คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๑
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองสมัยติดต่อกัน สมัยแรกตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และสมัยที่สองตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑ และมีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๘๘, ๒๑๑ และ ๒๑๒ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารมีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแลและบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทในฝ่ายบริหารตระเตรียมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายที่ฝ่ายบริหารกำหนด บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น (จำกัด) หรือเรียกโดยย่อว่าบริษัทชินคอร์ป เดิมจดทะเบียนนิติบุคคล ใช้ชื่อว่าบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด และบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ตามลำดับ ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ และเปลี่ยนชื่อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ ๑ บาท เป็นบริษัทได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐโดยตรง ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐ ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า ทศท. นอกจากนี้ บริษัทเอไอเอสยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนกว่าร้อยละ ๙๐ ในบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด หรือที่เรียกโดยย่อว่า บริษัทดีพีซี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันแปรสภาพและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า กสท. และบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่าบริษัทไทยคม โดยบริษัทไทยคมร่วมลงนามเป็นคู่สัญญาด้วย บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจโดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย สายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ สายธุรกิจสื่อและโฆษณา สายธุรกิจอี-บิซิเนส (E - Business) และอื่น ๆ
ผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปและบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา ถือหุ้นจำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรมของผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖,๘๔๗,๓๙๕ หุ้น รวม ๗๔,๔๑๗,๓๙๕ หุ้น ในปี ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปมีการเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ ๑๕ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนซื้อเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ จำนวน ๓ ฉบับ ชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามตนเอง ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๕๑๙,๗๕๐,๐๐๐ บาท ในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๔๙๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท และในนามผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น เป็นเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ดังนั้น ณ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น รวม ๑๓๕,๑๔๐,๐๐๐ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๔๘.๗๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ให้บุคคลต่าง ๆ ถือแทน ดังนี้ วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นจำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด หรือที่เรียกโดยย่อว่าบริษัทแอมเพิลริช วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๒ บุตรชาย จำนวน ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น และโอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๔ น้องสาว จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น และโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเมื่อปี ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้น จำนวน ๓๓,๖๓๔,๑๕๐ หุ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ต่อมาวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ บริษัทชินคอร์ปจดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นจากที่ตราไว้หุ้นละ ๑๐ บาท เหลือหุ้นละ ๑ บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ และวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ผู้คัดค้านที่ ๒ โอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๓ บุตรสาวของผู้ถูกกล่าวหาถือแทน จำนวน ๔๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น คงเหลือหุ้นที่ถือแทนในนามของผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๒๙๓,๙๕๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นแทน จำนวน ๓๓๖,๓๔๐,๑๕๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๔ ถือหุ้นแทน จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และบริษัทแอมเพิลริชถือหุ้นแทน จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น ต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ บริษัทแอมเพิลริชโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๓ จำนวน ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น รวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ให้บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวถือหุ้นแทนทั้งหมด จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมดที่จำหน่ายได้ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในนามบริษัทวินมาร์ค จำกัด อีกด้วย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงรายการหุ้นบริษัทชินคอร์ปดังกล่าวของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑๐, ๒๐๘, ๒๐๙, ๒๙๑ และ ๒๙๒ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔, ๕ และ ๖ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๓๒, ๓๓, ๑๐๐, ๑๑๙ และ ๑๒๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงินสุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย รวมเป็นเงิน ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปจ่ายเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านถืออยู่ เป็นเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าว ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือรวม ๕ กรณี ดังนี้
