ข้ามไปเนื้อหา

คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๖

จาก วิกิซอร์ซ

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประกอบรายงานการไต่สวนของ คตส. และที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นภริยาของผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ เป็นบุตรของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๔ เป็นน้องของผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๕ เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาผู้คัดค้านที่ ๑ ส่วนผู้คัดค้านที่ ๖ เป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ ๕ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อ "ไทยรักไทย" ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.๒๕๔๔ และ พ.ศ.๒๕๔๘ พรรคไทยรักไทยได้ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒๔๘ ที่นั่ง และ ๓๗๕ ที่นั่ง ตามลำดับ จากจำนวนทั้งหมด ๕๐๐ ที่นั่ง ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมสองสมัยตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ ตามลำดับ

บริษัทชินคอร์ป บริษัทเอไอเอส บริษัทดีพีซี และบริษัทไทยคมเป็นนิติบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเอไอเอสและบริษัทไทยคม ส่วนบริษัทเอไอเอสเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทดีพีซี ทั้งต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานโครงการของรัฐ โดยบริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ โดยบริษัทไทยคมเป็นผู้บริหารโครงการตามสัญญา บริษัทเอไอเอสดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยได้รับอนุญาตจาก ทศท. ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ ส่วนบริษัทดีพีซีเป็นผู้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าโดยได้รับอนุญาตจาก กสท. ตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ๑๘๐๐ ฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เดิมผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น และจำนวน ๖,๘๔๗,๓๙๕ หุ้น ตามลำดับ เมื่อปี ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๕ ต่างใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน เมื่อรวมกับหุ้นที่ถืออยู่เดิมแล้วผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นจำนวน ๑๓,๖๑๘,๐๓๐ หุ้น เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๒ มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทแอมเพิลริชตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นหุ้นจำนวน ๕๐,๐๐๐ หุ้น มูลค่าหุ้นละ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เรียกชำระค่าหุ้นเพียง ๑ หุ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และมีนายเลา วี เตียง เป็นกรรมการผู้เดียง วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๒ บริษัทแอมเพิลริชได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น ๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มิได้มีการเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่ม เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนของผู้ถูกกล่าวหาให้แก่บริษัทแอมเพิลริช จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ชำระค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาแทนบริษัทแอมเพิลริช กับจัดให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัทแอมเพิลริช ในวันเดียวกัน ต่อมาผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ กลต.ว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ต่างโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ถืออยู่ทั้งหมดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ โดยผู้ถูกกล่าวหาขายหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ ๑ ขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ต่อมาบริษัทชินคอร์ปจดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นจากที่ตราไว้หุ้นละ ๑๐ บาท เหลือหุ้นละ ๑ บาท โดยยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อ กลต. ว่า เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ และวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๓๖๗,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และจำนวน ๗๓,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ ในราคาหุ้นละ ๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ กับบริษัทแอมเพิลริชได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อ กลต. ว่า เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ บริษัทแอมเพิลริชโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปที่ถืออยู่ จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑ บาท ณ วันดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงมีชื่อถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปรวมกันเป็นจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ระหว่างมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชต่างได้รับเงินปันผลค่าหุ้นจากบริษัทชินคอร์ป โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ได้รับ ๑,๔๖๑,๔๔๗,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๓ ได้รับ ๒,๑๐๕,๕๕๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๔ ได้รับ ๙๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๕ ได้รับ ๑,๖๓๔,๖๑๓,๑๒๙ บาท และบริษัทแอมเพิลริชได้รับ ๑,๕๙๙,๙๑๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ถืออยู่จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ในราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วได้เงินสุทธิ ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท

ต่อมาวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่งตั้ง คตส.ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และตรวจสอบการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรอันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต่อมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทศท. ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อ คตส. เพื่อขอให้ตรวจสอบการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญํติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีว่า เป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจการโทรคมนาคมของชาติ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่เป็นกิจการของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา คตส. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งกลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ดำเนินการแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูล คตส. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมและเรื่องอื่น ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเอง ครอบครัวหรือพวกพ้อง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นกรณีที่ทำให้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และระหว่างการตรวจสอบไต่สวน คตส. มีมติว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้กระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบหรือร่ำรวยผิดปกติ จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๒๒ หลายรายการ รวมเป็นเงิน ๖๖,๗๖๒,๙๒๗,๐๒๔.๒๕ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๒๒ ต่างยื่นคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สิน และคัดค้านการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว คตส. พิจารณาแล้วมีมติให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ และที่ ๑๙ คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนและเสนอรายงานการไต่สวนพร้อมความเห็นต่อ คตส. ว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปโดยให้ผู้อื่นถือแทน และระหว่างผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัทชินคอร์ป บริษัทไทยคมและบริษัทเอเอเอสมีสิทธิดำเนินการในกิจการต่าง ๆ ดังกล่าว รวมทั้งแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต และเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้วงเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลสหภาพพม่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่าอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัว คตส. ได้ร่วมประชุมพิจารณารายงานการไต่สวนดังกล่าวแล้วเห็นว่า ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๐, ๒๐๘, ๒๐๙, ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔, ๕ และมาตรา ๖ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๓๒, ๓๓ และมาตรา ๑๐๐ ซึ่งมีความผิดอาญาตามมาตรา ๑๑๙ และมาตรา ๑๒๒ ทั้งผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือเป็นจำนวนมากก่อนที่จะขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก เป็นจำนวนเงินสุทธิ ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลให้รวม ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ กับมีมติให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้