ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๙
หน้านี้ขาดแหล่งที่มาของเนื้อหา ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นเอกสารต้นฉบับที่สแกนมาอัปโหลดไว้ที่วิกิมีเดียคอมมอนส์แล้วจัดทำแบบพิสูจน์อักษร หรือถ้าไม่สามารถอัปโหลดต้นฉบับเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็ควรระบุแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเนื้อหาได้ |
เนื่องจากคณะรัฐมนตรีลงมติให้ข้าราชการประจำการมีเสรีภาพทางการเมืองทำนองเดียวกับประชาชนทั่วไป และเปิดโอกาสให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองได้ กระทรวงกลาโหมเห็นควรวางแนวทางการปฏิบัติของข้าราชการกลาโหมที่เกี่ยวกับการเมืองไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๙"
ข้อ ๒ ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับทหารว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกลาโหมประจำการกับการเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๙ และข้อบังคับทหารว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกลาโหมประจำการกับการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๙
ข้อ ๔ ข้าราชการกลาโหมตามข้อบังคับนี้หมายความว่า
- (๑) ข้าราชการประจำการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งทหารและพลเรือน เว้นแต่ข้าราชการประเภทการเมือง
- (๒) นักเรียนทหาร
- (๓) ทหารกองประจำการ
- (๔) ลูกจ้างและคนงานสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งจ้างประจำและจ้างชั่วคราว
ข้อ ๕ ข้าราชการกลาโหมผู้ใดได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณีเพื่อทราบ
ข้อ ๖ ข้าราชการกลาโหมจะเข้าร่วมประชุมอันเป็นการประชุมของพรรคการเมืองเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมิใช่ในเวลาราชการ
- ความในวรรคก่อนไม่ใช้บังคับข้าราชการกลาโหมที่เป็นวุฒิสมาชิก
ข้อ ๗ ข้าราชการกลาโหมจะต้องปฎิบัติราชการในหน้าที่ หรือเกี่ยวกับประชาชนด้วยการวางตัวเป็นกลาง โดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องปฎิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และไม่กระทำการให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบธรรมเนียมของทหาร
ข้อ ๘ ข้าราชการกลาโหมจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามดังต่อไปนี้
- (๑) ห้ามมิให้ใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้เขตสถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือวาจา ยกเว้นสโมสรซึ่งมีระเบียบการให้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ได้เป็นครั้งคราวโดยเสียค่าบริการ
- (๒) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฎแก่ประชาชน
- (๓) ไม่แต่งเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้ร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะใด ๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
- (๔) ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในสถานที่ราชการ หรือในเวลาราชการ หรือในเวลาสวมเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้
- (๕) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการทุก ๆ แห่ง
- (๖) ไม่บังคับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนทั้งโดยตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณหรือโทษเฉพาะเหตุที่ผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
- (๗) ไม่ทำการขอร้องหรือบังคับให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง
- (๘) ไม่เขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิว ซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชนอันมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมืองและไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใด ๆ ในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน
- (๙) ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือกระทำกิจการต่าง ๆ อาทิเช่น วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือพรรคการเมือง เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอสภาผู้แทนหรือวุฒิสภา หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นต้น
- (๑๐) ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เว้นแต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองให้กระทำการดังกล่าวเช่นนั้นได้ และในทางกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
- (๑๑) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งและในทางกลับกัน ไม่กีดกันตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๙๙
- (ลงชื่อ)
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม