ข้ามไปเนื้อหา

คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๓

จาก วิกิซอร์ซ

ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ขอให้เงินฝากในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ รวม ๒๖ รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ได้มาโดยสุจริตและมีมาก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมิได้เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๕ ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปรวมกัน ๗๔,๔๑๗,๓๙๕ หุ้น มูลค่ารวมเป็นเงิน ๒๐,๐๙๒,๖๙๖,๖๕๐ บาท ไม่ใช่หุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ผู้คัดค้านที่ ๑ หรือที่ ๕ ถือแทน ต่อมาในปี ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปมีการเพิ่มทุน ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเพิ่มทุนเป็น ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นเพิ่มเป็น ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นเพิ่มเป็น ๓๓,๖๓๔,๑๕๐ หุ้น รวมหุ้นทั้งสิ้น ๑๖๘,๗๗๔,๑๕๐ หุ้น มูลค่ารวมเป็นเงิน ๑๕,๑๓๒,๒๙๐,๒๘๙ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ และผู้ถูกกล่าวหาในขณะที่ยังไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านที่ ๑ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ ชำระค่าหุ้น ๔๒๔,๗๕๐,๐๐๐ บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ผู้คัดค้านที่ ๑ ยกหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔,๕๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวนั้นแล้ว ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ปของผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๕ กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ไว้ แต่ผู้คัดค้านที่ ๑ ทำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวสูญหายไป ผู้คัดค้านที่ ๕ จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเก่าให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า และใช้คำนำหน้าว่าคุณหญิงแล้ว และวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านที่ ๑ ยังขายหุ้นชินคอร์ป ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๕ ชำระค่าหุ้น ๒๖๘,๒๕๐,๐๐๐ บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ได้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปตามคำร้องแทนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ ๑ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และ ที่ ๕ ได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ เรียบร้อยแล้ว ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ รวมทั้งบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามี รวมทรัพย์สินทั้งสิ้น ๑๕,๑๒๔,๐๐๐ บาท ไม่มีรายการหุ้นบริษัทชินคอร์ป รวมอยู่ด้วย โดยมูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวดามาพงศ์ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ รวมเป็นเงิน ๔๓,๓๖๖,๕๔๒,๕๒๐ บาท ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นตามกลไกของตลาดหลักทรัพย์และภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไม่ใช่เกิดจากการเอื้อประโยชน์ตามคำร้อง คตส. และผู้ร้องตรวจสอบกล่าวหานอกขอบอำนาจหน้าที่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ เนื่องจากเป็นการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติโดยได้กระทำการเอื้อประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อพ้นเวลา ๒ ปี นับแต่วันที่ถูกกล่าวหาพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๘ คดีจึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง และไม่มีอำนาจตรวจสอบคณะรัฐมนตรีชุดที่พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุสภาสิ้นสุดลง คำร้องของผู้เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้บรรยายถึงพฤติการร่ำรวยผิดปกติและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างไร ผู้ร้องไม่ได้แยกทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีอยู่ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติมีอยู่จำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ กระบวนการพิสูจน์ทรัพย์ยังไม่แล้วเสร็จว่าทรัพย์สินที่ คตส. มีคำสั่งอายัดไว้ เป็นของผู้พิสูจน์ทรัพย์สินหรือไม่ เป็นการข้ามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ เนื้อหาตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐและขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการกระทำละเมิดซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องนี้ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ คตส.

ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๕๘,๕๕๐,๒๒๐ หุ้น ที่ขายให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ และขายไปในราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท ได้รับเงินหลังจากหักค่านายหน้าและภาษีเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๒๒,๕๒๓,๑๘๗,๒๐๙.๔๙ บาท โอนเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๓๑๐๐๘-๘ โดยก่อนโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๒ มีเงินฝากอยู่แล้ว ๒,๑๕๑,๖๖๗.๑๖ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ แบ่งเงินจากการขายหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๑๘ กู้ยืมไป ๑,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๕ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อที่ดินที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ๔ แปลง ในราคา ๒๗,๒๒๗,๒๐๐ บาท และชำระค่าที่ปรึกษากฎหมายและค่าทนายความให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒๒ จำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลใด ราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่เพิ่มขึ้นจากราคา ๒๑ บาท ณ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็น ๔๙.๒๕ บาท ณ วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ได้บรรยายว่ามูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างไร หรือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีความผิดปกติอย่างไร เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด และสาเหตุของการขึ้นลงของราคาหุ้นมาจากปัจจัยใดบ้าง เงินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท มีเงินของผู้คัดค้านที่ ๒ รวมอยู่ด้วย ๑๗,๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ขอให้ยกคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ และเพิกถอนการอายัดเงินและที่ดินของผู้คัดค้านที่ ๒

ผู้คัดค้านที่ ๓ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๖๐๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น โดยซื้อมาจากผู้คัดค้านที่ ๒ และบริษัทแอมเพิลริชโดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๓ ขายหุ้นดังกล่าวให้กับบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน ๒๙,๖๙๖,๘๙๗,๗๒๘.๗๕ บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารที่ คตส.อายัด นำไปร่วมลงทุนในบริษัทต่าง ๆ บริจาคให้ผู้คัดค้านที่ ๑๗ และให้ผู้มีชื่อกู้ยืม บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจในลักษณะการเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือซึ่งมีผลประกอบการที่ดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดีทำให้หุ้นบริษัทชินคอร์ปมีราคาเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติหรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๓ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๓ ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดให้เห็นว่ามูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปก่อนหรือขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหลังจากพ้นจากตำแหน่งแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นดังกล่าวอย่างไร การเพิ่มขึ้นหรือลดลงมีความผิดปกติอย่างไร เกิดขึ้นในช่วงใด และเกิดจากสาเหตุใด ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๓

