ความตกลงสมบูรณ์แบบ
โดยที่ตามประกาศซึ่งได้กระทำ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งประเทศไทยได้ประกาศในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยว่า การประกาศสงครามซึ่งประเทศไทยได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ต่อสหราชอาณาจักรเป็นโมฆะ ด้วยเหตุที่ได้กระทำไปโดยขัดกับเจตจำนงของประชาชาวไทย และเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศไทย และ
โดยที่ในวันเดียวกัน ประกาศลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ดั่งกล่าวแล้ว ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย และ
โดยที่รัฐบาลไทยได้บอกปฏิเสธพันธไมตรี ซึ่งประเทศไทยได้กระทำกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กับทั้งบรรดาสนธิสัญญา กติกาสัญญา และความตกลงอื่น ๆ ซึ่งได้กระทำไว้ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น และ
โดยที่รัฐบาลไทยมีความใฝ่ใจที่จะเข้ามีส่วนอย่างเต็มที่ในการบรรเทาผลแห่งสงคราม โดยฉะเพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินบรรดากระบวนการอันมีความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือในการกลับสถาปนาความมั่นคงระหว่างประเทศและสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจทั่วไป และ
โดยที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียอาศัยข้อคำนึงเนื่องด้วยการกระทำในการบอกปฏิเสธซึ่งรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติไปแล้ว และระลึกอยู่ด้วยเหมือนกันถึงความอุปการะที่ขะบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านในประเทศไทยได้อำนวยให้ระหว่างสงครามกับญี่ปุ่น จึงมีความปรารถนาที่จะให้สถานะสงครามสิ้นสุดลงโดยทันที
ฉะนั้น รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาที่จะกลับเจริญความสัมพันธ์ทางไมตรีอันสนิทสนมซึ่งมีอยู่ก่อนสงคราม จึงตกลงกระทำความตกลงเพื่อความมุ่งประสงค์ดั่งกล่าว และเพื่อการนี้ ได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็ม คือฝ่ายรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ
- นาย เอม.อี. เดนิง, ซี.เอ็ม.จี., โอ.บี.อี.
ฝ่ายรัฐบาลอินเดีย
- นาย เอม.เอส. อาเนย์
ฝ่ายรัฐบาลไทย
- หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์
- พลโท พระยาอภัยสงคราม
- นายเสริม วินิจฉัยกุล
ผู้ซึ่ง เมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่กันและกัน และได้ตรวจเห็นว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันดั่งต่อไปนี้
การใช้คืนและการปรับปรุง
ข้อ หนึ่ง
รัฐบาลไทยตกลงว่าจะบอกปฏิเสธบรรดากระบวนการเนื่องจากการประกาศสงครามอันได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ดั่งกล่าวแล้วข้างต้น และจะจัดกระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผลแก่การบอกปฏิเสธนั้น
ข้อ สอง
รัฐบาลไทยแถลงว่าเป็นโมฆะบรรดาการที่นัยว่าได้มาซึ่งอาณาเขตต์บริติชที่ประเทศไทยได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กับทั้งบรรดาหลักสิทธิ สิทธิ ทรัพย์สินและผลประโยชน์ ซึ่งรัฐไทยหรือคนในบังคับไทยได้มาในอาณาเขตต์ดั่งกล่าวหลังจากวันที่ว่านั้น รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดกระบวนการทางนิติบัญญัติที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผลตามคำแถลงข้างบนนี้ และโดยฉะเพาะอย่างยิ่ง(ก) จะยกเลิก แลถแถลงว่าเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น บรรดากระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองเกี่ยวกับการซึ่งนัยว่าเป็นการผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแห่งอาณาเขตต์บริติช ซึ่งได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
