ข้ามไปเนื้อหา

ความทรงจำ/๑

จาก วิกิซอร์ซ
ความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


(ลงมือแต่งวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖)




ตอนที่ ๑


เริ่มเรื่องประวัติ


พ.ศ. ๒๔๐๕–๒๔๑๑





ฉันเกิดในพระบรมมหาราชวังเมื่อปีจอ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน[1] พ.ศ. ๒๔๐๕ ประเพณีในราชสกุลสมัยนั้น เมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นพระองค์ชาย ได้พระราชทานพระขรรค์เล่มหนึ่งกับปืนพกกระบอกหนึ่ง ถ้าเป็นพระองค์หญิง ได้พระราชทานพระภูษาแพรคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง เป็นของเฉลิมขวัญให้วางไว้ในกระด้งที่รองพระองค์ เมื่อประสูติแล้วได้สามวัน มีการพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธาน ทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมพระราชทาน ฉันได้เฝ้า "ทูลกระหม่อม"[2] สมเด็จพระบรมชนกนาถของฉันเป็นครั้งแรกในวันนั้น ต่อนั้นมา เมื่อประสูติแล้วได้เดือนหนึ่ง มีการพิธีสมโภชอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า สมโภชเดือน เป็นการใหญ่กว่าสมโภชสามวัน[3] ต้องหาฤกษ์ทำในวันดี บางทีเกินวันครบเดือนไปหลาย ๆ วัน พิธีนั้นเริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระปริตรตอนบ่ายเมื่อก่อนวันฤกษ์ ครั้นถึงวันฤกษ์ เวลาเช้า เลี้ยงพระ และสงฆ์อำนวยพรก่อน[4] แล้วจึงทำพิธีพราหมณ์ คือ โกนผมไฟ ไว้จุก แล้วพระครูพราหมณ์เอาลงอาบน้ำในขันสาคร ครั้นถึงเวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธานในการพิธีเวียนเทียนสมโภช และทรงรดน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมเหมือนครั้งก่อน สมโภชแล้วพระครูพราหมณ์อุ้มเอาขึ้นวางในพระอู่ไกวร่ายมนต์กล่อมสามลา เป็นเสร็จการพิธี ในวันพิธีสมโภชเดือนนี้ ทูลกระหม่อมพระราชทานของขวัญ คือ ทองคำสำหรับให้ทำเครื่องแต่งตัวกับเงินร้อยชั่ง (แปดพันบาท) สำหรับเป็นทุน และพระราชทานชื่อด้วย ฉันได้พระราชทานชื่อว่า "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" คนทั้งหลายเรียกกันว่า "พระองค์ดิศ" มาจนได้รับกรมในรัชกาลที่ ๕ นาม "ดิศ" ที่พระราชทานเป็นชื่อของฉันนั้นในทางพระศาสนาถือว่า มีสิริมงคล ด้วยเป็นพระนามพระพุทธเจ้าก็มี เป็นพระนามของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงพระเกียรติในการอุปถัมภกพระพุทธศาสนาก็มี แต่ตามคำของท่านผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติซึ่งรับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์สมัยนั้น ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอานามของคุณตา (ท่านชื่อ "ดิศ" เป็นพระยาบำเรอภักดีอยู่ในเวลานั้น) มาพระราชทาน ด้วยทรงพระราชดำริว่า เป็นคนซื่อตรง เรื่องประวัติของคุณตานั้น ปู่ของท่านชื่อ บุญเรือง เดิมเป็นที่หลวงคลังเมืองสวรรคโลก ได้เป็นข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีความชอบมาแต่ครั้งรบพม่าที่เมืองเหนือ ครั้นเสด็จผ่านพิภพจึงทรงตั้งให้เป็นที่พระจันทราทิตย์ในกรมสนมพลเรือน ต่อมา เลื่อนขึ้นเป็นพระยาในรัชกาลที่ ๑ นั้น[5] บุตรของพระยาจันทราทิตย์คนหนึ่งชื่อ เลี้ยง ไม่ปรากฏว่าได้ทำราชการตำแหน่งใด มีบุตรคือคุณตา เกิดแต่ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่องานพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงทรง คุณตาอายุได้เจ็ดขวบ พระยาจันทราทิตย์ผู้ปู่นำถวายสมโภช จึงได้เป็นมหาดเล็กหลวงเดิมอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์มา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพได้เป็นพระมหาอุปราช ทรงคุ้นเคยกับนายเลี้ยง บิดาของท่านมาแต่ก่อน จึงโปรดตั้งให้เป็นที่จมื่นอินทรประพาสในกรมวังวังหน้า เวลานั้น พระยาจันทราทิตย์ถึงอนิจกรรมแล้ว จมื่นอินทรประพาสจะเอาคุณตาไปถวายตัวทำราชการให้มียศศักดิ์ในวังหน้า คุณตาไม่ยอมไป ว่า "ไม่ขอเป็นข้าสองเจ้า" ถึงจะเป็นอย่างไรก็จะอยู่เป็นข้าแต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว แล้วอยู่สนองพระเดชพระคุณมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จึงทรงยกย่องความซื่อตรงของท่าน เล่ากันมาอย่างนี้ และมีความปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งหนึ่ง ทรงบริภาษพวกข้าหลวงเดิมว่า เห็นผู้อื่นมีบุญ ก็มักเอาใจออกหาก เคยเห็นใจมาเสียแล้ว จะไม่เป็นเช่นนั้นก็แต่ "อ้ายเฒ่าดิศ" (กับใครอีกสองคน) พระราชดำรัสนี้ดูประกอบคำที่เล่าให้เห็นว่าเป็นความจริง[6]

ลักษณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอนั้น ทรงเขียนลายพระราชหัตถ์เป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นอักษรและภาษาไทยพระราชทานนาม อีกฉบับหนึ่งเป็นอักษรอริยกะ[7] และภาษามคธ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคาถาพระราชทานพร คาถาที่พระราชทานพรฉันว่า

สุขี อยํ โหตุ สทา กุมาโร

นาเมน โส ติสฺสวโร กุมาโร

อายุญฺจ วณฺณญฺจ สุขพฺพลญฺจ

ติกฺขญฺจ ปญฺญญฺจ ปฏิภาณภูตํ

ลทฺธา ยสฺสี สุขตํ มหิทฺธี

ปโหตุ สพฺพตฺถ จิรํ สุชีวี

กุลญฺจ รกฺเขถ สมาจรญฺจ

สพฺเพหิ สตฺตูหิ ชยํ ลเภถ

สุขี ทีฑายุโก โหตุ ปุตฺโต ติสฺสวรวฺหโย
กุมาโร ชุมปุตฺโตยํ อิทฺธิมา โหตุ สพฺพทา
พุทฺโธ ธมฺโม จ สงฺโฆ จ อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ
ตสฺสาปิ สรณํ โหตุ สมฺมา รกฺขตุ นํ สทา

คำสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทรฯ แปลคาถา

ขอกุมารนี้จงมีความสุขในกาลทุกเมื่อ กุมารนี้จงมีนามว่า ดิศวรกุมร โดยนามนิยม ขอดิศวรกุมารนี้จงได้ซึ่งชนมายุยืนยงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ขอจงได้ซึ่งวรรณผิวกายอันผ่องใส และจงได้วรรณคุณความสรรเสริญเป็นนิรันดร ขอจงได้ซึ่งสุขกายสุขใจเป็นนิจกาล จงได้ซึ่งกำลังกายอันแกล้วกล้า ทั้งให้มีกำลังปัญญารู้รอบคอบในกิจการทั้งปวง และให้ฉลาดในปฏิภาณโวหารกล่าวคำโต้ตอบในที่ประชุมชน ขอให้ดิศวรกุมารอิศริยยศ บริวารยศ ปรากฏด้วยมหิทธิศักดาเดชานุภาพมาก ขอให้มีชนมชีพยืนนานพอเพียงควรแก่กาล

อนึ่ง ขอให้ดิศวรกุมารพึงรักษาไว้ซึ่งสกุลวงศ์ให้ดำรงยืนยาว และพึงรักษาไว้ซึ่งจรรยา คือ ความประพฤติชอบธรรมสุจริต พึงได้ชัยชำนะปัจจามิตรในที่ทั้งปวง

อนึ่ง ขอให้กุมารบุตรของเราอันมีนามว่าดิศวรกุมารผู้เป็นบุตรชุ่มนี้ จงมีฤทธานุภาพในการทั้งปวง

ขอพระรัตนตรัยทั้งสาม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า จงเป็นที่พึ่งแก่ดิศวรกุมารนั้น และจงรักษาซึ่งดิศวรกุมารนั้นโดยชอบในกาลทุกเมื่อเทอญ

คาถาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานพระเจ้าลูกเธอนั้นประทานพรบางอย่างเหมือนกันทุกพระองค์ แต่มีบางอย่างแปลก ๆ กัน สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงพยายามรวบรวมคาถาพระราชทานพรแปลเป็นภาษาไทย[8] ตรัสว่า ทรงพิจารณาดูพรที่พระราชทานแปลกกันนั้น มักจะได้ดังพระราชทาน พรที่ตัวฉันได้พระราชทานจะได้จริงเพียงไรแล้วแต่ผู้อื่นที่รู้จักจะพิจารณา แต่ลูกของฉันเองเพิ่งได้อ่านหนังสือประชุมคาถาพระราชทานพรเมื่อกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรโปรดให้พิมพ์แจกเป็นของชำร่วยในงานฉลองพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ อ่านแล้วพูดกันว่า "พรที่ทูลกระหม่อมปู่พระราชทานเสด็จพ่อไม่เห็นมีว่าให้มั่งมี" เป็นทำนองว่า เพราะฉันไม่ได้พระราชทานพรข้อนี้ จึงไม่รู้จักมั่งมี ตามความเข้าใจของคนทั้งหลายในปัจจุบันนี้ดูเหมือนจะหมายความว่า ต้องมีเงินนับด้วยแสนจึงมั่งมี แต่ก่อนมาหาเช่นนั้นไม่ ด้วยตั้งแต่โบราณมาจนสมัยเมื่อฉันยังเป็นเด็ก ไม่ใคร่มีใครมีเงินมาก เพราะการเลี้ยงชีพไม่ต้องใช้เงินเท่าใดนัก ข้าวปลาอาหารราคายังถูก เป็นต้นว่า ข้าวสารราคาก็เพียงถังละห้าสิบสตางค์[9] ผู้ทรงศักดิ์มีบ่าวไพร่เป็นชาวสวนชาวนายังได้ของกำนัลเจือจาน การที่ต้องใช้เงินไม่มีมากมายเท่าใดนัก แม้จนเครื่องนุ่งห่มใช้สอยและของเล่นที่ยั่วให้ซื้อก็มิใคร่มีอะไร ผิดกับทุกวันนี้มาก ในเหล่าเจ้านายจึงมีน้อยพระองค์ทีเดียวที่รู้จักเอาพระทัยใส่ในการสะสมเงินทอง[10] อีกประการหนึ่ง ผลประโยชน์ของเจ้านายที่ได้พระราชทานก็ยังน้อย ว่าส่วนตัวฉันเองได้เงินเดือนเดือนละแปดบาท ได้ข้าวสารสำหรับให้พี่เลี้ยง แม่นม และบ่าวไพร่กิน กับน้ำมันมะพร้าวสำหรับตามตะเกียงที่เรือน จะเป็นเดือนละกี่ถังลืมเสียแล้ว ถึงปีได้พระราชทานเบี้ยหวัด เบี้ยหวัดพระเจ้าลูกเธอที่ยังไม่ได้โสกันต์กำหนดเป็นสามชั้น ชั้นต่ำปีละสองชั่ง (หนึ่งร้อยหกสิบบาท) ชั้นกลางสองชั่งสิบตำลึง (สองร้อยบาท) ชั้นสูงสามชั่ง (สองร้อยสี่สิบบาท) ฉันได้เคยรับทั้งสามชั้น แต่ได้เลื่อนชั้นเร็วเพราะอยู่ในพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กที่โปรดทรงใช้สอย พออายุหกขวบก็ได้รับเบี้ยหวัดถึงชั้นหนึ่ง นอกจากนั้น ยังได้ "เงินงวด" ประจำปีจากภาษีอากรบางอย่าง และมีอสังหาริมทรัพย์ได้พระราชทานสองแห่ง คือ ตึกแถวที่ริมถนนเจริญกรุงสองห้อง ได้ค่าเช่าห้องหนึ่งเดือนละสี่บาท กับนาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์แปลงหนึ่ง เป็นเนื้อนารวมสามร้อยไร่ คุณตาจัดการทำได้ข้าวมาเจือจานกันกินบ้าง ถ้าคิดเป็นเงินรายได้ทุกประเภทที่กล่าวมา เห็นจะตกราวปีละสามพันบาท ดูก็ไม่รู้สึกอัตคัดในสมัยนั้น

เรื่องประวัติในตอนเมื่อฉันยังเป็นทารก แม่เล่าให้ฟังบ้าง ได้ยินท่านผู้อื่นที่ได้เลี้ยงดูอุปการะเล่าบ้างเป็นเรื่อง ๆ ไม่สู้ติดต่อกัน แม่เล่าให้ฟังเป็นเรื่องต้นว่า เมื่อพาฉันขึ้นไปเฝ้าบนพระมหามนเทียรทั้งแรก ทูลกระหม่อมเอานิ้วพระหัตถ์จิ้มที่ปากสักครู่หนึ่งแล้วตรัสแก่แม่ว่า "ลูกคนนี้จะฉลาด" เมื่อมาคิดว่า ในเวลานั้นอายุของฉันเพียงสักสามสี่เดือน จะทรงพยากรณ์ด้วยสังเกตอย่างไร ดูก็น่าพิศวง บางทีจะทรงสังเกตว่า ดูดนิ้วพระหัตถ์หรือไม่ เพราะธรรมดาลูกอ่อนย่อมชอบดูดนม เมื่อเอานิ้วจิ้มที่ปาก ถ้าเป็นทารกมีอุปนิสัยสังเกต รู้ว่ามิใช่นมก็ไม่ดูด ถ้าไม่มีอุปนิสัยเช่นนั้นก็หลงดูดนิ้วด้วยสำคัญว่านม หลักของวิธีที่ทรงพยากรณ์จะเป็นดังว่านี้ดอกกระมัง

เรื่องประวัติตามได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่าต่อมาว่า เมื่ออายุฉันได้สองขวบ เจ็บหนักครั้งหนึ่งถึงคาดกันว่าจะตาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งเป็นอธิบดีกรมหมอหลวงเสด็จเข้าไปทรงดูแลการรักษาพยาบาล และกรมหลวงวงศาฯ ตรัสให้หลวงจินดา (ชื่อตัวว่ากระไรลืมเสียแล้ว) ตั้งยารักษาฟื้นจึงได้รอดชีวิตมา เมื่อหายเจ็บแล้วต่อมาจะได้ตามเสด็จไปพระนครศรีอยุธยา แม่เกรงว่า เอาแม่นมไปด้วยจะลำบาก จึงคิดจะให้ฉันหย่านม[11] ด้วยหาอาหารอย่างอื่นล่อ และห้ามมิให้แม่นมให้กินนม แต่ฉันร้องไห้จนนมพลัดแกสงสารลอบมาให้กินนมทุกวัน ก็ไม่หย่านมได้ทันวันตามเสด็จ จึงต้องให้แม่นมไปด้วย แต่เมื่อไปอยู่ตำหนักเล็กบนลานข้างพลับพลาจตุรมุขในวังจันทรเกษม แม่ยอมให้กินนมแต่วันแรก พอตกค่ำสั่งให้เอาตัวนมพลัดไปคุมไว้เสียที่อื่นไม่ให้ลอบมาหาได้ ในคืนวันนั้นปล่อยให้ฉันร้องไห้ดิ้นรนจนหลับไปเอง รุ่งขึ้นก็เป็นหย่านมได้ ตำหนักในวังจันทรฯ หลังนั้นยังอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันขึ้นไปภายหลังนึกว่าจำได้ตั้งแต่ครั้งเมื่อถูกอดนม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงเป็นเพราะรู้สึกตามประสาเด็กว่า ได้รับความทุกข์ร้อนใหญ่หลวงเป็นครั้งแรกจึงไม่ลืม แต่เมื่อมาคิดดูว่า เวลานั้นอายุยังไม่ถึงสามขวบ ก็เกิดสงสัยว่า หรือจะหลงเอาเรื่องที่ได้ฟังเล่ากับที่ได้เห็นในภายหลังมาสำคัญปนกันไป มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจำได้เนื่องกับตามเสด็จไปวังจันทรฯ คือ เขาเอาดินปั้นเป็นกรงมีซี่ไม้ไผ่อยู่ข้างบนใส่จิ้งหรีดมาให้เล่น ฟังมันร้องและดูมันกัดกันสนุกดี แต่ก็ได้ไปวังจันทรฯ หลายครั้ง อาจจะมาจำได้ต่อเมื่อไปครั้งหลัง ๆ เพราะฉะนั้น เห็นจะไม่ควรอวดว่า รู้จักจำมาแต่เล็ก ที่มาเริ่มจำความได้จริงนั้นตั้งแต่ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่ออายุได้สี่ขวบเป็นต้นมา ถึงตอนนี้เริ่มเรียนหนังสือและขึ้นไปเฝ้าทูลกระหม่อมทุกวัน เวลานั้น เสด็จประทับที่พระอภิเนาว์นิเวศน์แล้ว[12]

