งปลดเป็นทหารประเภทอื่น
มาตรา ๑๒ บุคคลซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ หรือทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดประสงค์จะไปอยู่ต่างท้องที่ในอำเภอเดียวกันหรือต่างอำเภอเป็นการชั่วคราวเกินสามสิบวัน ให้แจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนเข้ามาอยู่ และให้นายอำเภอที่ได้รับแจ้งทำการสอบสวนและออกใบรับให้ แล้วแจ้งให้นายอำเภอท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารทราบถ้าบุคคลตามวรรคหนึ่งประสงค์จะย้ายภูมิลำเนาทหาร ให้แจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนเข้ามาอยู่นั้น ให้นายอำเภอที่ได้รับแจ้งทำการสอบสวน เมื่อพิจารณาเห็นว่าผู้ขอย้ายได้มาตั้งทำมาหาเลี้ยง ชีพเป็นประจำหรือมีที่อยู่เป็นหลักฐานและไม่ประสงค์จะหลีกเลี่ยงการรับราชการทหาร ก็ให้แจ้งไปยังนายอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารเดิมทราบ เมื่อได้รับตอบยืนยันเป็นการถูกต้องจึงให้รับแจ้งการย้ายภูมิลำเนาทหารของบุคคลนั้นและออกใบรับให้ แล้วให้นายอำเภอที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของตนทราบ
การแจ้งย้ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้กระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ย้ายเข้ามาอยู่ในท้องที่
มาตรา ๑๒ ทวิ๙ บุคคลซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ หรือทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล ให้ผู้นั้นนำหลักฐานไปแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ให้นายอำเภอออกใบรับให้และแก้ใบสำคัญและบัญชีให้ถูกต้อง ในกรณีหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญที่จังหวัดเป็นผู้ออก ให้ส่งผู้ว่าราชการจังหวัดและสัสดีจังหวัดจัดการแก้
หมวด ๒ การยกเว้น
[แก้ไข]มาตรา ๑๓ บุคคลดังต่อไปนี้ ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำคือ
(๑) พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์
(๒) คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้
(๓) บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๔ บุคคลดังต่อไปนี้ เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ คือ
(๑) พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
(๒) นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
(๓) บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างกาฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
(๔) นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม
(๕) ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด ออกใบสำคัญให้ไว้
(๖) นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
(๗) นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
(๘) บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ
(๙) บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกครั้งเดียวตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหลายครั้งรวมกันตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน การไม่เรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ และการออกใบสำคัญตาม (๒) และ (๕) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๕ บุคคลซึ่งพ้นจากฐานะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓ (๑) มาตรา ๑๔ (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) หรือ (๗) มาตรา ๒๗ (๒) หรือมาตรา ๒๙ (๓) ให้แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนอยู่หรือทำการประจำ ภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นจากฐานะเช่นนั้น และให้นายอำเภอออกใบรับให้ ถ้าผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่ในท้องที่อำเภออื่น ให้นายอำเภอที่ได้รับแจ้งแจ้งต่อไปยังนายอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของผู้นั้น
หมวด ๓ การลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอ
[แก้ไข]มาตรา ๑๖ บรรดาชายซึ่งมีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้าสิบแปดปีในพุทธศักราชใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ให้นายอำเภอสอบสวน เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ให้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ถ้าไม่มีผู้มาแจ้งแทน ให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินเมื่อได้รับการขอลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ ให้นายอำเภอออกใบสำคัญหรือใบรับให้ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินไว้เป็นหลักฐาน หากใบสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ถือแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่เพื่อขอรับใบสำคัญใหม่โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละหนึ่งบาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้แล้วให้ถือว่าเป็นทหารกองเกินตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ของพุทธศักราชถัดไปการลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๗ ในเดือนกันยายนทุกปี ให้นายอำเภอจัดการประกาศให้ผู้ที่มีอายุถึงเขตที่จะต้องลงบัญชีทหารกองเกินไปลงบัญชีทหารกองเกินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ ประกาศเช่นว่านี้ ให้นายอำเภอปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและ ณ ที่เปิดเผยตามชุมนุมชนใน ท้องที่นั้น กับให้นายอำเภอส่งประกาศให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปแจ้งให้ราษฎรในท้องที่ของตนทราบด้วย