(ข) จะถอนบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารไทยตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายทหารผู้มีอำนาจออกจากบรรดาอาณาเขตต์บริติช ตลอดจนบรรดาข้าราชการและคนชาติไทยซึ่งได้เข้าไปในอาณาเขตเหล่านี้หลังจากที่นัยว่าได้ผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแล้ว
(ค) จะคืนบรรดาทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตต์เหล่านี้ รวมทั้งเงินตรา เว้นแต่เท่าที่แสดงหลักฐานได้ว่า ได้ให้ค่าอันเป็นธรรมเป็นการแลกเปลี่ยนกันแล้ว
(ง) จะให้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายแห่งทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ในอาณาเขตต์เหล่านี้ อันเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยยึดครองอาณาเขตต์เหล่านี้
(จ) จะไถ่ถอนเป็นเงินสเตอร์ลิงจากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่ อันเจ้าหน้าที่บริติชได้เก็บรวบรวมไว้ในอาณาเขตต์บริติชที่ประเทศไทยได้ยึดครองภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
ข้อ สาม
รัฐบาลไทยตกลงว่า จะยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาและคืนในสภาพไม่เสื่อมเสียบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชะนิดของฝ่ายบริติชในประเทศไทย และในการใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศ หรือความบุบสลายที่ได้รับ คำว่า "ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์" ให้กินความรวมตลอดถึงทรัพย์สินทางราชการของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย ทรัพย์สินที่ได้โอนกรรมสิทธิหลังจากสงครามได้อุบัติขึ้น บำนาญที่ให้แก่คนชาติบริติช สต๊อกดีบุก ไม้สักและโภคภัณฑ์อื่น ๆ เรือและท่าเทียบ และสัญญาเช่า และสัมปทานเกี่ยวกับดีบุก ไม้สัก และอื่น ๆ ซึ่งให้ไว้แก่ห้างและเอกชนบริติชก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และยังคงสมบูรณ์อยู่ในวันนั้นข้อ สี่
รัฐบาลไทยตกลงว่า จะยกเลิกการพิทักษ์ธุรกิจการธนาคารและการพาณิชย์ฝ่ายบริติช และยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป
ข้อ ห้า
รัฐบาลไทยตกลงว่าจะยอมรับผิด โดยบวกดอกเบี้ยตามอัตราส่วนร้อยที่สมควรในส่วนการใช้เงินค้างจ่ายเกี่ยวกับเงินกู้ และเกี่ยวกับการใช้เงินบำนาญเต็มจำนวนตั้งแต่วันที่หยุดใช้เงินตามระเบียบ
ความมั่นคง
ข้อ หก
รัฐบาลไทยยอมรับนับถือว่า กระบวนเหตุการณ์ในสงครามกับญี่ปุ่นแสดงให้เห็นความสำคัญของประเทศไทยเนือ่งในการป้องกันมะลายา พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงของมหาสมุทรอินเดียและเขตต์แคว้นปาซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และรัฐบาลไทยตกลงว่าจะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การนั้นเห็นชอบแล้ว และหากจะเกี่ยวเนื่องถึงประเทศไทยและฉะเพาะอย่างยิ่งในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งหากจะเกี่ยวกับประเทศหรือเขตต์แคว้นเหล่านั้น
ข้อ เจ็ด
รัฐบาลไทยรับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน
การร่วมมือทางพาณิชย์และทางเศรษฐกิจ
ข้อ แปด
รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดกระบวนการทุกอย่างที่กระทำได้ เพื่อกลับสถาปนาการค้าขาเข้าและขาออกระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับอาณาเขตต์บริติชที่ใกล้เคียงอีกฝ่ายหนึ่ง และจะยึดือและรักษานโยบายฐานเพื่อนบ้านที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินเรือชายฝั่งข้อ เก้า