๑. กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต โดยเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ผู้ถูกกล่าวหาเริ่มกระบวนการตรากฎหมาย แก้ไขพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ พ.ศ.๒๕๔๖ และออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๖๘) ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ โดยให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากอัตราร้อยละ ๕๐ เหลือร้อยละ ๑๐ ตามบัญชีท้ายประกาศ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เห็นชอบด้วยกับแนวทางการดำเนินการเพื่อหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาจะต้องนำส่งให้แก่คู่สัญญาภาครัฐ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำแนวทางการแปรสัญญาร่วมการงานโดยการแปลงส่วนแบ่งรายได้ให้อยู่ในรูปแบบของภาษีสรรพสามิต โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจให้นำภาษีสรรพสามิตดังกล่าวมาหักออกจากค่าสัมปทานซึ่งผู้ประกอบการมีภาระต้องชำระค่าสัมปทานให้แก่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ทำให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้รับเงินค่าสัมปทานลดน้อยลงจากข้อตกลงตามสัญญา และเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอส นอกจากนี้ การไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้ง ๆ ที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต ซึ่งเมื่อนำภาษีสรรพสามิตมาหักจากค่าสัมปทานที่บริษัทเอไอเอส บริษัททรูมูฟ จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัททรูมูฟ และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า บริษัทแทค ต้องชำระให้แก่ ทศท. และ กสท. ในอัตราร้อยละ ๑๐ ทำให้รายได้ของ ทศท. และ กสท. ลดลง ทั้งผู้ถูกกล่าวหายังเสนอแก้ไขกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในบริษัทประกอบกิจการโทรคมนาคมในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถขายหุ้นของตนเองกับพวกพ้องให้แก่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติได้อีกด้วย
๒. กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Moblie Telephone) ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือพรี-เพด (Prepaid Card) ให้แก่บริษัทเอไอเอส เดิมเมื่อปี ๒๕๔๒ บริษัท เอไอเอส ได้เริ่มบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด โดยใช้ชื่อในทางการค้าว่า วัน-ทู-คอล ("One-๒-Call!") โดยคณะกรรมการบริหารงาน (กบง.) กำหนดให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท. ตามข้อกำหนดในสัญญาหลักจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ซึ่งในขณะนั้น บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราร้อยละ ๒๕ และจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราร้อยละ ๓๐ ในปีสัมปทานที่ ๑๖ (ตุลาคม ๒๕๔๘ ถึงกันยายน ๒๕๔๙) แต่ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ บริษัท เอไอเอส มีหนังสือขอให้ ทศท. พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ต่อมาวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ ได้มีการนำเรื่องที่บริษัทเอไอเอสขอลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ทศท. และได้มีการลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไป ส่งผลให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้แก่ ทศท. ในอัตราร้อยละ ๒๐ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไป อันเป็นการมิชอบเพราะการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) เพื่อปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๕๐ แล้วว่า สัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ แม้สัญญาดังกล่าวจะได้ดำเนินการไปก่อนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานใช้บังคับ แต่การทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) ดังกล่าวมิได้เสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาต่อคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา ๒๒ พิจารณา และมิได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในกรณีที่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของโครงการแต่อย่างใด ทั้งที่ในขณะนั้น ทศท.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานกำกับดูแลดำเนินงานตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามคำสั่งคณะกรรมการ ทศท.ที่ ๒๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน แล้ว และเหตุผลในการขอลดส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทเอไอเอส ที่ว่า บริษัท แทค ขอลดค่าเชื่อมโยงเครือข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด จากเดิมอัตรา ๒๐๐ บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ ๑๘ ของราคาหน้าบัตรนั้น ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ ทศท. เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผล เนื่องจากบริษัทเอไอเอสมิได้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และบริษัทแทค ยังมีความสามารถด้อยกว่าบริษัทเอไอเอส เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าบริษัทเอไอเอส เหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างต่อ ทศท. เพื่อขอให้ ทศท. พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ และเป็นการสร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจให้แก่บริษัทเอไอเอส ไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้มีการลดค่าใช้บริการให้แก่ประชาชน ไม่ใช่ผลโดยตรงที่จะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น และทำให้ ทศท. มีรายได้มากขึ้น เป็นการลดที่มากเกินไปหากเปรียบเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ในอัตราร้อยละ ๓๐ ตามสัญญาหลัก ซึ่งจะทำให้ ทศท. เสียประโยชน์ สูญเสียรายได้ที่ควรได้รับ ๑๔,๒๑๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท (ปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๙) และความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต ๕๖,๖๕๘,๒๘๐,๐๐๐ บาท (ตุลาคม ๒๕๔๙ ถึงกันยายน ๒๕๕๙) ส่งผลโดยตรงให้บริษัทเอไอเอสสามารถที่จะทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าสัมปทานลดลง และสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าคู่แข่ง จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งในทางธุรกิจ ทำให้หุ้นของบริษัทเอไอเอสมีราคาสูงขึ้นและเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน เป็นการดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสได้รับประโยชน์แล้วตั้งแต่มีการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๑๔,๒๑๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท และได้รับประโยชน์ในอนาคตถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีกเป็นเงิน ๕๖,๖๕๘,๒๘๐,๐๐๐ บาท รวมประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับจากการจัดทำข้อตกลงท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) เป็นเงิน ๗๐,๘๗๒,๐๓๐,๐๐๐ บาท ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ทศท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสที่มีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๙๐ ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทชินคอร์ปในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ ทศท. สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับประมาณ ๗๐,๘๗๒,๐๓๐,๐๐๐ บาท
๓. กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และหักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอสแยกได้ ๒ กรณี คือ
กรณีที่ ๑ กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗) เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ บริษัทเอไอเอสเข้าร่วมดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ ทศท. มีกำหนดอายุสัญญา ๒๐ ปี โดยบริษัทเอไอเอสจะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท. เป็นรายปี ตามจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำหรือในอัตราร้อยละโดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า และจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาหลัก (ครั้งที่ ๔) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๙ ขยายระยะเวลาสัญญาเป็น ๒๕ ปี และเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสมีหนังสือขอเปิดการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปให้ผู้อื่นร่วมใช้กับบริษัทดีพีซี ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ต่อ ทศท. โดยจะนำมาแบ่งผลประโยชน์ให้ ทศท. ตามอัตราร้อยละในสัญญาหลัก มีหนังสือลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๔ ขอเปิด National Roaming กับบริษัทเอเซียส รีเยนแยล เซอร์วิส จำกัด (ARS) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดยคิดค่าใช้เครือข่ายร่วมในอัตราพื้นที่เดียวกัน ๖ บาท/นาที และต่างพื้นที่ ๑๒ บาท/นาที โดยจะนำมาแบ่งผลประโยชน์ให้ ทศท. ตามอัตราในสัญญาหลัก และมีหนังสือลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ เสนอหลักการการใช้เครือข่ายร่วมกัน ทั้งกรณีที่ผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอส และบริษัทเอไอเอสไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น โดยขอหักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมออกจากรายรับก่อนนำส่ง ทศท. เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ ทศท. ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ ว่ารายได้จากผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอสยังต้องนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก ส่วนรายจ่ายของบริษัทเอไอเอสจากการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นถือเป็นภาระหน้าที่สำหรับรายจ่ายของบริษัทเอไอเอสที่จะต้องขยายเครือข่ายให้สามารถรองรับการให้บริการ ต่อมาบริษัทเอไอเอสมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ เสนอขอปรับหลักการใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอสและกรณีบริษัทเอไอเอสเข้าไปใช้โครงข่ายร่วมของผู้ให้บริการรายอื่น วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๕ คณะกรรมการ ทศท. อนุมัติให้บริษัทเอไอเอสดำเนินการตามที่ขอได้ในอัตรานาทีละไม่เกิน ๓ บาท ทั่วประเทศ ในกรณีที่บริษัทเอไอเอสให้ผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้โครงข่ายร่วมกัน บริษัทเอไอเอสจะนำมาใช้คำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท. กรณีที่บริษัทเอไอเอสไปใช้โครงข่ายกับเครือข่ายผู้ให้บริการรายอื่น บริษัทเอไอเอสจะนำรายได้จากค่าใช้บริการที่บริษัทเอไอเอสเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการหลัก หักด้วยค่าใช้โครงข่ายร่วมกันที่บริษัทเอไอเอสจ่ายให้แก่เจ้าของเครือข่ายก่อน แล้วจึงจะนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท. ต่อไป ทศท. และบริษัทเอไอเอสได้ลงนามในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ โดยนายสุธรรม มะลิลา ในฐานะผู้แทนฝ่าย ทศท และนายบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะผู้แทนฝ่ายบริษัทเอไอเอส มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นไป