การศึกษาของพระเจ้าลูกเธอดูเหมือนจะมีระเบียบมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ (บางทีจะตามอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา) ใช้มาจนในสมัยเมื่อฉันเริ่มศึกษา ถ้าเรียกตามคำที่ใช้ในการศึกษาทุกวันนี้ ชั้นประถมศึกษาเรียนต่อครูผู้หญิงในพระราชวังเหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง พอพระชันษาได้สามขวบก็ตั้งต้นเรียนหนังสือไทยไปจนพระชันษาราวเจ็ดขวบ จึงเริ่มเรียนมัธยมศึกษาภาคต้น ถึงชั้นมัธยม การเล่าเรียนของพระองค์ชายกับพระองค์หญิงเริ่มแยกกัน พระองค์ชายเรียนต่อครูผู้ชาย พระองค์หญิงคงเรียนต่อครูผู้หญิง เพราะวิชาที่เรียนตอนนี้ผิดกัน พระองค์ชายเริ่มเรียนภาษามคธ พระองค์หญิงก็เริ่มฝึกหัดการเรียน แต่คงเรียนภาษาไทยด้วยอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ เหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง การฝึกหัดกิริยามรรยาทก็กวดขันตั้งแต่ชั้นนี้ เขตของการเรียนชั้นมัธยมภาคต้นไปจนถึงโสกันต์ (พระองค์ชายพระชันษาสิบสามปี พระองค์หญิงพระชันษาสิบเอ็ดปี) แต่นั้นเรียนวิชามัธยมภาคปลาย คือ พระองค์ชายทรงผนวชเป็นสามเณร เรียนพระธรรม กับทั้งฝึกหัดปฏิบัติพระวินัย (discipline) และเริ่มเรียนศิลปวิทยาเฉพาะอย่างที่ชอบพระอัธยาศัย ทรงผนวชอยู่พรรษาหนึ่งบ้าง กว่านั้นบ้าง จึงลาผนวช (ที่ทรงผนวชอยู่จนอุปสมบทเป็นพระภิกษุมีน้อย) เมื่อลาผนวชแล้วต้องออกมาอยู่นอกพระราชวัง แล้วเรียนวิชาเฉพาะอย่างแต่นั้นมา การเรียนเฉพาะวิชาในสมัยนั้นอาศัยไปฝึกหัดอยู่ในสำนักผู้เชี่ยวชาญด้วยยังไม่มีโรงเรียน แต่วิชารัฐประศาสน์และราชประเพณีนั้นเจ้านายได้เปรียบคนจำพวกอื่น เพราะมีตำแหน่งเข้าเฝ้าในท้องพระโรงอันเป็นที่ว่าราชการบ้านเมือง ได้เรียนด้วย ได้ฟังคดีที่เจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลและที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการมาแต่ยังเยาว์วัย ตลอดจนได้คุ้นเคยกับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการบ้านเมืองด้วยเข้าเฝ้าทุก ๆ วันดังกล่าวมา การศึกษาชั้นนี้ตลอดเวลาราวหกปี จนพระชันษาได้ยี่สิบเอ็ดปีถึงเขตอุดมศึกษา ทรงผนวชอีกครั้งหนึ่งเป็นพระภิกษุ ศึกษาพระธรรมวินัยกับทั้งวิชาอาคมชั้นสูง ซักซ้อมให้เชี่ยวชาญ เปรียบเหมือนอย่างเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อลาผนวชก็เป็นสำเร็จการศึกษา สามารถรับราชการได้แต่นั้นไป ส่วนเจ้านายพระองค์หญิงนั้นตั้งแต่โสกันต์แล้วก็ทรงศึกษาวิชาความรู้ชั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ นับแต่การศึกษาศีลธรรมและฝึกหัดวิชาการเรือน และเริ่มเรียนวิชาเฉพาะประเภทอันชอบพระอัธยาศัยสืบเนื่องไป จนอำนวยการต่าง ๆ ในหน้าที่ของขัตติยนารีได้โดยลำพังพระองค์ ข้อที่พระองค์ชายมีโอกาสเรียนราชการเพราะเข้าเฝ้าในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายพระองค์หญิงก็มีโอกาสศึกษาทางฝ่ายใน ได้ความรู้ทั้งราชประเพณีและระเบียบวินัยในสมาคมของกุลนารีจนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับเรียนวิชามรรยาทสำหรับกุลนารีจนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับเรียนวิชามรรยาทสำหรับกุลสตรี เปรียบเหมือนวิทยาลัยอันเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชอบส่งธิดาเข้าไปฝากให้ศึกษาในสำนักเจ้านายและผู้อื่นที่สามารถฝึกสอน คนทั้งหลายจึงชอบชมผู้หญิงชาววังมาแต่โบราณเพราะการที่ได้ศึกษานั้น

ว่าเฉพาะการศึกษาของตัวฉันเอง ได้ทันเรียนชั้นประถมศึกษาตามแบบเก่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ แรกเรียนต่อคุณแสง เสมียน[13] ในเวลานั้น หนังสือเรียนยังไม่มีฉบับพิมพ์ แม่ต้องให้จ้างอาลักษณ์เขียนหนังสือเรียนด้วนเส้นหรดาลลงในสมุดดำ เมื่อได้หนังสือมาแล้ว ถึงวันพฤหัสบดีอันถือกันทั่วไปจนทุกวันนี้ว่าเป็น "วันครู" ควรเริ่มเรียนหนังสือ เวลาเช้าให้บ่าวถือพานรองหนังสือเรียนนั้นนำหน้า พี่เลี้ยงอุ้มตัวฉันเดิมตาม มีบ่าวกลั้นพระกลดคนหนึ่ง บ่าวตามอีกสองสามคน คนหนึ่งถือพานเครื่องบูชามีดอกไม้ธูปเทียน กับดอกเข็ม และดอกมะเขือ กับทั้งหญ้าแพรก (ของเหล่านี้เป็นของอธิษฐานจอให้ปัญญาแหลมเหลือเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครู ยกพานหนังสือเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาหนังสือ แล้วจึงเริ่มเรียน ครูมห้ไม้เหลาเท่าแกนธูปอันหนึ่งสำหรับชี้ตัวหนังสือที่อ่าน สอนให้อ่านคำนมัสการ "นโม พุทฺธาย สิทฺธํ" ก่อน จำได้แล้วจึงอ่านสระและพยัญชนะต่อไป นอกจากวันพฤหัสบดีไม่ต้องมีเครื่องบูชาไปเรียนเวลาตอนเช้าทุกวัน เพราะกลางวันต้องขึ้นเฝ้า ฉันเรียนอยู่กับคุณแสงไม่ช้านัก จะเป็นเพราะเหตุใดลืมเสียแล้ว ต่อมาย้ายไปเรียนต่อคุณปาน ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ถึงตอนนี้เริ่มใช้หนังสือพิมพ์ คือ ปฐม ก กา ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ยังใช้วิธีสอนอยู่อย่างเดิม หัดอ่านสระ พยัญชนะ และอ่านตัวอักษรประสมกันไปจนจบแม่เกย แล้วหัดอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ เช่น บทละครเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ เป็นต้น เรียนถึงชั้นนี้เรียกว่า "ขึ้นสมุด" เพราะใช้สมุดหนังสือเรื่องต่าง ๆ เป็นหนังสือเรียน อ่านเรื่องต่าง ๆ ไปจนสามารถอ่านหนังสือไทยได้แตกฉาน แต่ส่วนหัดเขียนหนังสือไม่สู้กวดขันนัก เลขไม่ได้สอนทีเดียว เพราะในสมัยนั้นยังถือกันว่า เป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งต้องมีครูสอนต่างหาก ในเวลาเมื่อฉันกำลังเรียนหนังสือนั้น ประจวบกับที่หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือสามก๊กสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อมาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอพระองค์ละฉบับสี่เล่มสมุดฝรั่ง ตั้งแต่นั้นฉันก็อ่านหนังสือสามก๊กเป็นหนังสือเรียน เลยชอบอ่านหนังสือเป็นนิสัยติดตัวมาจนบัดนี้

เรื่องขึ้นเฝ้านั้น ตั้งแต่ออกจากผ้าอ้อมแม่ก็พาขึ้นเฝ้าดังกล่าวมาแล้ว แต่ขึ้นไปเฝ้าเป็นบางวัน และเฝ้าอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ประเดี๋ยวก็พากลับ ต่อมาเมื่ออายุย่างเข้าสี่ขวบจึงขึ้นเฝ้าทุกวันเป็นนิจ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (นอกจากกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส กับกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) ล้วน "เกิดในเศวตฉัตร" คือ ประสูติเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้ว ยังอยู่ในปฐมวัยด้วยกันทั้งนั้น แต่เป็นชั้นต่างกันตามพระชนมายุ ที่ประสูติแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ลงมาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เป็นชั้นใหญ่ ที่ประสูติแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ ลงมาจนปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ เป็นชั้นกลาง ที่ประสูติแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นชั้นเล็ก เวลาที่พระเจ้าลูกเธอขึ้นเฝ้านั้นต่างกันตามชั้น คือ ขึ้นเฝ้าพร้อมกันทุกชั้นเมื่อเวลาเสวยกลางวัน แต่เวลาเสด็จลงทรงบาตรตอนเช้าหรือเวลาเสด็จออกข้างหน้าตอนบ่าย ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลาง เวลาเสด็จออกทรงธรรมและออกขุนนางกลางคืน ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่ และยังมีพระเจ้าลูกเธอบางพระองค์ซึ่งทรงเลือกสรรสำหรับทรงใช้สอยเป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์ มีแต่ในชั้นใหญ่ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงสมรรัตนฯ เป็นต้น พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลางอาจไปตามเสด็จได้โดยลำพังพระองค์ แต่ชั้นเล็กยังต้องมีผู้ใหญ่ควบคุมจึงมิใคร่ได้ตามเสด็จ ตัวฉันอยู่ในชั้นเล็ก เมื่อตอนแรกขึ้นเฝ้า แม่เป็นผู้ดูแล แต่ต่อมา เจ้าพี่โสมาวดี (คือ กรมหลวงสมรรัตนฯ) กับเจ้าพี่สีนากสวาสดิ์ (ทั้งสองพระองค์เป็นพระธิดาเจ้าจอมมารดาเที่ยงซึ่งเป็นพี่ของแม่) ท่านเป็นชั้นใหญ่ ทรงรับดูแลพาตามเสด็จออกไปข้างหน้าในตอนบ่าย ฉันจึงได้ออกไปกับเหล่าเจ้าพี่ที่เป็นชั้นกลางมาแต่ยังเล็ก เห็นจะเป็นด้วยทูลกระหม่อมทรงสังเกตเห็นว่า ฉันไม่ตระหนี่ตัว กล้าออกไปข้างหน้าแต่เล็กนั้นเอง จึงลองทรงใช้สอยและโปรดให้ตามเสด็จตั้งแต่อายุยังไม่ถึงห้าขวบ

