ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๔๗)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในทวีปเอเชียมีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นการระบาดระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน (Omicron) BA.4 และ BA.5 ภายหลังที่หลายประเทศได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศควบคู่กับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรค สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยแม้ว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงปรากฏการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษาและผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม ขณะที่องค์การอนามัยโลกยังคงระดับการเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) กอปรกับโรคติดเชื้อนี้ยังคงกำหนดเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะ Post-Pandemic รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นควรปรับมาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจกรรมบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ย่อยใหม่ต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด - 19 เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านอันจะทำให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจดำเนินไปควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเข้มแข็งและสมดุล

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์จำแนกตามเขตพื้นที่จังหวัด ให้การกำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์ที่ทุกเขตพื้นที่จังหวัดทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ ๑๒/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เฉพาะมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๔) ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะการปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ และการปรับปรุงการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๕) ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะมาตรการควบคุม และป้องกันโรคสำหรับสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๖) ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะแนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวัง และมาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว ยังคงมีผลใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

ข้อ ๓ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่อาจเกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสและสามารถแพร่โรคได้ ยังคงจำเป็นต้องห้ามดำเนินการและห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เว้นแต่การจัดกิจกรรมนั้นได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาในแต่ละกรณี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์จริงในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้นำข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และมาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อ ๗ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๖) ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มาใช้บังคับกับการจัดกิจกรรมนี้ด้วย

การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ที่จัดขึ้นโดยมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้

ข้อ ๔ การเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางบกผ่านจุดผ่อนปรนการค้า จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนพิเศษ จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว และจุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทางบกผ่านจุดผ่อนปรนการค้า จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนพิเศษ จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว และจุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายเปิดประเทศควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งและสมดุล โดยให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทั้งนี้ ให้ผู้รับผิดชอบจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคและกำกับการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดด้วย

ข้อ ๕ มาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการระบาดระลอกใหม่ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมความพร้อมโดยบูรณาการและประสานการปฏิบัติงานเพื่อจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ วัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร รวมถึงระบบการช่วยเหลือและรักษาผู้ติดเชื้อ สถานที่และเตียงรองรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤตในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีจำนวนที่เพียงพอและพร้อมเพื่อการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะหากเกิดกรณีที่ผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งรัด ประชาสัมพันธ์ รวมถึงพิจารณามาตรการสนับสนุนและจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเชิงรุกโดยเฉพาะการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ ให้ประสานความร่วมมือกับประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หญิงมีครรภ์ (กลุ่ม ๖๐๘) และเด็กเล็ก สามารถเข้ารับบริการและรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณายกระดับมาตรการป้องกันเพื่อการเตรียมความพร้อมดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีแนวปฏิบัติหรือแผนเผชิญเหตุที่จำเป็นเพื่อมุ่งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ร่วมดำเนินการกำกับ ติดตาม เฝ้าระวัง และทบทวนมาตรการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

ข้อ ๖ การเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด - 19 จากโรคติดต่ออันตรายไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด - 19 จากโรคติดต่ออันตรายไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือ ปรับตัว และดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย ภายใต้หลักการและแนวคิดที่ว่า “ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 ดำเนินการ ดังนี้

(๑) เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด - 19 จากโรคติดต่ออันตรายไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดนโยบาย วางระบบ แผนปฏิบัติการ แนวทางปฏิบัติ และกลไกในการกำกับติดตามและประเมินผลในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด - 19 ที่ครอบคลุมทั้งมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการทางสังคมและองค์กร มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการด้านการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี นำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับแนวทางที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนดหรือได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

(๒) ประสานการปฏิบัติกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนเชิงรุกในทุกกลุ่มเป้าหมายประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจาตัวหรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หญิงมีครรภ์ (กลุ่ ม ๖๐๘) และเด็กเล็กซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับวัคซีนได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำกับติดตามการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนดหรือได้พิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"