ข้ามไปเนื้อหา

คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๕

จาก วิกิซอร์ซ

ผู้คัดค้านที่ ๒๑ ยื่นคำคัดค้านว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการ นอกจากนี้ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนพิสูจน์ทรัพย์สินจนครบถ้วนตามกฎหมาย ทั้งการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าร่ำรวยผิดปกติตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ต้องกระทำในขณะผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งไปไม่เกิน ๒ ปี แต่คดีนี้เป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์ในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ เป็นเวลาเกิน ๒ ปี แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักรัชโยธิน ของผู้คัดค้านที่ ๒๑ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๒๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ และ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๐ และวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่ให้เพิ่มทุนอีก ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้น กับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐ และวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่ให้เพิ่มทุนอีก ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒๑ ออกใบสำคัญรับชำระค่าหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๕ พร้อมจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว เงินในบัญชีธนาคารดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๑ ที่ได้มาโดยสุจริตตามปกติในทางธุรกิจและเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ประกอบกับข้อกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปแทนผู้ถูกกล่าวหายังขัดกับคำวินิจฉัยของ คตส. ที่ว่าการรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นประโยชน์ที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ได้รับ และให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีได้จากผู้คัดค้านที่ ๕ อีกด้วย ขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ ๒๒ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินตามแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักนานาเหนือ ๑๒ ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ รวมเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่ง คตส. มีคำสั่งอายัดไว้เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒๒ ได้รับชำระหนี้จากการประกอบกิจการด้านกฎหมายโดยสุจริต โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ชำระเป็นค่าว่าจ้างให้ผู้คัดค้านที่ ๒๒ เป็นที่ปรึกษากฎหมายและจัดหาทนายความเข้าแก้ต่างดำเนินคดีให้กับผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๕ กับนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ในคดีที่บุคคลทั้งสามถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลอาญาเกี่ยวเนื่องกับการเสียภาษี ผู้คัดค้านที่ ๒๒ และผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ร่วมกันชี้แจงและยื่นคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินต่อ คตส. แล้วแต่ คตส.ไม่ได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๒ โดยแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ ๒๒ รอฟังผลคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แทน เนื่องจาก คตส. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มิได้แจ้งผลการพิจารณาโดยระบุว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิกถอนคำสั่งอายัดของ คตส. ผู้คัดค้านที่ ๒๒ และผู้คัดค้านที่ ๒ มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน คตส. จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทร้พย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๒ ทั้งเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็ค ๑๒ ฉบับ เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้มาโดยถูกต้องจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปและนำมาชำระค่าบริการทางกฎหมายโดยไม่มีพฤติการณ์ยักย้ายเงินตามที่ คตส. กล่าวหา ขอให้ยกคำร้อง