ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 มกราคม 2565
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง นั้น
โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) สามารถแพร่ได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และประเทศไทยได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังขันแข็งของพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ได้ช่วยให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 อยู่ภายใต้การควบคุม อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมการระบาดในบางพื้นที่เสี่ยงที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในชุมชนหรือสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมกลุ่มของบุคคล จึงสมควรปรับปรุงมาตรการการควบคุมแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๓ การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ เพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ และกิจกรรมสำหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๓ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๑) ลงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยให้ปรับมาตรการควบคุม ดังนี้
การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว จะเปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID - 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่
ข้อ ๔ มาตรการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการระบาดของโรคในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค การให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในพื้นที่เฝ้าระวังสูงที่ได้ผ่อนคลายให้ดำเนินการได้ตามข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ ด้วย
สำหรับสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักรยังคงจำเป็นต้องปิดดำเนินการ ไว้ก่อน แต่หากประสงค์ปรับรูปแบบของสถานที่เพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสามารถขออนุญาตดำเนินการได้โดยปฏิบัติ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๑) ลงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565". (2565, 21 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 139, ตอน พิเศษ 16 ง. หน้า 62–64.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"