ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ แล้ว นั้น
เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไปสู่พื้นที่อื่นและป้องกันมิให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การห้ามออกนอกเคหสถาน ให้การห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓) ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ยังคงใช้บังคับต่อไป
ผู้ฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดด้วย เช่น ออกนอกเคหสถานในเวลาดังกล่าวและไม่ยอมรับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต หรือมั่วสุมชุมนุมกันทำกิจกรรมอันเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเวลาดังกล่าว อาจมีความผิดอีกสถานหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือหากอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวไปกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือกระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดในเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องการห้ามออกนอกเคหสถาน และขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เช่น เสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาอันไม่เป็นความจริงซึ่งเป็นความผิดตามข้อ ๖ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายเหล่านั้นทุกฐานความผิด ทั้งนี้ ทางราชการอาจพิจารณาขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้กระทำความผิดดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาในการขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐในโอกาสต่อไปด้วยก็ได้
ข้อ ๒ การห้ามหรือข้อจำกัดการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมบางอย่างตามพระราชกำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๑)ห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์
(๒)ห้ามผู้ใดจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ การจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นการจัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และต้องเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อยหนึ่งเมตร สถานที่ทำกิจกรรมต้องโล่งแจ้งหรือไม่แออัด ใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในกรณีเป็นการประชุม การสัมมนา ควรจัดประชุมด้วยวิธีการตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓
(๓)ห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยานเว้นแต่เป็นไปตามประกาศ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนด
(๔)ให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรี ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนดซึ่งแบ่งออกเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างประเทศ และมาตรการสำหรับผู้มีสัญชาติไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมจำนวนคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดที่เอกเทศไว้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต
(๕)ให้ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ สั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ ที่เอกเทศ หรือสถานที่ซึ่งทางราชการกำหนด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขดังกล่าวตามระยะเวลาที่กำหนด
(๖)ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพรโรคดังนี้ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก สวนสัตว์ สถานที่เล่นสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรดหรือการละเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน สนุกเกอร์ บิลเลียด สถานที่เล่นโบว์ลิ่งหรือตู้เกม ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต สระว่ายน้ำสาธารณะ สนามชนไก่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ สนามม้า สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้าและสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ในพื้นที่รับผิดชอบเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดให้ผ่อนคลายต่อไป
(๗) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาปิด จำกัดหรือห้ามการดำเนินการสถานที่หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากที่ระบุไว้ตาม (๒) เพิ่มเติมภายในพื้นที่รับผิดชอบได้ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ แต่การสั่งให้เปิดดำเนินการสถานที่หรือกิจกรรมใด ๆ ที่มีคำสั่งปิดหรือมีข้อจำกัดการใช้สถานที่ตาม (ต) ถึง (๕) หรือตามที่มีคำสั่งปิดตาม (๖) และ (๗) จะกระทำมิได้จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดให้ผ่อนคลายต่อไป
ข้อ ๓ คำสั่งหรือการกำหนดตามข้อ ๒ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๓) ถือว่าเป็นคำสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ด้วย
ข้อ ๔ การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีในวันสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ณ ศาสนสถานใดให้เป็นไปตามคุลยพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปกครองดูแลศาสนสถานนั้น ในกรณีมีมาตรการหรือคำแนะนำขององค์กรปกครองทางศาสนานั้นหรือของทางราชการเกี่ยวกับการป้องกันโรค ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการหรือคำแนะนำดังกล่าว
ข้อ ๕ ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็นซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งต้องรับการตรวจคัดกรอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอันอาจทำให้การเดินทางต้องใช้เวลามากกว่าปกติ และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563". (2563, 1 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137, ตอน พิเศษ 102 ง. หน้า 1–3.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"