ความรู้รอบตัวฯ (เขษมบรรณกิจ)/ครั้งแรกของไทย (คำถามที่ ๑–๕๐)
กองวิชาการ เขษมบรรณกิจ, ปฤษดางค์, ชวน ธนากร ขำสุวัฒน์. ความรู้รอบตัว ชุด ครั้งแรกของไทย–ราชพิธีกษัตริย์โบราณ–เมืองโบราณของไทย–วันสำคัญ–แผ่นดินไทยที่น่ารู้. พระนคร : เขษมบรรณกิจ, 2502–2504. ประมาณ 720 หน้า. (หนังสือรวมเล่ม ราคาหน้าปก 25 บาท)
ที่อยู่สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์ เขษมบรรณกิจ 232–234 ตลาดปีระกา นครเขษม พระนคร โทรศัพท์ 21339
ครั้งแรกของไทย (คำถามที่ ๑–๕๐)
[แก้ไข]๏๑ ครั้งแรก ไทยเราอยู่ที่ไหน ? (ครั้งแรกรวมกันอยู่ที่ภูเขาอัลไทย “ALTAI” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของมองโกเลีย, ต่อมาไทยได้ขยายเผ่า แผ่พันธุ์เรื่อยลงมาทางบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) และได้ตั้งอาณาจักรขึ้นที่นั่นเมื่อก่อนพุทธศักราช ๓๕๐๐ ปี (ก.พ.ศ. ๓๕๐๐) เรียกว่าอาณาจักรไทยเมือง (จีนเรียก ‘ไทยมุง’))
๏๒ เมืองหลวง (หรือราชธานี) ครั้งแรกของไทย ชื่ออะไร ตั้งขึ้นที่ไหน เมื่อใด ? (เมืองหลวงหรือราชธานีของไทยที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อ “นครหลวง” (จีนเรียก ‘นครลุง’) ตั้งขึ้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง เมื่อก่อนพุทธศักราช ๓๕๐๐ ปี, คือเมื่อไทยตั้งอาณาจักรไทยเมืองแล้ว ก็สร้างเมืองหลวงขึ้น ชื่อ “นครหลวง” เป็นราชธานีของอาณาจักรไทยเมือง (จะตอบว่า ‘ชื่อ นครหลวง ตั้งขึ้นที่อาณาจักรไทยเมืองเมื่อ ก.พ.ศ. ๓๕๐๐’ ดังนี้ ก็ได้), นครหลวงอันเป็นราชธานีของอาณาจักรไทยเมือง ตั้งอยู่ที่ต้นแม่น้ำเหลือง)
๏๓ ครั้งแรกของไทยที่ได้อพยพเข้ามาสู่แหลมทองหรือแคว้นสุวรรณภูมิ์นั้น เข้ามากี่สาย เมื่อใด ? (เข้ามาสองสาย คือสายแม่น้ำคงสาย ๑ เรียกว่า “ไทยใหญ่” และสายแม่น้ำโขงอีกสายหนึ่ง เรียกว่า “ไทยน้อย” อพยพเข้ามาเมื่อก่อนพุทธศักราช ๗๕ ปี (ก.พ.ศ. ๗๕))
๏๔ ครั้งแรกของไทยที่ได้อพยพเข้ามาสู่แคว้นสุวรรณภูมิ์แล้ว ทั้งไทยใหญ่และไทยน้อย ได้ตั้งเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ที่ใด ? (ไทยใหญ่ได้ตั้งเมืองมาวขึ้นที่เหนือพม่า เมื่อ ก.พ.ศ. ๗๕ ส่วนไทยน้อยนั้น ลุ พ.ศ. ๒๔ จึงได้ตั้งเมืองหนายขึ้นบนฝั่งแม่น้ำโขง)
๏๕ ครั้งแรกที่พม่ายกกองทัพเข้ามารบไทยนั้น เมื่อใด ที่ไหน และใครเป็นจอมยกทัพมา ? (เมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๑ พระเจ้าหงสาวดี ตะเบ็งชเวตี้เป็นจอมทัพ ยกกองทัพหงสาวดี ซึ่งมีทั้งพม่าชาวตองอูและรามัญชาวหงสาวดีรวมกัน ยกมาตีเมืองเชียงกราน (มอญเรียกว่า “เมืองเดิงกรายน์”, อังกฤษเรียกว่า “เมืองอัตรัน”) อยู่ในอาณาจักรไทยปลายเขตแดน ชาวเมืองเป็นมอญ ได้เป็นเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ทรงเข้าพระทัยผิดว่าเมืองเชียงกรานเป็นมอญ ควรจะเป็นดินแดนของหงสาวดี จึงยกทัพใหญ่มาหวังจะกวาดเอาเมืองเชียงกรานเข้าไปรวมเป็นอาณาเขตหงสาวดีดุจดังเมืองมอญอื่น ๆ ทั้งปวง, สมเด็จพระชัยราชาธิราช เจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้ทรงทราบข่าวศึก จึงยกกองทัพไทยออกไปขับไล่ตีกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้แตกพ่ายแพ้เตลิดหนีกลับคืนไปกรุงหงสาวดี; จึงเมืองเชียงกรานที่ได้เป็นปฐมเหตุแห่งการยุทธระหว่างศึกพม่ากับไทยรบกันเป็นครั้งแรกนี่เอง เลยเป็นมูลเหตุทำให้เกิดสงครามพม่ากับไทยในระยะต่อมา)