การที่ทูลกระหม่อมทรงลองใช้สอยเมื่อยังเล็กนั้นจำใส่ใจไว้บางเรื่อง มาคิดดูในเวลานี้เป็นเรื่องที่ตัวฉันควรจะอวดก็มี ที่ควรจะละอายก็มี จะเล่าทั้งสองอย่าง เรื่องหนึ่งดูเหมือนเมื่ออายุฉันได้สักห้าขวบ วันหนึ่งเวลาเสวยกลางวัน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสร ทูลกระหม่อมตรัสสั่งให้ฉันไปหยิบตลับหยกในพานเครื่องพระสำอางมาถวายเจ้าพี่ มีกรมหลวงสมรรัตนฯ เป็นต้น ท่านตรัสบอกเมื่อภายหลังว่า ท่านพากันทรงพระวิตก เพราะพานเครื่องพระสำอางนั้นตั้งอยู่บนพระแท่นลดข้างพระแท่นที่บรรทมบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญซึ่งฉันยังไม่เคยไปถึง เกรงจะไปเซอะ แต่ส่วนตัวฉันเองในเวลานั้นไม่รู้สึกวิตกว่าจะหยิบผิด ไปมัวแต่กลัวผีเป็นกำลัง ด้วยต้องขึ้นบันไดเข้าไปในพระที่นั่งภาณุมาศฯ เวลาไม่มีใครอยู่ในนั้น แข็งใจเดินดูไปจนเห็นเครื่องหยกในพานพระสำอาง ก็ปีนขึ้นบนพระแท่นไปหยิบเอาตลับหยกลงมาถวายได้ถูกดังพระราชประสงค์ ทูลกระหม่อมตรัสชมว่าฉลาด วันนั้นเฝ้าอยู่พร้อมกันมาก ดูเหมือนฉันจะได้ "ยี่ห้อ" ดีแต่นั้นมา เรื่องตลับหยกที่กล่าวนี้ยังประหลาด ด้วยเมื่อเวลาล่วงมากว่าหกสิบปีเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา มีหน้าที่จัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ฉันตรวจดูของพิพิธภัณฑ์เดิม พบเครื่องหยกอยู่ในกำปั่น ฉันนึกขึ้นว่า เหมือนเครื่องพระสำอางของทูลกระหม่อม ให้สอบบัญชีได้ความว่า เดิมมีพานทองรอง เป็นของส่งออกมาจากข้างในแต่เมื่อแรกตั้งพิพิธภัณฑสถาน (ณ ศาลาสหทัยสมาคม) ที่ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพิพิธภัณฑสถานย้ายไปอยู่ในพระราชวังบวรฯ มีผู้ร้ายลักพานทองที่รองไปเสีย เหลืออยู่แต่เครื่องหยก จึงเอาเก็บรักษาไว้ในกำปั่น ฉันยืมตลับหยกใบที่นึกว่าเคยหยิบลงมาถวายทูลกระหม่อมเอาไปถวายกรมหลวงสมรรัตนฯ ทอดพระเนตร ท่านทรงจำได้ว่า เป็นใบนั้นเอง ฉันจึงให้ส่งเครื่องพระสำอางหยกคืนไปยังกระทรวงวังทั้งสำรับเพื่อจะได้เอาไปรักษาไว้กับเครื่องราชูปโภคของเก่า อีกเรื่องหนึ่ง ต่อมาวันหนึ่ง เวลาเสวยกลางวันเหมือนอย่างเรื่องก่อน ทูลกระหม่อมตรัสใช้ให้ฉันออกไปดูที่ห้องอาลักษณ์ว่า "ตาฟัก" คือ พระศรีสุนทรโวหาร ราชเลขานุการ อยู่หรือไม่ ด้วยวันนั้นมีกิจจะทรงพระอักษรนอกเวลาที่เคยทรง พระศรีสุนทรโวหารเป็นผู้สำหรับเขียนพระราชนิพนธ์ตามรับสั่ง ฉันกลับเข้ามากราบทูลว่า "ตาฟังอยู่ที่ห้องอาลักษณ์" ครั้นเสวยแล้วดำรัสสั่งให้ผู้อื่นไปเรียกพระศรีสุนทรโวหาร เขากลับเข้ามากราบทูลว่า กลับบ้านไปเสียแล้ว ทูลกระหม่อมตรัสฟ้องคุณป้าเที่ยงว่า ฉันเหลวไหล ใช้สอยไม่ได้เรื่อง คุณป้าเที่ยงเตรียมจะลงโทษ เรียกคุณเถ้าแก่ที่ได้ไปกับฉันมาถามว่า ฉันไปเที่ยวแวะเวียนเสียทีไหน คุณเถ้าแก่เบิกความยืนยันว่า ได้ไปกับฉันจนถึงห้องอาลักษณ์ และได้ยินฉันบอกกับพระศรีสุนทรโวหารว่า ทูลกระหม่อมมีรับสั่งใช้ให้ฉันไปดูว่าแกอยู่หรือไม่ ความจริงก็ปรากฏว่า เป็นด้วยพระศรีสุนทรโวหารแกไม่เชื่อคำของฉัน พอเห็นพ้นเวลาเคยทรงพระอักษรแล้วกลับไปบ้านเสีย เมื่อได้ความดังนี้ก็รอดตัว ถ้าหากไม่มีคุณเถ้าแก่เป็นพยานวันนั้น เห็นจะถูกตีไม่น้อย อีกเรื่องหนึ่ง จะเล่ารู้สึกละอายอยู่บ้าง คือ มีใครส่งขวดหมึกอันเป็นของคิดขึ้นใหม่มาถวายทูลกระหม่อมจากต่างประเทศใบหนึ่ง ขวดหมึกนั้นทำเป็นรูปหอยโข่งพลิกตัวได้บนที่ตั้ง เวลาไม่ใช้ก็พลิกปากหอยเข้าไปเสียข้างหลัง เป็นอันปิดรักษาหมึกไว้เองไม่ต้องมีฝาขวด ถ้าจะใช้หมึก พลิกหอยให้ปากออกมาข้างหน้า หมึกก็มาอยู่ที่ปากหอยนั้น ไม่ต้องจุ้มปากกาลงไปลึก ทูลกระหม่อมโปรดขวดหมึกนี้ตั้งไว้บนโต๊ะทรงพระอักษร วันหนึ่ง เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาบ่าย จะโปรดให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูขวดหมึกนั้น มีรับสั่งให้ฉันกลับเข้ามายกออกไปถวาย ฝ่ายตัวฉันไม่รู้กลไกของขวดหมึก พอยกขึ้น ตัวหอยก็พลิกกลับออกมา หมึกหกราดถาดที่รองนองไปทั้งนั้น ฉันตกใจราวกับจะสิ้นชีวิต ด้วยรู้ว่า คงถูกทูลกระหม่อมกริ้ว แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ก็ยกขวดหมึกเดินต่อไป ยังไม่ทันออกข้างหน้า พบเจ้าที่ทองแถมถวัลยวงศ์ (คือ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ) วิ่งกระหืดกระหอบมา ดูเหมือนจะกำลังตกพระทัย ด้วยเสด็จขึ้นไปช้า ไม่ทันตามเสด็จออก ตรัสถามฉันว่า ทูลกระหม่อมเสด็จอยู่ที่ไหน ฉันบอกว่า ประทับอยู่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเลยส่งขวดหมึกวานให้ท่านเอาไปถวาย เจ้าพี่ทองแถมก็รับเอาไปด้วยความยินดี ไปถูกกริ้วงอมทีเดียว ส่วนตัวฉันเองพอขวดหมึกพ้นมือไปก็รับกลับมาเรือนเลยรอดตัว เรื่องขวดหมึกนี้เลยเป็นเรื่องสำหรับเจ้านายพี่น้องล้อเจ้าพี่ทองแถมกับตัวฉันต่อมาอีกช้านาน

