ความทรงจำ/๑๘๒

จาก วิกิซอร์ซ
ตอนที่ ๕
เรื่องเสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก




การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศถึงเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษ และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารังของฮอลันดา ที่เรียกกันภายหลังแต่โดยย่อว่า เสด็จไปสิงคโปร์ เมื่อปลาย ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๑๓ นั้น มูลเหตุมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จำเดิมแต่ทำหนังสือสัญญาเปิดบ้านเมืองให้ฝรั่งมาค้าขาย มีกงสุลและพวกฝรั่งต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะทะนุบำรุงพระนครมิให้พวกฝรั่งดูหมิ่น จึงให้เริ่มจัดการต่าง ๆ คือ ให้สร้างถนน (เจริญกรุง) สำหรับให้ใช้รถเป็นต้นได้โปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูลักษณะการที่อังกฤษ บำรุงเมืองสิงคโปร์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยเมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้ไปมาได้สะดวกกว่าที่อื่น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภจะเสด็จไปเองให้ถึงเมืองสิงคโปร์ ชะรอยจะใคร่ทรงสืบสวนถึงวิธีฝรั่งปกครองบ้านเมืองด้วย แต่รอหาโอกาสไปจนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อเสด็จลงไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอครั้งนั้น เซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์กับภรรยาขึ้นมาเฝ้า เพื่อจะมาดูสุริยอุปราคาหมดดวงด้วย เซอร์แฮรีออดทูลเชิยเสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์ จึงตรัสรับว่าจะเสด็จไปเยี่ยมตอบ แล้วทรงปรึกษาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ๆ ก็เห็นชอบด้วย แต่กราบบังคมทูลขอให้มีเวลาตระเตรียมก่อน (สันนิษฐานว่าคงกำหนดว่าจะเสด็จไปเมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนมีนาคมปีมะโรงนั้น) แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาจากหว้ากอ ก็มาประชวรเสด็จสู่สวรรคตเสีย การที่จะเสด็จไปสิงคโปร์จึงเป็นอันค้างอยู่ (ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฉันฟัง) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แรกได้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พวกกงสุลต่างประเทศมี มิสเตอร์น๊อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษ เป็นต้น ถามท่านว่าจะคิดอ่านให้พระเจ้าแผ่นดินทรงศึกษาวิธีปกครองบ้านเมืองด้วยประการใด ท่าน (ระลึกถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังค้างอยู่) ตอบว่าคิดจะให้เสด็จไปทอดพระเนตรวิธีปกครองบ้านเมืองของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย พวกกงสุลก็พากันซ้องสาธุการและรับจะบอกไปถึงรัฐบาลของตน ให้รับเสด็จให้สมพระเกียรติยศ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบว่าจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศก็ทรงยินดีเต็มพระราชหฤทัย ครั้นได้รับเชิญของรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลฮอลันดาก็ลงมือเตรียมการตั้งแต่ต้นปีมะเมียมา

ครั้งนั้นมีการที่ต้องแก้ไขขนบธรรมเนียมเดิมให้สะดวกแก่ที่เสด็จไปต่างประเทศหลายอย่าง เป็นต้นว่า

(๑) เรือพระที่นั่งที่จะเสด็จไป จะใช้เรือพระที่นั่งอัครราชวรเดชซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรง ก็ไม่ไว้ใจ ด้วยทางที่จะเสด็จไปต้องผ่านทะเลใหญ่ เผอิญในเวลานั้นซื้อเรือรบอย่างคอเวตต่อด้วยเหล็กมาจากสก๊อตแลนด์เพิ่งมาถึงใหม่ลำ ๑ ขนานนามว่าเรือพิทยัมรณยุทธ จึงจัดเรือลำนั้นให้เป็นเรือพระที่นั่งทรง ให้มีเรือรบซึ่งต่อในกรุงเทพฯ เป็นเรือตามเสด็จลำ ๑ เป็นเรือล่วงหน้าลำ ๑ รวมเป็นเรือกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน

(๒) ราชบริพารที่ตามเสด็จ ซึ่งประเพณีเดิมเวลาเสด็จไปไหนในพระราชอาณาเขต ต้องมีพนักงานต่างๆ ตามเสด็จด้วยมากมาย ก็ให้ลดจำนวนลงคงแต่ ๒๗ คนทั้งเจ้านายที่โปรดฯ ให้ไปตามเสด็จด้วย คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างสงศ์ (สมเด็จพระราชปิตุลาฯ) พระองค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ (กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) เป็นนายร้อยทหารมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรดฯ ให้เป็นราชองครักษ์พระองค์ ๑ ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จครั้งนั้นมีเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกศาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ได้บังคับทหารมหาดเล็กอยู่แล้วโปรดฯ ให้เป็นราชองครักษ์ ๑ สมัยนั้นเครื่องแต่งตัวที่ใช้ในราชสำนักยังไม่ใช้ถุงเท้ารองเท้า และยังเสื้อแพรหรือเสื้อกระบอกผ้าขาวเข้าเฝ้าจึงต้องคิดแบบเครื่องแต่งตัว สำหรับบรรดาผู้ที่จะตามเสด็จเข้าสมาคมและพิธีต่าง ๆ ให้ใส่ถุงเท้ารองเท้า และแต่งเครื่องแบบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีเครื่อบแบบทั้งเต็มยศและเวลาปกติ ฝ่ายพลเรือนมีเครื่องแบบแต่เต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีหรมท่าปักทองที่คอและข้อมือ เวลาปกติใช้เสื้อคอเปิดผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่เครื่องแบบครั้งนั้นใช้นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ไม่นุ่งกางเกงทั้งทหารและพลเรือน ผ้าม่วงสีกรมท่าจึงใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงานแต่ครั้งนั้นสืบมา

เนื่องแต่จัดระเบียบการแต่งตัว เมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์คราวปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีทั่วทั้งประเทศสยามอย่าง ๑ ซึ่งควรจะกล่าวไว้ด้วย ในสมัยนั้นไทยยังไว้ผมตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา เด็กไว้ผมจุกเหมือนกันทั้งชายหญิง ผู้ใหญ่ชายไว้ผมมหาดไทย คือโกนผมรอบศีรษะไว้ผมยาวสัก ๔ เซ็นต์ บนกลางกบาลหัวแล้วหวีแต่งเรือนผมนั้นตามเห็นงาม ส่วนผู้หญิงไว้ ผมปีก มีเรือนผมแต่บนกบาลหัวทำนองเดียวกับผู้ชาย รอบหัวเดิมไว้ผมยาวลงมาจนประบ่า ชั้นหลังเปลี่ยนเป็นตัดเกรียนรอบศีรษะ และไว้ผมเป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับเรียกว่า ผมทัด ทั้งสองข้าง ประเพณีที่ไว้ผมเช่นว่ามาไทยเราไว้อย่างเดียวกันทั้งบ้านทั้งเมือง จนเคยตามาหลายร้อยปี ก็เห็นงามตามวิสัยมนุษย์ อันสุดแต่ทำอะไรให้เหมือนกันมากๆ ก็ (เกิดเป็นแฟชั่น) เห็นว่างามตามกันไป เป็นเช่นเดียวกันทุกชาติทุกภาษา ยกตัวอย่างเช่นพวกจีนเดิมไว้ผมมวย ครั้นพวกเม่งจูมาครอบครองบังคับให้ไว้ผมเปีย นานเข้าก็นิยมว่าผมเปียสวยงาม หรือจะว่าข้างฝรั่ง ยกตัวอย่างดังเครื่องแต่งตัวผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลกไม่รู้จักหยุด ก็เป็นเพราะเหตุเช่นเดียวกัน แต่การไว้ผมของไทยอย่างว่ามาเมื่อไปยังต่างประเทศ พวกชาวเมืองเห็นเป็นวิปริตแปลกตามักพากันยิ้มเยาะ เมื่อครั้งทูตไทยไปยุโรปในรัชกาลที่ ๔ จึงให้ไว้ผมทั้งศีรษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็กลับตัดผมมหาดไทยไปอย่างเดิม เมื่อจะเสด็จไปสิงคโปร์คราวนี้ก็โปรดฯ ให้ผู้ที่จะตามเสด็จไว้ผมยาวตั้งแต่เวลาตระเตรียม เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีฯ ให้ตามเสด็จไปทั้งไว้พระเกศาจุก ครั้นเมื่อเสด็จกลับคืนพระนคร ทางปรารภกับท่านผู้ใหญ่ในราชการว่าการไปมาและคบหาสมาคมในระหว่างไทยกับฝรั่งจะมีมากขึ้นทุกที ประเพณีไว้ผมมหาดไทยชวนให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น ควรจะเปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะ ท่านผู้ใหญ่ในราชการก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงดำรัสสั่งให้เลิกตัดผมมหาดไทยในราชสำนัก ตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้นมา แต่มิให้บังคับถึงราษฎร ใครจะไว้อย่างใดก็ไว้ได้ตามชอบใจ แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นบุคคลชั้นสูงไว้ผมตัดยาว ก็พากันตามอย่างมากขึ้นโดยลำดับ หลายปีประเพณีไว้ผมมหาดไทยจึงหมดไป ถึงกระนั้นเมื่อแรกเลิกตัดผมมหาดไทยนั้น คนชั้นผู้ใหญ่สูงอายุก็ยังไม่สิ้นนิยมผมมหาดไทย แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มักให้ช่างตัดผมรอบศีรษะให้สั้น และไว้ผมข้างบนยาวคล้ายกับเรือนผมมหาดไทย เรียกกันว่า ผมรองทรง ทางฝ่ายผู้หญิงนั้นก็โปรดฯ ให้เลิกผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวแต่ในราชสำนักก่อน แล้วผู้หญิงพวกอื่นก็เอาอย่างต่อๆ กันไปจนทั่วทั้งเมือง

นอกจากเรื่องตัดผมยังมีการอื่นๆ ที่จัดเป็นอย่างใหม่ในกระบวนเสด็จอีกหลายอย่าง เช่น ให้ยืนเฝ้าและถวายคำนับเป็นต้น แต่การรักษาพระนครในเวลาเสด็จไม่อยู่ ซึ่งเคยถือกันมาว่าเป็นการสำคัญแม้เพียงเสด็จไปหัวเมืองในพระราชอาณาเขตเมื่อรัชกาลก่อนๆ แต่ครั้งนี้ไม่ลำบาก ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงว่าราชการแผ่นดิน มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ประจำอยู่แล้ว

เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย ไปหยุดพักที่เมืองสงขลาทอดพระเนตรบ้านเมืองวัน ๑ แล้วแล่นเรือต่อไปถึงเมืองสิงคโปร์ จัดการรับเสด็จอย่างใหญ่ยิ่งกว่าเคยรับแขกเมืองมาแต่ก่อน ด้วยเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปถึงเมืองสิงคโปร์ รับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมกันมารับเสด็จที่ท่าเรือ เชิญเสด็จตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ แล้วทรงรถแห่ไปยังศาลานคราทรซึ่งพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้งปวงคอยเฝ้าอยู่พร้อมกัน เชิญเสด็จประทับราชอาสน์ แล้วผู้เป็นนายกสภาพาณิชย์เมืองสิงคโปร์อ่านคำถวายชัยมงคล กล่าวความท้าวถึง สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยพระปรีชาญาณ ทรงทะนุบำรุงให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นับถือของนานาประเทศ และที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติตามแบบอย่างต่อมาจนถึงทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรเมืองต่างประเทศ ก็สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จกลับขึ้นทรงรถแห่ไปยังจวนเจ้าเมือง ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับแรมตลอดเวลาเสด็จอยู่เมืองสิงคโปร์ ในเวลาเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ๗ วันนั้น มีการสโมสรต่างๆ ที่จัดขึ้นรับเสด็จและเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่าง ๆ สำหรับบ้านเมืองมากมายหลายอย่างทุกๆวัน ตามรายการในจดหมายเหตุดูเกือบไม่มีเวลาที่จะได้เสด็จพัก การสโมสรนั้น นายทหารบกมีประชุมเต้นรำ (Ball) ที่โรงทหารคืน ๑ พวกฝรั่งชาวเมืองสิงคโปร์มีการประชุมแต่งตัวต่างๆ เต้นรำ (Fancy Dress Ball) ที่ศาลานคราทรคืน ๑ ต่อมามีละครสมัครเล่นถวายทอดพระเนตรที่ศาลานคราทรอีกคืน ๑ ผู้รั้งราชการเมืองมีการเลี้ยงอย่างเต็มยศ (Banquet) คืน ๑ พวกชาวสิงคโปร์มีการประกวดต้นไม้ดอกไม้ถวายทอดพระเนตรที่สวนสำหรับเมืองวัน ๑ ส่วนกิจการและสถานที่ ที่เชิญเสด็จทอดพระเนตรนั้น คือโรงทหารบก เรือรบ อู่เรือ ศาลชำระความ เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารไปรษณีย์ สถานีโทรเลข สถานีเครื่องดับไฟ โรงกลั่นไอประทีบ (Gas-works) ห้างและตลาดขายของ ทั้งทรงรถเที่ยวทอดพระเนตรถนนหนทางที่บำรุงบ้านเมืองด้วย เสด็จประทับอยู่ในเมืองสิงคโปร์จนเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง มีการส่งเสด็จอย่างเต็มยศเหมือนเมื่อเสด็จไปถึงออกเรือในค่ำวันนั้น ไปถึงท่าเมืองบะเตเวียที่เกาะชะวา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ รัฐบาลฮอลันดาก็จัดการต่างๆ รับเสด็จเป็นอย่างใหญ๋ทำนองเดียวกับอังกฤษรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์ มีรายการเปลี่ยนออกไปแต่มีการสวนสนามทหารบกอย่าง ๑ พวกมลายูกับพวกจีนมีการแห่ประทีปอย่าง ๑ และพวกฝรั่งมีการจุดดอกไม้ไฟถวายทอดพระเนตรคืน ๑ สถานที่ซึ่งเจริญเสด็จไปทอดพระเนตร มีแปลกที่ทอดพระเนตรโรงทำปืนอย่าง ๑ กับทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานอีกอย่าง ๑ ซึ่งในเมืองสิงคโปร์ยังไม่มีในสมัยนั้น เสด็จประทับอยู่ที่เมืองบะเตเวีน ๗ วัน ถึงวันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งแล้วออกเรือในเช้าวันนั้น วันรุ่งขึ้นก็ถึงเมืองสมารัง แต่เสด็จไปถึงต่อในเวลาบ่าย จึงประทับแรมอยู่ในเรือพระที่นั่งคืน ๑ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำเวลาเช้า เรสิเดนต์ (สมุหเทศาภิบาล) หัวหน้าในรัฐบาลเมืองสมารังลงมารับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ และมีพิธีรับเสด็จคล้ายกับที่เมืองบะเตเวีย มีสิ่งซึ่งได้ทอดพระเนตร ณ เมืองสมารังครั้งนั้นแปลกจากที่อื่น คือทรงรถไฟซึ่งกำลังสร้างไปจนสุดปลายรางอย่าง ๑ ทอดพระเนตรโรงทำดินปืนอย่าง ๑ กับเจ้ามังกุนคโรเมืองโสโลพาละครชะวามาเล่นถวายทอดพระเนตรอย่าง ๑ เสด็จประทับอยู่เมืองสมารัง ๓ วัน ถึงวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๕ ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกเรือในวันนั้นกลับมาถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อแรม ๕ ค่ำ มีพระราชดำรัสขออย่าให้มีการรับรองอย่างยศศักดิ์ให้ซ้ำซากลำบากแก่เขาอีก ผู้รั้งราชการลงมารับเสด็จเป็นการไปรเวต เชิญเสด็จประทับร้อนที่จวนเข้าเมือง เชิญเสด็จเสวยกลางวันแล้วเสด็จประพาสตามพระราชอัธยาศัย ครั้นเวลาค่ำเชิญเสด็จเสวยอีกเวลา ๑ และเสด็จทอดพระเนตรละครม้าแล้วจึงเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง รุ่งขึ้นวันอังคารเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสิงคโปร์ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ รวมเวลาที่เสด็จไปครั้นนั้น ๓๗ วัน เมื่อเสด็จกลับมาถึงแล้วมีงานรื่นเริงเฉลิมพระเกียรติและแต่งประทีปทั่วทั้งพระนคร ๕ วัน

พิเคราะห์รายการที่เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองบะเตเวีย และเมืองสมารัง เห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรขนบธรรมเนียมฝรั่งมาก ทั้งในส่วนการสมาคมและกิจการต่างๆ ซึ่งเนื่องในการปกครองทะนุบำรุงบ้านเมือง การที่เสด็จไปต่างประเทศครั้งนั้น ความเข้าใจของคนทั้งหลายทั้งไทยและฝรั่งเป็นอย่างเดียวกันว่า เสด็จไปทรงศึกษาหาแบบอย่างมาจัดการทะนุบำรุงประเทศสยาม หากว่าเมื่อเสด็จกลับมาไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกติเตียนว่าเสด็จไปเที่ยวเล่นให้สิ้นเปลืองเวลาเปล่าๆ หรือถึงหมิ่นประมาทพระปัญญาว่าไร้ความสามารถ ก็แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ว่าราชการบ้านเมือง จึงเริ่มทรงจัดการแก้ไขขนบธรรมเนียมแต่ในราชสำนัก ด้วยความเห็นชอบของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในเวลานั้นฉันอายุได้ ๑๐ ขวบและอยู่ในราชสำนัก ได้เห็นการที่เปลี่ยนแปลงที่จัดเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ยังจำได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าโปรดฯ ให้กั้นฉากในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็น ๓ ห้อง ห้องทางตะวันตกตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นห้องรับแขก ห้องตอนกลางคงเป็นทางเสด็จออกท้องพระโรง หน้าห้องทางตะวันออกจัดเป็นห้องเสวย ตั้งโต๊ะเก้าอี้เลี้ยงแขกได้ราว ๒๐ คน เวลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายขุนนางยังหมอบเฝ้าและคงแต่งตัวเหมือนอย่างเดิม แต่ตอนกลางวันเมื่อเสด็จขึ้นจากท้องพระโรง หรือตอนบ่ายและตอนค่ำก่อนเสวยเย็น เสด็จประทับที่ห้องรับแขก ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้ารองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ยืนเฝ้าตามแบบฝรั่ง ถึงเวลาเสวยเย็นโปรดฯ ให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักนั่งโต๊ะเสวยด้วย ต้องแต่งตัวใส่เสื้อแย๊กเก๊ตขาวเปิดคอ เวลาบ่ายๆ ถ้าเสด็จทรงเที่ยวประพาส ก็แต่งตัวใส่ถุงเท้ารองเท้าเสื้อเปิดคอและยืนเฝ้าเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมา ถ้าว่าตามความเห็นในสมัยนี้ดูก็เป็นการเล็กน้อย แต่คนในสมัยนั้เห็นแปลกประหลาด ถึงจมื่นเก่งศิลปคน ๑ เขียนลงเป็นจดหมายเหตุใน ปูม เมื่อวันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ (ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔) ว่า ในข้างขึ้นเดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอ ด้วยเป็นธรรมเนียมฝรั่งธรรมเนียมนอกดังนี้ พอเป็นเค้าให้เห็นได้ว่าคนในสมัยนั้นเห็นเป็นการสำคัญเพียงใด

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งทรงพระราชดำริเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์คือ จะจัดการศึกษาของลูกผู้ดีซึ่งได้โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนภาษาไทยขึ้นแต่ก่อนเสด็จไปสิงคโปร์แล้ว เมื่อเสด็จกลับมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงเรียนภาษาอังกฤษด้วย แต่ขัดข้องด้วยหาครูไม่ได้ เพราะมิชชันนารีที่สอนภาษาอังกฤษแก่ไทยในเวลานั้น สอนแต่สำหรับชักชวนคนให้เข้ารีตเป็นข้อรังเกียจอยู่ จึงโปรดฯ ให้เลือกหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ที่ยังเยาว์วัยส่งไปเรียนที่โรงเรียนแรฟเฟล ณ เมืองสิงคโปร์ในปีมะแมนั้น ประมาณ ๒๐ คน นักเรียนที่ส่งไปครั้งนั้นยังมีตัวตนอยู่ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้แต่ ๓ คือ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ องค์ ๑ เดี๋ยวนี้ทรงพระชราแล้วทุกพระองค์ แต่นักเรียนชุดนี้ไปเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เพียงปีเศษ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียหาครูอังกฤษได้โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นแล้ว ก็โปรดฯ ให้กลับมาเรียนในกรุงเทพฯ เว้นแต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ทั้ง ๓ นี้เรียนรู้มากถึงชั้นสูงกว่าเพื่อน จึงโปรดฯ ให้ส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษต่อไป เป็นแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป

กรมที่ทรงจัดมากเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น คือทหารมหาดเล็กถึงตอนนี้ทรงจัดแก้ไขเพิ่มเติมขยายการออกไปหลายอย่าง คือให้ชักชวนพวกเชื้อสายราชสกุลและลูกมหาดเล็กเข้าเป็นทหาร เพิ่มจำนวนคนขึ้น จัดเป็น ๖ กองร้อย ให้สร้างตึกแถว ๒ ชั้น ขึ้น ๒ ข้างประตูพิมานชัยศรี เป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และสร้างตึก ๒ ชั้นขึ้นอีกหลัง ๑ ที่ริมกำแพงด้านหน้าพระราชวัง สำหรับเป็นที่อยู่ของนายทหารมหาดเล็ก(ตามแบบ ตังลินบาแร๊ก ณ เมืองสิงคโปร์) แต่ตึกหลังนี้เมื่อกำลังสร้างอยู่ประจวบเวลาเริ่มแก้ไขการพระคลังมหาสมบัติ (ซึ่งจะเล่าเรื่องต่อไปข้างหน้า) ไม่มีสถานที่จะทำการพระคลังฯ จึงโปรดฯ ให้โอนไปเป็นสถานที่ทำการพระคลังฯ ขนานนามว่า หอรัษฎากรพิพัฒน (แต่ตัวตึกเดี๋ยวนี้แก้ไขต่อเติมผิดกับของเดิมเสียมากแล้ว) และในครั้งนั้นให้สร้างตึกใหญ่สำหรับเป็นที่สโมสรของทหารมหาดเล็ก ตามแบบสโมสรคองคอเดียที่เมืองบะเตเวียอีกหลัง ๑ (ซึ่งแก้ไขเป็นศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้) เรียกชื่อตามภาษาฝรั่งว่า หอคองคอเดีย

ภายนอกพระราชวัง ก็มีการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาดตอนระหว่างสะพานข้างโรงสีกับสะพานมอญ ทำเขื่อนอิฐถนนรถ (ซึ่งภายหลังขนานนามว่า ถนนราชินี และ ถนนอัษฎางค์) ทั้ง ๒ ฟาก และมีสะพานหกสำหรับรถข้ามคลองเหมือนอย่างที่เมืองบะเตเวียด้วย นอกจากที่พรรณนามามีการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแต่สมัยนั้นก็หลายอย่าง เป็นต้นว่าหารถมาใช้ในกรุงเทพฯ แพร่หลายมาแต่นั้น ซื้อมาจากเมืองสิงคโปร์บ้าง เมืองบะเตเวียบ้าง แต่ในไม่ช้าก็มีช่างตั้งโรงรับสร้างและซ่อมแซมรถขึ้นในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการที่แต่งตัวใส่เสื้ออย่างฝรั่งและใช้เกือกถุงตีน ในไม่ช้าก็มีโรงรับจ้างตัดเสื้อและขายสิ่งของที่ต้องการใช้ หาได้ในกรุงเทพฯ นี้เองไม่ลำบาก หรือถ้าว่าโดยย่อ การที่เสด็จไปสิงคโปร์ครั้งนั้น นอกจากการเจริญการสมาคมในระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศเป็นปัจจัยให้ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