รัฐบาลไทยรับว่าจะเจรจากับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพื่อทำสนธิสัญญาการตั้งถิ่นฐานการพาณิชย์และการเดินเรือฉะบับใหม่ และทำอนุสัญญาการกงสุลโดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อสิบเอ็ดข้างล่างนี้เป็นมูลฐาน
ข้อ สิบ
รัฐบาลไทยรับว่าจะเจรจากับรัฐบาลอินเดียโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพื่อทำสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือฉะบับใหม่ โดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อต่อไปนี้เป็นมูลฐาน
ข้อ สิบเอ็ด
(๑) ระหว่างที่ยังไม่ได้ทำสนธิสัญญาและอนุสัญญาดั่งกล่าวในข้อเก้าและสิบข้างบนนี้ และภายให้บังคับให้วรรค (๒) ของข้อนี้ รัฐบาลไทยรับว่าจะถือตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือ ซึ่งลงนามกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ กับทั้งรับว่า นอกจากสนธิสัญญานั้นจะอนุญาตให้กระทำได้โดยชัดแจ้งแล้ว จะไม่ใช้กระบวนการใด ๆ บังคับ อันเป็นการอาศัยเหตุสัญชาติ กีดกันผลประโยชน์ทางพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมฝ่ายบริติชหรือผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายบริติช จากการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการค้าของไทย หรือกระบวนการใด ๆ ที่บังคับให้รักษาไว้ซึ่งสต๊อกหรือส่วนสำรองเกินกว่าที่ปฏิบัติกันอยู่โดยปรกติในการพาณิชย์ การเรือ การอุตสาหกรรม หรือการธุรกิจ
(๒) คำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยดั่งกล่าวข้างบนนี้ (ก) ให้มีข้อยกเว้นใด ๆ ได้ ตามแต่จะได้ตกลงกันในเวลาใด ๆ ระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดีย แล้วแต่กรณีย์กับรัฐบาลไทย (ข) นอกจากจะได้ยืดเวลาออกไปด้วยความตกลงพร้อมกัน จะเป็นอันตกไป ถ้าหากว่าสนธิสัญญาและอนุสัญญาดั่งกล่าวในข้อเก้าและสิบไม่ได้กระทำกันภายในกำหนดเวลาสามปี นับแต่วันใช้ความตกลงนี้
(๓) ความในข้อนี้ไม่ให้ถือว่า เป็นการตัดทางที่จะให้ผลปติบัติซึ่งให้ประโชน์อนุเคราะห์เท่าเทียมกันแก่คนชาติ และการธุระของสหประชาชาติทั้งหมด หรือแต่ชาติหนึ่งชาติใดข้อ สิบสอง
รัฐบาลไทยรับว่าจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วไปใด ๆ เกี่ยวกับดีบุกหรือยาง ซึ่งอนุโลมตามหลักการเกี่ยวกับข้อตกลงว่าด้วยโภคภัณฑ์ตามแต่องค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมแห่งองค์การนั้นจะได้ตกลงกัน
ข้อ สิบสาม
จนกระทั่งวันซึ่งจะเป็นวันเดียวหรือต่างวันกันก็ได้ แต่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลไทยรับว่า นอกจากจะได้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการประสม ณ วอชิงตัน หรือองค์คณะใด ๆ ที่จะมาทำการแทน และในกรณีย์ข้าว นอกจากจะได้เป็นไปตามคำอำนวยขององค์การพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนั้นแล้ว จะห้ามบรรดาการส่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศ และจะจัดระเบียบการค้าและเร้าการผลิตโภคภัณฑ์เหล่านี้
ข้อ สิบสี่