มาตรา ๑๘ บุคคลซึ่งยังมิได้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอพร้อมกับคนชั้นปีเดียวกันเพราะเหตุใด ๆ ก็ดี ถ้าอายุยังไม่ถึงสี่สิบหกปีบริบูรณ์ ให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับมาตรา ๑๖ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สามารถจะปฏิบัติได้ แต่จะให้ผู้อื่นแจ้งแทนไม่ได้ ถ้านายอำเภอจะเรียกตัวลงบัญชีทหารกองเกินก็ย่อมทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วเมื่อได้รับการลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ ให้นายอำเภอออกใบสำคัญหรือใบรับให้ไว้เป็นหลักฐาน หากใบสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ถือแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่เพื่อขอรับใบสำคัญใหม่ โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละหนึ่งบาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้แล้วให้ถือว่าเป็นทหารกองเกินตั้งแต่วันลงบัญชีทหารกองเกิน แต่ถ้ามีอายุครบกำหนดปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ตามมาตรา ๓๙ เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้วให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ทันทีการลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๙ เมื่อจำเป็น นายอำเภอมีอำนาจประกาศเรียกบุคคลที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ที่อำเภอตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๘ แล้ว ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินใหม่ได้ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศประกาศเช่นว่านี้ ให้นายอำเภอปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและ ณ ที่เปิดเผยตามชุมนุมชนในท้องที่นั้น กับให้นายอำเภอส่งประกาศให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปแจ้งให้ราษฎรในท้องที่ของตนทราบด้วย ผู้ใดไม่สามารถจะไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนเมื่อได้รับขอลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรานี้ ให้นายอำเภอออกใบสำคัญหรือใบรับให้ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินไว้เป็นหลักฐาน ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากใบสำคัญชำรุดหรือสูญหายให้ผู้ถือแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่เพื่อขอรับใบสำคัญใหม่โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละหนึ่งบาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๒๐ บุคคลตามมาตรา ๑๓ (๑) และ (๓) ให้ยกเว้นไม่ต้องลงบัญชีทหารกองเกิน
มาตรา ๒๑ บุคคลดังต่อไปนี้ไม่ต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอ ตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ คือ
(๑) สามเณรเปรียญ
(๒) ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างควบคุมหรือคุมขังของเจ้าพนักงาน
แต่ให้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด ๔ การเรียกคนเข้ากองประจำการ
[แก้ไข]มาตรา ๒๒ บุคคลที่อยู่ในกำหนดออกหมายเรียกมาตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการนั้น คือ ผู้ที่เป็นทหารกองเกิน
มาตรา ๒๓ การที่จะเรียกทหากองเกินเข้ารับราชการกองประจำการเมื่อใดอายุใดบ้างและกี่ครั้งนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔ การเรียกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ให้นายอำเภอออกหมายเรียกทหารกองเกินซึ่งลงบัญชีทหารกองเกินไว้ตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘ และมาตรา๑๙ มาตรวจเลือก ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๕ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายในพุทธศักราชนั้น ทหารกองเกินที่พ้นจากฐานะการยกเว้นตามมาตรา ๑๔ (๓) หรือการผ่อนผันตามมาตรา ๒๗ (๒) และมาตรา ๒๙ (๓) ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกหรือเพื่อจำหน่ายบัญชีเรียกทหารกองเกินตามแต่กรณีที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน
มาตรา ๒๖ ในเดือนตุลาคมทุกปี ให้นายอำเภอจัดการประกาศให้ทหารกองเกินที่มีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชนั้น ไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๕
ประกาศเช่นว่านี้ให้นายอำเภอปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและ ณ ที่เปิดเผยตามชุมนุมชนในท้องที่นั้น กับให้นายอำเภอส่งประกาศให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปแจ้งให้ราษฎรในท้องที่ของตนทราบด้วย
มาตรา ๒๗ ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้นโดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประจำตัวประชาชนและประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย ถ้าไม่มาหรือมาแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก หรือไม่ว่าอยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ ให้ถือว่าทหารกองเกินนั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก เว้นแต่
