ข้ามไปเนื้อหา

คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๑๘

จาก วิกิซอร์ซ

กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งในเรื่องนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การดําเนินการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยให้วงเงินกู้ยืมแก่สหภาพพม่าดังกล่าวนี้เป็นไปโดยชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมหรือไม่ ข้อนี้ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการที่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้บริหารราชการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งผู้บริหารประเทศจะต้องดําเนินการบริหารราชการแผ่นดินไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแต่เพียงอย่างเดียว โดยผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ดําเนินการไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วย แต่ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานหลักฐานกลับปรากฏถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นลําดับมาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ เอกอัครราชทูตสหภาพพม่าประจําประเทศไทยได้นําส่งหนังสือจากนายวิน อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหภาพพม่า ถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอให้ประเทศไทยพิจารณาให้สินเชื่อ จํานวน ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่าเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๕๖๐ หน้า ๑๖๘๖๘ ถึง ๑๖๘๗๓ แต่ระหว่างการพิจารณาดําเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทรวงการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติสหภาพพม่าได้มีหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยแจ้งว่ากระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่ามีโครงการจะพัฒนาการให้บริการระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกล โดยการใช้ Broadband Satellite Terminals และระบบ Fibre Optic Cable จึงขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในลักษณะเงินกู้แบบผ่อนปรน (Soft loan) มูลค่า ๒๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และแบบให้เปล่า (Grant aid) มูลค่า ๑,๐๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๖๕ หน้า ๑๖๙๐๒ ถึง ๑๖๙๐๕ ต่อมากระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยให้เงินกู้ในการซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่าในวงเงิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จากนั้นวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ จึงมีการทําสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย กับธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่า โดยกระทรวงการคลังและรัษฎากรแห่งสหภาพพม่าเป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๘๖ ถึง ร. ๕๘๙ หน้า ๑๗๑๕๔ ถึง ๑๗๒๒๘ ในการรับเงินตามสัญญาเงินกู้ดังกล่าวกําหนดให้ผู้กู้ส่งคําขอรับการให้สินเชื่อพร้อมสัญญาจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุนหรือบริการให้ผู้ให้กู้พิจารณาอนุมัติก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าก็ได้ส่งคําขอรับการให้สินเชื่อพร้อมสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ระหว่างกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่า กับบริษัท ไทยคม ให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบางส่วนจํานวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยได้อนุมัติคําขอดังกล่าวและแจ้งให้ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าทราบเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๙๐ และ ร. ๕๙๑ หน้า ๑๗๒๒๙ ถึง ๑๗๒๔๗ ต่อมาธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ แจ้งการโอนสิทธิรับเงินของบริษัทไทยคมให้แก่บริษัทฮาตาริ ไวร์เลส จํากัด และธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินสินเชื่อให้ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าโดยจ่ายตรงให้แก่บริษิทไทยคม จํานวน ๙,๔๒๒,๗๓๓.๐๓ ดอลลาร์สหรัฐ และให้แก่บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จํากัด จํานวน ๕,๕๗๗,๒๖๖.๙๗ ดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๙๒ ถึง ร. ๕๙๖ หน้า ๑๗๒๔๘ ถึง ๑๗๒๗๑ เห็นว่า การดําเนินการในเรื่องนี้เป็นการดําเนินการไปตามนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในสมัยแรกที่ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสพบและหารือข้อราชการกับผู้นําของสหภาพพม่าหลายครั้ง โดยระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางเยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการตามคําเชิญของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ซึ่งได้พบและหารือข้อราชการกับพลโท ขิ่น ยุ้น เลขาธิการสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ต่อมาระหว่างวันที่ ๙ ถึง ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางเยือนสหภาพพม่าอีกครั้ง ซึ่งก็ได้พบและหารือข้อราชการกับพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย และพลโท ขิ่น ยุ้น โดยปรากฏจากเอกสารหมาย ร. ๕๕๘ และ ร. ๕๕๙ หน้า ๑๖๘๒๐ ถึง ๑๖๘๕๙ ว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือและเสนอความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนสหภาพพม่าเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การตลาด และความร่วมมือทางวิชาการ ต่อมาระหว่างวันที่ ๖ ถึง ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาได้พบและหารือกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่เมืองบาหลี ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หลังจากการประชุมดังกล่าวแล้ว นายวิน อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าได้มีหนังสือถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอวงเงินสินเชื่อจํานวน ๓,๐๐๐ ล้านบาท ในการซื้อเครื่องจักรกลการก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปรากฏจากเอกสารหมาย ร. ๕๖๐ ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายอภิชาติ ชินวรรโณ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ และนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยในขณะนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา คําขอของรัฐบาลสหภาพพม่า ในระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ได้มีการจัดประชุมระดับผู้นําว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม สหภาพพม่า ปรากฏผลการประชุมได้มีการทําปฏิญญาพุกามว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย กัมพูชา สหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยประเทศทั้งสี่จะให้ความร่วมมือกันในการอํานวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๖๓ และ ร. ๕๖๔ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือแก่สหภาพพม่า ตลอดจนการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสี่ด้านดังกล่าวนั้น มิได้ระบุถึงการพัฒนาระบบโทรคมนาคม โดยที่รัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอวงเงินสินเชื่อจากรัฐบาลไทยในครั้งแรกก็ด้วยความประสงค์ที่จะใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านการคมนาคม ซึ่งอยู่ในกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทยเคยเสนอในชั้นที่ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปเยือนสหภาพพม่าใน ๒ ครั้งแรก และข้อตกลงร่วมกันตามปฏิญญพุกามว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และนายอภิชาติ ชินวรรโณ เบิกความประกอบเอกสารหมาย ร. ๕๖๙ ถึง ร. ๕๗๖ ได้ความในทํานองเดียวกันว่า เมื่อรัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคม กรมเอเชียตะวันออกได้พิจารณาและเสนอรายงานพร้อมข้อคิดเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียไว้ ซึ่งปรากฏข้อเสียในเรื่องที่อาจจะมีข้อครหาว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการนี้ และเมื่อระหว่างวันที่ ๗ ถึง ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ได้มีการพบปะหารือข้อราชการแบบทวิภาคีในการประชุมรัฐมนตรีซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยยังได้แจ้งเรื่องที่อาจจะมีข้อครหาว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการนี้ให้นายวิน อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าทราบ และขอให้โครงการดังกล่าวอยู่ในวงเงินสินเชื่อ ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครั้นเมื่อ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นําเรื่องเสนอต่อผู้ถูกล่าวหาแล้ว กลับมีการสั่งการด้วยวาจาให้อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แม้จะปรากฏในหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานภายในของประเทศไทยเอง และที่มีไปยังหน่วยงานของรัฐบาลสหภาพพม่า รวมทั้งที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้วงเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลสหภาพพม่าว่าเป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาระบบโทรคมนาคมตามที่รัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอและติดตามสอบถามความคืบหน้าเป็นระยะตลอดมา การระบุวัตถุประสงค์ของการใช้เงินสินเชื่อว่าเพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศมีลักษณะเป็นทํานองหลีกเลี่ยงที่จะใช้คําว่าเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมอันอาจทําให้เกิดข้อครหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่กรมเอเชียตะวันออกเสนอรายงานไว้ดังกล่าว ดังนั้น การพิจารณาและอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าในครั้งนี้ นอกจากจะไม่เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของทุกเรื่องดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏอีกว่า เป็นการดําเนินการที่มีผลต่อผลประโยชน์การประกอบกิจการธุรกิจของบริษัทไทยคม ซึ่งได้ความจากนายณัฐพงษ์ เต็มศิริพงศ์และนายเผด็จ ว่องพยาบาล พนักงานของบริษัทไทยคมเบิกความต่อศาลว่า บริษัทไทยคมได้ไปประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมในสหภาพพม่ามาก่อนแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ และในการประชุมระดับผู้นําว่าด้านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม เจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมและบริษัทเอไอเอสยังได้ไปสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียมแข่งกับบริษัทต่างชาติ และได้รับคําชมเชยจากกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่าจนกระทั่งได้มีการทําสัญญา Roaming Agreement กับกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่า และบริษัทไทยคมเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากสหภาพพม่าในการขยายการ ให้บริการโทรศัพท์มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๖ แล้ว และปรากฏต่อมาจากเอกสารหมาย ร.๕๖๕ ถึง ร.๕๖๘ ว่า หลังจากมีการประชุมระดับผู้นําว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกามแล้ว รัฐบาลสหภาพพม่าโดยกรมความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้มีหนังสือขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบโทรคมนาคม และหลังจากมีการการเจรจาหารือกันแล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าได้แจ้งโครงการที่จําเป็นต่อการปรับปรุงคุณภาพการบริการโทรคมนาคม ได้แก่ แผนการพัฒนาโทรคมนาคมสหภาพพม่าผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยสัญญาณดาวเทียม (Broadband Satellite) โครงการการส่งสัญญาณทั่วประเทศของสหภาพพม่า โดยเป็นระบบใยแก้วนําแสง ๑,๕๐๐ กิโลเมตร และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสหภาพพม่า ซึ่งมีบริษัทไทยคมเป็นผู้จัดหาที่มีสิทธิได้รับเลือกในทุกโครงการ โดยเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ Broadband Satellite และอุปกรณ์เพิ่มเติม เป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและด้านเทคนิค กับช่วยเหลือในการติดตั้งในโครงการแรก กับเป็นผู้บริหารจัดการและที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและเทคนิคในสองโครงการหลัง อันแสดงให้เห็นว่าบริษัทไทยคมได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว ส่วนข้อที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างว่า บริษัทไทยคมขายสินค้าให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าตามพันธะสัญญาที่มีต่อกันมาแต่เดิม และเป็นการซื้อขายกันตามปกติ ไม่ว่าจะได้รับเงินสินเชื่อหรือไม่ รัฐบาลสหภาพพม่าก็จําเป็นต้องซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นประจําอยู่แล้วนั้น เห็นว่า ในการประชุมระดับผู้นําระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ร่วมเดินทางเป็นคณะทางการด้วย ระหว่างการประชุมยังมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคม จํานวน ๘ คน และบริษัทเอไอเอส จํานวน ๒ คน เข้าทําการสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียม ต่อมาทางการสหภาพพม่าได้มีหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยเสนอโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกลของกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่า และขอรับความช่วยเหลือจากไทยมูลค่า ๒๔.