เรื่องตามเสด็จทูลกระหม่อมนั้น แต่พอฉันขึ้นเฝ้าได้เสมอ ในไม่ช้าก็ได้ตามเสด็จออกข้างหน้า เพราะเจ้าพี่โสมกับเจ้าพี่สีนากท่านคอยประคับประคองดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเสด็จทรงพระราชดำเนินไปใกล้ ๆ เจ้าพี่ท่านจูงไป ถ้าทรงพระราชดำเนินไปทางห่างไกล เช่น เสด็จไปวัดราชประดิษฐฯ เป็นต้น มหาดเล็กเขาก็อุ้มไป พวกมหาดเล็กที่เคยอุ้มฉันมาได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ มีหลายคน ควรกล่าวถึงโดยเฉพาะ คือ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เพราะได้มาอยู่ในกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเมื่อฉันเป็นเสนาบดี และตัวท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ท่านยังลำเลิกว่า เคยอุ้มฉันมาแต่เล็ก ถ้าเสด็จไปด้วย มีกระบวนแห่ มักทรงพระราชยาน[14] แต่แรกฉันขึ้นวอพระที่นั่งรองตามเสด็จ ครั้นต่อมา เมื่อพระเจ้าลูกเธอที่เคยขึ้นพระราชยานรุ่นก่อนทรงพระเจริญพระองค์หนักเกินขนาด โปรดให้เปลี่ยนชุดใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันขึ้นพระราชยานตั้งแต่อายุได้ห้าขวบมาจนสิ้นรัชกาล พระเจ้าลูกเธอที่ได้ขึ้นพระราชยานเป็นชุดเดียวกันรวมสี่พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ กับสมเด็จพระพันวัสสาฯ สองพระองค์นี้ประทับบนพระเพลา หรือถ้าไปทางไกลก็ประทับข้างซอกพระขนอง กรมพระสมมตอมรพันธุ์กับตัวฉันนั่งเคียงกันข้างหน้าที่ประทับ เรื่องขึ้นพระราชยานฉันจำได้ไม่ลืม เพราะเคยตกพระราชยานครั้งหนึ่งเมื่อไปตามเสด็จงานฉลองวัดหงส์ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ขากลับเสด็จขึ้นพระราชยานที่ท่าราชวรดิฐ เห็นจะเป็นด้วยฉันง่วง นั่งหลับมาในพระราชยาน เมื่อผ่านประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางด้านตะวันออก พอคนหามพระราชยานลงบันได ข้างหน้าพระราชยานต่ำลง ฉันก็พลัดตกลงมา จมื่นจง [(โต) ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระยาบำเรอภักดิ์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาวิเศษสัจธาดาในรัชกาลที่ ๕] อุ้มส่งขึ้นไปนั่งอย่างเดิม ไม่ได้เจ็บปวดชอกช้ำอันใด แต่เมื่อทูลกระหม่อมมาตรัสเล่าที่ข้างใน แม่ตกใจกลัวจะเกิดอัปมงคลถึงให้ทำขวัญกันเอะอะ เรื่องตกพระราชยานนี้ชอบกล เจ้าพี่ท่านได้ขึ้นพระราชยานมาก่อนบางพระองค์ก็เคยตก ใครตกก็เป็นจำได้ไม่ลืม เพราะนาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง แต่ประหลาดที่มามีเหตุเช่นนั้นแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ในรัชกาลที่ ๕ ครั้งตามเสด็จไปวัดกลาง เมืองสมุทรปราการ เวลานั้น ฉันยังเป็นราชองครักษ์เดินแซงไปข้างพระราชยาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นพระราชยานแต่พระองค์เดียว ประทับพระยี่ภู่ข้างหน้าที่ประทับ เมื่อกระบวนแห่เสด็จถึงวัดจะไปที่หน้าพระอุโบสถ แต่พอผ่านศาลาโรงธรรมที่พวกพ่อค้าตั้งแถวคอยเฝ้า มีผู้ชูฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ดำรัสสั่งให้หยุดพระราชยานเพื่อจะทรงรับฎีกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเห็นจะกำลังเผลอพระองค์ พอพระราชยานหยุดชะงักก็พลัดตกลงไปข้างหน้า เป็นครั้งหลังที่สุดที่เจ้านายตกพระราชยาน การเสด็จประพาสของทูลกระหม่อมนั้นบางวันทรงรถในเวลาบ่าย รถพระที่ที่ทรงในสมัยนั้นเป็นรถสองล้อมีประทุนอย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า buggy เทียมม้าเดี่ยว บางวันโปรดให้ฉันตามเสด็จขึ้นรถพระที่นั่ง เจ้าพี่ชั้นใหญ่ท่านนั่งสองข้างพระองค์ ฉันนั่งตรงที่ห้อยพระบาท ต้อมก้มหัวหลีกสายบังเหียนซึ่งทรงขับม้าอยู่เสมอ ในสมัยนั้น เริ่มมีเรือไฟชื่อ "เจ้าพระยา" เดินเมล์และรับส่งสินค้าในกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์ สิบห้าวันมาถึงกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง วันใดเรือเมล์มาถึง ทูลกระหม่อมก็ติดพระราชธุระทรงหนังสือซึ่งใคร ๆ มีมาถวายจากต่างประเทศ และทรงเขียนลายพระราชหัตถเลขาตอบหรือที่จะมีไปถึงต่างประเทศ ราวสามวันจึงเสร็จพระราชธุระ ในระหว่างสามวันนั้นมักไม่เสด็จประพาสและไม่โปรดให้ใครรบกวน จนพวกข้าเฝ้าทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเข้าใจกัน พอได้ยินว่า เรือเจ้าพระยามาถึงก็ระวังไม่ให้มีอันใดกวนพระราชหฤทัย ในพวกเด็ก ๆ เช่นตัวฉันแม้ถูกห้ามมิให้เข้าไปใกล้ที่ทรงพระอักษร แต่เมื่อรู้ว่า เรือเจ้าพระยาเข้ามาถึง ก็พากันยินดี ด้วยมักมีผู้ส่งของเข้ามาถวายทูลกระหม่อม บางทีมีของเล่นแปลก ๆ ได้พระราชทานเนือง ๆ ของประหลาดอย่างหนึ่งนั้น คือ น้ำแข็ง ดูเหมือนจะเพิ่งทำได้ที่เมืองสิงคโปร์ไม่ช้านัก มีผู้ส่งแท่งน้ำแข็งใส่หีบกลบขี้เลื่อยมาถวายเนือง ๆ ได้น้ำแข็งมาเมื่อใดก็มักโปรดให้แจกเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ พวกที่เพิ่งได้เห็นน้ำแข็งชั้นเด็ก ๆ เช่นตัวฉันชอบต่อยออกเป็นก้อนเล็ก ๆ อมเล่นเย็นเฉียบสนุกดี พวกที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นกันว่า กินน้ำแข็งปวดฟัน และยังมีพวกคนแก่ที่เป็นแต่ได้ยินว่าแจกน้ำแข็งไม่เชื่อว่าน้ำ กระซิบกันว่า "จะปั้นน้ำเป็นตัวอย่างไรได้" ด้วยมีในคำสุภาษิตพระร่วงว่า "อย่าปั้นน้ำเป็นตัว" หมายความว่า ห้ามมิให้ทำอะไรฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวแต่ว่า "ปั้นน้ำเป็นตัว" หมายความติเตียนว่า แกล้งปลูกเท็จให้เป็นจริง เคยได้ยินกันชินหูมาแต่โบราณ โรงทำน้ำแข็งเพิ่งมามีขึ้นในประเทศนี้ต่อเมื่อรัชกาลที่ ๕ นอกจากของที่ส่งมาจาก "เมืองนอก" บางทีทูลกระหม่อมเสด็จประพาสเวลาบ่ายไปแวะห้างฝรั่งซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หรือเสด็จแวะตามร้านทรงซื้อของเล่นหรือของกินมาแจกพระเจ้าลูกเธอ เพราะฉะนั้น ในพวกชั้นเล็กถึงจะได้ตามเสด็จหรือไม่ได้ตามก็อยากให้เสด็จประพานด้วยกันทุกพระองค์

ฉันเคยตามเสด็จทูลกระหม่อมไปหัวเมืองหลายครั้ง ครั้งแรก ไปถึงพระนครศรีอยุธยาเมื่อคราวอดนมที่เล่ามาแล้ว ครั้งที่สอง แม่เล่าว่า ได้ตามเสด็จไปในเรือกำปั่นไฟพระที่นั่งจนถึงเขาธรรมามูล เมืองชัยนาท[15] ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ได้ตามเสด็จไปลองเรือไฟ (ดูเหมือนจะเป็นเรืออัคเรศรัตนาสน์ที่เอมปเรอนะโปเลียนที่ ๓ ถวาย) ออกไปถึงปากอ่าว ฉันได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรก จำได้เพราะเห็นปลากระเบนผิดประหลาดติดตา ต่อมา ได้ตามเสด็จไปพระปฐมเจดีย์ เสด็จไปครั้งนั้นทรงเรือกำปั่นไฟจักรข้างขนาดย่อมไปทางคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเพิ่งขุดใหม่ยังเป็นคลองใหญ่ ในคราวนั้น ฉันไปถูกเรียกเป็นพยานให้เบิกความเรื่องเจ้าพี่พระองค์หนึ่งในชั้นเล็กด้วยกันไปหกล้มประชวรฟกช้ำ มีการไต่สวนว่า หกล้มเพราะเหตุใด จึงจำได้ถนัด

ฉันมาได้ความยกย่องเนื่องในการตามเสด็จครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้หกขวบในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ปีนั้น มีการเสด็จออกรับแขกเมืองอย่างเต็มยศ[16] ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาเสด็จออกรับแขกเมืองนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระราชบัลลังก์ตรงกลาง ขุนนางเฝ้าทางด้านหน้า เจ้านายต่างกรมรัชกาลอื่นเฝ้าทางด้านเหนือ พระเจ้าลูกยาเธอชั้นผู้ใหญ่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหัวหน้าเฝ้าทางด้านใต้ ที่โสกันต์แล้วแต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุยอย่างเจ้านายผู้ใหญ่ ที่ยังไม่ได้โสกันต์แต่งพระองค์ทรงเกี้ยวและอาภรณ์ตามแบบพระราชกุมารที่ยังเยาว์วัย ประทับบนเบาะและมีเครื่องยศตั้ง[17] วันนั้น ฉันตามไปส่งเสด็จทูลกระหม่อมถึงหลังพระทวารทางเสด็จออก แล้วเกิดอยากเห็นการออกแขกเมือง จึงลอบออกพระทวารทางด้านใต้ไปแอบเสามองดูอยู่ข้างหลังที่เหล่าเจ้าพี่ท่านประทับ เผอิญทูลกระหม่อมชำเลืองพระเนตรมาเห็น พอเสด็จขึ้นตรัสถามฉันว่า "ลูกดิศอยากออกแขกเมืองกับเขาบ้างหรือ" ฉันกราบทูลว่า "อยาก" ทูลกระหม่อมมาตรัสเล่าให้คุณป้าเที่ยงฟังแล้วดำรัสสั่งว่า ถ้าเสด็จออกแขกเมืองคราวหน้า ให้ฉันไปนั่งข้างท้ายแถวเจ้าพี่ แต่พานทองเครื่องยศที่ใช้กันนั้นโตเกินตัวฉันนัก ให้คุณป้าเที่ยงหยิบพานทองขนาดย่อมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ซึ่งอยู่ในที่มาเป็นพานเครื่องยศไปตั้งสำหรับตัวฉัน แต่เผอิญในเวลานั้นจวนสิ้นรัชกาลอยู่แล้ว ไม่มีแขกเมืองต่างประเทศเฝ้าอีกในกรุงเทพฯ ฉันก็เลยไม่ได้ออกแขกเมือง ถึงกระนั้น ก็ได้พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มขึ้นถึงชั้นสูงในปีนั้น