กรณีที่ ๒ กรณีการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท. กับบริษัทดีพีซีตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมเซลลูลาร์ DIGITAL PCN (PERSONAL COMMUNICATION NETWORK) ๑๘๐๐ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ กับ กสท. รวมระยะเวลา ๑๗ ปี ซึ่งบริษัทดีพีซีจะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ กสท. เป็นรายปี ตามจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำหรือในอัตราร้อยละ โดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสเข้าถือหุ้นในบริษัทดีพีซีเกินกว่าร้อยละ ๙๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกัน วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ กสท. มีหนังสือลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ อนุมัติให้บริษัทดีพีซีใช้เครือข่ายร่วมกับบริษัทเอไอเอสนับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ โดยมีเงื่อนไขว่า กสท. จะคิดผลตอบแทนรายได้ที่บริษัทเอไอเอสใช้เครือข่ายร่วมกับเครือข่ายของบริษัทดีพีซีในอัตรานาทีละ ๒.๑๐ บาท นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป และบริษัทดีพีซีจะต้องจัดส่งแผ่นบันทึกข้อมูล CDR การใช้งานให้ กสท. ตรวจสอบทุกไตรมาส ต่อมาบริษัทดีพีซีมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ถึง กสท. แจ้งขอปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมจากนาทีละ ๒.๑๐ บาท เหลือนาทีละ ๑.๑๐ บาท และมีหนังสือวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ขอปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมจากนาทีละ ๒.๑๐ บาท เหลือนาทีละ ๑.๑๐ บาท กับมีหนังสือลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ขอให้ทบทวนเพื่อให้ กสท. อนุมัติคำขอของบริษัทดีพีซี วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ได้อนุมัติปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมแก่บริษัทดีพีซี ซึ่งบริษัทดีพีซี นำส่งรายได้แก่ กสท. ในอัตราที่ปรับลด (๑.๐๐ ถึง ๑.๑๐ บาทต่อนาที) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ กสท. จากการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมดังกล่าว เป็นเงิน ๗๙๖,๒๒๐,๓๑๐ บาท จนกระทั่งต่อมา วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ กสท. จึงมีหนังสือลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ แจ้งให้ บริษัทดีพีซีดำเนินการคำนวณค่าใช้บริการเครือข่ายร่วมตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน ในอัตรานาทีละ ๒.๑๐ บาท และให้นำส่งผลตอบแทนแก่ กสท. ต่อไป การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาให้ดำเนินกิจการบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗) เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่าย ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๕๐ ขัดต่อข้อกำหนดสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ ข้อ ๙ ข้อ ๑๖ และข้อ ๓๐ ปรากฏว่าจากเดือนตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ที่มีการยินยอมให้หักค่าใช้เครือข่ายร่วม พบว่ามีการเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมระหว่างบริษัทเอไอเอสกับบริษัทดีพีซี ๑๓,๒๘๓,๔๒๐,๔๘๓ นาที ทศท. ขาดรายได้กว่า ๖,๙๖๐,๓๕๙,๔๐๑ บาท และ ทศท. จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจนสิ้นอายุสัญญาสัมปทานไม่น้อยกว่า ๑๘,๑๗๕,๓๕๙,๔๐๑ บาท และกรณีที่บริษัทดีพีซีซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายที่บริษัทเอไอเอสเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมมากคิดเป็นปริมาณ ๑๓,๒๘๓,๔๒๐,๔๘๓ นาที บริษัทเอไอเอสสามารถหักค่าใช้จ่ายต่อ ทศท. จากการใช้เครือข่ายดังกล่าวได้ ในทางกลับกันบริษัทดีพีซีเข้าไปใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอสในปริมาณ ๓๘๔,๓๒๓,๑๔๖ นาที ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ กสท. แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นกรณีเดียวกัน และจากการตรวจสอบทางทะเบียนผู้ถือหุ้นปรากฏว่าเมื่อปี ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดีพีซีมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ ๙๐ และมีการถือหุ้นดังกล่าวต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันในสัดส่วนร้อยละ ๙๘.๕๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ประกอบกับผู้บริหารบริษัทดีพีซีเป็นผู้บริหารที่มาจากบริษัทเอไอเอสประมาณร้อยละ ๙๐ จึงถือได้ว่าบริษัททั้งสองเป็นบริษัทเดียวกัน และบริษัทเอไอเอสมีเจตนาที่จะใช้เครือข่ายของบริษัทตนเองโดยที่บริษัทเอไอเอสไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้เครือข่ายดังกล่าวตามข้อกำหนดในสัญญาหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามสัญญาหลักข้อ ๑๖ เนื่องจากต้องมีการลงทุนสูงและต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สร้างขึ้นให้แก่ ทศท. โดยผู้บริหารระดับสูง ทศท. ดำเนินการปรับแก้มติการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จากร่างวาระเดิมซึ่งฝ่ายบริหารผลประโยชน์มีความเห็นว่า ไม่อนุญาตให้บริษัทเอไอเอสหักค่าใช้จ่ายในการใช้เครือข่ายของบริษัทดีพีซี ปรับแก้ให้สามารถหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท. ได้ ตามข้อเสนอของบริษัทเอไอเอสและมีการนำร่างแก้ไขดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ ทศท. เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอไอเอส ทั้งที่ขัดต่อสัญญาหลักข้อ ๔ ข้อ ๙ ข้อ ๑๖ และข้อ ๓๐ ส่งผลให้ ทศท. และ กสท .ต้องสูญเสียประโยชน์ที่พึงจะได้รับรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๘,๙๗๐,๕๗๙,๗๑๑ บาท เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสที่มีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ๑,๒๖๓,๗๑๒,๐๐๐ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๐๖ ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทชินคอร์ปในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา การที่ ทศท. และ กสท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสมีความได้เปรียบคู่แข่งขันในกิจการโทรคมนาคม เป็นเหตุให้หุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีมูลค่าสูงขึ้นจนกระทั่งมีการขายหุ้นดังกล่าว เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสได้จากการขายหุ้นจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่
๔. กรณีละเว้นอนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบหลายกรณีเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม แยกได้ ๓ กรณี ดังนี้