(๑) ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง
(๒) นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ หรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบหรือการสงคราม อันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงครามและอยู่ในความควบคุมของ กระทรวงกลาโหม
(๔) บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม
(๕) เกิดเหตุสุดวิสัย
(๖) ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น
(๗) ป่วยไม่สามารถจะมาได้ โดยให้บุคคลซึ่งบลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกกรณีตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องได้รับการผ่อนผันเฉพาะคราวจากรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
หมวด ๕ การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ
[แก้ไข]มาตรา ๒๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการกองพล เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเลือกและคณะกรรมการชั้นสูง
มาตรา ๒๘ ทวิ ให้ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดตามมาตรา ๒๘ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเลือกขึ้นในท้องที่แต่ละจังหวัด เพื่อทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารประจำการ โดยให้ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรซึ่งมียศไม่ต่ำกว่าพันโทหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ นายทหารสัญญาบัตรซึ่งมียศหรือเทียบเท่าไม่สูงกว่าประธานกรรมการไม่เกินสองคน สัสดีจังหวัดหรือผู้แทนหนึ่งคน ซึ่งมิได้ประจำอยู่ในท้องที่จังหวัดที่ตรวจเลือกนั้น และนายทหารสัญญาบัตรซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ แผนปัจจุบันชั้น ๑ สาขาเวชกรรม หนึ่งคนหรือหลายคนเป็นกรรมการ ถ้าไม่อาจแต่งตั้งนายทหารสัญญาบัตรซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะดังล่าวเป็นกรรมการได้ ก็ให้แต่งตั้งผู้อื่นเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้น ๑ สาขาเวชกรรม แทนหน้าที่ของกรรมการตรวจเลือและวิธีการตรวจเลือกให้เป็นไปตามหลัเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๘ ตรี ให้ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดตามมาตรา ๒๘ แต่งตั้งคณะกรรมการชั้นสูงขึ้นในท้องที่แต่ละจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนหนึ่งคนเป็นประธานคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่สัสดี ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าสัสดีจังหวัดหนึ่งคนและข้าราชการอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าแผนกหรือเทียบเท่าอีกหนึ่งคน เป็นกรรมการกรรมการชั้นสูงต้องไม่เป็นบุคคลคนเดียวกับกรรมการตรวจเลือกคณะกรรมการชั้นสูงมีอำนาจพิจารณาตัดสินกรณีที่มีคำร้องตามมาตรา ๓๑ หรือกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างกรรมการตรวจเลือกซึ่งทำคำซึ่งทำคำชี้แจงเสนอขึ้นมาคำตัดสินของคณะกรรมการชั้นสูงให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๘ จัตวา ให้นายอำเภอท้องที่ที่มีการตรวจเลือกมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) จัดสถานที่ทำการตรวจเลือก
(๒) จัดเจ้าหน้าที่และเอกสารเกี่ยวกับการตรวจเลือกเพื่อให้คณะกรรมการตรวจเลือกตรวจสอบได้ในวันตรวจเลือก
(๓) จัดคนซึ่งมาตรวจเลือกให้รวมอยู่เป็นตำบลเพื่อฟังเรียกชื่อ
(๔) สอบสวนบุคคลซึ่งร้องขอในเหตุผลต่าง ๆ แล้วมอบเรื่องให้คณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณา
(๕) ตรวจทานและบันทึกบัญชีเรียกของอำเภอตามผลการตรวจเลือก
(๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๙ เมื่อได้คัดคนที่ยกเว้นด้วยเหตุต่าง ๆ ออกแล้ว ถ้ามีจำนวนทหารกองเกินที่จะรับราชการเป็นทหารกองประจำการได้มากกว่าจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันแก่ประเภทบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดาซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพหรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู แต่ถ้ามีบุตรหลายคนจะต้องเข้ากองประจำการพร้อมกันคงผ่อนผันให้คนเดียวตามแต่บิดาหรือมารดาจะเลือก ถ้าบิดาหรือมารดาไม่สามารถจะเลือกได้ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณาผ่อนผันให ้ หนึ่งคน
(๒) บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ และบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาซึ่งบิดามารดาตาย ทั้งนี้เมื่อบุตรหรือพี่หรือน้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