ตั้งแต่อายุย่างเข้าหกขวบ ฉันเข้าออกนอกในได้โดยลำพังไม่ต้องมีใครควบคุม แม่ก็ไม่ห้าม เห็นจะเป็นด้วยท่านใคร่จะให้กล้า แต่เมื่อกลับไปเรือนต้องไปเล่าให้ท่านฟังทุกวันว่า ที่ไหนบ้างฉันชอบออกไปคอยตามเสด็จประพาสในตอนบ่าย เป็นเหตุให้คุ้นเคยกับข้าราชการนอกจากมหาดเล็กออกไปอีกหลายคน บางวัน พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์[18] (เมื่อยังเป็นหม่อมเจ้า) ผู้เป็นอธิบดีกรมม้าและรถพระที่นั่ง ท่านอุ้มเอาขึ้นหัดนั่งหลังม้า บางวันก็เลยไปเที่ยวที่ห้องอาลักษณ์ วันหนึ่ง ไปเห็นอาลักษณ์เขาเขียนหนังสือด้วยปากกาฝรั่ง (คือ ปากกาเหล็กเช่นเราใช้กันเป็นสามัญทุกวันนี้) นึกชอบบอกเขาว่า อยากหัดเขียนบ้าง อาลักษณ์คนนั้นใจอารี ให้ปากกาฝรั่งมีด้ามไม้อันหนึ่ง (ราคาว่าอย่างทุกวันนี้เห็นจะราวสิบสตางค์) ฉันถือเชิดชูกลับมาเรือนด้วยความยินดี พอแม่เห็นก็ขนาบขนานใหญ่ ด้วยท่านสั่งกำชับอยู่เสมอให้รักษาความประพฤติสามข้อ คือ ไม่ให้มักได้ ไม่ให้ตะกลาม และไม่ให้พูดปด ท่านว่า ฉันไม่ควรจะไปขอปากกามาจากอาลักษณ์ แล้วบังคับให้คนคุมตัวฉันเอาปากกาไปคืน ก็เลยไม่ได้หัดเขียนอย่างอาลักษณ์ ถึงหัดก็เห็นจะเหลว มาถึงตอนปีเถาะมีที่ชอบไปขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง ด้วยตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาผนวชจากสามเณรเสด็จมาประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ทางด้านใต้ใกล้กับบริเวณพระอภิเนาว์นิเวศน์ เจ้านายมักเสด็จไปประชุมที่นั่นในเวลาก่อนเข้าเฝ้าหรือเมื่อเฝ้าแล้วมิใคร่ขาด พวกเจ้านายชั้นเล็กเช่นตัวฉันก็มักไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนกลางวันเมื่อเฝ้าทูลกระหม่อมแล้ว ยังจำได้ถนัดว่า เมื่อแรกฉันไปเฝ้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตัดเสื้อสักหลาดสีเขียวเป็นรูปเสื้อแยกเกตอย่างฝรั่งพระราชทานตัวหนึ่ง รู้สึกว่า ได้ของสมัยใหม่ ชอบใจนี่กระไร แต่นั้นก็ไปสวนกุหลาบเสมอ เวลานั้น เจ้าพระยานรรัตนราชมานิตยังเป็นนายเวร (โต) เกิดมีมิตรจิตเอาเป็นธุระประคับประคอง ยังเล่าจนเมื่อเป็นเจ้าพระยาว่า มูลเหตุที่ท่านจะชอบฉันนั้น เพราะฉันจำท่ากุลาตีไม้ได้ (เห็นจะได้เห็นเมื่องานพระเมรุกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส) แล้วไปเต้น "ถัดทา" อวดท่านที่สวนกุหลาบ เรื่องนี้ยังลำเลิกจนในรัชกาลที่ ๖ เมื่อท่านป่วนหนักวันฉันไปเยี่ยมท่านเป็นครั้งที่สุด

