ขันธปริตต์
งานนี้ยังไม่เสร็จ ถ้าต้องการช่วยเหลือ โปรดดูหน้าช่วยเหลือ หรือทิ้งความเห็นไว้ที่หน้าพูดคุย |
ขันธปริตต์[1]
พระปริตรบทนี้มีตำนานเริ่มต้นว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวนาวาส ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งนั่งสีไฟอยู่ ณ เรือนไฟ งูตัวหนึ่งออกจากต้นไม้ผุไปขบเอานิ้วเท้าแห่งพระภิกษุนั้น พระภิกษุนั้นทนพิษงูมิได้ ก็ถึงมรภาพอยู่ ณ ที่นั้น ภิกษุทั้งหลายก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถึงเรื่องภิกษุที่ถูกงูกัดตายนั้น สมเด็จพระศาสดาจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชะรอยภิกษุนั้นจะไม่ได้เจริญเมตตาจิตต์ต่อตระกูลพระยางูทั้ง ๔ ถ้าหากว่าภิกษุรูปนั้น ได้เจริญเมตตาจิตต์ ปรารภซึ่งพระยางูทั้ง ๔ แล้ว งูจะไม่กัดภิกษุนั้นเลย ถึงแม้ว่าจะกัดก็หาตายไม่ แต่ปางก่อนดาบสทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิตได้เจริญเมตตาจิตต์ในตระกูลพญางูทั้ง ๔ ก็พากันรอดพ้นจากภัยแห่งงูทั้งหลาย แล้วจึงทรงนำเอาอดีตชาดกมาแสดงดังต่อไปนี้
- ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตต์ครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกรัฏฐ์ ครั้นเจริญวัยแล้วก็ได้ละสมบัติออกบรรพชาเป็นฤๅษี ได้บรรลุอภิญญา ๔ และสมาบัติ ๘ แล้วได้สร้างอาศรมอยู่ ณ คุ้งแห่งหนึ่งของแม่น้ำคงคาในป่าหิมพานต์ และได้เป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ฤๅษีอยู่ ณ ที่นั้นด้วย
- ครั้งนั้นงูทั้งหลายอยู่ ณ ฝั่งแห่งแม่น้ำนั้น ได้ขบกัดฤๅษีถึงแก่ความตายเป็นอันมาก พระดาบสทั้งหลายก็ได้นำความนั้นแจ้งแก่ดาบสโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ของตน
- พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์จึงได้ประชุมดาบสทั้งหลาย แล้วสอนให้ดาสเหล่านั้นเจริญเมตตาจิตต์ต่อตระกูลพระยางูทั้ง ๔ เป็นเบื้องต้น แล้วจึงสอนให้เจริญเมตตาจิตในสัตว์จำพวกอื่นต่อไปโดยลำดับ ตั้งแต่สัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ ๒ เท้า สัตว์ ๔ เท้า และสัตว์มีเท้ามาก ว่าอย่ามีเวร อย่ามีพยาบาท จงถึงซึ่งความสุขปราศจากทุกข์เถิด แล้วทรงสั่งสอนให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่ามากไม่มีประมาณ (คือ คุณมากโดยไม่มีกิเลส) สัตว์ทั้งหลายเป็นสัตว์มีคุณเป็นประมาณ (เพราะข้องอยู่ในกิเลส) สัตว์ที่มีประมาณเหล่านี้ จงกระทำการป้องกันรักษาซึ่งเราทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด
- ความรักษาป้องกันอันเรากระทำแล้วแก่สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ภูตสัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย อย่าได้มาเบียดเบียนเราเลย เรากระทำความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
- อนึ่งความไมตรีจิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นได้มีอยู่แก่เราผู้ใด เราผู้นั้นย่อมได้กระทำความนอบน้อมนมัสการแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น โดยลำดับมาทั้ง ๗ พระองค์
