คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๙

จาก วิกิซอร์ซ

ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คำร้องเคลือบคลุมหรือไม่ ตามคำร้องบรรยายว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยมีผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ถือหุ้นแทน และผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการมอบนโยบายในการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๖๘) ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และออกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน สั่งการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๖) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้จ่ายเครือข่ายร่วม และกรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ทั้งนี้ เป็นการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ โดยที่บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ จากกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ซึ่งตามสัญญาดังกล่าว ข้อ ๑ ระบุว่ากระทรวงคมนาคมตกลงให้บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมีสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม (Transponder) เพื่อการสื่อภายในประเทศ และมีสิทธิเก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้ สิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นของบริษัทชินคอร์ป โดยในการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจำนวน ๕ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๖ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๑ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๓ และวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ลงนามเป็นคู่สัญญา ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๘ วรรคสาม (๑) บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด นอกจากนี้ผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นยังต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งหมายถึงบุคคลต่างด้าวจะเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ดังนั้นหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ถือหุ้นแทน ย่อมไม่สามารถขายให้แก่บุคคลต่างด้าวได้ เนื่องจากจะมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าวเกินกว่าร้อยละ ๒๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ แต่ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวจนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และออกเป็นพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งได้แก้ไข (๑) มาตรา ๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ดังกล่าวเป็นว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยไม่มีบทบัญญัติให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยแต่อย่างใด เป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ ๕๐ และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ปรากฏว่า ในวันที่ ๒๓ มกราคา ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ที่ผู้ถูกกล่วหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวรวม ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และเงินปันผลจำนวน ๖,๘๙๘,๖๐๓,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งสิ้น ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปผ่านบุคคลซึ่งเป็นญาติพี่น้องและนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น กับมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าว ส่งผลให้หุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ถูกกล่าวหาถือครองอยู่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งได้ระบุจำนวนเงินที่ได้จากการขายหุ้น รวมทั้งเงินปันผลซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมกับแนบเอกสารแสดงรายละเอียดยอดเงินที่อายัด ชื่อผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องโดยครบถ้วน ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๘ วรรคสอง และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๒๓ แล้ว และคดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งให้เงินทั้งจำนวนจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปและเงินปันผลพร้อมดอกผลของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องจึงไม่จำต้องบรรยายคำร้องโดยแยกทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีอยู่เท่าใด ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหามีการเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างไร และผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการหรือมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องทำการไต่สวนเพื่อให้ปรากฏในการพิจารณาของศาล สำหรับคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือจำนวน ๙,๙๒๓,๓๖๘,๖๙๕.๒๔ บาท ที่ไม่ได้มีการอายัดไว้ซึ่งไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือเป็นเจ้าของมาในคำร้องนั้น ก็เป็นเพราะ คตส. ยังไม่อาจตรวจสอบให้ทราบได้นั่นเอง ทั้งหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เงินที่ได้จากการ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปและเงินปันผลของผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ครบถ้วนต่อไป องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า คำร้องไม่เคลือบคลุม