พอเสด็จกลับจากสิงคโปร์แล้วไม่ช้า ในปีมะเมียนั้นเองก็เริ่มเตรียมการที่จะเสด็จไปอินเดีย เหตุที่จะเสด็จไปอินเดียนั้น เจ้าพระยาภานุวงศ์เคยเล่าให้ฉันฟัง ว่าทรงพระปรารภแก่ตัวท่านตั้งแต่แรกเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ว่าที่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารัง ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่เพียงเมืองขึ้น ที่ฝรั่งปกครองคนต่างชาติต่างภาษา ได้ประโยชน์ยังน้อย ใคร่จะเสด็จไปถึงยุโรป ให้ได้เห็นขนบธรรมเนียมราชสำนักประเพณีบ้านเมืองของฝรั่ง (ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยของฉันลงสักหน่อย ที่มีพระราชประสงค์เช่นนั้นก็เป็นธรรมดา แต่เหตุใดจึงจะรีบเสด็จไปโดยด่วนไม่รั้งรอ ข้อนี้ฉันสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่าเวลาที่ยังไม่ต้องทรงว่าราชการแผ่นดินมีอยู่เพียงอีก ๒ ปี ถ้ารอไปจนถึงเวลาทรงว่ราชการเองแล้วคงยากที่จะหาโอกาสได้ เพราะฉะนั้นจึงจะรีบเสด็จไปยุโรปเมื่อโอกาสยังมีอยู่) เจ้าพระยาภานุวงศ์ เห็นชอบด้วยตามพระราชดำริ รับจะไปพูดจากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นชอบด้วย อ้างว่าไปยุโรปทางก็ไกลเรือที่จะทรงก็ไม่มี เป็นการเสี่ยงภัยมากนัก ไม่สะดวกเหมือนไปกับสิงคโปร์และเมืองชะวา เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ ไม่อยากให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัส จึงคิดขึ้นว่าอินเดียก็รุ่งเรืองคล้ายกับยุโรป ผู้ปกครองมียศเป็นไวสรอยต่างพระองค์คล้ายกับราชสำนัก และหนทางที่จะไปก็ไม่ไกลนัก ส่วนเรือพระที่นั่งที่จะทรงไปนั้น ในเวลานั้นห้างนะกุดาอินสไมส์ที่วัดเกาะสั่งเรือสำหรับรับส่งคนโดยสารในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์เข้ามาใหม่ลำ ๑ ใหญ่โตมีห้องพอจะรับกระบวนเสด็จไปอินเดียได้คิดจะขอซื้อ (คือเช่า) มาเป็นเรือหลวงชั่วคราวแล้วขายกลับคืนให้เจ้าของก็จะไม่สิ้นเปลืองเท่าใดนัก ท่านได้ลองพูดกับเจ้าของก็ยอมตามความคิดไม่ขัดข้อง ยังติดแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านนำความขึ้นกราบทูลตามความคิด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าถ้าจะไปถึงยุโรปยังไม่ได้ ไปเพียงอินเดียก็ยังดี เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ จึงไปกระซิบปรึกษากับนายน๊อกส์กงสุลเยเนอราลอังกฤษ นายน๊อกส์เห็นชอบด้วย รับจะช่วยว่ากล่าวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และที่สุดตัวเองรับจะไปตามเสด็จด้วย การที่จะเสด็จไปอินเดียก็เป็นอันพ้นความขัดข้อง ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อปลงใจให้เสด็จไปอินเดียแล้ว ก็เลยช่วยกะการต่อไปให้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองสำคัญในพระราชอาณาเขตทางฝ่ายตะวันตก คือเมืองภูเก็ต เมืองพังงา และเมืองไทรบุรีด้วย การตระเตรียมกระบวนเสด็จไปอินเดียไม่ยากเหมือนเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ เพราะได้เคยเห็นขนบธรรมเนียมฝรั่งอยู่มากแล้ว เครื่องแต่งตัวก็แก้ไขเป็นแบบฝรั่งทีเดียว เว้นแต่ยังนุ่งผ้า ไม่ใช้กางเกงเท่านั้น ส่วนราชบริพารที่ตามเสด็จครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อนได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มขึ้นใหม่ พระเจ้าน้องยาเธอคือสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (กรมพระนเรศวรฤทธิ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยเป็นนายทหารมหาดเล็กพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ (สมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการ เพิ่งลาผนวชสามเณร) พระองค์ ๑ ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องการใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมา สำหรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ

เสด็จทรงเรือ บางกอก ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ ไปแวะที่เมืองสิงคโปร์ เมืองปีนัง เมืองร่างกุ้งแล้วไปยังเมืองกาลกัตตาอันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ดเมโยผู้เป็นไวสรอยที่อุปราชกับรัฐบาลอินเดียรับเสด็จในทางราชการ เชิญเสด็จประทับที่จวนไวสรอยและมีพิธีรับเสด็จ เฉลิมพระเกียรติด้วยประการต่างๆ (เสียดายนักที่หาจดหมายเหตุมีรายการพิสดารอย่างครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ไม่พบ) ทราบแต่พอเป็นเค้าว่าได้เสด็จไปถึงเมืองพาราณสี เมืองอาครา เมืองลักเนา เมืองเดลี และเมืองบอมเบ แต่เมื่อเสด็จกำลังประพาสอยู่นั้น ลอร์ดเมโยไวสรอยไปตรวจที่ขังคนโทษ ณ เกาะอันดมัน ถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ขาเสด็จกลับจึงดำรัสขอให้งดการรับเสด็จทางราชการด้วยเป็นเวลารัฐบาลอินเดียไว้ทุกข์ เสด็จอย่างไปรเวตมาลงเรือพระที่นั่งกลับจากอินเดีย มาแวะทอดพระเนตรเมืองภูเก็ตและเมืองพังงาแล้วเสด็จมาขึ้นบกเมืองไทรบุรี ครั้นนั้นเจ้าพระยาไทร (อหะมัต) สร้างวังขึ้นรับเสด็จที่เขาน้อย เรียกว่าอนักบุเกต (เดี๋ยวนี้รื้อสร้างใหม่ แต่ยังใช้เป็นที่รับแขกเมืองบรรดาศักดิ์สูงอยู่) และให้ทำทางใช้รถจากเมืองไทรมาจนต่อแดนจังหวัดสงขลา ข้างสงขลา เจ้าพระยาวิเชียรคิรีผู้สำเร็จราชการจังหวัด ก็ให้ทำถนนรถแต่ปลายแดน มาจนถึงท่าลงเรือที่ตำบลหาดใหญ่ (เป็นแรกที่จะมีถนนข้ามแหลมมลายู) จึงเสด็จทรงรถจากเมืองไทรมาประทับแรมที่ตำบลจังโลนแขวงเมืองไทรบุรีคืน ๑ ที่ตำบลสะเดาแขวงสงขลาคืน ๑ นับเป็นเวลาเดินทาง ๓ วัน วันที่ ๓ ถึงหาดใหญ่ เสด็จลงเรือพายออกทะเลสาบ มาถึงเมืองสงขลา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้เรือจักรข้างชื่อ ไรลิงสัน ที่ท่านต่อ ไปรับเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคมเข้าปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ รวมเวลาที่เสด็จไปอินเดียครั้งนั้น ๔ เดือน

ผลของการเสด็จอินเดีย เกิดความคิดอันเป็นส่วนปกครองบ้านเมืองมาหลายอย่าง (ซึ่งจะเล่าในตอนหน้าต่อไป) แต่ยังไม่ประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลายในวันนั้น เพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ทรงว่าราชการ จึงไม่ปรากฎว่าเมื่อเสด็จกลับจากอินเดียทรงจัดการเปลี่ยนแปลงประหลาดเหมือนเมื่อเสด็จไปสิงคโปร์ เป็นแต่แก้ไขขนบธรรมเนียมที่ได้เริ่มจัดให้ดียิ่งขึ้นเป็นพื้น แต่ทางต่างประเทศ เมื่อความปรากฎแพร่หลายว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพอพระราชหฤทัยเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศ เพื่อจะแสวงหาขนบธรรมเนียมที่ดีของฝรั่งมาใช้ในพระราชอาณาเขต ก็เป็นเหตุให้มีชาวต่างประเทศเกิดความนิยมและประสงค์จะไปมาค้าขายกับประเทศสยามมากขึ้น จะยกพอเป็นตัวอย่าง ดังเช่นห้างแรมเซเว๊กฟิลด์ ซึ่งเป็นห้างทำเครื่องแต่งตัวอยู่ ณ เมืองกาลกัตตา พอเสด็จกลับก็ตามเข้ามาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองซึ่งสร้างใหม่ตรงวงเวียนสี่แยก รับทำเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง (คือเดิมของห้างแบดแมนในบัดนี้) และมีชาวต่างประเทศที่เข้ามาตั้งทำการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง แม้เรือไฟไปมารับส่งสินค้าและคนโดยสารในระหว่งกรุงเทพฯ กับเมืองฮ่องกงก็เกิดขึ้นในสมัยนั้น

มีการที่เกิดขึ้นในปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียอย่าง ๑ ซึ่งภายหลังมาเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณแก่ตัวฉันเองมาก คือเรื่องตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกผู้ดี เรื่องนี้ได้ทรงพระราชดำริมานานแล้ว แต่ยังหาครูไม่ได้จึงต้องรอมา เมื่อเสด็จกลับจากอินเดีย เผอิญมีครูอังกฤษคน ๑ ชื่อ ฟรานซิล จอร์ช แปตเตอร์สัน เข้ามาเยี่ยมหลวงรัถยาภิบาลบัญชา (กัปตันเอม) ผู้บังคับการพลตระเวนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นน้าชาย ได้ทรงทราบก็โปรดฯ ให้ว่าจ้างไว้เป็นครูและโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กอีกโรง ๑ เป็นคู่กับโรงเรียนภาษาไทยที่ได้ตั้งมาแต่ก่อน ที่ตั้งโรงเรียนนั้นโปรดฯ ให้โอนตึก ๒ ชั้นที่สร้างสำหรับทหารมหาดเล็ก หลังข้างตะวันออกประตูพิมานชัยศรี (ซึ่งเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่อยู่บัดนี้) ใช้เป็นโรงเรียน ห้องตอนต่อประตูพิมานชัยศรีให้เป็นที่อยู่ของครู ห้องตอนเลี้ยวไปข้างเหนือ (ข้างหลังศาลาหทัยสมาคมบัดนี้) จัดเป็นห้องเรียน ส่วนนักเรียนนั้น มีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกับพระเจ้าน้องยาเธอเข้าเป็นนักเรียน เว้นแต่บางพระองค์ที่มีตำแหน่งรับราชการแล้ว หรือที่เป็นนักเรียนอยู่แล้วในโรงเรียนภาษาไทย พวกนายร้อยมหาดเล็กก็โปรดฯ ให้มาเรียนภาษาอังกฤษด้วย เจ้านายเรียนตอนเช้า พวกนายทหารมหาดเล็กเรียนตอนบ่าย เมื่อแรกตั้งโรงเรียน ดูเหมือนจะมีจำนวนนักเรียนสัก ๕๐ คน แต่ต่อมาจำนวนลดลง เพราะเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ออกไปรับราชการ ที่เป็นชั้นกลางก็ถึงเวลาไปทรงผนวชสามเณร พวกหม่อมเจ้าก็พากันไปทำการงาน พวกนายทหารมหาดเล็กต้องเรียนวิชาอื่นอีกมากก็มาเรียนภาษาอังกฤษน้อยลงทุกที ถึงปีระกาเหลือนักเรียนอยู่ไม่ถึงครึ่งจำนวนเดิม และยังลดจำนวนลงเรื่อยมา นักเรียนที่เข้ามาใหม่ก็หามีไม่ ถึงปีจอเหล่อแต่เจ้านายที่รักเรียนจริงๆ ยังทรงพยายามเรียนอยู่สัก ๕ พระองค์ จึงย้ายไปเรียน ณ หอนิเพธพิทยา อันเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ อยู่ริมประตูศรีสุนทร (แต่เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว) ครูไปสอนในเวลาเช้าทุกวัน จนถึงกลางปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ครบ ๓ ปี พอสิ้นสัญญาครูก็ลากลับไปเมืองนอก โรงเรียนนั้นก็เป็นอันเลิก แต่นั้นเจ้านายที่รักเรียนก็พยายามเรียนต่อมาโดยลำพังพระองค์ด้วยอาศัยอ่านหนังสือบ้าง ให้ผู้อื่นสอนบ้าง จนมีความรู้สามารถใช้ภาษาอังกฤษรับราชการได้โดยมิต้องไปเมืองนอกหลายพระองค์ ในเจ้านายนักเรียนชั้นนั้น ควรยกย่องสมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการ ว่าเป็นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าพระองค์อื่นๆ

ในปีระกานี้ เกิดอหิวาตกโรคเป็นระบาดขึ้นเมื่อเดือน ๗ คนตื่นตกใจกันมาก เพราะแต่ก่อนเคยมีอหิวาตกโรคเป็นระบาดขึ้น ผู้คนล้มตายมากเมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ และมาเกิดอีกครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๙๒ คนชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเห็นยังมีมาก จึงพากันตกใจ ผู้ที่ไม่เคยเห็นได้ฟังเล่าก็ตกใจไปตามกันด้วย แต่วิธีที่จัดระงับโรคอหิวาต์ในคราวนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จัดเป็นการรักษาพยาบาล แทนทำพิธีในทางศาสนาเช่นเคยทำมาแต่ก่อน พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอ คิดปรุงยารักษาโรคเป็นอย่างฝรั่งขึ้นใหม่ ๒ ขนาน คือเอายาวิสัมพญาใหม่ตามตำรายาไทยกับด้วยกอฮอล์ทำเป็นยาหยดในน้ำขนาน ๑ เอาการบูรทำเป็นยาหยดเช่นนั้นเรียกว่าน้ำการบูรอีกขนาน ๑ สำหรับรักษาอหิวาตกโรค และแนะนำให้ใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเป็นเครื่องป้องกันเชื้อโรคอีกอย่าง ๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่รับยาหลวงไปตั้งเป็นทำนองโอสถศาลาขึ้นตามวังและบ้านหรือตามทีป่ระชุมชน รักษาราษฎรทั่วทั้งพระนคร แต่โรคอหิวาต์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีอยู่สักเดือนหนึ่งก็สงบ เมื่อสงบแล้วโปรดฯ ให้สร้างเหรียญทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้าน ๑ มีรูปเทวดาถือพวงมาลัย อีกด้าน ๑ เป็นตัวอักษรทรงขอบใจ พรนะราชทานบำเหน็จแก่บรรดาผู้ที่ได้รับตั้งโอสถศาลาทั้งนั้นทั่วกัน ของฉันยังอยู่จนทุกวันนี้

แต่นี้ไปจนตอนปลายที่ ๕ จะเล่าเรื่องประวัติของตัวฉันในระหว่างปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ ไปจนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ให้สิ้นเรื่องเมื่อเป็นเด็กเสียชั้นหนึ่ง เพราะในตอนที่ ๖ และที่ ๗ จะเล่าเรื่องในราชการบ้านเมืองเป็นสำคัญ

สมัยเมื่อแก้ไขประเพณีในราชสำนักเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น เจ้านายเด็กๆ พวกฉันยังตามเสด็จอยู่เสมอ เวลาเสด็จประทับห้องรับแขกถ้าไม่ถูกไล่ในเวลามีเข้าเฝ้าแหนก้ได้นังเก้าอี้เล่นสนุกดี เวลาเสด็จทรงรถเที่ยวประพาสในตอนบ่าย ก็ดอกขึ้นรถที่นั่งรองไปตามเสด็จ ถึงเวลาค่ำเมื่อเสวย ถ้าวันไหนคนนั่งโต๊ะขาดจำนวนก็โปรดฯ ให้มาเรียกเจ้านายเด็กๆ ไปนั่งเก้าอี้ที่ว่างได้ กินโต๊ะ และได้กินไอสกริมก็ชอบ ไอสกริมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆ ที่สำหรับเขาทำกันตามบ้านนอกเข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอสกริมตั้งเครื่องแต่บางวันจึงเห็นเป็นของวิเศษ เจ้านายเด็กๆ พวกฉันยังไม่ถูกบังคับให้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างใหม่ ถึงกระนั้นเห็นผู้ใหญ่เขาแต่งก็อยากใส่ถุงน่องรองเท้าเป็นกำลัง ฉันไปอ้อนวอนแม่ๆ เห็นว่าตามเสด็จอยู่เสมอก็ซื้อเกือกถุงตีนให้ ดีใจนี่กะไร แต่เมื่อใส่ในวันแรกเกิดเสียใจด้วยเกือบนั้นเงียบไปไม่มีเสียง เพราะเคยได้ยินเขาว่าต้องดัง "อ๊อด อ๊อด" จึงเป็นเกือกอย่างดี ไปถามพวกนายทหารมหาดเล็กว่า ทำอย่างไรเกือกจึงจะดัง เขาแนะให้เอาน้ำมันมะพร้าวหยอดที่พื้น ก็จำมาพยายามทำ มีเสียงดัง "อี๊ด อี๊ด" ก็ชอบใจ

ถึงสมัยเมื่อตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ ตัวฉันอยู่ในพวกเจ้านายที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษแต่แรกตั้ง แต่ว่าน้ำใจรักจะเรียนภาษาอังกฤษผิดกับเมื่อเรียนภาษามคธ ถึงกระนั้นก็ไม่พ้นคึวามลำบาก ด้วยไม่รู้ว่าครูจะใช้วินัยสำหรับโรงเรียนอย่างกวดขัน เมื่อไปเรียนได้สักสองสามวัน ฉันไปซุกซนรังแกเพื่อนนักเรียนเมื่อกำลังเรียนอยู่ด้วยกัน ครูจับได้แล้วลงโทษอย่างฝรั่ง เอาตัวขึ้นยืนบนเก้าอี้ตั้งประจานไว้ที่มุมห้องเรียนสัก ๑๕ นาที (บางทีจะเป็นครั้งแรกที่เด็กไทยถูกลงโทษเช่นนั้น) พวกเพื่อนนักเรียนเห็นแปลกก็พากันจ้องดูเป็นตาเดียวกัน บางคนก็ยิ้มเยาะ ฉันรู้สึกละอายจนเหงื่อตกโทรมตัว ตั้งแต่นั้นก็เข็ดหลาบไม่ซุกซนในห้องเรียน แต่ยังรู้สึกอัปยศอยู่หลายวัน มาจนวันหนึ่งเห็นเพื่อนนักเรียนถูกครูเอาไม้บรรทัดตีฝ่ามือลงโทษ เจ็บจนหน้านิ่ว ๒ คน ดูร้ายยิ่งกว่าที่ฉันถูกยืนบนเก้าอี้ก็เลยหายละอาย เมื่อตอนแรกตั้งโรงเรียนนั้น ลำบากที่ครูยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ลูกศิษย์ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น มีแต่พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (กรมพระนเรศวรฤทธิ) พระองค์เดียวที่ทรงทราบบ้างเล็กน้อย และท่านเป็นเจ้าพี่ชั้นใหญ่ได้เคยเรียนภาษาอังกฤษต่อแหล่มลิโอโนเวนส์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พอเป็นล่ามแปลคำง่ายๆ ได้บ้าง ถ้าเป็นคำยากเกินความรู้ของกรมพระนเรศวร์ฯ ครูต้องเปิดหนังสืออภิธานภาษาอังกฤษ ให้นักเรียนดูคำภาษาไทยในนั้น หนังสืออภิธานที่ใช้มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งสำหรับลูกศิษย์ใช้เรียนกว่า สัพพะพะจะนะภาษาไทย ซึ่งสังฆราชปาลกัวแต่ง เอาศัพท์ภาษาไทยตั้ง แปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศลและภาษาละติน ๓ ภาษา เล่มใหญ่โตมาก อีกเล่มหนึ่งสำหรับครูใช้ จะเรียกหนังสือว่ากะไรฉันลืมเสียแล้ว แต่หมอแม๊กฟาแลนด์ (บิดาพระอาจวิทยาคม) เป็นผู้แต่ง แปลแต่ศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย คือใช้อภิธานเล่มนี้ชี้ศัพท์อังกฤษแปลเป็นภาษาไทยให้พวกศิษย์ แต่ลำบากไม่ช้าอยู่เท่าใด ครูค่อยรู้ภาษาไทยศิษย์ก็ค่อยเข้าใจคำครูสั่งสอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย ไม่จำต้องใช้ถ้อยคำมากหรือยากเท่าใดนัก นานๆ จึงต้องเปิดอภิธาน ในการที่พวกฉันใช้หนังสืออภิธานครั้งนั้น มีผลสืบมาจนบัดนี้ประหลาดอยู่เรื่อง ๑ ในบทเรียนบท ๑ มีคำว่า ไบ (By) ดูเหมือนจะเป็นเช่นประโยคว่า He went by boat หรืออะไรทำนองนี้ ครูจะให้แปลเป็นภาษาไทย นักเรียนพวกฉันไม่เข้าใจคำ By ครูจึงเปิดอภิธานให้ดู ในหนังสือนั้นแปลคำ By ว่า โดย พวกนักเรียนก็แปลว่า เขาไปโดยเรือ แต่นั้นมาเมื่อแปลคำ By ก็แปลว่าโดยเสมอมา เช่น Written by แปลว่าแต่งโดย แล้วพวกฉันเลยใช้คำนี้ต่อมาในเวลาเมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว มีในหนังสือ ค๊อค เป็นต้น จึงเลยเป็นมรดกตกมาถึงคนชั้นหลัง ที่จริงไม่ถูก ตามภาษาไทย เพราะคำ โดย เป็นศัพท์ภาษาเขมรแปลว่า ตาม แต่งโดย ก. ความแสดงว่า ข. แต่งความคำบอกของ ก. แต่มารู้ว่าผิดเมื่อใช้กันแพร่หลายเสียแล้ว

ในบรรดาศิษย์ที่เรียนกันครั้งนั้น เมื่อเรียนมาได้สัก ๖ เดือน มีที่เป็นศิษย์ครูชอบมาก Favourite Pupils ๔ พระองค์ เรียงลำดับพระชันษา คือ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ (สมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการ) พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ (สมเด็จพระราชปิตุลาฯ) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ (สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส) พระองค์ ๑ กับตัวฉันอีกคน ๑ เห็นจะเป็นด้วยเห็นว่าเขม้นขะมักรักเรียนครูก็สอนให้มากกว่าคนอื่น แต่เมื่อได้สักปี ๑ สมเด็จกรมพระยาเทววงศฯ กับสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ต้องไปทำราชการมีเวลามาเรียนน้อยลง คงแต่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ กับตัวฉัน (สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ได้ทรงแสดงความข้อนี้ไว้ในหนังสือ พระประวัติตรัสเล่าที่ท่านทรงแต่งเมื่อเป็นสมเด็จพระมหาสมณะ) ถึงปีระกา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ไปทรงผนวชเป็นสามเณร แต่นั้นฉันจึงได้เป็นศิษย์ติดตัวครูอยู่แต่คนเดียว เวลานักเรียนอื่นกลับแล้วครูให้ฉันอยู่กินกลางวันด้วย แล้วสอนให้ในตอนบ่ายอีก เมื่อเรียนแล้ววันไหนครูขึ้นรถไปเที่ยวก็มักชวนฉันไปด้วย เพราะเหตุที่อยู่กับครูมาก และได้ไปพบปะพูดจากับพวกฝรั่งเพื่อนฝูงของครูบ่อยๆ เมื่อยังเป็นเด็กฉันจึงพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเกินความรู้ที่เรียนหนังสือ ทั้งได้เริ่มคุ้นเคยกับฝรั่งแต่นั้นมา การที่ได้เป็นศิษย์ติดตัวครูมาเป็นคุณแก่ตัวฉันในภายหลังอีก อย่าง ๑ ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งใหม่ ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ มีพระราชประสงค์ จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อไปถึงวิธีแต่งหนังสือ โปรดฯ ให้ครูเปตเตอร์สันเข้าไปสอนถวายในเวลาค่ำเมื่อทรงว่างราชการ ดูเหมือนจะเป็นสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ทรงทราบ่วาฉันเป็นศิษย์ติดตัวครู จึงมีรับสั่งให้ฉันเป็นพนักงานนำครูเข้าไป เวลาทรงพระอักษรฉันได้อยู่ด้วยทุกคืน ตรัสถามครูถึงการเล่าเรียนของฉันบ้าง ตรัสถามอะไรๆ เป็นภาษาอังกฤษให้ฉันเพ็ดทูลบ้างเนืองๆ เห็นได้ว่าทรงพระกรุณายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษครั้งนั้น ทรงอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิก ด้วยพระราชธุระอื่นมีมากขึ้นทุกที ไม่มีเวลาางมากเหมือนแต่ก่อน

ตรงนี้จะเล่าเรื่องประวัติของ ครู แปตเตอร์สัน ต่อไปอีกสักหน่อยเพราะยังมามีการเกี่ยวข้องกับตัวฉันอีกเมื่อภายหลัง และเป็นเรื่องน่าจะเล่าด้วย เมื่อครูแปตเตอร์สันไปจากประเทศนี้แล้ว ไปได้ตำแหน่งรับราชการอังกฤษเป็นครูประจำโรงเรียนของรัฐบาลที่เกาะมอรีเซียส ในตอนนี้ดูเหมือนจะไม่มีศิษย์คนใดได้รับจดหมายจากครูเลย เพราะเกาะมอรีเซียสอยู่ห่างไกลในมหาสมุทรอินเดีย การส่งจดหมายไปมาในระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยนั้นลำบาก ด้วยยังไม่มีกรมไปรษรีย์ ใครๆ จะมีจดหมายกับประเทศอื่นก็ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ เพราะมีเรือไฟในบังคับอังกฤษเดินในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์และเมืองฮ่องกง กงสุลอังกฤษที่ศาลาท่าน้ำของสถานกงสุล เป็นออฟฟิศไปรษณีย์ห้อง ๑ และเอาตั๋วตราไปรษณีย์เมืองสิงคโปร์พิมพ์อักษร B (เป็นเครื่องหมายว่าบางกอก) เพิ่มลงเป็นเครื่องหมาย ใครจะส่งหนังสือไปต่างประเทศก็ไปซื้อตั๋วตรานั้นปิดตามอัตราไปรษณีย์อังกฤษ แล้วมอบไว้ที่สถานกงสุล เมื่อเรือจะออก กงสุลอังกฤษให้รวบรวมหนังสือนั้นใส่ถุง ฝากไปส่งกรมไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์หรือเมืองฮ่องกงไปส่งอีกชั้น ๑ แต่หนังสือของรัฐบาลนั้น กรมท่ามอบกับนายเรือให้ไปส่งกงสุลสยามทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ หาได้ส่งทางไปรษณีย์ที่สถานกงสุลไม่ เมื่อเรือเข้ามาถึง ผู้ใดคาดว่าจะได้รับหนังสือจากต่างประเทศ ก็ไปสืบที่สถานกงสุลอังกฤษ ถ้ามีก็รับเอามา หรือถ้าพบหนังสือถึงผู้อื่นก็ไปบอกกันให้ไปรับ เป็นเช่นกล่าวนี้มาจนตั้งกรมไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ การส่งหนังสือจึงสะดวกแต่นั้นมา

ครูแปตเตอร์สันรับราชการอยู่ที่เกาะมอรีเซียส จนชราจึงออกรับเบี้ยบำนาญกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ปรากฎว่าเขียนหนังสือมาถึงใครในประเทศนี้ จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อฉันเป็น กรมพระ และย้ายมาอยู่วังวรดิศแล้ว วันหนึ่งได้รับจดหมายของครูแปตเตอร์สันส่งมาจากประเทศอังกฤษ สลักหลังซองถึง "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" เผอิญมีใครในพนักงานไปรษณีย์เขารู้ว่าเป็นชื่อเดิมของฉันจึงส่งมาให้ ได้ทราบเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันในฉบับนั้นว่า ตั้งแต่ออกจากราชการที่เมืองเมอรีเซียสแล้วกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ ต้องทิ้งบ้านเดิมที่เกาะเจอสีเพราะต้องขายแบ่งมรดกกันเมื่อบิดาตาย ครูไปแต่งงานอยู่กับเมียในอิงค์แลนด็์เป็นสุขสบายหลายปี ครั้นเมียตายเหลือแต่ตัวคนเดียวมีความลำบากด้วยแก่ชรา หลานคน ๑ ซึ่งบวชพรต เขาสงสารรับเอาไปไว้ด้วยที่เมืองคลอยสเตอร์ แกรำลึกขึ้นมาถึงศิษย์เดิมที่ในประเทศสยาม คือ เจ้าฟ้าภานุรังษี พระองค์เทวัญ พระองค์มนุษย และตัวฉัน อยากทราบว่าอยู่ดีด้วยกันหรืออย่างไร จึงมีจดหมายมาถามขอให้บอกไปให้ทราบ เวลานั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศฯ กับสมเด็จพระมหาสมณฯ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เหลือแต่สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ฉันนำจดหมายครูไปถวายทอดพระเนตรก็ทรงยินดี มีลายพระหัตถ์และส่งพระรูปกับเงินไปประทาน ส่วนฉันก็ทำเช่นเดียวกัน ได้บอกไปให้ครูทราบพระประวัติของเจ้านายที่แกถามถึงส่วนตัวฉันเอง บอกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ เลื่อนยศสูงขึ้น เป็นเหตุให้ใช้นามใหม่ว่า ดำรง ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันในเวลานี้ ครูมีจดหมายตอบมาว่าเสียดายจริงๆ ที่เพิ่งรู้ ด้วยเมื่อฉันไปยุโรป (ครั้งแรก) ในพ.ศ. ๒๔๓๔ นั้น ประจวบเวลาครูกลับไปเยี่ยมบ้านอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้ยินเขาโจษกันว่ามีเจ้าไทยองค์ ๑ เรียกว่า ปริ๊นซ์ดำรง ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนถามแกว่ารู้จักปรินซ์ดำรงหรือไม่ แกตอบเขาว่าไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่อปรินซ์ดำรง ไม่รู้เลยว่าคือศิษย์รัก (Favourite Pupil) ของแกนั่นเอง ถ้ารู้จะรีบมาหา ถึงกระนั้นเมื่อรู้ก็ยินดีอย่างยิ่งที่ฉันได้มีชื่อเสียงเกียรติยศถึงเพียงนั้น แต่นั้นครูกับฉันก็มีจดหมายถึงกันมาเนืองๆ ครั้นเมื่อฉันไปยุโรป (คราวหลัง) ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตั้งใจว่าจะไปพบครูแปตเตอร์สันให้จงได้ ทราบว่าเวลานั้นอายุได้ถึง ๘๕ ปี และยังอยู่ที่เมืองคลอยสเตอร์เหมือนบอกมาแต่ก่อน หมายว่าไปพบครูเมื่อไร จะชวนถ่ายรูปฉายาลักษณ์ด้วยกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเป็นเด็ก เอามาให้ลูกหลานดู พอฉันไปถึงลอนดอนมีพวกนักหนังสือพิมพ์มาขอสนทนาด้วยหลายคน ทุกคนถามฉันว่าเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน ฉันตอบไปว่าเรียนในบ้านเมืองของฉันเอง เขาพากันประหลาดใจถามว่าใครสอนให้ ฉันบอกว่าครูของฉันเป็นอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ ฟานซิส ยอช แปตเตอร์สัน ตัวยังอยู่อายุได้ ๘๕ ปีแล้ว ฉันจะพยายาม Making a Pilgrimage ไปหาให้ถึงเมืองคลอยสเตอร์ที่ครูอยู่ หนังสือพิมพ์ก็พากันขึ้นสรรเสริญครูแปตเตอร์สันแพร่หลาย ครั้นเมื่อฉันสิ้นกิจอื่นในลอนดอนถึงเวลาที่จะไปหาครู ฉันขอให้อุปทูตบอกไปถึงนักพรตผู้เป็นหลาน ว่าฉันประสงค์จะไปเยี่ยมครูในวันใดจะสะดวกแก่เขา ก็ได้รับคำตอบมาว่าครูกำลังป่วยเป็นโรคชราอาการเพียบอยู่ ตั้งแต่เขาได้ยินข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่าฉันไปถึงลอนดอน เขาก็อยากจะบอกให้ครูรู้ ด้วยเขาทราบอยู่ว่าครูรักฉันมาก แต่เห็นว่าอาการป่วยเพียบจึงปรึกษาหมอๆ ห้ามมิให้บอกครู เพราะเกรงว่าความยินดีที่จู่โจมขึ้นแก่ครู Sudden Excitement อาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายก็ไม่กล้าบอก เมื่อฉันทราบความดังนั้นก็ตกใจ ได้แต่ส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล เมื่อฉันออกจากลอนดอนในไม่ช้า ก็ได้รับจดหมายของนักพรตบอกว่าครูถึงแก่กรรม รู้สึกเสียใจและเสียดายยิ่งนักที่มิได้พบครูแปตเตอร์สันดังประสงค์

เมื่อฉันกำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งทรงผนวชที่พระพุทธรัตนสถาน ๑๕ วัน เจ้านายพวกฉันเรียนหนังสือแล้วก็พากันไปอยู่ ณ ที่เสด็จประทับทุกวัน คล้ายกับเป็นลูกศิษย์วัด ส่วนตัวฉันเองนึกอยากรู้จักพระ จึงมักไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์) กับสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา เมื่อยังเป็นที่พระสาสนโสภณ) เนืองๆ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ โปรดทรงสั่งสอนและตรัสเล่าอะไรให้ฟัง ส่วนสมเด็จพระสังฆราชก็ประทานหนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์สอนพระพุทธศาสนาให้อ่าน วันถ่ายรูปหมู่พวกตามเสด็จไปเป็นลูกศิษย์วัด เผอิญฉันถือสมุดนั้นติดมือไปด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ฉันยืนเปิดสมุดเหมือนอย่างอ่านหนังสือ เป็นเหตุให้ช่างถ่ายรูปเขาจัดให้ยืนกลางเพื่อน รูปนั้นยังปรากฎอยู่ เมื่อเสด็จลาผนวชมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ๑ (ซึ่งจะพรรณนาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า) แล้วเสด็จไปประทับอยู่พระที่นั่งใหม่ ตอนนี้เวลาบ่ายๆ มักเสด็จออกทรงรถเที่ยวประพาส และทรงโครเกต์ Croquet ที่สนามหญ้าพระที่นั่งใหม่ (ยังมีรูปฉายาลักษณ์ปรากฎอยู่) แต่ตัวฉันยังเป็นเด็กไม่ได้เข้าเล่นด้วย แต่ในปีระกานั้นเองโปรดฯ ให้ฉันเป็นผู้พาครูเข้าไปสอนภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว เป็นมูลเหตุที่เริ่มทรงพระเมตตาเฉพาะตัวมาแต่นั้น ครั้งถีงปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เมื่อเลิกโรงเรียนภาษาอังกฤษ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฉันเข้าไปรับใช้ประจำพระองค์ มีหน้าที่ตามเสด็จและอยู่คอยรับใช้ในเวลาค่ำเมื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถเวลาเสร็จราชกิจประจำวันแล้ว ได้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ เป็นเหตุให้ฉันได้รับพระบรมราโชวาทและได้ฟังพระราชดำริ ได้รู้เรื่องต่างๆ ที่ตรัสเล่า ทั้งมีโอกาสทูลสนองหรือทูลถามได้ด้วยทรงพระกรุณา แต่ข้อสำคัญที่มาประจักษ์แก่ใจฉันต่อภายหลังนั้น คือได้รู้พระราชอัธยาศัยและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบนิสัยของฉันแต่นั้นมา ข้อนั้นมาปรากฎเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้วให้มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ ปีละครั้ง เวลาเสด็จคราวประชุมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้มีการเลี้ยงพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่เทศาภิบาลทุกปี และในการเลี้ยงมักมีพระราชดำรัสพระราฃทานพระบรมราโชวาทและสรรเสริญความอุตสาหะของสมุหเทศาภิบาลด้วย ในปีหนึ่งตรัสเกี่ยวมาถึงตัวฉันว่า ได้ทรงสังเกตเห็นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ว่าเติบใหญ่ขึ้นคงจะได้เป็นคนสำคัญในราชการบ้านเมืองคน ๑ ดังนี้ แต่การที่มีพระราชดำรัสทรงยกย่อง บางทีก็เกิดรำคาญแก่ตัวฉัน เช่นต่อมา อีกปีหนึ่งมีพระราชดำรัสว่า พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพ็ชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข ก็เปรียบเหมือนเพ็ชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น พระราชดำรัสนี้ทรงอุปมาด้วยข้าราชการทั่วไปไม่เฉพาะผู้หนึ่งผู้ใด แต่เผอิญตรัสเมื่อเลี้ยงเทศาภิบาล พอรุ่งขึ้นก็มีคน (ที่ไม่ชอบ) แกล้งเรียกให้ฉันได้ยินว่า นั้นแหละ เพ็ชรประดับพระมหามงกุฎ ดูก็ขันดี

ในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ นั้น อายุฉันถึงปีโกนจุก ในสมัยนั้นพระเจ้าลูกยาเธอยังเยาว์วัยทั้งนั้น เจ้านายโสกันต์มีแต่ชั้นพระเจ้าน้องเธอปีใดพระเจ้าน้องเธอที่ทรงพระกรุณามากโสกันต์ก็โปรดฯ ให้มีการแห่ทางในพระราชวัง ถ้าเป็นสามัญก็โสกันต์ในพิธีตรุษตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ในปีจอนั้นมีเจ้านายที่ทรงพระมหากรุณามากหลายพระองค์ ตัวฉันแก่กว่าเพื่อน ตรัสถามฉันว่าอยากให้แห่หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าอยาก จึงดำรัสสั่งให้มีการแห่โสกันต์ในปีนั้น แต่เกือบไม่ได้แห่ เพราะเกิดเรื่องกรมพระราชวังบวรฯ หนีไปอยู่กับกงสุลอังกฤษ (ซึ่งจะเล่าเรื่องในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า) แทรกเข้ามา เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเดือดร้อนรำคาญพระราชหฤทัยอยู่นาน ตรัสว่าถ้าเรื่องวังหน้ายังไม่เรียบร้อยก็จะแห่ให้ไม่ได้ รอมาจนพ้นฤกษ์เมื่อเดือนยี่ พวกฉันก็ยิ่งพากันโกรธวังหน้า จนถึงเดือน ๔ เรื่องวังหน้าเป็นอันเรียบร้อย จึงได้มีการแห่โสกันต์เมื่อก่อนพิธีตรุษไม่กี่วัน เจ้านายโสกันต์ด้วยในปีนั้น ๕ พระองค์ มีตัวฉันคน ๑ พระองค์ชายศรีเสาวภางค์ (ซึ่งภายหลังได้เป็นราชเลขาธิการและเป็นผู้จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อนรับกรม) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา (คือสมเด็จพระพันวัสสามา ตุจฉาเจ้าฯ) พระองค์ ๑ ทั้ง ๓ นี้พระชันษา ๑๓ ปี พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา (กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) พระองค์ ๑ และพระองค์เจ้าหญิงประสานศรีใสพระองค์ ๑ ทั้ง ๒ นี้พระชันษา ๑๑ ปี เมื่อโกนจุกแล้วฉันยังรับราชการประจำพระองค์ต่อมา ในตอนที่รับราชการประจำพระองค์นี้ต้องอยู่ในวังไม่มีโอกาสไปเที่ยวค้างคืนที่อื่นเหมือนแต่ก่อน ถึงพระนั้นตอนเช้าว่างมักไปเฝ้าสมเด็จพระราชปิตุตาฯ ณ หอนิเพธพิทยาบ้าง ไปเล่นหัวกับพวกนายทหารมหาดเล็กที่โรงทหารบ้าง ด้วยเคยคุ้นกันมาแต่ยังเป็นนักเรียน เพราะโรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ติดต่อกับโรงทหาร จึงเริ่มอยากเป็นทหารมาแต่ตอนนี้

ถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ อายุครบกำหนดบวชเป็นสามเณรแล้วจะต้องออกไปอยู่นอกพระราชวังตามประเพณี ก็ออกจากราชการประจำพระองค์ ในปีนั้นมีเจ้านายทรงผนวชด้วยด้วยกันหลายพระองค์ เป็นพระภิกษุบ้าง เป็นสามเณรบ้าง ส่วนตัวฉันเมื่อบวชที่วัดพระศรีรัตศาสดารามแล้ว ไปอยู่วัดบวรนิเวศนฯ กับเจ้านายพี่น้องก็ไม่เดือดร้อนอันใดในการที่บวช ถ้าจะว่าประสาใจเด็กอายุเพียงเท่านั้นกลับจะออกสนุกดีด้วย เพราะในสมัยนั้นประเพณีที่กวดขันในการศึกษาของพระเณรบวชใหม่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หนังสือฉบับพิมพ์สำหรับศึกษาพระธรรมวินัยก็ยังไม่มี ได้อาศัยศึกษาแต่ด้วยฟังเทศนาและคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ข้อบังคับสำหรับเจ้านายที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศนฯ ตอนแรกทรงผนวช ตอนรุ่งเช้าต้องจัดน้ำบ้วนพระโอษฐ์กับไม้สีพระทนต์ไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (สมัยนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ) เรียกกันว่ เสด็จพระอุปัชฌาย์ หรือเรียกกันในวัดตามสะดวกแต่โดยย่อว่า เสด็จ ทุกวันตามเสขิยวัตร และจนถึงตอนค่ำเวลา ๑๘ นาฬิกา ต้องขึ้นไปเฝ้าฟังทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจะออกบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้นก็ต้องทูลลาในเวลาค่ำนั้น แต่การทั้ง ๓ อย่างนี้เมื่อทำได้สัก ๗ วันก็โปรดประทานอนุญาตมิให้ต้องทำต่อไป เว้นแต่จะไปธุระอื่นจึงต้องขึ้นไปทูลลาทุกครั้ง เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านทรงประพฤติวัตรปฏิบัติตรงตามเวลาแน่นอนผิดกับผู้อื่นโดยมาก บรรทมตื่นแต่ก่อน ๘ นาฬิกา พอเสวยเช้าแล้วใครจะทูลลาไปไหนก็ขึ้นเฝ้าต่อนั้น ถึง ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรในพระอุโบสถ เสด็จกลับขึ้นตำหนักราว ๑๐ นาฬิกา ประทับรับแขกที่ไปเฝ้าจนเพล เสวยเพลพอเที่ยงวันเสด็จขึ้นตกหนักชั้นบน ทรงสำราญพระอิริยาบถและบรรทมจนบ่าย ๑๕ นาฬิกา เสด็จลงที่ห้องรับแขก ใครจะเฝ้าในตอนนี้อีกก็ได้ พอแดดอ่อนมักเสด็จลงทรงพระดำเนินประพาสในลานวัดจนเวลาพลบค่ำ ถึงตอนนี้ราว ๑๙ นาฬิกา เจ้านายที่ทรงผนวชใหม่ขึ้นเฝ้าฟังคำสอนที่ประทานตามอุปัชฌายวัตรไปจนถึง ๒๐ นาฬิกา เสด็จลงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรค่ำอีกเวลาหนึ่ง เมื่อทำวัตรแล้วถ้าในพรรษาโปรดให้ฐานานุกรมผู้ใหญ่ขึ้นนั่งธรรมาสน์ อ่านบุรพสิกขาสอนข้อปฏิบัติแก่พระบวชใหม่วันละตอนแล้วซ้อมสวดมนต์ต่อไปจนจวน ๒๓ นาฬิกา จึงเสร็จการประชุมสงฆ์เสด็จขึ้นเข้าที่บรรทม ว่าเฉพาะการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่เช่นตัวฉัน มีข้อสำคัญก็ต้องท่องสวดทำวัตรเช้าและเย็น กับคำสวดสิกขาบทของสามเณรเรียกว่า อนุญญาสิโข ซึ่งสามเณรต้องจำได้และเข้าใจความ ทั้งต้องสวดในโบสถ์เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้วทุกวัน ฉันเคยได้รับสรรเสริญของเสด็จพระอุปัชฌาย์วันหนึ่ง ด้วยในวันนั้นไม่มีสามเณรอื่นลงโบสถ์ ฉันหล้าสวดอนุญญาสิโขแต่คนเดียว ตรัสชมว่าจำได้แม่นยำดี

เขาเล่าว่าเสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเคยตรัส่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ถ้าใครเข้มแข็งในการทัพศึกก็เป็นคนโปรด ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใครแต่งกาพย์กลอนก็เป็นคนโปรด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าใครสร้างวัดวาก็เป็้นคนโปรด ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทนสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด เห็นจะมีใครไปทูลว่าฉันรู้ภาษาฝรั่ง วันหนึ่งประทานหนังสือตำราดาราศาสตร์ฝรั่ง ซึ่งหมอบรัดเลแปลพิมพ์เป็นภาษาไทยให้ฉันดู ในนั้นมีดาวฤกษ์ ๒ ดวงซึ่งผู้แปลหาชื่อในภาษาไทยไม่ได้ จึงใช้อักษรโรมันพิมพ์ชื่อว่า Neptune กับ Uranus ตรัสถามฉันว่าเรียกอย่างไร ฉันก็อ่านถวายตามสำเนียงอักษร ดูเหมือนท่านจะเข้าพระหฤทัยว่าฉันได้เรียนดาราศาสตร์ฝรั่งด้วย ตรัสถามต่อไปว่ามันตรงกับดาวดวงไหนของเรา ฉันก็สิ้นความรู้ทูลว่าไม่ทราบ แต่ก็ทรงเมตตาไต่ถามถึงเรื่องที่ฉันเรียนภาษาฝรั่งบ่อยๆ ข้างฉันก็พอใจขึ้นไปเฝ้า เพราะได้ฟังท่านตรัสเล่าเรื่องโบราณต่างๆ ให้ทราบเนืองๆ ในเวลานั้นเสด็จพระอุปัชฌาย์ยังไม่ทรงชรานัก แต่วิธีท่านตรัสเล่าผิดกับผู้อื่น เมื่อทรงบรรยายไปจนตลอดเรื่องแล้ว มักกลับเล่าแต่เนื้อความซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คนทีฟังตรัสเล่าย่อมเข้าใจและจำความได้ไม่ผิด ฉันชอบเอาวิธีนั้นมาใช้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เคยถูกนินทาว่าเล่าอย่างคนแก่แต่ก็ยังเห็นดีอยู่นั่นเอง ด้วยเห็นว่าการที่เล่าอะไรเพื่อให้ความรู้หรือสอนวิชาให้แก่ผู้อื่น ผิดกับพูดเล่นเจรจากัน เพราะประโยชน์ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจจริงๆ เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านก็ทรงพระดำริเช่นนั้น เมื่อตรัสเล่าอะไรประทานแก่สานุศิษย์มักเล่าซ้ำดังว่ามา

เมื่อฉันบวชเป็นสามเณร ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยประการอย่างใดยังจำได้อยู่ ดูน่าจะเล่าด้วยมีคติอยู่บ้าง ตื่นเช้ามักออกบิณฑบาตไปด้วยกันกับพระเณรที่คุ้นเคยกันบ้าง ไปตามลำพังตัวเองบ้าง การที่ออกบิณฑบาตที่จริงเป็นโอกาสที่จะไปเที่ยวเตร่ เพราะถ้าจะไปเวลาอื่นต้องทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ ถ้าไปบิณฑบาตประทานอนุญาตไว้ไม่ต้องทูลลา ออกบิณฑบาตเสียแห่งหนึ่งสองแห่ง แล้วก็เลยขึ้นรถหรือลงเรือไปไหนๆ บางทีไปกินเพลกลางทางกลับวัดจนบ่ายก็มี เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยและเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงยกกองทัพไปปราบฮ่อ ฉันก็ได้ไปดูวิธียกกองทัพอย่างโบราณด้วย เริ่มไปบิณฑบาตดังว่ามานี้ใครพบก็ไม่รู้ว่าเลี่ยงไป แต่นานๆ จึงเลี่ยงไปเที่ยวครั้ง ๑ โดยปกติมักกลับวัดทันสวดอนุญญาสิโขเวลาลงโบสถ์เช้า เพราะเสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเสด็จลงเสมอ เกรงจะทรงติโทษว่าเกียจคร้าน พ้นเวลาลงโบสถ์แล้วก็ว่างตลอดวัน จะศึกษาหรือทำอะไรก็ได้ ในการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่นั้น เมื่อท่องทำวัตรกับอนุญญาสิโขจำได้และศึกษาธรรมบางอย่าง มือภิณหปัจจเวกขณ์เป็นต้นเข้าใจแล้ว จะศึกษาอะไรก็เลือกได้ตามชอบใจเจ้านายที่ท่านทรงผนวชอยู่หลายพรรษาย่อมทรงศึกษาคันถธุระคือเรียนภาษามคธ แต่ที่จะทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียว มักทรงศึกษาวิชาอย่างอื่นที่ง่ายกว่า ส่วนตัวฉันเองจะเป็นครแนะนำก็จำไม่ได้เสียนแล้ว เกิดอยากเรียนวิชาอาคมคือวิชาที่ทำให้อยู่คงกะพันชาตรีด้วยเวทมนต์และเครื่องรางต่างๆ มีผู้พาอาจารย์มาให้รู้จักหลายคน ที่เป็นตัวสำคัญนั้นคือนักองค์วัตถาน้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา เพราะเธออยู่ที่วังเจ้าเขมรริมคลอง ตรงข้ามกับบ้านคุณตาและเคยคุ้นกับคุณตามาแต่ก่อน เป็นมูลเหตุให้ฉันได้คุ้นเคยกับเจ้าเขมรและมีผลได้อุปการทั้งนักองค์ดิศวงศ์ ลูกนักองค์วัตถาและนักสราคำลูกนักองค์ดิศวงศ์ ต่อมาในเวลาเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย การศึกษาวิทยาคมในเวลาน้นเชื่อถือเป็นการจับใจมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กกำลังรุ่นหนุ่มเช่นตัวฉัน ด้วยได้ฟังเขาเล่าเรื่องและบางทีทดลองให้เห็นอิทธิฤทธิ์ กับทั้งได้สะสมมีเครื่องรางแปลกประหลาดที่ไม่เคยเห็นเป็นต้นแต่พระธาตุ (ฉันได้รู้จักลักษณะพระธาตุตามที่นิยมกันมาแต่ครั้งนั้น) และพระพุทธรูปกับรูปพระควัมที่ทำเป็นเครื่องราง ทั้งของประหลาดแปลกธรรมดาต่างๆ เช่น พด และเขี้ยวงาที่งอกได้ ตลอดจนผ้าประเจียดและลูกแร่ปรอทหลอม เล่นของเหล่านี้เพลิน จนเลยละหนังสือไปคราวหนึ่ง