(๑) กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPSTAR) โดยมิชอบ โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการกำหนดให้มีดาวเทียมหลักและระบบดาวเทียมสำรอง ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะประธานบริษัทชินคอร์ปได้เข้าแข่งขันรับสัมปทานกับเอกชนรายอื่น ๆ และมีการเสนอเพิ่มเติมว่าจะลงทุนมากขึ้นโดยตลอดอายุสัญญา ๓๐ ปี จะสร้างและส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศระยะเวลาห่างจากดาวเทียมดวงหลักไม่เกิน ๑๒ เดือน ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๔ ยืนยันข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำให้กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานและมีการลงนามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ โดยการระบุการดำเนินการตามแผนงานคุณสมบัติของดาวเทียม ระบบดาวเทียมสำรอง การเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมก่อน เฉพาะแผนดำเนินการนั้นระบุรายละเอียดไว้ว่า ตามระยะเวลาสัญญาสัมปทาน ๓๐ ปี จะส่งดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง จำนวน ๒ ชุด แต่ละชุดมีดาวเทียม ๒ ดวง รวมมีดาวเทียมทั้งหมด ๔ ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองจะส่งขึ้นสู่อวกาศมีระยะห่างจากดาวเทียมหลัก ไม่เกิน ๑๒ เดือน มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นตามสัญญาสัมปทานคือบริษัทไทยคมเพื่อบริหารโครงการ ได้ส่งดาวเทียมไทยคม ๑ ขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๓๖ ดาวเทียมไทยคม ๒ ในปี ๒๕๓๗ ตามแผนงานแนบท้ายสัญญาสัมปทาน และได้รับอนุมัติให้ส่งดาวเทียมไทยคม ๓ เร็วขึ้นกว่ากำหนดตามแผนงานที่บริษัทไทยคมร้องขอ โดยส่งดาวเทียมไทยคม ๓ ขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๐ และมีกำหนดส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรองในปี ๒๕๔๑ ทั้งนี้ ตามแผนงานใหม่ที่ได้รับอนุมัตินั้นจะมีดาวเทียมชุดที่ ๓ ด้วย (เนื่องจากส่งชุดที่ ๒ เร็วขึ้น) บริษัทไทยคมขอนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ โดยมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๑ แต่เมื่อถึงกำหนดได้ขอเลื่อนการส่งดาวเทียมท ๒ ครั้ง และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์โดยร้องขอเป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม ตามหนังสือลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แต่มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม ๓ ต่อมากระทรวงคมนาคมมอบให้กรมไปรษณีย์โทรเลขศึกษาข้อเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ซึ่งผลการศึกษากรมไปรษณีย์โทรเลขได้พิจารณาจากข้อเทคนิคแล้วเห็นว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ไม่ใช่ดาวเทียมสำรอง ซึ่งจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม ๔ และนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้าประชุมในคณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ในคราวพิจารณาโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ที่ประชุมมีมติว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ปรากฏว่ามีการขอแก้ไขมติ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ โดยมีการเปลี่ยนแปลงและอนุมัติให้เป็นดาวเทียมสำรองตามที่บริษัทร้องขอ และให้เสนอขออนุมัติโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยที่ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ แต่มีการทำหนังสือเสนอขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งได้มีการอนุมัติในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการประสานงานฯ ได้ทำหนังสือเวียนไปยังคณะกรรมการประสานฯ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่อขอให้รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทไทยคมว่าได้รับอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ต่อมาวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ บริษัทไทยคมยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ มูลค่า ๑๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ระบุว่าได้สร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมต่อกับภาคพื้นดิน สำหรับใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศต่าง ๆ ๑๘ แห่ง มากกว่า ๑๔ ประเทศ โดยมีแผนการตลาดจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ ๖ ต่างประเทศร้อยละ ๙๔ และส่งขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘
(๒) กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารภายในประเทศ ครั้งที่ ๕ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคมจากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๖ บริษัทไทยคมร้องขออนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยให้เหตุผลใช้เงินลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์สูงมาก ต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนจึงทำให้ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รับโอนจากกระทรวงคมนาคมตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ) ซึ่งมีการหารือกรณีการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่า กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา และเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนลงนามสัญญา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องคืน โดยเห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงทำหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบหนังสือหารือว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี ดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาได้ ต่อมา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยมีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗
(๓) กรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม ๓ ที่ได้รับความเสียหาย ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญาณสำรองตามหนังสือลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมร้องขอ และอนุมัติให้นำค่าสินไหมทดแทนอีกส่วนหนึ่งจำนวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ชื่อว่าดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R โดยหากค่าสร้างสูงกว่าก็ให้บริษัทไทยคมรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่ม เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงมีประเด็นเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ รวม ๓ กรณี ดังนี้
(๑) กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถใช้เป็นดาวเทียมสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทาน เนื่องจากดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณความถี่ ซี-แบน (C-band) จำนวน ๒๕ Transponder และเคยู-แบน (Ku-band) ๑๔ Transponder แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น คุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลกซึ่งมีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ความถี่ เคยู-แบน รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอตบีม ๘๔ บีม เซพบีม ๓ บีม และบรอตคาสต์บีม จำนวน ๗ บีม และใช้ความถี่ เคเอ-แบน (Ka-band) ในการสื่อใช้ความถี่เคเอแบนด์ในการสื่อสาร รับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ไม่มีความถี่ ซี-แบน แต่อย่างใด จึงทำให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ดวงต่อดวงตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน ซึ่งแตกต่างจากดาวเทียมดวงอื่น ๆ และไม่สามารถสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ ได้เพราะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ความเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ประกอบกับการที่คณะกรรมการประสานงานฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ได้มีมติว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงใหม่ แต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุมและอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามผลการประชุมของคณะกรรมการประสานงานฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งขัดแย้งกัน นอกจากนี้ ยังมีการเสนอความเห็นของคณะกรรมการประสานงานฯ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ยังไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมทั้งสองครั้งแต่อย่างใด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ให้เป็นดาวเทียมสำรองตามที่เสนอเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ โดยจัดทำหนังสือเวียนเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ ให้คณะกรรมการประสานงานฯ รับรองรายงานการประชุมทั้งสองครั้ง เมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ตามสัญญาสัมปทาน ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหาย ไม่มีดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อเป็นสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ทั้งดวงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การอนุมัติดังกล่าวจึงไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทไทยคมไม่ต้องปฏิบัติตามสัมปทาน โดยไม่มีภาระกู้ยืมเงินหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นมูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และรัฐต้องเสียหายจากการไม่ได้รับมอบทรัพย์สินจากโครงการดาวเทียมไทยคม ๔ มูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นโครงการใหม่ที่ยอู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทานจึงไม่ได้สร้างเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ ต้องดำเนินการให้มีการแข่งขันใหม่อย่างเป็นธรรม ทั้งด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือการดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ ดังนั้น การอนุมัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการอนุมัติโดยไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมของผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องมีการแข่งขันเพื่อยื่นข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการใหม่อย่างเป็นธรรม มูลค่าโครงการ ๑๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(๒) กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ นั้น สัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมการสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในสัญญา โดยในข้อ ๔ ของสัญญาสัมปทานกำหนดให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยบริษัทชินคอร์ปต้องเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัทใหม่ที่เป็นผู้ดำเนินบริหารโครงการ แต่ปรากฏว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ ลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว โดยไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งที่เงื่อนไขในข้อ ๔ ของสัญญาสัมปทานเป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาได้รับสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานจึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหา เพราะในกรณีบริษัทไทยคมทำการเพิมทุนเพื่อดำเนินโครงการใด ๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า ๑๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น บริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคมไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ ๕๑ ของตนเอง และมีผลเป็นการลดทนความเชื่อมั่นและมั่นคงในการดำเนินโครงการของบริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารกิจการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัทไทยคม ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง
(๓) กรณีการอนุมัติให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทดาวเทียมไทยคม ๓ จำนวน ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศนั้น สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระบุเงื่อนไขให้มีดาวเทียมสำรองไว้ในข้อ ๕.๑.๔ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ให้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินทุกชนิดไว้ในข้อ ๒๕ และการจัดการทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหายไว้ในข้อ ๓๗ ของสัญญาสัมปทาน กล่าวคือ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจะต้องรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหาย หรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันที โดยกระทรวงคมนาคมจะมอบค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยให้บริษัทไทยคมเพื่อจัดการดังกล่าว เมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้วจะต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัญญาสัมปทาน มิได้กำหนดให้มีการเช่าดาวเทียมใช้เป็นระบบสำรองไว้ ในปี ๒๕๔๖ เกิดเหตุการณ์ดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายเป็นส่วนใหญ่ บริษัทไทยคมได้ร้องขอให้นำเงินบางส่วนที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศ ประมาณ ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ทดแทนช่องสัญญาณเดิม และใช้เป็นสำรอง ซึ่งเป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากบริษัทไทยคมทำผิดสัญญา ไม่มีดาวเทียมสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ มาโดยตลอด จึงต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการให้มีดาวเทียมใช้อย่างพอเพียงและต่อเนื่อง อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีสิทธิ์นำเงินค่าสินไหมทดแทนไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ แต่ต้องนำเงินค่าสินไหมทดแทน ๓๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับทั้งหมดไปสร้างดวงใหม่ทดแทนตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทาน เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหากลับอนุมัติตามที่ร้องขอ อันเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคม เพราะในช่วงเวลานั้นบริษัทไทยคมไม่ต้องระดมทุนของตนเองหรือกู้ยืมเงินในช่วงเวลานั้นไปเช่าดาวเทียมจากต่างประเทศมูลค่าประมาณ ๒๖๘,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ณ ค่าเงิน ๔๐ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ) และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเนื่องจากทรัพย์สินที่ทำประกันภัยเป็นของรัฐ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวรัฐต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลและคงไว้เป็นหลักประกันความมั่นคง กรณีไม่สามารถซ่อมแซมหรือหาทรัพย์สินทดแทนเพื่อใช้ดำเนินการต่อไปได้ โดยต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จก่อน ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มีเหตุเชื่อได้ว่าหน่วยงานของรัฐได้ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายสัญญาสัมปทานและไม่สมเหตุผลทั้ง ๓ กรณี อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานโดยตรง ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้กล่าวหา การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบทั้ง ๓ กรณี จึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม
๕. กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคมโดยเฉพาะนั้น ระหว่างวันที่ ๖ ถึง ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในการหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ไม่มีการหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่สหภาพพม่า แต่หลังจากประชุมดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ถึงกระทรวงการต่างประเทศ อ้างการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าว่า ผู้ถูกกล่าวหาแสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สหภาพพม่า ขอวงเงินสินเชื่ออย่างน้อย ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องจักรก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์จากประเทศไทยเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ร่วมเดินทางเป็นคณะทางการในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชา ลาว พม่าและไทย ที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคม ๘ คน และบริษัทเอไอเอส ๒ คน เข้าสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียมก่อนการประชุมด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าต้องการให้มีความช่วยเหลือด้านโทรคมนาคมกับประเทศไทย แต่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในปฏิญญาพุกามจึงไม่มีความร่วมมือด้านโทรคมนาคม ระหว่างนั้น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้หารือกับผู้ถูกกล่าวหา แล้วนายสุรเกียรติ เสถียรไทย แจ้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพพม่าว่าไทยไม่ขัดข้องที่จะให้สหภาพพม่ากู้เงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หลังจากประชุมผู้นำที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม สหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหภาพพม่าเสนอโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกลของกระทรวงการสื่อสารพม่า และขอรับความช่วยเหลือจากประเทศไทย มูลค่า ๒๔,๐๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยแจ้งว่าผู้ถูกกล่าวหาพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมได้เข้าพบเอกอัครราชทูตไทยและผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก ๒ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศแจ้งเรื่องการดำเนินการธุรกิจตามโครงการดังกล่าวของสหภาพพม่าด้วย ต่อมาสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ขอเพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ติดตามผลรวมทั้งขอลดดอกเบี้ยผู้ถูกกล่าวหาสั่งการต่อนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ว่า ให้เพิ่มวงเงินกู้เป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าแจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยพร้อมจะเพิ่มวงเงินกู้จาก ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจะให้การอุดหนุนในส่วนอัตราดอกเบี้ยด้วย และกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ขัดข้องที่จะให้เงินกู้สกุลบาทแก่สหภาพพม่าในลักษณะเครดิตไลน์ (Credit line) ตามที่สหภาพพม่าขอวงเงินกู้เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๕.