(๓) บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงผู้อ้างสิทธิตาม (๑) หรือ (๒) แห่งมาตรานี้ ต้องร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอท้องที่ก่อนวันตรวจเลือกเข้ากองประจำการไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีพิเศษซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ร้องและผู้ร้องต้องร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกตามมาตรา ๓๐ อีกครั้งหนึ่ง นายอำเภอต้องสอบสวนหลักฐานไว้เสียก่อนวันตรวจเลือก เพื่อคณะกรรมการตรวจเลือกจะได้ตัดสินได้ทันที การขอผ่อนผันตาม (๓) ให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ถ้าไม่สามารถจะผ่อนผันพร้อมกันทั้งสามประเภทได้ เพราะจะทำให้คนไม่พอจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันคนประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๒ รวมกันก่อน ถ้าคนยังเหลือจึงผ่อนผันคนประเภทที่ ๓ ถ้าจำนวนคนในประเภทใดจะผ่อนผันไม่ได้ทั้งหมดต้องให้คนประเภทนั้นจับสลาก
มาตรา ๓๐ ถ้าผู้ที่ถูกเรียกมาตรวจเลือกเห็นว่า ตนควรจะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันต้องนำหลักฐานมาแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกก่อนจับสลาก หรือก่อนกำหนดให้เข้ากองประจำการในกรณีที่ไม่มีการจับสลาก มิฉะนั้นให้ถือว่าหมดสิทธิที่จะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน
มาตรา ๓๑ ในการตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการนั้น ถ้าผู้ที่ต้องเข้ากองประจำการเห็นว่า คณะกรรมการตรวจเลือกตัดสินไม่ถูกหรือไม่ยุติธรรม ก็ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการชั้นสูงได้ แต่ให้ส่งผู้นั้นเข้ากองประจำการก่อนจนกว่าจะได้รับคำตัดสินของคณะกรมการชั้นสูง
มาตรา ๓๒ ถ้าปรากฏว่าทหารกองเกินซึ่งมีอายุเกินยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ในปีที่จะเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ไปทำมาหาเลี้ยงชีพในท้องที่อำเภออื่น และนายอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารได้ส่งหมายเรียกไปยังนายอำเภอท้องที่ที่ผู้นั้นไปอยู่มอบแทนให้เมื่อได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ไม่สามารถจะไปตามหมายนั้นได้ เพราะไม่มีค่าพาหนะหรือจะไปไม่ทัน ผู้นั้นต้องรีบชี้แจงต่อนายอำเภอท้องที่ที่ไปอยู่ เมื่อนายอำเภอท้องที่นั้นสอบสวนได้ความจริงก็ให้เข้ารับการตรวจเลือกพร้อมกับคนในอำเภอท้องที่ที่ไปอยู่ แต่ถ้าไม่สามารถส่งเข้ารับการตรวจเลือกในอำเภอท้องที่นั้นได้ ก็ให้นายอำเภอรีบจัดส่งผู้นั้นไปรับการตรวจเลือกยังอำเภอท้องที่ใกล้เคียงตามที่เห็นสมควรให้นายอำเภอท้องที่ที่รับเข้าตรวจเลือกแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ที่ออกหมายเรียก
มาตรา ๓๓ ทหารกองเกินที่หลีกเลี่ยงขัดขืนตามมาตรา ๒๗ ถ้าไม่ขัดต่อการเป็นทหารกองประจำการ ก็ให้ส่งผู้นั้นเข้ารับราชการทหารกองประจำการในปีนั้นหรือปีถัดไปโดยไม่ให้จับสลาก
มาตรา ๓๔ ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการผู้ใด จักต้องเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการเมื่อใด ให้นายอำเภอท้องที่ที่รับเข้าตรวจเลือกเป็นผู้กำหนด และให้นายอำเภอออกหมายนัดเพื่อให้ทหารกองเกินผู้นั้นมา ณ ที่อำเภอท้องที่ตามที่ได้กำหนดไว้นั้น เพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ถ้าทหารกองเกินผู้นั้นไม่มาตามนัด ให้ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน
มาตรา ๓๕ ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ เมื่อเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการเมื่อใด ให้รีบขึ้นทะเบียนกองประจำการโดยไม่ชักช้าทหารกองประจำการต้องรับราชการประจำอยู่ในหน่วยทหารตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะกำหนดให้
มาตรา ๓๖ ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนมีหน้าที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพลกระทรวงกลาโหมมีอำนาจกำหนดให้ทำการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหารหรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามที่เห็นสมควร ส่วนการระดมพลให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาการเรียกเข้ารับราชการทหารตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดเตรียมและอำนวยการ และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการเรียกและส่งทหารเข้ารับราชการตามความประสงค์ของกระทรวงกลาโหม การผ่อนผันไม่ต้องเรียกหรือไม่ต้องเข้ารับราชการทหารตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๗ ทหารกองเกินและทหารกองหนุนที่ถูกเรียกเข้ารับราชการตามมาตรา ๓๖ และทหารประจำการ ต้องอยู่ในวินัยทหารเหมือนทหารกองประจำการ
หมวด ๖ การปลด
[แก้ไข]มาตรา ๓๘ การปลดทหารกองประจำการเป็นทหารกองหนุนชั้นที่ ๑ นั้น ถ้ากระทรวงกลาโหมเห็นว่ามีเหตุจำเป็นจะเลื่อนกำหนดเวลาปลดไป ก็ให้สั่งเลื่อนไปได้ตามความจำเป็น
มาตรา ๓๙ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุครบกำหนดปลดแล้ว ให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ตามลำดับ คือ
อายุสามสิบปีบริบูรณ์ เป็น ทหารกองหนุนชั้นที่ ๒
อายุสี่สิบปีบริบูรณ์ เป็น ทหารกองหนุนชั้นที่ ๓
อายุสี่สิบหกปีบริบูรณ ์ เป็น พ้นราชการทหารประเภทที่ ๒
มาตรา ๔๐ ทหารกองประจำการ ถ้าต้องจำขังหรือจำคุกครั้งเดียว หรือหลายครั้ง เมื่อมีกำหนดวันที่จะต้องทัณฑ์หรือต้องโทษรวมได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก็ดี หรือทหารกองประจำการผู้ใดซึ่งกระทรวงกลาโหมเห็นว่าจะกระทำให้เสื่อมเสียแก่ราชการทหารด้วยประการใด ๆ ก็ดี จะปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ก็ได้