- เมื่อพระโพธิสัตว์ผูกพระปริตรให้แก่ฤๅษีทั้งหลายแล้ว พระฤๅษีเหล่านั้นก็ได้เจริญเมตตาและระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ งูทั้งหลายก็หลีกหนีไปมิได้เข้ามากล้ำกรายอีกต่อไป
- พระคาถาที่เจริญพระพุทธมนตร์และคำแปล มีดังต่อไปนี้
วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ เมตฺตํ เอราปเถหิ เม
ฉพฺยาปุตฺเตหิ เม เมตฺตํ เมตฺตํ กณฺหาโคตมเกหิ จ
อปาทเกหิ เม เมตฺตํ เมตฺตํ ทิปาทเกหิ เม
จตุปฺปเทหิ เม เมตฺตํ เมตฺตํ พหุปฺปเทหิ เม
มา มํ อปาทโก หิํสิ มา มํ หิํสิ ทิปาทโก
มา มํ จตุปฺปโท หิํสิ มา มํ หิํสิ พหุปฺปโท
สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา สพฺเพภูตา จเกวลา
สพฺเพ ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ มา กิญฺจิ ปาปมาคมา
อปฺปมาโณ พุทฺโธ
อปฺปมาโณ ธมฺโม
อปฺปมาโณ สํโฆ
ปมาณวนฺตานิ สิริํสปานิ อหิ วิจฺฉิกา
สตปที อุณฺณานาภี สรพู มูสิกา
กตา เม รกฺขา กตา เม ปริตฺตา
ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ โสหํ นโม ภควโต
นโมสตฺตนฺนํ สมฺมาสมฺพุทฺธานํ ฯ[2]
บทขัดตำนาน ขันธปริตต์ กับ ฉัททันปริตต์ ว่า
[แก้ไข]• สพฺพาสีวิสชาตีนํ ทิพฺพมนฺตาคทํ วิย ยนฺนาเสติ วิสํ โฆรํ เสสญฺจาปิ ปริสฺสยํ อาณกฺเขตฺตมฺหิ สพฺพทา สพฺพปาณินํ สพฺพ โสปิ นิวาเรติ ปริตฺตนฺตมฺภณาม เห.
- ↑ เดิมต้นฉบับแต่ก่อนเขียน คำว่า ปริตต์ ต่อมาเขียนว่า ปริตร
- ↑ คำแปล ว่า ความเป็นของเรา จงมีกับสกุลพระยานาคทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขด้วย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสกุลพระยานาคทั้งหลาย ชื่อเอราบถด้วย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสกุลพระยานาคทั้งหลาย ชื่อกัณหาโคตมกะด้วย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าด้วย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่มีสองเท้าด้วย ความเป็นมิตรของเราจงกับสัตว์ทั้งหลายที่มีเท้าสี่ด้วย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่มีเท้ามากด้วย สัตว์ไม่มีเท้า อย่าเบียดเบียฬเรา สัตว์สองเท้า อย่าเบียดเบียฬเรา สัตว์สี่เท้า อย่าเบียดเบียฬเรา สัตว์มากเท้า อย่าเบียดเบียฬเรา ขอสรรพสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ที่เกิดมาทั้งหมดจนสิ้นเชิงด้วย จงเห็นซึ่งความเจริญทั้งหลายนั้นเถิด โทษลามกหน่อยหนึ่ง อย่าได้มาถึงแล้วแก่สัตว์นั้น พระพุทธเจ้า ทรงพระคุณไม่มีประมาณ พระธรรม ทรงพระคุณไม่มีประมาณ พระสงฆ์ ทรงพระคุณไม่มีประมาณ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง ตะเข็บ ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก หนูเหล่านี้ ล้วนมีประมาณ (ไม่มากมายเหมือนคุณพระรัตนตรัย) ความรักษา อันเรากระทำแล้ว ความป้องกัน อันเรากระทำแล้ว หมู่สัตว์ทั้งหลายที่ร้ายกาจ จงหลีกไปเสีย เรานั้นกระทำการนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ทำการนอบน้อม แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์อยู่ ฯ