รัฐบาลไทยรับว่า โดยเร็วที่สุดที่พอจะกระทำได้ โดยเอาข้าวไว้ให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในของไทยแล้ว จะจัดให้มีข้าวสาร ณ กรุงเทพฯ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้องค์การที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรจะได้แจ้งให้ทราบนั้นใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่ากับข้าวส่วนที่เหลือซึ่งสะสมไว้และมีอยู่ในประเทศไทย ณ บัดนี้ แต่ไม่เกินหนึ่งกับกึ่งล้านตันเป็นอย่างมาก หรือจะตกลงกันให้เป็นข้าวเปลือกหรือข้าวกล้องในปริมาณอันมีค่าเท่ากันก็ได้ เป็นที่ตกลงกันว่าจำนวนข้าวสารอันแน่นอนที่จะจัดให้มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ได้ตามความในข้อนี้นั้น องค์การดั่งกล่าวข้างต้นจะเป็นผู้กำหนด และข้าวสาร ข้าวเปลือก หรือข้าวกล้องที่ส่งมอบตามความในข้อนี้ จะได้อนุโลมตามมาตรฐานคุณภาพอันเป็นที่ตกลงกันตามที่เจ้าหน้าที่ดั่งกล่าวได้กำหนด
ข้อ สิบห้า
จนกระทั่งวันที่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดให้องค์การข้าวดั่งกล่าวในข้อสิบสามและข้อสิบสี่ใช้ประโยชน์ได้ในข้าวทั้งหมดอันเป็นส่วนที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศไทย ข้าวเช่นว่านี้ นอกจากข้าวที่ส่งมอบโดยไม่คิดมูลค่าตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในข้อสิบสี่นั้นจะได้ส่งให้โดยวิธีองค์การพิเศษดั่งกล่าวในข้อสิบสาม และข้อสิบสี่จะได้แจ้งให้ทราบ และตามราคาที่กำหนดด้วยความตกลงกับองค์การนั้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงราคาข้าวที่ควบคุมในเขตต์แคว้นอื่น ๆ ในอาเซียซึ่งส่งข้าวออกนอกประเทศ
การบินพลเรือน
ข้อ สิบหก
รัฐบาลไทยจะให้สายการเดินอากาศฝ่ายพลเรือนแห่งจักรภพประชาชาติบริติชได้รับผลประติบัติ โดยความตกลงอันจะได้เจรจากันกับรับาลแห่งสมาชิกของจักรภพประชาชาติบริติชในเรื่องการจัตั้ง บำรุงรักษา และเดินสายการเดินอากาศเป็นระเบียบประจำ ซึ่งให้ประโยชน์อนุเคราะห์ไม่น้อยกว่าที่ได้ให้แก่อิมปีเรียล แอร์เวย์ส ตามหนังสือที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗
ที่ฝังศพสงคราม
ข้อ สิบเจ็ด
รัฐบาลไทยรับว่าจะทำความตกลงกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย เพื่อต่างฝ่ายต่างบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่การจัดตั้งถาวรและการดูแลในภายหน้าแห่งที่ฝังศพสงครามของฝ่ายบริติชและฝฝ่ายอินเดีย และที่ฝั่งศพสงครามของฝ่ายไทยในอาณาเขตต์ของแต่ละฝ่าย
ปกิณณกะ
ข้อ สิบแปด
รัฐบาลไทยตกลงถือว่ายังคงใช้อยู่ซึ่งบรรดาสนธิสัญญาสองฝ่ายระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทยตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณษจักรและรัฐบาลอินเดียจะได้ระบุแล้วแต่กรณีย์ภายใต้บังคับแห่งข้อแก้ไขใด ๆ ที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะแจ้งให้ทราบ และถือว่าสนธิสัญญาใด ๆ ซึ่งมิได้ระบุไว้ดั่งกล่าวนั้นเป็นอันยกเลิกไปข้อ สิบเก้า
รัฐบาลไทยตกลงถือว่ายังคงใช้อยู่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทย บรดาสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงหลายฝ่ายซึ่งทำไว้ก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (ก) ที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณีย์ เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้นและยังคงเป็นภาคีอยู่ (ข) ที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณีย์ เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้นและยังคงเป็นภาคีอยู่ แต่ประเทศไทยมิได้เป็นภาคี ทั้งนี้รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ เมื่อได้รับคำแจ้งความดั่งกล่าว รัฐบาลไทยจะได้จัดการที่จำเป็นโดยทันที ตามความในสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงดั่งกล่าว ซึ่งประเทศไทยมิได้เป็นภาคีผู้ทำสัญญาอยู่นั้น เพื่อเข้าเป็นภาคี หรือถ้าเข้าเป็นภาคีไม่ได้ ก็จะได้ปฏิบัติให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งหนังสือสัญญานั้น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสหราชอาณษจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณีย์ โดยวิธีนิติบัญญัติหรือทางปกครองตามแต่จะเหมาะสม รัฐบาลไทยตกลงด้วยว่าจะสนองตามข้อแก้ไขใด ๆ ในหนังสือสัญญานั้น ซึ่งหากจะได้ใช้บังคับตามข้อกำหนดแห่งตราสารดั่งกล่าวหลัจากวันที่ว่านั้น