เครื่องรางที่ฉันมีในเวลานั้นเป็นของสำคัญในทางโบราณคดีสิ่ง ๑ และมีเรื่องต่อมาอีกภายหลัง จะเล่าไว้ในหนังสือนี้ด้วยคือ พระกริ่ง ๒ องค์ คุณตาให้แต่เมื่อฉันยังไว้ผมจุก เป็นพระพุทธรูปนั่งถือหม้อน้ำมนต์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก หน้าตักไม่ถึง ๒ เซ็นต์ ถ้ายกขึ้นเขย่าเกิดเสียงดังกริ่งอยู่ในองค์พระ จึงเรียกกันว่าพระกริ่ง เป็นของหายาก ด้วยมีแต่ในเมืองเขมร เชื่อกันว่าพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สร้างด้วยอิทธิฤทธิ์ จึงนับถือเป็นเครื่องรางสำหรับป้องกันอันตราย พระกิ่งของคุณตามี ๒ องค์ ได้ยินว่าพระอมรโมลี (นพ อมาตยกุล) วัดบุบผาราม ไปได้มาจากเมืองอุดงมีชัยในรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งไปส่งพระมหาปานที่ไปเป็นสมเด็จพระสุคนธฯ สังฆราชฝ่ายธรรมยุติกาในกรุงกัมพูชา แล้วเอามาให้คุณตาเป็นของฝากด้วยชอบกันมาก ครั้งหนึ่งคุณตารับฉันไปค้างที่บ้านแล้วท่านให้พระกริ่งนั้นแก่ฉันองค์ ๑ บอกว่าให้เอาไว้สำหรับตัวเมื่อเติบใหญ่ แต่แรกฉันก็ไม่รู้ว่าเป็นของวิเศษอย่างไร จนเมื่อบวชเป็นสามเณรเมื่อสะสมเครื่องราง เห็นจะเป็นนักองค์วัตถาบอกว่าพระกริ่งเขมรเป็นเครื่องรางอย่างสำคัญนัก ฉันจึงเชิญไปไว้ที่กุฎิ ในไม่ช้าความทราบถึงพระกรรณเสด็จอุปัชฌาย์ว่าฉันมีพระกริ่ง ก็ตรัสสั่งให้ฉันเชิญไปถวายทอดพระเนตร ท่านเชิญพระกริ่งของท่านมาเทียบก็เหมือนกัน จึงตรัสบอกให้เข้าใจว่าพระกริ่งที่เป็นของแท้นั้นมี ๒ อย่าง สีทองคร้ามเรียกกันว่า พระกริ่งดำ อย่าง ๑ กับสีทองอ่อนเรียกกันว่า พระกริ่งเหลือง อย่าง ๑ รูปทรงอย่างเดียวกัน ถ้าแปลกไปอย่างอื่นเป็นของปลอมทั้งนั้น พระกริ่งของฉันเป็นของแท้อย่างที่เรียกว่า พระกริ่งดำ ให้รักษาไว้ให้ดี ตรัสเพียงเท่านั้นหาได้ประทานอธิบายอย่างอื่นไม่

ต่อมาเมื่อเสด็จอุปัชฌาย์สิ้นพระชนม์แล้วช้านาน เวลาฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระครูเจ้าคณะสงฆ์เมืองสุรินทร์ซึ่งอยู่ต่อแดนกัมพูชาเข้ามากรุงเทพฯ ได้พระกริ่งมาให้ฉันอีกองค์ ๑ เทียบกับองค์ที่คุณตาให้ เห็นเหมือนกันทุกอย่างก็รู้ว่าเป็นของแท้ แต่ถึงขั้นนี้ฉันไม่เชื่อเรื่องคงกะพันชาตรีเสียแล้ว ถึงกระนั้นก็เห็นว่าพระกริ่งเป็นของสำคัญอย่างหนึ่งในทางโบราณคดี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ฉันมีโอกาสได้ออกไปเที่ยวเมืองเขมรเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อไปพักอยู่ที่กรุงพนมเพ็ญนึกขึ้นถึงเรื่องพระกริ่ง อยากรู้ว่าพวกเขมรนับถือกันอย่างไร จึงถามพระราชาคณะกับทั้งเจ้านาย และขุนนางกรุงกัมพูชา บรรดาที่ได้พบหลายคน มีคนเดียวที่เป็นชั้นสูงอายุบอกว่าได้เคยเห็นพระกริ่งครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นไม่มีใครได้เคยเห็น และโดยมากที่เป็นคนชั้นหนุ่มไม่มีใครรู้ว่ามีพระกริ่งทีเดียว ออกประหลาดใจ ครั้นเมื่อไปถึงนครวัดไปถามมองสิเออร์มาสาลผู้เป็นหัวหน้าอำนวยการรักษาโบราณสถานอีกคน ๑ ว่าได้เคยเห็นพระกริ่งบ้างหรือไม่ เขาบอกว่าเมื่อก่อนฉันไปถึงไม่ช้านัก เขาพบกรุที่บนยอดเขาพนมปาเกงซึ่งอยู่ริมเมืองนครธม ได้พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ลักษณะเป็นเช่นพรรณนาหลายองค์ แล้วส่งตัวอย่างมาให้ดูมี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่เท่ากันและเหมือนกันกับพระกริ่งของคุณตา ขนาดเล็กรูปสัณฐานก็อย่างเดียวกัน เป็นแต่ย่อมลงไปหน่อยหนึ่ง สันนิษฐานว่าจะเป็นอย่างที่เสด็จพระอุปัชฌาย์ตรัสเรียก่าพระกริ่งเหลืองนั่นเอง แต่ประหลาดอยู่พระพุทธรูปที่พบบนเขาพนมปาเกงไม่ปิดฐานทำเป็นพระกริ่ง จะเป็นด้วยเหตุใดรู้ไม่ได้ เห็นได้เป็นแน่แท้ว่าคงมีพิมพ์สำหรับทำหุ่นขี้ผึ้งแล้วหล่อพระพุทธรูปชนิดนั้นคราวละมากๆ รูปสัณฐานจึงเหมือนกันทั้งหมด สังเกตเห็นเค้าเงื่อนขึ้นใหม่อีกอย่าง ๑ ที่พระเศียรและดวงพระพักตร์พระกริ่งเป็นแบบจีนผิดกับพระพุทธรูปแบบขอม ทั้งฐานทำบัวหงายบัวคว่ำเป็นอย่างบัวหลังเบี้ยตามแบบพระพุทธรูปจีน จึงสันนิษฐานว่าพระกริ่งเห็นจะเป็นของหล่อในเมืองจีน แล้วส่งมายังกรุงกัมพูชาในสมัยเมื่อกำลังรุ่งเรือง คือที่เขมรเรียกกันว่า ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ความที่ว่านี้ต่อมาได้พบหลักฐานประกอบที่สถานทูตเดนมาร์คในกรุงเทพฯ ด้วยท่านเครเมอราชทูตเคยอยู่ที่เมืองปักกิ่งเมื่อก่อนมากรุงเทพฯ รวบรวมพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ของจีนแต่โบราณไว้หลายองค์ เอาออกตั้งเรียงไว้ในห้องรับแขก วันหนึ่งฉันได้รับเชิญไปกินเลี้ยงแล้วพาไปดูของเหล่านั้น ฉันเห็นพระพุทธรูปองค์ ๑ เหมือนพระกริ่ง แต่กาไหล่ทองและต่างพิมพ์กับพระกริ่งที่มาจากเขมร บอกราชทูตว่าพระพุทธรูปชนิดนั้นถ้าเอาขึ้นสั่นมักจะมีเสียงดังกริ่มอยู่ข้างใน แกลองเอาขึ้นสั่นก็มีเสียงจริงจังว่า เลยประหลาดใจบอกว่าได้พระองค์นั้นไว้หลายปีแล้วเพิ่งมารู้ว่าเป็นพระกริ่งเพราะฉันบอก ต่อมาเมื่อจะกลับไปบ้านเมืองเลยให้ฉันไว้เป็นที่ระลึก มองสิออร์มาสาลที่นครวัดก็มีแก่ใจแบ่งพระที่พบในกรุงบนยอดเขาพนมปาเกงให้เพื่อมาเป็นที่ระลึกเช่นเดียวกัน เดี๋ยวนี้ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพฯ ฉันเพิ่งมารู้เรื่องตำนานของพระกริ่งตามทางวิชาโบราณคดีเมื่อเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ค้นหามูลเหตุที่สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ในอินเดีย ได้ความว่าเดิมมีแต่ ๘ ปาง คือแบบอย่างอนุโลมตามเรื่องพุทธบริโภคเจดีย์ทั้ง ๘ แห่ง ครั้นต่อมาเมื่อเกิดลัทธิมหายานขึ้นในพระพุทธศาสนา พวกถือลัทธิมหายานคิดทำพระพุทธรูปขึ้นอีกปาง ๑ เป็นพระนั่ง พระหัตถ์มือหม้อน้ำมนต์ หรือ วชิร หรือผลไม้ที่เป็นโอสถเช่นลูกสมอเป็นต้น เรียกว่า ไภสัชชคุรุ สำหรับโสรจสรงน้ำมนต์รักษาโรคและบำบัดภัย เมื่อได้ความตามตำราดังนี้ก็เข้าใจตลอดไปถึงเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐาน พระกริ่งตรึงไว้ใน ขันครอบซึ่งโปรดฯ ให้พระมหาเถระดับเทียน ทำน้ำมนต์ถวายในมงคลราชพิธีเช่นงานเฉลิมพระชันษาเป็นต้น อันยังเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้ พระกริ่งที่ได้มาถึงเมืองไทย ก็คงเป็นด้วยพบกรุอย่างเช่นมองสิเออร์มาสาลว่าในกาลก่อน แต่พวกเขมรไม่นิยมพระกริ่งเหมือนกับไทย นานเข้าพระกริ่งจึงมามีแต่ในประเทศสยาม