๐๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสหภาพพม่ายังได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ขอเพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ติดตามผล รวมทั้งการขอลดดอกเบี้ยซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสั่งการต่อนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ให้แจ้งไปว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่าให้เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจะให้การอุดหนุนชดเชยในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยด้วย และภายหลังที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗ ได้มีการประชุมร่วมระหว่างนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวงเงินสินเชื่อ ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่สหภาพพม่าโดยลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๕.๗๕ เป็นอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี ปลอดการชําระหนี้การจ่ายเงินต้น ๒ ปี ซึ่งคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยมีมติอนุมัติวงเงิน จํานวน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่สหภาพพม่าตามเงื่อนไขดังกล่าว แต่ต่อมาฝ่ายสหภาพพม่าได้ขอให้ปลอดการชําระหนี้การจ่ายเงินต้นเป็น ๕ ปี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเห็นชอบ คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยจึงต้องมีมติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเป็นระยะเวลากู้ ๑๒ ปี ๕ ปีแรกชําระเฉพาะดอกเบี้ย สําหรับ ๗ ปีที่เหลือชําระเงินต้นและดอกเบี้ย โดยที่การอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อมูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งไม่ใช้วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ การให้กู้ดังกล่าวจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย จึงต้องขอคุ้มครองความเสียหายตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหายังสั่งการให้นําเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ในวงเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากได้รับความเสียหายให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีชดเชยแก่ธนาคารตามจํานวนที่เสียหาย และให้ชดเชย ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ได้รับจากรัฐบาลสหภาพพม่ากับต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคาร และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายที่จะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีชดเชยความเสียหายแก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และปีงบประมาณ ๒๕๕๐ รวมเป็นเงินจํานวน ๑๔๐,๓๔๙,๖๐๐ บาท การขอวงเงินกู้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นําว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมและบริษัทเอไอเอสได้ไปสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียมในการประชุมด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทไทยคมนั่นเอง ส่วนที่ได้ความว่า มีการใช้เงินที่ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปซื้อสินค้าต่าง ๆ จากผู้ประกอบการอื่นในประเทศไทยอีกหลายราย ก็ไม่อาจรับฟังหักล้างข้อที่ว่าบริษัทไทยคมจะได้รับประโยชน์จากการดําเนินการกรณีนี้ได้ และที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างว่า การจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การพิจารณาและดุลพินิจของธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยนั้น เห็นว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย จัดตั้ง ขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๓๖ และอยู่ภายใต้การกํากับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ในการพิจารณาและอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าครั้งนี้ก็ได้ความจากนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา และนายสถาพร ชินะจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยว่า เป็นการดําเนินการไปตามนโยบายรัฐบาล และโดยที่การให้สินเชื่อดังกล่าวได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องขอให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีเพื่อชดเชยความเสียหาย ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยและงบประมาณรายจ่ายประจําปีของประเทศโดยไม่จําเป็น โดยเฉพาะสําหรับธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยมิได้รับการชดเชยในส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินการของธนาคารอีกด้วย ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างว่า การดําเนินการกรณีนี้พิจารณาถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และการดําเนินการเป็นผลให้บริษัท ปตท.สผ. จํากัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานบ่อแก๊สธรรมชาติที่สหภาพพม่านั้น เป็นการนําเอาเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกันมากล่าวอ้าง ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คู่สมรสยังคงถือหุ้นรายใหญ่อยู่อย่างแท้จริงในบริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ปจึงเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทไทยคมโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ถึงกว่าร้อยละ ๕๑ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๕๙๙ กรณี จึงเป็นการไม่สมควรที่จะอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การดําเนินการในกรณีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ป