ข้อบังคับของอัยการสูงสุด ว่าด้วยฯ การตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับ พ.ศ. 2560
โดยที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติให้การตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับโดยพนักงานอัยการเพื่อการบังคับคดี กรณีผู้ต้องโทษปรับไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของอัยการสูงสุด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๙/๑ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๕)พ.ศ. ๒๕๕๙ อัยการสูงสุดจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ๑ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับของอัยการสูงสุดว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับ พ.ศ. ๒๕๖๐"
ข้อ๒ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ๓ในข้อบังคับนี้
"ผู้ต้องโทษปรับ" หมายความว่า ผู้ต้องโทษปรับในคดีอาญาที่ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาที่ศาลได้ออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อใช้ค่าปรับ
"การตรวจสอบหาทรัพย์สิน" หมายความว่า การสืบหาทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับอันพึงยึดหรืออายัดเพื่อนำมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษา
ข้อ๔เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีกับผู้ต้องโทษปรับ และพนักงานอัยการมีคำสั่งให้รับดำเนินการบังคับคดีแล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับนี้
ข้อ๕การตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับ ให้พนักงานอัยการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ต้องโทษปรับตามคำพิพากษาที่จะดำเนินการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับตามแบบพิมพ์ที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด และพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร ดังนี้
(๑)การตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์
(ก)ให้มีหนังสือไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดิน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นที่ปรากฏหลักฐานหรือเชื่อได้ว่า ผู้ต้องโทษปรับมีหรือเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต เพื่อตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนของทรัพย์นั้น ๆ เช่น การถือกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง ของผู้ต้องโทษปรับ
(ข)ในกรณีมีเหตุอันควร ให้มีหนังสือไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดิน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นแห่งอื่นนอกเหนือจาก (ก)
(๒)การตรวจสอบทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน ของผู้ต้องโทษปรับ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น พันธบัตรรัฐบาล ให้มีหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย
(๓)การตรวจสอบทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝาก และสิทธิเรียกร้องอื่นของผู้ต้องโทษปรับ ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ออมทรัพย์ เช่น สลากออมสิน สลากออมทรัพย์ หน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือเงินปันผล ให้มีหนังสือไปยังสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ๆ แล้วแต่กรณี
(๔)การตรวจสอบหลักทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของผู้ต้องโทษปรับ ให้มีหนังสือไปยังผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ครอบครองตราสาร รวมทั้งบุคคลซึ่งต้องชำระหนี้ตามตราสารนั้น ผู้ฝากหลักทรัพย์และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี
(๕)การตรวจสอบทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ของผู้ต้องโทษปรับที่มีการจัดทำทะเบียนหรือมีหลักฐานกับหน่วยงานของรัฐ เช่น เครื่องจักร รถยนต์ อาวุธปืน ให้มีหนังสือไปยังนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับหลักฐานนั้น
(๖)กรณีที่ผู้ต้องโทษปรับเป็นนิติบุคคล อาจทำการตรวจสอบทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นใดของผู้ต้องโทษปรับที่ไปปรากฏเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นใดที่มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องโทษปรับที่เป็นนิติบุคคลนั้น โดยให้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นดังกล่าว
ในกรณีที่ค่าปรับที่ผู้ต้องโทษปรับไม่ยอมชำระเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย ก่อนดำเนินการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับตามวรรคหนึ่ง พนักงานอัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ก็ได้
ข้อ๖เพื่อให้การตรวจสอบหาทรัพย์สินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการตรวจสอบทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ เช่น ประเภททรัพย์สินต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ ๒ การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากพนักงานอัยการเห็นสมควร ให้มีหนังสือไปยังหน่วยงานหรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
ข้อ๗ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับ หากไม่ได้รับข้อเท็จจริงในการตรวจสอบหาทรัพย์สินจากหน่วยงานหรือบุคคลตามข้อ ๕ และข้อ ๖ พนักงานอัยการอาจใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมาให้การต่อพนักงานอัยการ ออกคำสั่งให้ส่งพยานหลักฐานเอกสารหรือวัตถุ และดำเนินการอื่นตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการใดตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับนั้นก็ได้
ข้อ๘เมื่อตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับแล้ว ให้สำนักงานอัยการที่รับผิดชอบการบังคับคดีจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับตามแบบพิมพ์ที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด และให้สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด บันทึกไว้ในระบบฐานข้อมูลตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีโดยไม่ชักช้า
ระบบฐานข้อมูลตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การรวบรวมให้ปรากฏถึงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน หรือข้อมูลอื่นใดของผู้ต้องโทษปรับอันจะนำไปสู่การบังคับคดี รวมถึงสถานะ อาชีพ และแหล่งรายได้ของผู้ต้องโทษปรับ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวน หรือเพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีเพื่อการบังคับคดี
ข้อ๙เมื่อตรวจสอบพบว่า มีทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับที่สามารถยึดหรืออายัดมาใช้ค่าปรับได้ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี
การตรวจสอบหาทรัพย์สิน ให้ดำเนินการไปจนกว่ามีเหตุที่ไม่สามารถยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องเพื่อใช้ค่าปรับได้อีก
ข้อ๑๐แบบพิมพ์ต่าง ๆ ตามข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
ข้อ๑๑กรณีที่ข้อบังคับนี้ไม่ได้กำหนดไว้ ให้นำระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีมาใช้โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ๑๒อัยการสูงสุดมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
ข้อ๑๓อัยการสูงสุดเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
บรรดาระเบียบ หลักปฏิบัติราชการ และคำสั่งอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
- เข็มชัย ชุติวงศ์
- อัยการสูงสุด
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ข้อบังคับของอัยการสูงสุด ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับ พ.ศ. 2560". (2560, 24 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134, ตอน 120 ก. หน้า 24–26.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"