ข้อ ยี่สิบ
ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับให้เข้าเป็นภาคีแห่งองค์การระหว่างประเทศใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ อันเป็นองค์การที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียเป็นสมาชิกอยู่ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากหรือเนื่องด้วยองค์การนั้น ๆ หรือเอกสารที่จัดตั้งองค์การนั้น ๆ ขึ้นตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียแล้วแต่กรณีย์ จะได้ระบุในเวลาใด ๆ
ข้อ ยี่สิบเอ็ด
โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญาซึ่งรัฐบาลไทยให้ไว้ข้างบนนี้ รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียตกลงถือว่าสถานะสงครามเป็นอันสิ้นสุดลง และจะดำเนินการโดยทันทีในอันที่จะกลับเจริญความสัมพันธ์ทางไมตรีกับประเทศไทย และแลกเปลี่ยนผู้แทนทางทูตกันข้อ ยี่สิบสอง
รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียรับรองด้วยว่าจะสนับสนุนการที่ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ
วิเคราะห์ศัพท์และวันใช้ความตกลง
ข้อ ยี่สิบสาม
ภาคีผู้ทำสัญญานี้ตกลงกันว่า คำว่า "บริติช" ในความตกลงนี้
(๑) เมื่อช้แก่บุคคลธรรมดา หมายความว่า บรรดาคนในบังคับของสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ และอาณาจักรบริติชอันพ้นทะเลทั้งหลาย จักรพรรดิแห่งอินเดีย ตลอดจนบรรดาบุคคลในอารักขาของสมเด็จพระมหากษัตริย์
(๒) เมื่อใช้แก่อาณาเขตต์ หมายความว่า บรรดาอาณาเขตต์ใด ๆ ในอธิปไตย อธิราชย์อารักขา หรืออาณัติของสมเด็จพระมหากษัตริย์ แล้วแต่กรณีย์
(๓) เมื่อใช้แก่นิติบุคคล หมายความว่าบรรดานิติบุคคลซึ่งได้รับสถานภาพเช่นนั้นจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในอาณาเขตต์ใด ๆ ดั่งกล่าวแล้ว และ
(๔) เมื่อใช้แก่ทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ หมายความว่าทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ของบุคคลดั่งระบุไว้ใน (๑) หรือ (๓) ข้างบนนี้ แล้วแต่กรณีย์
ข้อ ยี่สิบสี่
ความตกลงนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เพื่อเป็นพะยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้ลงนามและประทับตราความตกลงนี้ไว้เป็นสำคัญ
ทำควบกันเป็นสามฉะบับ เป็นภาษาอังกฤษ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่หนึ่งมกราคม คริสต์ศักราช พันเก้าร้อยสี่สิบหก ตรงกับพุทธศักราช สองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้าฝ่ายบริเตนใหญ่และไอร์แลน์เหนือ
- (ลงนาม) เอม. อี. เดนิง.
ฝ่ายอินเดีย
- (ลงนาม) เอม.เอส. อาเนย์
- (ลายมือชื่อนี้ได้ลงไว้ด้วยความตกลงกับผู้แทนของสมเด็จพระราชาธิบดีในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในความสัมพันธ์กับบรรดารัฐอินเดียน.)
ฝ่ายไทย
- (ลงพระนาม) วิวัฒน
- (ลงนาม) พระยาอภัยสงคราม
- พลโท
- (ลงนาม) ส. วินิจฉัยกุล
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- ความตกลงสมบูรณ์แบบ. (2489).
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"