ฉันได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมเป็นครั้งที่สุดเมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่ตำบลหว้ากอ แขวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้น อายุพอย่างเข้าเจ็ดขวบ การที่เสด็จไปครั้งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญในพงศาวดาร ด้วยเป็นเหตุให้ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต แต่ข้อนี้ก็มิได้มีใครคาดในเวลานั้น แต่มักพอใจกล่าวกันเมื่อภายหลังด้วยความอาลัยว่า ถ้าไม่เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ ทูลกระหม่อมก็จะยังเสด็จอยู่ต่อมา ชวนให้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องจริงเข้าใจว่า ไม่พอที่จะเสด็จไป เหตุใดทูลกระหม่อมจึงเสด็จไปหว้ากอครั้งนั้น แม้เจ้านายที่เป็นลูกเธอก็มาทราบชัดเจนต่อภายหลังด้วยได้ฟังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ท่านประทานอธิบายให้เข้าพระทัยว่า ตามตำราโหราศาสตร์ของไทยนั้นว่า สุริยอุปราคาไม่เป็นวิสัยที่จะมืดหมดดวงได้เหมือนจันทรอุปราคา พวกโหรเชื่อกันมาอย่างนั้นแต่โบราณ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาโหราศาสตร์เชี่ยวชาญทั้งอย่างไทยและฝรั่งจนถึงวัดแดดวัดดาวได้มาแต่ยังทรงผนวช ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เกิดปัญหาเรื่องสุริยอุปราคาหมดดวง มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงคำนวณว่า จะเห็นสุริยอุปราคาหมดดวงในประเทศสยามเป็นครั้งแรกในปีนั้น ตรัสบอกพวกโหรไม่มีใครเชื่อด้วยผิดตำรา สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ตรัสเล่าในส่วนพระองค์ว่า "ฉันเองก็ไม่เชื่อท่าน แต่หากเกรงพระราชหฤทัย ก็เอออวยไปด้วยเช่นนั้น" แต่สุริยอุปราคาครั้งนั้นดูในกรุงเทพฯ จะไม่เห็นมืดหมดดวง จะเห็นได้แต่ในท้องที่ใกล้เมืองประจวบคีรีขันธ์ อันตำบลหว้ากออยู่ตรงเส้นกลางทางโคจรของสุริยอุปราคา จึงต้องเสด็จไปทอดพระเนตรถึงที่นั้น ทรงชักชวนบรรดาผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ทั้งพระและคฤหัสถ์ให้โดยเสด็จด้วย เล่ากันว่า ทูลกระหม่อมทรงทรมานพระองค์ด้วยการคำนวณสุริยอุปราคาครั้งนั้นมากตั้งแต่ก่อนเสด็จไป ด้วยทรงเกรงว่า จะพลาดพลั้งไม่เห็นมืดหมดดวงหรือไม่ตรงเวลานาทีทรงพยากรณ์ ก็จะละอายพวกโหร เพราะทรงทราบอยู่ว่า ไม่มีผู้ใดเชื่อ การเสด็จไปหว้ากอครั้งนั้นยังมีการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยมีพวกนักปราชญ์ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษขอมาดู เซอร์แฮรีออด[ข] เจ้าเมืองสิงคโปร์ ก็จะมาเฝ้าด้วยกันกับภรรยาเพื่อดูสุริยอุปราคา ณ ตำบลหว้ากอด้วย จึงต้องเตรียมการเสด็จไปครั้งนั้นผิดกับครั้งอื่นแต่หนหลัง ถ้าว่าเฉพาะแต่ที่ตัวฉันจำได้ ตั้งแต่รู้ว่า ทูลกระหม่อมได้ทรงเลือกตัวฉันให้ไปตามเสด็จด้วย ก็ยินดีเหลือล้น เพราะนิสัยชอบเที่ยวดูเหมือนจะมีขึ้นบ้างแล้ว ทั้งครั้งนั้นได้พระราชทานเครื่องแต่งตัวและการ์ดชื่อพิมพ์ใส่ซองเงินสำหรับรับแขกเมืองแปลกกับตามเสด็จคราวก่อน ๆ เมื่อตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งอัครราชวรเดช[19] เห็นจะเป็นเพราะข้างในห้องแน่นกันนัก ตัวฉันกับเจ้าน้องหญิงแขไขดวง (ซึ่งเป็นธิดาคุณป้าเที่ยง) ถูกส่งตัวออกไปนอนกับคุณตาข้างท้ายเรือ ด้วยในเวลานั้น คุณตาเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงมีหน้าที่คุมทหารรักษาพระองค์ไปในเรือพระที่นั่ง เมื่อเรือแล่นออกทะเลไป ทูลกระหม่อมเสด็จไปที่ดาดฟ้าตอนท้ายเรือเยี่ยมพระองค์มา ตรัสถามฉันกับองค์แขว่า เมาคลื่นหรือไม่เมา ต่างกราบทูลว่าไม่เมาทั้งสองคน (พวกผู้ใหญ่เขาว่า ที่แท้นั้นตัวฉันมีอาการเมาคลื่นอยู่บ้าง แต่หากแข็งใจทูลไปว่า ไม่เมา) อย่างไรก็ดี ทราบว่า ในลายพระหัตถเลขาที่พระราชทานมากรุงเทพฯ ทรงติเตียนคนตามเสด็จที่ไปเมาคลื่น ตรัสอ้างว่า แต่เด็ก ๆ เช่นฉันกับองค์แขยังไม่เมา แต่ที่จริงคลื่นก็เห็นจะไม่มีเท่าใดนัก ด้วยเป็นฤดูลมตะวันตกเฉียงใต้พัดออกมาจากฝั่ง ถึงกระนั้น ผู้ที่แพ้คลื่นทะเลในสมัยนั้นยังมีมาก เป็นต้นว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ได้เคยตามเสด็จไปถูกคลื่นครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่เสด็จไปทะเลอีก ตามเสด็จคราวนี้ก็สู้ทรงช้างตั้งแต่เมืองเพชรบุรี เดินบกลงไปจนถึงตำบลหว้ากอ ทูลกระหม่อมเสด็จไปแวะประพาสที่บางแห่งในระยะทาง มีที่แหลมเขาตะเกียบเป็นต้น ฉันจำได้ว่า ตามเสด็จขึ้นบก พวกเด็กชาอุ้มไป ไปพบวัวฝูงของชาวบ้านเขาต้อนมา กลัววัวมันจะชนนี่กระไร ไปถึงภูเขาแห่งหนึ่งมีอ่างหินขังน้ำฝนไว้ในนั้น ทูลกระหม่อมไปประทับที่ริมอ่าง แล้วทรงตักน้ำมาทำน้ำมนต์ประพระเจ้าลูกเธอ ภูเขาที่ว่านี้มิใช่อื่นคือ "เขาลาด" นั้นเอง ทุกวันนี้ก็ยังงามดีเป็นที่เที่ยวแห่งหนึ่งของผู้ที่มาหัวหิน อ่างหินนั้นก็ยังปรากฏอยู่ที่เชิงเขา เสด็จขึ้นบกอีกแห่งหนึ่งที่คุ้งมะนาว (อันเป็นที่ตั้งสาขากรมอากาศยานบัดนี้) อยู่ข้างใต้อ่าวเกาะหลักอันเป็นที่ตั้งเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทูลกระหม่อมทรงม้าพระที่นั่ง ตัวฉันขี่คอเด็กชาตามเสด็จไปจนถึงพลับพลาที่หว้ากอ ระยะทางสักสองร้อยเส้น พลับพลาตั้งต่อชายหาดที่ริมทะเล เขาว่า ที่ตรงนั้นเป็นดงตะเคียน[20] จึงเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้ เมื่อมาคิดดูในชั้นหลังก็ชอบกล ทางโคจรของดวงอาทิตย์ที่จะเห็นสุริยอุปราคามืดหมดดวงได้ในครั้งนั้นคงมีเขตออกไปทั้งข้างเหนือข้างใต้ของเส้นศูนย์กลางที่อยู่ตรงตำบลหว้ากอ[21] ถ้าหากตั้งพลับพลาที่อ่าวมะนาวซึ่งอยู่เหนือหว้ากอขึ้นมาเพียงสองร้อยเส้น ก็จะพ้นที่มีความไข้ และคงเห็นสุริยอุปราคามืดหมดดวงได้เหมือนกัน ก็แต่ในสมัยนั้น ทางชายทะเลปักษ์ใต้ยังมิใคร่มีใครได้ไปเที่ยวเตร่รู้เห็นภูมิลำเนา เพราะทางคมนาคมยังลำบาก จึงเอาแต่คติทางโหราศาสตร์เลือกที่ตั้งพลับพลาที่ตำบลหว้ากอ ความทรงจำในเวลาเมื่ออยู่ที่หว้ากอครั้งนั้นนึกหาเรื่องอะไรที่เป็นแก่นสารไม่ได้ ด้วยเป็นเด็ก จำได้แต่ว่า ชอบวิ่งเล่นกับเจ้านายพี่น้องที่ลานหน้าพลับพลา และจำได้ว่า ได้ไปยืนเข้าแถวรับเซอร์แฮรีออดกับภรรยาเมื่อเข้าไปเฝ้าข้างใน ได้จับมือกับฝรั่งเป็นครั้งแรก และเซอร์แฮรีออดให้รูปฉายาลักษณ์ของตนแผ่นหนึ่ง ยังรักษามาอีกช้านาน ส่วนเรื่องสุริยอุปราคานั้นเกือบไม่ได้เอาใจใส่ทีเดียว จำได้แต่ว่า มีโรงตั้งกล้องส่องที่หน้าพลับพลา กล้องส่องจะเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้[22] พวกฉันได้แจกแต่กระจกสีคล้ำแผ่นเล็ก ๆ สำหรับให้ส่องดูดวงอาทิตย์ และจำได้ว่า เมื่อหมดดวงนั้นมืดถึงแลเห็นดาวในท้องฟ้า แต่ฟังตามที่เล่ากันว่า ทูลกระหม่อมทรงปีติยินดีมากด้วยได้จริงดังทรงคำนวณหมดทุกอย่าง และพวกโหรบรรดาที่ตามเสด็จไป (ซึ่งเชื่อตำราว่า จะหมดดวงไม่ได้นั้น) ก็พากันพิศวงงงงวย นัยว่า ถึงพระยาโหราธิบดี (เถื่อน) เมื่อเป็นหลวงโลกทีป พอเห็นหมดดวงก็ร้อง "พลุบ" ออกไปดัง ๆ โดยลืมว่า อยู่ใกล้ที่ประทัป

เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้สักเจ็ดวัน มีงานสมโภชพระแก้วมรกต ฉันจำได้ว่า ตามเสด็จทูลกระหม่อมไปทอดพระเนตรโขน ณ พระที่นั่งไชยชุมพล ได้เห็นทูลกระหม่อมเป็นครั้งที่สุดในวันนั้น พอกลับมาก็ล้มเจ็บเป็นไข้ป่าด้วยกันทั้งแม่และตัวฉัน แต่เห็นจะไม่เป็นอย่างแรง ถึงกระนั้น ก็ต้องนอนแซ่วอยู่กับเรือนเกือบเดือน ได้รู้แว่ว ๆ ว่า ทูลกระหม่อมประชวร พออาการฟื้นขึ้น ทูลกระหม่อมก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อรู้ข่าวก็พากันตกใจสิ้นสติอารมณ์ แม้แต่จะร้องให้ก็ไม่ออก จนเขาพาขึ้นไปสรงน้ำพระบรมศพจึงได้ร้องไห้ ได้ยินเขาเล่าให้ฟังเมื่อภายหลังว่า ในเวลาเมื่อทูลกระหม่อมประชวรอยู่นั้นตรัสห้ามไม่ให้พระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์เข้าไปให้ทอดพระเนตรเห็น เพื่อจะทรงระงับความอาดูรด้วยห่วงใย ถึงกระนั้น ก็ปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องประชวรว่า ทรงเป็นห่วงพระเจ้าลูกเธอมาก ถึงมีพระราชดำรัสฝากฝัง ปรากฏในจดหมายเหตุดังคัดมาลงต่อไปนี้

"ถึงวันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ เวลาโมงเช้า ดำรัสสั่งให้พระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราชัยที่สมุหนายก เข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสว่า เห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้น ท่านทั้งสามกับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้ กาลจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตรายหรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้งสามจงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด ท่านทั้งสามเมื่อได้ฟังก็พากันร้องไห้สะอื้นอาลัย จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันแต่ที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้ เมื่อกาลมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย"

ข้างฝ่ายพระราชโอรสธิดาทั้งปวงก็รู้สึกกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์จนเติบใหญ่ทุกพระองค์ว่า ในความรักลูกแล้ว จะหาผู้ใดที่รักยิ่งกว่าทูลกระหม่อมเห็นจะไม่มี เพราะฉะนั้น ความรักทูลกระหม่อมจึงตรึงอยู่ในพระหฤทัยด้วยกันทั้งนั้น จะยกตัวอย่างดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมหลวงสมรรัตนฯ ทั้งสองพระองค์นี้ทูลกระหม่อมทรงใช้ชิดติดพระองค์อยู่เป็นนิจ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ ที่ใด ๆ ในห้องที่บรรทมคงมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย เคยมีพระราชดำรัสแก่ฉันว่า "ถ้าขาดไปไม่สบายใจ" ฉันจึงทราบว่า พระองค์ทรงติดทูลกระหม่อมถึงปานนั้น กรมหลวงสมรรัตนฯ ก็เป็นทำนองเดียวกัน เมื่อเสด็จออกไปอยู่ที่วังวรดิศก็มีพระบรมรูปทูลกระหม่อมไว้กับพระองค์เสมอ ทูลถามเรื่องแต่ก่อนมา ถ้าเป็นเรื่องเนื่องด้วยทูลกระหม่อมแล้ว ทรงจำได้แม่นยำกว่าเรื่องเดิม เคยมีผู้ถามฉันว่า จำทูลกระหม่อมได้หรือไม่ ข้อนี้ตอบยากอยู่สักหน่อย เพราะพระบรมรูปทูลกระหม่อมมีมาก ได้เห็นจนชินตา แต่ฉันนึกว่าจำได้ ด้วยเมื่อเสด็จสวรรคต อายุของฉันเข้าเจ็ดขวบแล้ว ทั้งได้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้พระองค์อยู่ถึงสามปี เป็นแต่ไม่ได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณทูลกระหม่อมเมื่อยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่มากเหมือนอย่างเจ้าพี่ที่ท่านเป็นชั้นใหญ่

