คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๔๖/ไกรฤกษ์ เกษมสันต์
- ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า
- ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า
- ผู้คัดค้านที่ ๒ คัดค้านว่า
- ปัญหาข้อกฎหมาย
- ๑. เดช พุ่มคชา และเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชน มีสิทธิร้องเรียนว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปรกติ ใช่หรือไม่
- ๒. เมื่อผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างถึงแต่ผู้คัดค้านที่ ๒ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบไปถึงบุคคลอื่นด้วย ใช่หรือไม่
- ๓. การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีนี้ต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ทั้งที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. เคยตรวจสอบทรัพย์สินรายเดียวกันไปแล้ว เป็นการไต่สวนซ้ำซึ่งขัดต่อกฎหมาย ใช่หรือไม่
- ๔. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีนี้โดยมิชอบ เพราะแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อเขาพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปเกินสองปีแล้ว ใช่หรือไม่
- ๕. ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคลือบคลุม ใช่หรือไม่
- ๖. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีนี้โดยมิชอบ เพราะมิได้นำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ตกอยู่ในพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปรกติครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด ใช่หรือไม่
- สรุปว่า
- ปัญหาข้อเท็จจริง
- ๗. เงินในบัญชีชุดที่หนึ่ง จำนวนสิบแปดล้านบาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืมมา และอีกหนึ่งล้านบาทเป็นของเขาอยู่แล้ว จริงหรือไม่
- ๘. เงินในบัญชีชุดที่สอง จำนวนยี่สิบเอ็ดล้านบาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับมาเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ทางการเมือง จริงหรือไม่
- ๙. เงินในบัญชีชุดที่สาม จำนวนสองร้อยยี่สิบห้าล้านสองแสนสามหมื่นบาท ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ ได้มาเพราะชนะพนัน จริงหรือไม่
- ๑๐. เงินในบัญชีชุดที่สี่ จำนวนสิบห้าล้านสี่แสนบาท ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ ได้มาโดยเอาเงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้อยู่แล้วไปแลกเป็นเงินบาท จริงหรือไม่
- สรุปว่า
- วินิจฉัย
ความเห็นในการวินิจฉัยคดี
คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๔๖ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๔๖ |
อัยการสูงสุด | โจทก์ | ||
ระหว่าง | |||
นายรักเกียรติ สุขธนะ ที่ ๑ | ผู้คัดค้าน | ||
นางสุรกัญญา สุขธนะ ที่ ๒ |
เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ระหว่างวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีทรัพย์สินรวม ๗๑,๓๗๗,๗๒๐.๔๐ บาท มีหนี้สินรวม ๒๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ๔๙,๓๗๗,๗๒๐.๔๐ บาท นางสุรกัญญา สุขธนะ ผู้คัดค้านที่ ๒ คู่สมรส มีทรัพย์สินรวม ๒๙,๒๐๖,๗๐๔.๓๘ บาท ไม่มีหนี้สิน นายสุวิชชา สุขธนะ มีทรัพย์สินรวม ๒๖,๙๘๖.๖๔ บาท ไม่มีหนี้สิน รวมสามคนมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ๗๘,๖๑๑,๔๑๑.๔๒ บาท
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ นายเดช พุ่มคชา ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีเงินไหลเข้าออกในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน ของผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท สงสัยว่า เงินดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ขณะที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการแทน
การไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินฝากในบัญชีธนาคารหลายแห่งเพิ่มขึ้น คณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ทราบ ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว คณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถชี้แจงให้เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินมาโดยชอบเป็นเงินจำนวน ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท อันได้แก่ เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๒๘ และ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ, เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ ๓๑๙-๓-๐๒๗๖๙-๒ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๔ และ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ, เงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท, และในวันเดียวกัน นำฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ บัญชีชื่อ นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๔ และ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีฝากประจำเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท, และเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ บัญชีชื่อ นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ นำฝากวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ยอมรับว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนได้จากการเล่นการพนัน ยกเว้นเงินจำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้จากการกู้ยืม ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วมีความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เงินจำนวนดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่ำรวยผิดปกติ โดยการมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งสิ้น ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าทรัพย์สินเงินสดจำนวน ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาทดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า รายการทรัพย์สินเงินฝากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ จำนวนสิบแปดล้านบาท คณะกรรมการ ป.ป.ป.[1] ได้มีการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการนี้แล้ว และมีมติให้ยุติเรื่อง จึงมีผลผูกพันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนยกขึ้นมาไต่สวนใหม่อีกครั้งโดยไม่มีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติม เป็นการไต่สวนซ้ำ ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๔ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๗ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการนี้ในคดีนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนและกล่าวหาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ว่าร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากหนังสือร้องขอของนายเดช พุ่มคชา ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ ไม่ถือว่า เป็นผู้กล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ และ มาตรา ๘๐ เพราะนายเดชและเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่า นายเดชได้รับมอบอำนาจให้เป็นหรือมีอำนาจกระทำการแทนกระทรวงสาธารณสุข และตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ ๑ อันเป็นเหตุให้ร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด
หนังสือของนายเดชกล่าวหาว่า บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานกรุงธน ของผู้คัดค้านที่ ๒ ภริยาของผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินไหลเข้าออกเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐บาท ระหว่างผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาจเกี่ยวกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เป็นการกล่าวหาให้ตรวจสอบเฉพาะบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๒ เท่านั้น ไม่ได้ร้องเรียนถึงบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น และได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการยกเลิกราคากลางของยาและเวชภัณฑ์ การไต่สวนข้อเท็จจริงกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับรายการทรัพย์สินในชื่อนายจิรายุ จรัสเสถียร และนายพิษณุกร อุดรสถิตย์ จึงเป็นการกล่าวหาและไต่สวนที่ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๘๐
ผู้ร้องคัดค้านที่ ๑ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระหว่างวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแจ้งข้อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ เพิ่มเติม ครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓ ครั้งที่สามเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๔ และครั้งที่สี่เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๕ จึงเป็นการแจ้งเมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีเกินสองปีแล้ว ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ทั้งนี้ เพราะตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรีสามารถแบ่งแยกกันได้ เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจไต่สวนและร้องต่อศาลขอให้ทรัพย์สินตามคำร้องข้อ ๓.๑, ๓.๒, ๓.๕ ถึง ๓.๑๑ ตามการแจ้งข้อกล่าวหาครั้งที่สองถึงที่สี่ ตกเป็นของแผ่นดิน
คำกล่าวหาของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๔ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๖ (๓) เพราะไม่ระบุพฤติการณ์ที่ร่ำรวยผิดปกติ คือ ไม่ระบุว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติอย่างไร หรือทรัพย์สินที่ได้มาเป็นการได้มาโดยไม่ควรอย่างไร และไม่ระบุว่า ทรัพย์สินได้มาหรือหนี้สินลดลงสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อย่างไร จึงถือได้ว่า ไม่มีการกล่าวหา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนจึงไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๗
คำร้องตามข้อ ๓ กล่าวแต่เพียงว่า คำชี้แจงของผู้คัดค้านขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่คณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบ และผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถชี้แจงได้ จึงถือว่า ได้ทรัพย์สินมาโดยร่ำรวยผิดปกติ และตามรายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริง วินิจฉัยว่า “ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าได้มาโดยชอบ จึงถือว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ” มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติบทนิยามคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” ไว้ และไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทนิยามดังกล่าว นอกจากนี้ ศาลฎีกาได้ให้นิยามคำว่าร่ำรวยผิดปกติ และกำหนดภาระการพิสูจน์ไว้แล้วก่อนมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๐๙/๒๕๒๙
ในการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการไต่สวนไม่พยายามแสวงหาพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อย่างไรจึงเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินมา ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๕ และตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓ ซึ่งกำหนดให้คณะอนุกรรมการไต่สวนแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความร่ำรวยผิดปกติ การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนอ้าง มาตรา ๘๑ วรรคสอง และผลักภาระการพิสูจน์ให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ตามรายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยไม่ดำเนินการไต่สวนพิสูจน์และแสวงหาพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของตนโดยอ้างเหตุขัดข้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมาตรา ๘๑ วรรคสองดังกล่าวใช้ในชั้นศาลเท่านั้น จึงไม่อาจถือสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาคดีนี้ได้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘๑ วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๕ ที่บัญญัติให้ผู้คัดค้านที่ ๑ มีภาระการพิสูจน์ต่อศาล เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติข้อสันนิษฐานเป็นคุณแก่ผู้ร้องที่ไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล แต่ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ แม้ผู้คัดค้านที่ ๑ มีภาระการพิสูจน์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่และต้องนำสืบว่า ตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔ (๒) คือ จะต้องนำสืบให้เข้าเงื่อนไขแห่งการกล่าวหาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวย ผิดปกติตามที่มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติไว้เสียก่อน เมื่อผู้ร้องพิสูจน์ได้ครบตามเงื่อนไขแล้ว จึงจะนำมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับ
เงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ที่เป็นชื่อของผู้คัดค้านที่ ๒ นายจิรายุ จรัสเสถียร และนายพิษณุกร อุดรสถิตย์ ตามคำร้องเป็นเงินของผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสองสามารถที่จะชี้แจงแหล่งที่มาได้ดังนี้
เงินฝากประจำธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีเงินฝากเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ ชื่อบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืมจากนายสมบัติ เพชรตระกูล ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒
เงินฝากกระแสรายวันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ เป็นเงินที่นายพินิจ จารุสมบัติ มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อให้ไปดำเนินการทางการเมือง
เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน ชื่อบัญชี ผู้คัดค้านที่ ๒ บัญชีเลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๔ และ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ เป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่นำเงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้ไปแลกเป็นเงินบาท
เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวนเงิน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินของผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันได้ที่บ่อนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๒๑ ถึง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ นำฝากเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวนเงิน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินของผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันได้ที่บ่อนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นได้ ๓๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท แต่พันตำรวจโท ปกรณ์ขอหักเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทไปช่วยเหลือหัวหน้าพรรคกิจสังคมที่เสียพนัน
เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ ชื่อบัญชี นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ บัญชีเลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินของผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันได้ที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๒ ถึง ๔ มกราคม ๒๕๔๑
เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ ชื่อบัญชี นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๘ และวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินของผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันได้ที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๒๓ ถึง ๒๔ มกราคม ๒๕๔๑ การได้เงินมาดังกล่าวไม่ได้สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่ร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เงินฝากธนาคารในชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ตามคำร้องเป็นเงินที่ได้จากการไปเล่นการพนันที่ต่างประเทศ ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้นำเงินตราสกุลต่างประเทศที่นำติดตัวกลับประเทศไทยไปแลกเป็นเงินบาทและนำฝากธนาคารไว้ เงินอีกส่วนหนึ่งจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้มาจากการกู้ยืมนายสมบัติ เพ็ชรตระกูล ข้อกล่าวหาและการอ้างเหตุของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีพยานหลักฐาน ขอให้ยกคำร้อง
ก่อนไต่สวน ศาลมีคำสั่งให้เรียกนายรักเกียรติ สุขธนะ ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ และเรียกนางสุรกัญญา สุขธนะ ว่า ผู้คัดค้านที่ ๒
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านก่อน ดังนี้
ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า หนังสือร้องขอของนายเดช พุ่มคชา ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ ไม่ถือว่าเป็นผู้กล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ และ มาตรา ๘๐ เพราะนายเดชและเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามมาตรา ๔ ทั้งไม่ปรากฏว่า นายเดชได้รับมอบอำนาจให้เป็นหรือมีอำนาจกระทำการแทนกระทรวงสาธารณสุข และตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ ๑ อันเป็นเหตุให้ร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด เห็นว่า การร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในหมวด ๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ มิได้บัญญัติให้ผู้เสียหายเป็นผู้กล่าวหาดังเช่นการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๖๖ ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายเป็นผู้กล่าวหา ดังนั้น บุคคลใดย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ตามมาตรา ๔๓ (๓)
ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า หนังสือกล่าวหาของนายเดชเป็นการกล่าวหาให้ตรวจสอบเฉพาะบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๒ เท่านั้น ไม่ได้ร้องเรียนถึงบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น และได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการยกเลิกราคากลางของยาและเวชภัณฑ์ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินในชื่อนายจิรายุ จรัสเสถียร และนายพิษณุกร อุดรสถิตย์ จึงเป็นการกล่าวหาและไต่สวนที่ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๘๐ เห็นว่า เมื่อมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือมูลความผิด การตรวจสอบรายการทรัพย์สินในชื่อของนายจิรายุหรือนายพิษณุกร เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ อันเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิสูจน์ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ โดยไม่จำกัดข้อหาเฉพาะที่ถูกร้องเรียน หากไม่เป็นจริงดังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน ผู้คัดค้าน ที่ ๑ ก็สามารถนำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ในชั้นศาลได้
ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า รายการทรัพย์สินเงินฝากในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี ชื่อบัญชี ผู้คัดค้านที่ ๒ บัญชีเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการไต่สวนซ้ำ ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ เห็นว่า แม้คณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้มีการสืบสวนและสอบสวนเกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้ และมีมติให้ยุติเรื่องแล้ว แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่า มีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ซึ่งมีโทษทางอาญา ต่างกับกรณีนี้ที่เป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ เป็นการขอให้ยึดทรัพย์สิน เห็นได้ชัดว่าเป็นคนละกรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๔๔ (๑)
ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่สอง, ที่สาม และที่สี่ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓, ๒๔ เมษายน ๒๕๔๔ และ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๕ เป็นการแจ้งเมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเกินสองปีแล้ว ตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง เห็นว่า นายเดช พุ่มคชา ได้ทำหนังสือ กล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ เป็นการกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่เกินสองปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ส่วนการกล่าวหาเพิ่มเติมครั้งที่สอง, ที่สาม และที่สี่นั้นเป็นการต่อเนื่องกับครั้งแรก เนื่องจากมีการพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ไม่ถือว่า เป็นการกล่าวหาขึ้นใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงได้
ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า การกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๖ ได้บัญญัติว่า อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ๑…, ๒…, ๓. ข้อกล่าวหา และพฤติการณ์ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ และคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ให้ความหมายว่า “การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่” เห็นว่า คำกล่าวหาของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่กล่าวหาว่า ผู้คัดค้านมีบัญชีเงินฝากเข้าออกเป็นจำนวนมากทั้งบัญชีของตนเองและบุคคลอื่นขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ครบถ้วนตามที่กฎหมายต้องการแล้ว ไม่จำต้องระบุให้ละเอียดตามที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้าง เพราะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป และเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านที่ ๑ จะต้องพิสูจน์ว่า เงินที่เพิ่มขึ้นมากนั้นมีที่มาอย่างไร
ที่ผู้คัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านทำนองว่า การไต่สวนแสวงหาและรวบรวมหลักฐานของคณะอนุกรรมการไต่สวนไม่ชอบ ดังนั้น มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่ชอบ ศาลไม่อาจถือสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาคดีนี้ได้นั้น การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่แต่เพียงว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ส่วนทรัพย์สินเหล่านั้นจะมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้นั้นที่จะนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ได้มาโดยชอบอย่างไร เพราะการได้มาซึ่งทรัพย์สินของบุคคลใดเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะรู้ได้ว่า มีที่มาอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้นั้นที่จะพิสูจน์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เชื่อได้ว่า มิได้ร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด โดยสามารถบอกที่มาของเงินได้ การไต่สวนและมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ผู้คัดค้านที่ ๑ ก็สามารถจะพิสูจน์ในชั้นศาลฎีกาได้ คดีนี้ผู้คัดค้านที่ ๑ ยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ผู้ร้องจึงมิต้องนำสืบอย่างใดอีก เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านที่ ๑ จะพิสูจน์ให้ได้ว่า เงินแต่ละจำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาโดยชอบ
คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ในข้อกฎหมายทุกข้อฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เงินฝากประจำธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ ชื่อบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากในบัญชีดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืมจากนายสมบัติ เพชรตระกูล ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท และอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ ตามคำร้องข้อ ๓.๔ หรือไม่ ทางไต่สวน ผู้คัดค้านทั้งสองและนายสมบัติมาเบิกความในชั้นไต่สวนสรุปได้ว่า นายเทียม สุขธนะ บิดาของผู้คัดค้านที่ ๑ ขาดเงินทุนหมุนเวียน จึงขอความช่วยเหลือจากผู้คัดค้านที่ ๑ แต่ขณะนั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นเดียวกัน จึงได้ขอยืมเงินจากนายสมบัติ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของนายเทียมและสนิทสนมกันมาก จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่นายสมบัติเห็นว่า ให้ยืมได้เพียง ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น เพราะมีเงินที่ต้องใช้ในการหมุนเวียนทางธุรกิจ ต่อมาวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๐, วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ และวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ นายสมบัติจึงสั่งจ่ายเช็คเบิกเป็นเงินสดให้ผู้คัดค้านทั้งสองมารับที่บ้านจำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท, ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ (เช็คที่เบิกเงินสด ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ขอรับเพียง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท) กำหนดชำระคืนภายในสองเดือน ต่อมา ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ทยอยชำระเงินคืนแก่นายสมบัติหลายครั้งโดยชำระเป็นเงินสดจนครบ เห็นว่า ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่าไม่มีเงิน ก็ไม่เป็นความจริง เพราะผู้คัดค้านที่ ๑ รับว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ในนามของนายจิรายุ จรัสเสถียร ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท และอยู่ในบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ ในนามของบุคคลดังกล่าว ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ ในการให้เงินกู้ยืม โดยปกติผู้ให้กู้มักเรียกดอกเบี้ย และมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือต่อกัน โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมาก แต่กรณีของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ยืมเงินจากนายสมบัติไม่มีการเรียกดอกเบี้ยต่อกัน ไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งจำนวนเงินที่ยืมถึง ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท การให้กู้ยืมกันในลักษณะนี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ กับนายสมบัติจะต้องมีความสนิทสนมกันมาก ๆ เหตุที่อ้างว่า เคยให้ยืมเงินกันหลายครั้งลักษณะเช่นนี้ ในชั้นไต่สวนของศาล นายสมบัติและผู้คัดค้านที่ ๑ ก็ไม่สามารถตอบได้ โดยพยายามเลี่ยงอยู่ตลอดเวลา ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน นายสมบัติให้การยืนยันต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า รู้จักนายเทียม แต่ไม่สนิทสนมกัน สนิทสนมกับผู้คัดค้านที่ ๑ มากกว่า แต่ในชั้นไต่สวนของศาลกลับเบิกความว่า สนิทสนมกับนายเทียมและมีบุญคุณต่อกันมาก ในการส่งมอบเงินที่ยืม แทนที่จะชำระเป็นเช็คผ่านบัญชีผู้คัดค้านทั้งสองเพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลามานับเงิน และยังเป็นหลักฐานว่า ได้จ่ายเงินผ่านบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ ป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคต เนื่องจากการกู้ยืมไม่มีหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งมอบเงินให้แก่กันก็มีข้อพิรุธ ผู้คัดค้านที่ ๑ ให้การว่า ไปรับเงินสดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ โดยครั้งแรกไปกับผู้คัดค้านที่ ๒ ส่วนครั้งที่สองและครั้งที่สามผู้คัดค้านที่ ๒ ไม่ได้ไปด้วย ผู้คัดค้านที่ ๒ ให้การว่า ไปรับด้วยตนเองทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปด้วย ส่วนนายสมบัติให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มารับเงินสดครั้งแรกเพียงคนเดียว ส่วนครั้งที่สองและที่สาม ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ มาพร้อมกัน และนายสมบัติยังเบิกความว่า ที่ต้องให้ผู้คัดค้านที่ ๒ มาด้วยนั้นจะได้รู้เห็นเป็นพยาน ขัดกับที่ให้การต่อศาลว่า มีความสนิทสนมกับผู้คัดค้านที่ ๑ อีกทั้งเมื่อรับเงินมาแล้ว แทนที่จะนำเข้าบัญชี กลับนำใส่กล่องเก็บไว้ที่บ้าน เป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติ ในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ นี้ นอกจากจะนำเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๒ แล้ว ยังมีเงินอีกจำนวนหนึ่ง ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท นำเข้าฝากพร้อมกันด้วย ในการชำระเงินคืนแก่นายสมบัติมีข้อพิรุธ ผู้คัดค้านที่ ๑ ให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำไปชำระคืนแก่นายสมบัติ ผู้คัดค้านที่ ๑ นำเช็คไปมอบให้แก่นายสมบัติ แต่นายสมบัติอ้างว่า ตอนมารับมารับเป็นเงินสด ตอนคืนก็น่าจะคืนเป็นเงินสด ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงนำเช็คไปแลกเงินสดจากพันตำรวจโท ปกรณ์ เสริมสุวรรณ วันรุ่งขึ้น จึงนำเงินใส่กระเป๋าเดินทางจำนวนหนึ่งใบไปมอบให้นายสมบัติที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ ผู้คัดค้านที่ ๒ ให้การในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนครั้งแรกว่า ออกเช็คเงินสดจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทคืนแก่นายสมบัติ แต่ต่อมา วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ มาให้การแก้ไขคำให้การเหมือนกับที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ให้การ และนายสมบัติให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทชำระหนี้ นายสมบัติจึงให้พนักงานไปเบิกเงินสด ซึ่งพนักงานก็แจ้งว่า เบิกเงินสดได้ แต่ต่อมา นายสมบัติก็มาแก้ไขคำให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ นำเงินสดจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทมาชำระหนี้แก่ตนที่บ้าน แต่ในชั้นเบิกความต่อศาล นายสมบัติกลับให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ทยอยนำเงินมาใช้หลายครั้งจนครบ เกี่ยวกับเช็คจำนวนเงิน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบแล้วปรากฏว่า มีการนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ ซึ่งเป็นของนางพรสุข เสริมสุวรรณ มิใช่นายสมบัติแต่ประการใด เหตุการณ์รับเงินและใช้เงินคืนเป็นเรื่องสำคัญเช่นนี้น่าจะจำได้บ้าง ไม่น่าต่างกันมากโดยเฉพาะในสาระสำคัญ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนได้สอบนางสุขุมภรณ์ สุนย์วีระ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวลำโพง นางสุขุมภรณ์ ให้การว่า เช็คของนายสมบัติจำนวนเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำมาขึ้นเงินเมื่อเวลา ๑๔:๒๗ นาฬิกา ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็คือเงินที่นายสมบัติให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืม ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่า เงินจำนวนดังกล่าวมีการนำไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีเลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ เมื่อเวลา ๙:๓๐ นาฬิกา เป็นการยืนยันอยู่ในตัวว่า เงินที่โอนไปส่วนหนึ่งมิใช่เงินของนายสมบัติอย่างแน่นอน ในชั้นไต่สวนของศาลฎีกาผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่สามารถนำมาหักล้างพยานหลักฐานของคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ โดยเฉพาะพยานที่เป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสีย คงมีก็แต่เฉพาะผู้คัดค้านทั้งสองและนายสมบัติที่พยายามที่จะเบิกความให้ตรงกัน แต่ก็ยังขัดกัน พยานผู้คัดค้านไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเงินสด ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าว มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เงินฝากกระแสรายวันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๓๑๙-๓-๐๒๗๖๙-๒ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑, วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ รวม ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่นายพินิจ จารุสมบัติ มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อให้ไปดำเนินการทางการเมืองตามคำร้องข้อ ๓.๙, ๓.๑๐ และข้อ ๓.