๏๖ ครั้งแรกของไทยที่กษัตริย์ต้องเสียพระชนม์ชีพเอกอัครมเหสีในท่ามกลางสนามรบขณะทรงกระทำยุทธหัตถีกับข้าศึกนั้น รบกันที่ไหน เมื่อใด ใครกับใคร และเสียผู้ใดไป ? (เป็นการรบกันที่ชานพระนครศรีอยุธยา ทางทุ่งลุมพลีด้านเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ โดยการรบระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตราธิราชกรุงศรีอยุธยา กับพระเจ้าแปร แม่ทัพหน้าฝ่ายหงสาวดี ขณะที่แม่ทัพทั้งสองฝ่ายนำช้างพระที่นั่งอันเป็นช้างศึกเข้าชนกันในเชิงผรณยุทธหัตถีท่ามกลางสมรภูมิ์นั้น ช้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียที เบนออกวิ่งหนีจะรั้งเอาไว้มิอยู่ พระเจ้าแปรเห็นดังนั้น ก็เร่งช้างทรงของตนพร้อมด้วยเงือดเงื้อพระแสงของ้าวไล่ตามไปติด ๆ หวังจะปลิดเอาพระชนม์ชีพเสียให้เป็นการเผด็จศึกลงในบัดดล สมเด็จพระสุริโยทัย เอกอัครมเหสี ซึ่งแต่งพระองค์เป็นชายในเครื่องทรงมหาอุปราช ยืนช้างทอดพระเนตรการรบอยู่ ทรงเห็นดังนั้นจึงไสพระคชาธารทรงเข้าไปกั้นขวางกลาง ช่วยรบเพื่อป้องกันพระชนม์ชีพพระสวามีไว้ แต่พระนางเสียทีให้พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วพระแสงของ้าวเต็มกำลัง ถูกพระอังษาขาดถึงราวพระถันประเทศ สิ้นพระชนม์ซบพระวรกายอยู่กับคอช้าง พระราเมศวรกับพระมหินทร์ พระราชโอรสทั้งสอง ได้เข้าช่วยแก้กันเอาพระศพพระราชมารดาออกมาได้ แล้วรีบให้ถอยกองทัพกลับคืนเข้าพระนครศรีอยุธยา เป็นอันว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ต้องเสียพระชนม์ชีพสมเด็จพระสุริโยทัย เอกอัตรมเหสีไปในการศึกครั้งนี้)
๏๗ ครั้งแรกของไทย ที่ได้ชาวผิวขาวมาสมัครไปในกองทัพเป็นอาสาช่วยรบนั้น ชาวผิวขาวชาติใด รบเมื่อใด และรบกับใคร ? (ชาวผิวขาวชาติปอร์ตุเกสจำนวน ๑๒๐ คน สมัครไปในกองทัพสมเด็จพระชัยราชาธิราช คราวรบกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ครั้งศึกตีเชียงกรานเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๑)
๏๘ ครั้งแรกของไทยที่ได้มีมหาราชพระองค์ที่ ๑ นั้น ทรงพระนามว่าอย่างไร ? เป็นพระราชโอรสของใคร ? และทรงกระทำการกู้ชาติเมื่อใด ? (ทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมมหาราช, เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพังคราช กษัตริย์โยนกนคร, ทรงกระทำการกู้ชาติ เมื่อ พ.ศ. ๑๖๖๐)
๏๙ ครั้งแรกของไทยที่ได้ทำสงครามกับขงเบ้งนั้น เมื่อใด ? ที่ไหน ? และใครเป็นผู้ออกต่อรบกับขงเบ้ง ? (เมื่อ พ.ศ. ๗๖๘, ที่แดนเมืองมันอ๋อง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเสฉวน, พระเจ้าเมืองเอก (จีนเรียก ‘เบ้งเฮก’) เจ้าเมืองมันอ๋อง เป็นผู้ออกต่อรบกับขงเบ้ง)
๏๑๐ ครั้งแรกของไทย ที่ได้เสียช้างให้แก่พระเจ้าหงสาวดีนั้น เมื่อใด และตอนไหน ? (เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ ตอนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียสมเด็จพระสุริโยทัยแล้วนำพระศพถอยทัพกลับเข้าพระนคร ฝ่ายหงสาวดีได้รุกตามมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ ชาวพระนครศรีอยุธยาได้ทำการต่อสู้ป้องกันเมือง พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้จะหักเอาเมืองมิได้ สะเบียงอาหารได้ร่อยหรอลง ทั้งเป็นเวลาใกล้น้ำหลาก จึงรีบถอยทัพกลับ, สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระราเมศวรจึงไล่ตามตีกองทัพหงสาวดี เสียทีแก่บุเรงนอง จับเอาทั้งสองไปถวายพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้, สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงยอมเสียช้างชนะงาสองเชือก คือพลายศรีมงคล กับพลายมงคลทวีป ไปไถ่เอาตัวสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบุตรเขย กับสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรส เอากลับคืนมา, นับเป็นครั้งแรกที่ไทยได้เสียช้างให้แก่พระเจ้าหงสาวดี)
๏๑๑ มหาราชของไทยพระองค์ไหน ที่เสด็จไปประเทศจีนเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. เท่าใด ? (พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เสด็จไปประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๗ นับเป็นครั้งแรกของไทยที่องค์มหาราชเสด็จไปถึงกรุงจีน, ลุ พ.ศ. ๑๘๔๓ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช จึงเสด็จไปประเทศจีนอีกเป็นครั้งที่ ๒)
๏๑๒ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อใด ? (ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยดัดแปลงเอามาจากอักษรคฤนถ์ ซึ่งเป็นอักษรที่ได้ใช้กันอยู่ในอินเดียตอนใต้ (เช่นเดียวกับหนังสือขอม, มอญ และลาว ก็ได้ดัดแปลงเอามาจากอักษรคฤนถ์นี้ดุจกัน) ล่วงมาถึง พ.ศ. ๑๘๓๕ พระเจ้ารามคำแหงได้ทรงดัดแปลงตัวหนังสือไทยอีกครั้งหนึ่ง ทรงประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม; สืบมาถึง พ.ศ. ๒๒๒๓ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงดัดแปลงแก้ไขอีก ให้เขียนได้อ่านง่ายและรัดกุมดียิ่งขึ้นกว่าสมัยสุโขทัย, คือสมัยสุโขทัย เขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เรียงกันอยู่ในบันทัดเดียวกันหมด, ถึงสมัยอยุธยา ได้ถูกดัดแปลงแก้ไขให้สระอยู่หน้าและอยู่หลัง กับวรรณยุกต์อยู่ล่างและอยู่บน)
๏๑๓ ครั้งแรกของไทย ที่มีตำแหน่งทหารยศจอมพลนั้น ในรัชสมัยไหน ? (ในรัชสมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ทรงจัดระเบียบการบริหารประเทศ ให้ถือว่าชายฉกรรจ์ทุกคนเป็นทหาร องค์พระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ มีพระราชอิสริยยศเป็นจอมพล โปรดให้ข้าราชการได้รับยศเป็นนายพล นายพัน นายร้อย ถัดกันลงมาเป็นลำดับ, และข้าราชการผู้ใดได้มีความดีความชอบยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ ก็โปรดให้ได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล ด้วยการทรงไว้วางพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดุจทรงไว้วางพระทัยในองค์ของพระองค์เอง)