ผู้คัดค้านที่ ๔ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๔ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น โดยซื้อมาจากผู้ถูกกล่าวหาโดยชอบไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๔ ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน ๙๒๘,๓๖๕,๑๒๕ บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน เลขที่ ๐๑๔-๑๑๑๓๐๐-๙ ที่ คตส.อายัด โดยมีเงินฝาก ๖๐๒,๙๗๙.๐๕ บาท ของผู้คัดค้านที่ ๔ รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ คตส. ที่ดำเนินการตรวจสอบไม่มีความเป็นกลาง คตส. บางคนเป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการต่อจาก คตส. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายไม่มีอำนาจดำเนินการ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ ๔ นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สิน ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๔

ผู้คัดค้านที่ ๕ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๐๔,๔๓๐,๓๐๐ หุ้น โดยซื้อและได้รับโอนให้มาโดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๕ ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน ๑๙,๘๒๗,๗๕๐,๓๘๔.๓๖ บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๔-๖๔๔๓๓-๓ ซึ่ง คตส. อายัดโดยมีเงินฝากเดิม ๑,๓๓๙,๖๘๔,๙๘๗.๒๒ บาท รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านที่ ๕ นำเงินที่ได้มาดังกล่าวไปลงทุนและนำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากอื่น ๆ บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจในลักษณะการเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือซึ่งมีผลประกอบการที่ดี จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดี ทำให้หุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีราคาเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดำเนินการต่อจาก คตส. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจดำเนินการ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ ๕ นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สิน และคดีขาดอายุความเนื่องจากไม่ได้กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาภายในเวลา ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๕

ผู้คัดค้านที่ ๖ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ ซึ่งเป็นสามีผู้คัดค้านที่ ๖ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๐๔,๕๘๙,๙๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทซีด้าร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท เป็นเงิน ๑๙,๙๑๘,๑๙๒,๒๗๕ บาท รวมกับหุ้นบริษัทชินคอร์ปของผู้คัดค้านที่ ๖ อีก ๑๕๙,๖๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๗,๘๖๐,๓๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙,๙๒๖,๐๕๒,๕๗๕ บาท เมื่อหักค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วคงเหลือเงินสุทธิรวม ๑๙,๘๗๒,๗๕๐,๓๘๔.๓๖ บาท โดยเป็นส่วนของผู้คัดค้านที ๕ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ผู้คัดค้านที่ ๕ โอนเงินเข้าบัญชียกให้ผู้คัดค้านที่ ๖ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐-๙๑๑๕๗-๙ จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีเงินจากการขายหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๖ จำนวน ๗,๘๓๙,๒๗๓.๗๐ บาท รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านที่ ๕ และที่ ๖ ไม่ได้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปแทนผู้คัดค้านที่ ๑ หรือผู้ถูกกล่าวหา เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวที่ คตส. อายัดเป็นของผู้คัดค้านที่ ๖ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้คัดค้านที่ ๕ และที่ ๖ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ยื่นคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สิน และดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์สินต่อ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยยังไม่มีการดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จสิ้น เป็นการข้ามขั้นตอนตามกฎหมาย และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่พิจารณาสำนวนการสอบสวนของ คตส. รวมทั้งมีมติให้ยื่นคำร้อง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๖

ผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๙ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก และสาขามีนบุรี รวม ๓ บัญชี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาราชวัตร และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ รวม ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๙ ซึ่งประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายได้รับเป็นค่าจ้างจากครอบครัวชินวัตรและครอบครัวดามาพงศ์ โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ให้ทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดีและปรึกษากฎหมาย รวม ๕ คดี ผู้คัดค้านที่๗ ที่ ๘ และที่ ๑๙ ไม่ทราบว่าผู้ว่าจ้างได้เงินดังกล่าวมาจากที่ใด เป็นการได้มาโดยสุจริต และ คตส. มีมติให้เพิกถอนอายัดเงินฝากทั้ง ๕ บัญชี ของผู้คัดค้านทั้งสามแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในส่วนนี้

ผู้คัดค้านที่ ๙ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐-๗๐๑๘๕-๕ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย เลขที่ ๐๑๓-๑-๒๕๒๒๖๖-๔ จำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ คตส.อายัดเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๙ ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่พิจารณาสำนวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ ผู้คัดค้านที่ ๙ ดำเนินกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สินโดยโต้แย้งไว้ต่อ คตส. แต่ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นการข้ามขั้นตอนการพิสูจน์ทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ คตส.กล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ เกิน ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้ว คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง เงินฝากที่ คตส.อายัดดังกล่าว เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๓ ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพื่อใช้จ่ายลงทุนในธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๙ ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต ก่อนที่ คตส. จะมีคำสั่งอายัด เงินในบัญชีไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ ๑๐ ยื่นคำคัดค้านว่า คตส. กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ จึงเกิน ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้ว จึงไม่มีอำนาจกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจดำเนินการ และการพิสูจน์ทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ ๑๒๗-๐-๗๑๗๐๙-๑ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) สาขารัชดาภิเษก รวม ๒ บัญชีเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ ๑๐ ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๓ ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพื่อใช้จ่ายลงทุนในธุรกิจ ตามวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๑๐ ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต ก่อนที่ คตส. จะมีคำสั่งอายัดไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ขอให้ยกคำร้อง