๑๑ หรือไม่ ทางไต่สวนผู้คัดค้านที่ ๑ มีนายวิญญา มกรพงศ์ อาชีพทำของเด็กเล่นส่งนอก มาเบิกความว่า ออกเงินส่วนตัวบริจาค ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ นายวิญญายังรวบรวมเงินจากนายองอาจ เอื้อพิณญากุล ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท, และนายแพทย์ มารุต มัสยวาณิชย์ อีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท, กับนายไพรัช ตันบรรจง อีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยนายวิญญา มอบเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าวเป็นเงินสดแก่นายแพทย์ โกวิท ภูตะคาม ณ ที่ทำงานของนายวิญญา และมีนายศิริธัช โรจนพฤกษ์ อาชีพทำธุรกิจโทรคมนาคมมาเบิกความว่า นำเงินสด ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่บ้าน เพื่อสนับสนุนกลุมเสรีธรรม กับมีนายแพทย์ โกวิท ภูตะคาม มาเบิกความว่า นายวิญญานำเงินสดมามอบให้ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วนายแพทย์ โกวิทนำใส่ถุงกระดาษส่งมอบแก่นายจิรายุที่ลานจอดรถหลังสถานีรถไฟสามเสน และเป็นผู้รับเงินบริจาค ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาทจากนายสีสัน เบญจศิริวรรณ กับนายเผด็จ ตันติมนตรี อีก ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยนำเงินสดจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทที่ได้รับใหม่มอบให้แก่นายจิรายุ ณ ที่เดิม เห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของเงินได้ในชั้นไต่สวนหาข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน ทั้งที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เคยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนถึงเก้าครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๓ ครั้งสุดท้ายวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕ และให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนสองครั้ง ครั้งแรกวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ จะอ้างว่า เพิ่งทราบจากนายจิรายุว่า นำเงินบริจาคดังกล่าวเข้าบัญชีนี้ จึงเพิ่งอ้างพยานทั้งสามปากดังกล่าว แต่นายศิริธัชเบิกความในชั้นศาลว่า เคยนำเงินสด ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทไปมอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ด้วยตนเองที่บ้าน ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่า ไม่ทราบมาก่อน จึงฟังไม่ขึ้น ประกอบกับการมอบเงินดังกล่าวไม่มีหลักฐานเอกสารแต่อย่างใด การมอบก็มีลักษณะเป็นพิรุธ บางจำนวนใส่ถุงกระดาษแอบมอบให้กันที่ลานจอดรถ ผิดลักษณะของการบริจาคเงินเพื่อให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมิใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใด จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องกระทำอย่างปกปิดซ่อนเร้นมิให้บุคคลภายนอกทราบ ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นรัฐมนตรีย่อมทราบดีว่า ขณะเข้ารับตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นการรับเงินจำนวนมาก ๆ ก็น่าจะทำหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อพิสูจน์ความสุจริตของตนเอง ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น จึงต้องฟังว่า เงินจำนวน ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวนเงิน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ นำฝากเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ ชื่อบัญชี นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ บัญชีเลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ ชื่อบัญชี นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีเลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๘ และ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวนเงิน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จากการไปเล่นการพนันที่บ่อนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย สี่ครั้ง ช่วงระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, วันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐, วันที่ ๒ ถึง ๔ มกราคม ๒๕๔๑ และวันที่ ๒๓ ถึง ๒๔ มกราคม ๒๕๔๑ ตามคำร้องข้อ ๓.๑, ๓.๒, ๓.๕, ๓.๖, ๓.๗ และ ๓.๘ หรือไม่ ทางไต่สวนผู้คัดค้านทั้งสองและตัวแทนบ่อนกาสิโนได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ชอบเล่นการพนัน โดยเดินทางไปเล่นที่บ่อนพนันในเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา, บ่อนพนันที่เกนติงไฮแลนส์ ประเทศมาเลเซีย, เมืองมาเก๊า เขตบริหารพิเศษของจีน และบ่อนพนันเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย วิธีการไปเล่น จะมีทั้งนำเงินสดไปวางต่อตัวแทนบ่อนกาสิโนก่อนเดินทางไปเล่น เพื่อให้ทางบ่อนกาสิโนจ่ายชิปตามจำนวนเงินที่วางแล้วนำไปเล่น หรือการให้เครดิตในวงเงินที่กำหนดโดยไม่ต้องวางเงินสด หากเล่นได้ก็จะมีวิธีการนำเงินกลับประเทศเอง หรือให้ตัวแทนบ่อนกาสิโนในประเทศไทยที่ร่วมเดินทางไปด้วยจัดการ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ตัวแทนบ่อนกาสิโนก็จะโอนเงินที่เล่นได้เข้าบัญชีตามแต่ผู้เล่นได้จะสั่งให้โอนเข้าบัญชีผู้ใด หากเล่นเสียในกรณีที่ใช้เครดิตไปเล่น ก็จะต้องนำเงินชำระแก่ตัวแทนบ่อนกาสิโนภายในสามวันหรือเจ็ดวันแล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละตัวแทน การเดินทางไปเล่นที่บ่อนพนันเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศ ออสเตรเลีย ที่มีปัญหาคดีนี้ นางพรสุข เสริมสุวรรณ ตัวแทนบ่อนดังกล่าวให้เครดิตแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปเล่น และผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นได้ตามจำนวนเงินดังกล่าว การชำระเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นได้ นางพรสุข ได้ชำระเป็นเช็คหลายฉบับโอนเงินเข้าบัญชีนายจิรายุ และนายพิษณุกรณ์ อุดรสถิตย์ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ที่ชอบเล่นการพนันตามที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความในชั้นศาล แต่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวนผู้คัดค้านทั้งสองหรือพยานปากอื่น กลับเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ ชอบเล่นการพนัน แต่ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ชอบเล่น ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้คัดค้านที่ ๑ ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ ดังนั้น โดยปกติของสามัญชน หากเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบ ย่อมที่จะต้องทำเป็นหลักฐานเพื่อบ่งบอกที่มาของเงินที่เพิ่มขึ้นได้ และไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องปกปิดเงินที่เพิ่มขึ้น หากได้มาโดยสุจริต ดังนั้น ช่วงที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและไปเล่นการพนันได้ในครั้งที่เป็นปัญหานี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ ก็น่าจะทำให้ถูกต้องได้ โดยนำเงินกลับเข้าประเทศเอง และให้ทางบ่อนกาสิโนรับรองการเล่นพนันได้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ และผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรของรัฐบาลออสเตรเลียก่อนกลับประเทศไทย ก็จะมีหลักฐานเพื่อแสดงว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาโดยชอบ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องนำเงินเข้าบัญชีตนเองเพื่อให้ตรวจสอบได้ เพราะจะได้ตรวจสอบที่มาของเงินได้ว่ามาจากแหล่งใด การมาอ้างภายหลังย่อมรับฟังได้ยาก ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินจำนวนดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ
ส่วนเงินในบัญชีชื่อ นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ น้องชายผู้คัดค้านที่ ๒ ในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ จำนวน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท นายพิษณุกรได้เคยให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน หลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ และนายจิรายุเล่นการพนันได้จากบ่อนกาสิโนเบิร์สวูด ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒-๕ มกราคม ๒๕๔๑ และไม่ทราบว่า เงินดังกล่าวนำกลับเข้าประเทศไทยอย่างไร ต่อมา วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๕ กลับให้การแตกต่างกับที่เคยให้การไว้โดยสิ้นเชิงว่า ตนไม่เคยเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวที่มีชื่อตนเป็นผู้เปิดบัญชีนั้น เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๑ ขอยืมเอกสารต่าง ๆ ของตนไป เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ตนไม่เคยฝากถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว ที่ให้การในตอนแรกไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะผู้คัดค้านที่ ๑ ขอร้อง คำให้การใดที่ไม่ตรงต่อครั้งนี้ขอให้ใช้ถ้อยคำในวันนี้แทน ลายมือชื่อผู้เปิดบัญชีไม่ใช่ลายมือของตน สำหรับลายเซ็นต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนก่อนที่จะให้ถ้อยคำครั้งนี้มีส่วนคล้ายกับลายมือของผู้คัดค้านที่ ๑ เพราะตนฝึกเขียน และเชื่อว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนอาจจะให้ตนเขียนเพื่อเปรียบเทียบกับเอกสารหลักฐานที่ให้ไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ และการให้การในครั้งนี้ ยังยืนยันด้วยว่า ขณะที่ตนไปเล่นการพนันตามวันดังกล่าวข้างต้น ตนไม่ได้อยู่ในโต๊ะเดียวกับผู้คัดค้านที่ ๑, ที่ ๒ จึงไม่ทราบว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเล่นได้เป็นจำนวนเท่าใด (รายงานสรุปสำนวน ป.ป.ช. หน้า ๘๒-๘๙ และ หน้า ๑๘๔-๑๘๕) พฤติการณ์ที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อนายพิษณุกร แม้ไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ใดกระทำก็ตาม แต่แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ประสงค์จะปกปิดที่มาของแหล่งเงินเพื่อมิให้ตรวจสอบได้ การชี้แจงเงินนำฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ชื่อบัญชี นายจิรายุ จรัสเสถียร บัญชีเลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ชี้แจงการเล่นได้สองครั้งไม่เท่ากัน โดยครั้งแรกชี้แจงว่า เล่นได้ ๒๔๐,๐๐๐ เหรียญออสเตรเลีย แต่ชี้แจงครั้งที่ ๒ ว่า เล่นได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ เหรียญออสเตรเลีย ซึ่งต่างกันมาก ประกอบกับเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เล่นการพนันได้ไม่เคยนำเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๑ เลย กลับนำเข้าบัญชีของนายจิรายุ จรัสเสถียร และนายพิษณุกรที่เป็นน้องภริยา และมีการปลอมลายมือชื่อนายพิษณุกร พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริต ประสงค์จะซ่อนเร้นที่มาของเงิน พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นพนันได้ ก็คือ นางพรสุข และพันตำรวจโท ปกรณ์ และเอกสารบัญชีแพ้ชนะของบ่อนกาสิโนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ในส่วนของนางพรสุข และ พันตำรวจโท ปกรณ์ เบิกความยืนยันในศาลว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันจริง โดยวางเงินสด มิใช่ให้เครดิตไปเล่น ส่วนจะเล่นได้หรือเสียพวกตนไม่ทราบ เงินที่นางพรสุขสั่งจ่ายเช็คแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ นำเงินตราต่างประเทศมาให้ตนแลกให้เท่านั้น ข้อเท็จจริงจากพยานทั้งสองปากนี้ก็ยังฟังยุติไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้จริงหรือไม่ ขณะที่พยานทั้งสองให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ยังไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่มีสาเหตุที่จะให้การปรักปรําผู้คัดค้านที่ ๑ ให้เสียหาย ส่วนหลักฐานเอกสารการเล่นพนัน บัญชีแพ้ชนะของบ่อนกาสิโนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ที่จะพิสูจน์ได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นได้ ผู้คัดค้านที่ ๑ ก็ไม่ได้นำมา อ้างว่า ไม่สามารถขอเอกสารดังกล่าวเป็นการส่วนตัวได้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่สาม แต่กลับปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เคยมีหนังสือไปยังบ่อนแล้ว ทางบ่อนกาสิโนเบิร์สวูดได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๕ ว่า ทางบ่อนกาสิโนเบิร์สวูดไม่ได้เก็บรักษาการจดบันทึกการเล่นพนันได้เสียของผู้เล่นแต่ละคนซึ่งเดินทางมาเล่นการพนันในนามของตัวแทนบ่อนกาสิโน เกี่ยวกับเอกสารนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน เคยมีหนังสือขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดร้องขอไปครั้งหนึ่งแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศออสเตรเลียเพื่อตรวจสอบประเด็นหนึ่งว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นพนันได้ที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย หรือไม่ ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ประเทศออสเตรเลีย ตอบกลับมาแจ้งเงื่อนไขหลายประการซึ่งทางคณะอนุกรรมการไต่สวนไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงมีมติให้งดการประสานงาน หลังจากอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้มีหนังสือประสานงานไปยังสำนักงานแอตทอร์นีย์เจเนอรัลแห่งรัฐบาลออสเตรเลียสองครั้ง เพื่อให้ทางสำนักงานดำเนินการขอหลักฐานดังกล่าวจากบ่อนกาสิโนเบิร์สวูด แต่ทางสำนักงานดังกล่าวก็ตอบขัดข้องกลับมา อ้างว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา ทางสำนักงานไม่อาจดำเนินการให้ได้ ขอให้ทางศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการใหม่ในช่องทางของคดีอาญา ซึ่งก็คือ ต้องประสานงานไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด กลับไปจุดเดิมที่อัยการสูงสุดเคยร้องขอไปครั้งหนึ่งแล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานอัยการสูงสุดประเทศออสเตรเลียได้ เห็นได้ว่า มีการประสานไปยังประเทศออสเตรเลียถึงสี่ครั้งก็ยังไม่ได้เอกสารมา อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารที่จะชี้โดยเด็ดขาด เป็นเพียงชิ้นหนึ่งที่จะนำมาร่วมรับฟังกับพยานหลักฐานอื่นดังได้วินิจฉัยมาแล้ว พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า เงินจำนวนดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีเลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ ชื่อบัญชี ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๔ และ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ เป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่นำเงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้ไปแลกเป็นเงินบาทตามคำร้องข้อ ๓.