เมื่อเขียนถึงตรงนี้ นึกถึงคำราชทูตฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเอาใจใส่ศึกษาพงศาวดารประเทศทางตะวันออกนี้เคยแสดงความเห็นแก่ฉันว่า สังเกตตามเรื่องที่ฝรั่งมาทำหนังสือสัญญาเมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น เมืองไทยใกล้จะเป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าหากไม่ได้อาศัยพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไข ประเทศสยามก็อาจจะไม่เป็นอิสระสืบมาได้ คำที่เขาว่านี้พิเคราะห์ในพงศาวดารก็สมจริง ในชั้นนั้นมีประเทศที่เป็นอิสระอยู่ทางตะวันออกนี้ห้าประเทศด้วยกัน คือ พม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น นอกจากเมืองไทยแล้วต้องยอมทำหนังสือสัญญาด้วยถูกฝรั่งเอากำลังบังคับทั้งนั้น ที่เป็นประเทศเล็กเช่นพม่าและญวนก็เลยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเมื่อปลายมือ แม้ที่เป็นประเทศใหญ่หลวงเช่นเมืองจีนก็จลาจลและลำบากยากเข็ญสืบมาจนทุกวันนี้ กลับเอาตัวรอดได้แต่ประเทศญี่ปุ่นเพราะเขามีคนดีมากและมีทุนมากด้วย ถึงกระนั้น ก็ต้องรบราฆ่าฟันกันเองแล้วจึงตั้งตัวได้ มีประเทศสยามประเทศเดียวที่ได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งโดยฐานเป็นมิตรและบ้านเมืองมิได้เกิดจลาจลเพราะทำหนังสือสัญญา แต่น่าอนาถใจอยู่ที่ทุกวันนี้ผู้รู้พระคุณของทูลกระหม่อมมีตัวน้อยลงทุกที ถึงมีเสียงคนชั้นสมัยใหม่ (แต่มีน้อยคน) กล่าวว่า หนังสือสัญญาที่ทำเมื่อรัชกาลที่ ๔ เสียเปรียบฝรั่ง เพราะไทยในสมัยนั้นไม่รู้เท่าถึงการ เมื่อคิดต่อไปในข้อนี้ดูเป็นโอกาสที่ฉันจะสนองพระเดชพระคุณทูลกระหม่อมได้อีกบ้างเมื่อแก่ชรา ด้วยแถลงความจริงให้ปรากฏ เพราะเมื่อฉันเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครและเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาต่อมา ได้อ่านหนังสือเก่าทั้งที่รวบรวมฉบับได้ในประเทศนี้และที่ได้มาจากต่างประเทศ พบอธิบายเรื่องเนื่องในพระราชประวัติของทูลกระหม่อมซึ่งยังมิใคร่มีใครทราบหรือทราบแต่เรื่องไม่รู้ถึงต้นเหตุมีมาก ฉันจึงพยายามแต่งเรื่องพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยอาศัยหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กับเทศนาพระราชประวัติซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ เป็นโครงเรื่องแถลงพลความตามอธิบายที่ฉันได้มาทราบเมื่อภายหลัง ไว้ในตอนที่ ๒ และที่ ๓ ของหนังสือนี้

  1. จันทรคติกาล เดือนเจ็ด แรมเก้าค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับคริสต์ศักราช ๑๘๖๒
  2. พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓ เรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อมแก้ว" มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเรียกแต่ว่า "ทูลกระหม่อม" แต่เรียกกันโดยคล่องพระโอษฐ์ว่า "ทูลหม่อม" ทุกพระองค์ ประหลาดอยู่ที่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อม" เห็นจะเรียกตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พ่อป่า" (อันมาจากคำ papa ภาษาฝรั่ง) อย่างเคยเรียกแต่เมื่อยังเป็นกรม
  3. ประเพณีสมโภช ถ้ามิใช่พระราชกุมาร เรียกว่า "ทำขวัญ" การทำขวัญสามวันทำแต่เป็นสังเขป คงเป็นเพราะยังไม่มั่นใจว่า ทารกนั้นจะเป็น "ลูกผีหรือลูกคน" คือ จะรอดอยู่ได้หรือไม่รอด เมื่ออยู่ได้ถึงเดือนก็เป็นอันมั่นใจว่ารอด จึงทำขวัญด้วยการพิธีเป็นหลักฐานเหมือนอย่างว่า รับเข้าทะเบียนเป็นสมาชิกในวงศ์สกุล
  4. มีชื่อปรากฏอยู่ในคำปรึกษาปูนบำเหน็จในรัชกาลที่ ๑ และในหนังสือพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  5. พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓ เรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อมแก้ว" มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเรียกแต่ว่า "ทูลกระหม่อม" แต่เรียกกันโดยคล่องพระโอษฐ์ว่า "ทูลหม่อม" ทุกพระองค์ ประหลาดอยู่ที่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อม" เห็นจะเรียกตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พ่อป่า" (อันมาจากคำ papa ภาษาฝรั่ง) อย่างเคยเรียกแต่เมื่อยังเป็นกรม
  6. ในรัชกาลที่ ๕ ก็พระราชทานนามพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ตามนาม "เพ็ญ" ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงผู้เป็นคุณตา
  7. อักษรอริยกะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริประดิษฐ์ขึ้นแต่เมื่อยังทรงผนวชสำหรับให้เขียนภาษามครธสะดวก มีทั้งอักษรเหลี่ยม (อย่างตัวโรมัน) สำหรับพิมพ์ และอักษรกลม (อย่างอิตะลิค) สำหรับเขียน
  8. ประทานฉบับไว้ที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร ราชบัณฑิตยสภาได้พิมพ์แล้ว
  9. มีจดหมายเหตุในหนังสือประดิทิน "บางกอกคาเลนดาร์" ของหมอบรัดเลว่า เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ฝรั่งเข้ามาซื้อข้าวไปขายเมืองจีนมาก ราคาข้าวสารแพงถึงเกวียนละหนึ่งร้อยยี่สิบและหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาท ราษฎรเดือดร้อน จนถึงรัฐบาลต้องประกาศห้ามไม่ให้เอาข้าวออกจากเมืองอยู่เจ็ดเดือน
  10. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ มีเงินสดอยู่เพียงสองพันสี่ร้อยห้าสิบบาทเท่านั้น
  11. ในสมัยนั้นยังไม่ใช้วิธีเลี้ยงเด็กด้วยนมโค เจ้านายมีนางนมเลี้ยง ตัวฉันเคยมีแม่นมเลี้ยงต่อกันมาถึงสามคน
  12. พระอภิเนาว์นิเวศน์รวมพระที่นั่งหลายองค์สร้างขึ้นในบริเวณสวนขวาที่เรียกว่าสวนศิวาลัยบัดนี้ แต่มาชำรุดทรุดโทรมต้องรื้อเสียใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๕
  13. ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้เด็กผู้หญิงลูกผู้ดีที่ไปอยู่ในวังเรียนอ่านและหัดเขียนหนังสือไทยและหนังสือขอม ให้อาลักษณ์สอนที่ตำหนักแพ ผู้ที่เรียนสำเร็จได้รับราชการเป็นเสมียน อยู่มาได้เป็นครูสอนหนังสือเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์หลายคน
  14. ประเพณีเสด็จทรงพระราชยานมาเลิกเมื่อเปลี่ยนเป็นใช้รถในรัชกาลที่ ๕ ตัวอย่างพระราชยานมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
  15. ในจดหมายเหตุบางกอกคาเลนดาร์ของหมอบรัดเลว่า เสด็จไปเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
  16. ในจดหมายเหตุบางกอกคาเลนดาร์ของหมอบรัดเลว่า เป็นแขกเมืองโปรตุเกส เป็นเจ้าเมืองมาเกา ชื่อ ดองโยเส ฮอร์ตา[ก]
  17. การเสด็จออกรับแขกเมืองเต็มยศในพระที่นั่งอนันตสมาคมมีรูปเขียนเสด็จออกรับแขกเมืองฝรั่งเศสติดอยู่ในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  18. บิดาเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)
  19. เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม รวมเวลาที่เสด็จไปครั้งนั้นสิบหกวัน
  20. เมื่อฉันว่าการมหาดไทย ได้ให้ไปตรวจว่า จะมีสิ่งสำคัญอันใดเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ได้รับรายงานว่า มีฐานก่ออิฐถือปูน (เห็นจะเป็นที่ตั้งกล้องส่องเหลืออยู่แห่งหนึ่ง ฉันได้สั่งให้รักษาไว้)
  21. เช่น สุริยอุปราคาคราว พ.ศ. ๒๔๗๖ เส้นศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลหัวหิน แต่อาจจะเห็นหมดดวงได้ตั้งแต่เขาทโมน แขวงจังหวัดเพชรบุรี ลงไปจนถึงเมืองประจวบคีรีขันธ์
  22. เพิ่งมาเห็นกล่องส่องนั้นตระหนักที่วังไกลกังวลเมื่อเอาไปตั้งถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรสุริยอุปราคาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้วยตรัสบอกว่า "กล้องของทูลกระหม่อมปู่"