ครั้งฉันเลื่อมใสเครื่องรางในสมัยเมื่อบวชเป็นสามเณรนั้น ได้เคยเห็นฤทธิ์เครื่องรางประจักษ์แก่ตัวเองครั้งหนึ่ง เมื่อจะต้องไปเทศน์มหาชาติในวังหน้า พระมหาราชครูมหิธร (ชู) ผู้เป็นอาจารย์ วิตกเกรงฉันจะไปประหม่าเทศน์ไม่เพราะ มีใครบอกว่าอาจารย์วิทยาคมคนหนึ่งทำเครื่องรางกันประหม่าได้ให้ไปขอ ได้มาเป็นก้อนขี้ผึ้งแข็งปั้นกลมๆ ขนาดสักเท่าเมล็ดมะกล่ำตาช้าง บอกว่าเมื่อจะขึ้นธรรมาสน์ให้อมไว้ใต้ลิ้นจะไม่ประหม่าเลย ฉันกระทำตามก็ได้จริงดังสัญญา มิได้รู้สึกครั่นคร้ามตกประหม่าเลยแต่สักนิดเดียว จนพระหมาราชครูผู้อาจารย์ประหลาดใจ ก็เลยลงเนื้อเชื่อถือว่า เพราะเครื่องรางนั้นป้องกัน ต่อมาหวนคิดเมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงเข้าใจว่าความเชื่อมั่นของเราในเครื่องรางนั่นเองป้องกันมิให้ตกประหม่า ทำนองเดียวกับรดน้ำมนต์แก้โรคต่างๆ

เรื่องเล่นวิทยาคมที่เล่ามา เป็นการเล่นของฉันในตอนเช้าก่อน เพลเมื่อเพลแล้วประเพณีพระเณรย่อมนอนกลางวัน ถึงตอนบ่ายมักไปเที่ยวกับพวก (มหาดเล็ก) เด็กหนุ่มที่ไปอยู่ด้วย ไปเล่นที่ลานรอบวิหารพระศาสดาเป็นพื้น บางวันก็ช่วยกันทำดอกไม้ไฟจุดเล่น บางวันก็เล่านิทานสู่กันฟัง ไม่มีอะไรเป็นสาระนอกจากไม่ทำความชั่วเท่านั้น ครั้นเวลาเย็นพระเณรที่ชอบอัธยาศัยอยู่ในคณะเดียวกัน มักไปประชุมกันที่กุฏิองค์ใดองค์หนึ่ง ตรงนี้ควรชมประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเสมอกันหมด ไม่ต้องยำเกรงด้วยยศศักดิ์ นั่งสนทนาปราศรัยกันตามชอบ ในเวลาประชุมกันตอนเย็นนี้ โดยเฉพาะผู้บวชใหม่เริ่มจะเกิดหิว จึงมักช่วยกันเคี่ยวน้ำตาลน้ำผึ้งสำหรับบริโภคกับน้ำชาในเวลาค่ำ การเคี่ยวน้ำตาลกับน้ำผึ้งที่ว่านี้ ค่าที่พระตามวัดเคยทำสืบต่อกันมาช้านาน อาจจะผสมส่วนทำได้แปลกๆ น่ากินหลายอย่า สนทนากันและกินน้ำชากับน้ำตาลน้ำผึ้งเป็นที่บันเทิงใจ จนเวลาค่ำกลับขึ้นกุฏิ การท่องสวดมนต์มักท่องเวลานี้กับเวลาแรกรุ่งเช้าก่อนออกบิณฑบาตอีกเวลาหนึ่ง ครั้นถึงเวลา ๒๐ นาฬิกาได้ยินเสียงระฆังสัญญาณก็พากันลงโบสถ์เวลาค่ำ เสด็จแล้วก็เป็นสิ้นกิจประจำวัน ตามความที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าการที่บวชเป็นสามเณรนั้น โดยเฉพาะเจ้านาย ถ้าบวชแต่พรรษาเดียวดูไม่สู้จะเป็นประโยชน์เท่าใดนัก เพราะยังเป็นเด็กเห็นแต่แก่จะสนุกสนาน ฟังสั่งสอนศีลธรรมก็ยังมิใคร่เข้าใจ ได้ประโยชน์เป็นข้อสำคัญแต่ความคุ้นเคยอยู่ในบังคับบัญชา และสมาคมกับเพื่อนพรหมจรรย์โดยฐานเป็นคนเสมอกันเป็นนิสัยปัจจัยต่อไปข้างหน้า แต่จะว่าการที่บวชเณรไม่เป็นประเพณีดีก็ว่าไม่ได้ ถ้าคิดถึงขั้นบุคคลพลเมืองสามัญในสมัยเมื่อรัฐบาลยังมิได้ตั้งโรงเรียน ที่เรียนหนังสือและเรียนศีลธรรมมีแต่ในวัด พ่อแม่ส่งลูกไปอยู่วัดก็คือว่าให้ไปเข้าโรงเรียนนั่นเอง ขั้นแรกเป็นแต่ลูกศิษย์วัดตรงกับเรียนวิชาชั้นปฐมศึกษา เมื่อได้ความรู้เบื้องต้นและคุ้นกับวัดจนเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงให้บวชเป็นสามเณรเสมือนเลื่อนขึ้นเป็นชั้นมัธยม มีเวลาเล่าเรียนมากขึ้น และได้รับความเคารพอุดหนุนของชาวบ้านยิ่งกว่าเป็นลูกศิษย์วัด แต่ต้องบวชเป็นสามเณรอยู่นานจนถึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือมิฉะนั้นก็ต้องบวชหลายพรรษา จึงจะได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ติดตัวในเวลาเมื่อสึกไปเป็นคราวาส เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นประธานสงฆ์ ทรงพระดำริความตามที่กล่าวมานี้ จึงจัดตั้งวิธีสอนและสอบความรู้พระเณรที่เป็น นวก บวชพรรษาเดียวซึ่งใช้เป็นแบบอยู่ทั่วไป ณ บัดนี้ โดยพระประสงค์จะปลูกน้ำใจผู้บวชใหม่ให้นิยมพยายามศึกษาประกวดกันและกัน ตั้งแต่แรกบวชไปจนสมหมายเมื่อสิ้นพรรษา และความรู้ศีลธรรมติดตัวไปเป็นประโยชน์เมื่อเวลาเป็นฆราวาส การที่บวชพรรษาเดียวเดี๋ยวนี้จึงนับว่าดีกว่าสมัยเมื่อฉันบวชเณรมาก แต่ถ้าบวชอยู่ตั้ง ๒ พรรษาขึ้นไป ถึงในสมัยก่อนก็เป็นประโยชน์เพราะสมัครเป็นบรรพชิต ด้วยเห็นทางที่จะแสวงหาคุณวิเศษอย่างไรต่อไปแล้วจึงบวชอยู่ พอล่วงพรรษาแรกก็ตั้งหน้าพยายามตามจำนง เป็นต้นว่าเรียนภาษามคธ หรือฝึกหัดศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ในวัดนั้นต่อไปจนสำเร็จ พระเถระที่รอบรู้พระธรรมวินัยและช่างที่มีชื่อเสียงมาแต่ก่อน ล้วนเริ่มเรียนวิชาแต่เวลายังบวชเป็นสามเณรแทบทั้งนั้น ว่าถึงตัวฉันเองเมื่อออกพรรษาปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้พระราชทานกฐินหลวงให้ไปทอดที่วัดคงคาราม ได้ไปเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งแรก ทอดกฐินแล้วกลับมาก็สึกในเดือน ๑๒ นั้น ก่อนจะสึกต้องถวายดอกไม้ธูปเทียนทูลาเสด็จพระอุปัชฌาย์แล้วต้องเข้าเฝ้าทูลลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แต่ไม่มีความลำบากอันใด ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบมาแต่แรกแล้วว่าฉันจะบวชแต่พรรษาเดียว แล้วจะสึกออกมารับราชการ ก็พระราชทานบรมราชานุญาตโดยง่าย

เมื่อสึกแล้วฉันไปอยู่บ้านคุณตาที่ฉันได้รับมรดก แม่ก็ออกไปอยู่ด้วย เหตุที่ฉันจะได้บ้านคุณตาเป็นมรดกนั้น แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อฉันยังเด็ก คุณตาซื้อบ้านจงผึ้งที่ริมคลองวัดสุทัศน์ฯ ไว้ แล้วบอกแก่แม่ว่าเมื่อฉันโตขึ้นจะให้เป็นที่ทำวังของฉัน จะได้อยู่ใกล้ๆ กับกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๔ คุณป้าเที่ยงสิ้นวาสนาจะออกไปอยู่นอกวังกับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ แต่ท่านอยากมีบ้านของท่านเองต่างหาก คุณตาสงสารจึงโอนที่บ้านจงผึ้งไปให้แก่คุณป้าเที่ยง เพราะบ้านนั้นอยู่ใกล้กับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ ดังกล่าวมาแล้ว ท่านจึงบอกแก่แม่ว่าจะให้บ้านของท่านเองแทนบ้านจงผึ้ง แล้วแสดงให้ปรากฎในวงญาติว่าจะให้บ้านของท่านเป็นมรดกแห่ฉัน เพราะตัวท่านก็แก่ชราแล้ว กว่าฉันจะเติบใหญ่ถึงต้องมีรั้ววังก็เห็นจะพอสิ้นอายุของท่าน หรือมิฉะนั้นถ้าท่านยังอยู่ก็จะได้ไปอยู่กับท่านไปพลาง น่าจะเป็นเพราะท่านเจตนาเช่นนั้น คุณตาจึงมักรับฉันไปนอนค้างที่บ้านบ่อยๆ ดังเล่ามาแล้ว ผิดกับเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่เป็นหลานด้วยกัน เผอิญการก็เป็นอย่างคุณตาว่า พอถึงปีฉันโกนจุก คุณตาก็ถึงอนิจกรรม บ้านของคุณตาจีงตกเป็นของฉันแต่นั้นมา เรือนชานในบ้านของคุณตาสร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งนั้น มีตึกหลังเดียวเรียกว่าหอสูง ที่ท่านอยู่ และฉันอยู่ต่อมาในตอนก่อนสร้างเป็นวัง มีของแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง คือเสาสำหรับชักธงเหมือนอย่างที่มีตามสถานกงสุลปักไว้ข้างหน้าบ้าน ฉันมาทราบในภายหลังว่าการสำเสาธงนั้นเกี่ยวกับการเมืองเป็นข้อสำคัญ ควรจะเล่าไว้ให้ปรากฎ คือในเมืองไทยแต่ก่อนมา การตั้งเสาชักธงมีแต่ในเรือกำปั่น บนบกหามีประเพณ๊เช่นนั้นไม่ มีคำเล่ากันมาว่าแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรือบัดนี้) อันเป็นที่เสด็จประทับ และชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระกฐิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ตรัสถามผู้ที่อยู่ใกล้พระองค์ว่า "นั่นท่านฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตาทำไม" พิเคราะห์เห็นว่ามิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่าทำโดยเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้นเพราะไม่โปรดที่เอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้ทำเสาธงขึ้นทั้งในวังหลวงและวังหน้า เสาธงวังหลวงให้ชักธงตราพระมหามงกุฎ และเสาธงวังหน้าให้ชักธงจุฑามณี (ปิ่น) คนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่าเสาชักธงนั้นเป็นเครื่องหมายพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศแล้ว มีกงสุลนานาประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งเสาชักธงชาติของตนขึ้นตามสถานกงสุล เหมือนอย่างสถานกงสุลที่เมืองจีน คนทั้งหลายที่ไม่รู้ประเพณีฝรั่ง ก็พากันตกใจ โจษกันว่าพวกกงสุลจะเข้ามาตั้งแข่งพระราชานุภาพ ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชดำริหาอุบายแก้ไขด้วยดำรัสสั่งเจ้านายต่างกรมกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ให้ทำเสาธงข้างขึ้นตามวัง และที่บ้านเมื่อมีเสาธงชักธงขึ้นมากคนทั้งหลายก็หายตกใจ เรื่องนี้ฉันเคยเล่าให้พวกราชทูตต่างประเทศฟังหลายคน พากันชอบใจชมพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าช่างทรงพระราชดำริแก้ไขดีนัก แต่เมื่อฉันได้บ้านคุณตา ปัญหาเรื่องเสาธงระงับมาช้านานแล้ว เสาธงของคุณตาก็ผุยังแต่จะหักโค่น จึงสั่งให้เอาลงเสีย

เรื่องที่จะเล่าในตอนต่อนี้ไป จะว่าด้วยราชการบ้านเมืองที่ฉันได้ทันเห็นเมื่อเป็นเด็กอยู่ในปีระกา พ.ศง ๒๔๑๗ และปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่มารู้ความตระหนักเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เป็นการสำคัญมีหลายเรื่อง

ทรงพระนิพนธ์ค้างไว้เพียงเท่านี้