๓ และ ๓.๔ หรือไม่ ทางไต่สวน ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้จากการให้กำลังใจผู้คัดค้านที่ ๑ ขณะเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด ช่วงเดินทางไปเล่น วันที่ ๒๑ ถึง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ และวันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ แตกต่างจากที่ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ เคยให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า เป็นเงินที่ ผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันได้ที่ประเทศออสเตรเลียช่วงระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, ประเทศมาเลเซีย วันที่ ๒๙ ถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, ประเทศออสเตรเลีย วันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ และมาเก๊า เขตบริหารพิเศษของจีน วันที่ ๑๘ ถึง ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ โดยมีรายละเอียดของการเล่นได้เสียด้วย เห็นได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเบิกความกลับไปกลับมา ไม่อาจฟังยุติว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นใดแน่ ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า พยานต่าง ๆ ในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ไม่ปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ชอบเล่นการพนัน ผู้ที่เล่นคือผู้คัดค้านที่ ๒ เพราะไม่ต้องการให้ใครทราบว่า ตนเล่นการพนัน เนื่องจากขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและมีความต้องการที่จะเล่นการเมือง จึงต้องปกปิด แต่ปัจจุบัน ตนไม่เล่นการเมืองแล้ว จึงได้เปิดเผยความจริง ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องทุจริต ซึ่งมีโทษทางอาญา และอาจถูกริบทรัพย์สิน จึงไม่น่าเชื่อตามที่อ้าง เมื่อพยานผู้คัดค้านทั้งสองเบิกความเอาแน่นอนไม่ได้ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบ
กล่าวโดยสรุป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๑๐ วรรคหนึ่ง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘๑ วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร และให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หากผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ในการพิสูจน์ความสุจริตของผู้คัดค้านที่ ๑ อันดับแรก ก็คือ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ โดยไม่แจ้งทรัพย์สินของตนเองที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของผู้อื่น เห็นได้ว่า มีเจตนาไม่สุจริตมาแต่แรกแล้ว หลังจากรับตำแหน่งเพียงสองเดือน ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปเล่นการพนันเพียงสี่ครั้ง รวมระยะเวลาในการเดินทางด้วยประมาณแปดวัน ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูดได้เป็นจำนวนถึงประมาณ ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และได้กำไรทุกครั้ง ค่อนข้างจะเป็นการบังเอิญ และไม่อาจพิสูจน์เรื่องของการเล่นได้ คงมีแต่พยานบุคคลมาเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใหม่อื่นใดอันจะพอฟังได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเล่นการพนันได้ มิได้ร่ำรวยผิดปกติ พฤติการณ์อื่น ๆ เช่น ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินฝากจำนวนมากไหลเข้าออกในบัญชีผู้อื่นหลายบัญชีในขณะดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะจำนวนตามที่ปรากฏในคดีนี้ไม่ปรากฏว่า มีบัญชีส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๑ เลย กลับใช้บัญชีชื่อ นายพิษณุกร โดยมีการปลอมลายมือชื่อเปิดบัญชีและเบิกจ่ายจากบัญชีนี้ เป็นข้อพิรุธส่อถึงความไม่สุจริต การยืมเงินสดนายสมบัติก็เช่นเดียวกัน ผู้คัดค้านไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า มีการยืมเงินและใช้เงินจากนายสมบัติจริง พยานบุคคลและพยานเอกสารขัดแย้งกันอยู่ในตัวหลายประการ ส่วนเงินบริจาคจำนวนรวม ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่อ้างว่า เป็นของนายพินิจ จารุสมบัติ ในชั้นไต่สวนนายพินิจก็มิได้มาเบิกความยืนยัน กลับปรากฏว่า เป็นเงินของบุคคลอื่น และเพิ่งมาให้การเรื่องนี้ในชั้นศาล ไม่เคยชี้แจงกับคณะอนุกรรมการไต่สวนถึงเรื่องนี้เลย ทั้งที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เคยชี้แจงรวมเก้าครั้ง และให้ถ้อยคำสองครั้ง ทั้งพยานยังให้การขัดแย้งกัน และไม่ปรากฏว่า ได้มีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในทางการเมืองดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ส่วนเงินที่อ้างว่า เล่นการพนันได้ ผู้คัดค้านทั้งสอ ได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำและคำชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนหลายครั้ง นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ น้องภริยาผู้คัดค้านที่ ๑ ก็ยอมรับต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้สอนให้ตนชี้แจง เมื่อภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินในคดีนี้ได้มาโดยสุจริต จึงต้องฟังว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ
วินิจฉัยให้ทรัพย์สินทั้งหมดตามคำร้องของอัยการสูงสุดตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทั้งหมด หรือได้แต่บางส่วน ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านทั้งสองภายในอายุความสิบปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์ที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘๓
- หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ต่อมาคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"