๗๕ เป็นร้อยละ ๓ ต่อปี ปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้น ๒ ปี คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยอนุมัติวงเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่สหภาพพม่าตามเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๗ แต่ต่อมาฝ่ายรัฐบาลสหภาพพม่าได้ขอปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นเป็น ๕ ปี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็เห็นชอบ คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจึงมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดเป็นระยะเวลากู้ ๑๒ ปี โดย ๕ ปีแรกชำระเฉพาะดอกเบี้ย สำหรับ ๗ ปีที่เหลือชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โดยการอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อมูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามการบริหารสั่งการของผู้ถูกกล่าวหา เป็นการให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๓๖ ธนาคารจึงขอคุ้มครองความเสียหาย ตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่มีผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมประชุมด้วยมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยแก่ธนาคารตามจำนวนที่เสียหาย และให้ชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยตามที่ได้รับจากรัฐบาลสหภาพพม่า (ร้อยละ ๓ ต่อปี) กับต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคาร แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หลังจากนั้นธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญากู้เพื่อการส่งออกกับธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าผู้กู้เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งประมาณความเสียหายจากดอกเบี้ยส่วนต่างที่จะต้องขอชดเชยจากงบประมาณรายจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๔๙ เป็นเวลา ๑๒ ปี เป็นเงิน ๖๗๐,๔๓๖,๒๐๑.๒๕ บาท และงบประมาณชดเชยความเสียหายในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑๔๐,๓๔๙,๖๐๐ บาท หลังจากมีการลงนามในสัญญากู้การให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกดังกล่าวแล้ว ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าได้ยื่นคำขอให้อนุมัติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระหว่างบริษัทไทยคมกับกระทรวงสื่อสารสหภาพพม่าเพื่อส่งมอบอุปกรณ์ไอพีสตาร์ (IPSTAR) และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เกี่ยวข้องสำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท จำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบตามสัญญาดังกล่าว และได้จ่ายเงินกู้โดยตรงให้แก่บริษัทไทยคมกับบริษัทฮาตาริ (HATARI) ที่ได้รับโอนสิทธิบางส่วน รวมเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายเป็นเงินบาทจำนวนทั้งสิ้น ๕๙๓,๔๙๒,๘๑๕.๙๖ บาท ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ ในระหว่างนั้นบริษัทไทยคมมีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน ๒๒๒,๔๓๕,๔๖๗ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๕๑.๔๘ ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถูกกล่าวหาในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทไทยคมที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวกมีผลประโยชน์ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่าโดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย
การที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ กับบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ถือหุ้นแทน และได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบายร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือทั้ง ๕ กรณีดังกล่าว และตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๘ วรรคสาม (๑) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวและต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ แต่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เสนอกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวจนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และออกเป็นพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ แก้ไขมาตรา ๘ วรรคสาม (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคม สามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ ๕๐ โดย พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ปรากฏว่าในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นแทนให้กับกลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และในระหว่างปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมแล้วเป็นเงินทั้งหมด ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงดำเนินการออกคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินดังกล่าวรวม ๑๕ ครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วน เป็นเงิน ๖๖,๗๖๒,๒๓๔,๓๖๕.๘๑ บาท ส่วนเงินและทรัพย์สินที่เหลืออีก ๙,๙๒๓,๓๖๘,๖๙๕.๒๔ บาท ยังไม่สามารถทราบถึงรายละเอียดสภาพเงินและทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ คตส.ส่งรายงานเอกสารและหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นให้กับผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนระหว่างผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรับผิดชอบให้ดำเนินการต่อจาก คตส. ตามกฎหมายขึ้นพิจารณาแล้วมีข้อยุติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ โดยผู้ร้องมีนายแก้วสรร อติโพธิ นายสัก กอแสงเรือง และบุคคลอื่นเป็นพยานบุคคลจำนวนมาก รวมทั้งพยานเอกสาร ซึ่ง คตส.รวบรวมไว้ อันจะพิสูจน์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้ ขอให้พิพากษายึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว เป็นเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และขอให้มีคำสั่งยึดอายัดเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา พร้อมดอกผลไว้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามมติของ คตส.ด้วย