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วยสัสดีจังหวัดออกใบสำคัญให้แก่ทหารที่ถูกปลดนี้ไว้เป็นหลักฐาน ใบสำคัญนี้ หากชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ถือแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่เพื่อรับใหม่โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละหนึ่งบาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ไม่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียม
มาตรา ๔๑ ทหารกองประจำการ ทหารกองเกิน หรือทหารกองหนุน ซึ่งยังไม่ครบกำหนดปลดพ้นราชการทหาร ถ้าพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็ให้ปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ ๑ หรอื ที่ ๒ แล้วแต่กรณีถ้าเป็นนายทหารสัญญาบัตรถูกถอดหรือออกจากยศ ก็ให้ปลดเป็นพ้นราชการทหารประเภทที่ ๒ ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วยสัสดีจังหวัดออกหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญให้แก่ทหารตามประเภทที่ถูกปลดไว้เป็นหลักฐาน
หมวด ๗ บทกำหนดโทษ
[แก้ไข]มาตรา ๔๒ หนังสือซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้ไว้แก่บุคคลใด ถ้าชำรุดหรือสูญหายแล้ว บุคคลนั้นไม่แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอท้องที่ เพื่อรับใหม่ตามความในมาตรา ๙ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘
มาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๔๐ ภายในกำหนดสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่สามารถแจ้งได้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบสองบาท
มาตรา ๔๓ ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๒ ทวิ หรือมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ แล้ว แต่ยังไม่เป็นทหารกองเกิน ไม่ ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๒ ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๔ บุคคลใดไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๘ หรือไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินใหม่ตามมาตรา ๑๙ หรือไม่ยอมลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๒๑ หรือไม่มารับหมายเรียกที่อำเภอตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด บุคคลนั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกินหรือขอลงบัญชีทหารกองเกินใหม่ หรือมาขอรับหมายเรียกที่อำเภอด้วยตนเอง หรือให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแทนตน แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๕ บุคคลใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามหมายเรียกของนายอำเภอ หรือมาแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก หรือไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ หรือหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือบุคคลใดเข้ารับราชการทหารกองประจำการแทนผู้อื่น หรือเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยสัญญาว่าจะช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
มาตรา ๔๖ ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม หรือในการระดมพลตาม
มาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสี่ปี
มาตรา ๔๗ ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๘ บุคคลใดทำร้ายร่างกายตนเอง หรือให้ผู้อื่นทำเพื่อจะให้พ้นจากการรับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปจนถึงแปดปีผู้สมรู้เป็นใจในการทำร้ายร่างกายเพื่อความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ มีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงสี่ปี
มาตรา ๔๙ บุคคลใดใช้อุบายหลอกลวงให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อโดยเจตนาหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการเข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้จนเป็นผลสำเร็จ หรือยุยงเสี้ยมสอนจนเกิดความผิดตามมาตรานี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หมวด ๘ บทเฉพาะกาล
[แก้ไข]มาตรา ๕๐ ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้
ก. การลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นอันใช้ได้
ข. หมายเรียกคนเข้ารับราชการในกองประจำการ ซึ่งได้ออกไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นอันใช้ได้ เว้นแต่บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกนั้น
ค. ผู้ที่ยังอยู่ในกองประจำการตามพระราชบัญญัติเดิมต้องรับราชการทหารต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดปลด
ง. ผู้ที่อยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ หรือชั้นที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติเดิมต้องอยู่ในกองหนุนชั้นนั้น ๆ ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
จ. ผู้ที่ถูกปลดพ้นราชการทหารตามพระราชบัญญัติเดิม ให้เป็นอันพ้นตลอดไป
ฉ. ผู้ที่เป็นทหารกองเกินอยู่ตามพระราชบัญญัติเดิมให้เป็นทหารกองเกินตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๙ การรักษาพระราชบัญญัติ
[แก้ไข]มาตรา ๕๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงร่วมกันเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"