๏๑๔ ครั้งแรกของไทย ที่ได้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น พ.ศ. ใด ? ใครเป็นผู้สร้าง ? (เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ สำเร็จลงใน พ.ศ. ๑๘๙๑ พระเจ้าอู่ทอง (พระนามเดิมว่า ‘เจ้าราม’) ทรงสร้าง เมื่อทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นกษัตราธิราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ และทรงประกาศอิสรภาพ ไม่ขึ้นแก่ใคร คือไม่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัย และไม่ขึ้นแก่ขอมทั้งสิ้น)
๏๑๕ ครั้งแรกของไทย ที่มีตำแหน่งเสนาบดีขึ้น ๔ ตำแหน่ง ซึ่งเรียกว่า ‘จตุสดมภ์’ นั้น เริ่มเกิดขึ้นในรัชกาลไหน ? ใครเป็นผู้จัดลักษณะการปกครองดังนี้ ? (เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทองทรงจัดดำเนินลักษณะแห่งการปกครอง, คำว่า ‘จตุสดมภ์’ แปลว่า ‘สี่หลัก’ หมายถึงการปกครองสี่หลัก คือ เวียง, วัง, คลัง, นา, ส่วนผู้ที่ได้เป็นเสนาบดี ได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง ขุนนา)
๏๑๖ พระพุทธศาสนา ได้เข้ามาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ใด ? ใครเป็นผู้นำเข้ามา ? (เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมภูทวีป (อินเดีย) ได้โปรดให้สมณทูต ๒ องค์ คือพระโสณะเถระ กับพระอุตตระเถระ เป็นผู้นำเข้ามา และโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุด และเป็นครั้งแรกที่สุดของไทยที่มีพระเจดีย์ปรากฏขึ้น)
๏๑๗ พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุด และเป็นองค์แรกที่สุดของไทย สร้างเมื่อ พ.ศ. ใด ? ใครเป็นผู้สร้าง ? (พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดและองค์แรกที่สุด คือพระปฐมเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙ หลังจากสมณทูตชมภูทวีปเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาได้ ๔ ปีแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ โปรดให้สมณทูตทั้งสองพระองค์จัดสร้างขึ้น ปรากฏอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ที่จังหวัดนครปฐม)
๏๑๘ ครั้งแรกของไทย ที่สามารถยกกองทัพไปตีหงสาวดีแตกและบุกไปถึงกรุงตองอูนั้น มหาราชองค์ใดเป็นผู้นำทัพ และนำทัพไปเมื่อ พ.ศ. เท่าใด ? (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงนำทัพไปเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๒)
๏๑๙ ครั้งแรกของไทย มี ‘บางกอก’ อยู่ที่ไหน และปัจจุบันนี้ ‘บางกอก’ ยังหมายถึงที่เดิมหรือที่ใด ? (มี ‘บางกอก’ อยู่ที่จังหวัดธนบุรี ซึ่งยังมีนามสองคลองปรากฏอยู่ เรียกว่า คลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่; แต่ปัจจุบันนี้ ‘บางกอก’ หมายถึงจังหวัดพระนคร)
๏๒๐ ครั้งแรกของไทย ได้ถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อใด ? และท่วมที่ไหน ? (เมื่อก่อนพุทธกาลขึ้นไป๑๗๒๐ ปี ขณะที่ไทยกำลังมารวมกันอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ทำให้ไทยต้องเสียชีวิตไปทั้งหญิงชายชรา, หนุ่มสาว, และเด็ก รวมกันเป็นจำนวนหลายหมื่น)
๏๒๑ ครั้งแรกของไทย เริ่มสนิทสนมกับจีนมาตั้งแต่ พ.ศ. ใด ? (เริ่มมาตั้งแต่ก่อนพุทธศักราชขึ้นไปสองพันสี่ร้อยปี (ก.พ.ศ. ๒๔๐๐) ในขณะที่จีนได้อพยพเข้าไปรวมอยู่กับไทย ในอาณาจักรไทยเมือง ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง)
๏๒๒ ครั้งแรกของไทย ที่ได้มีการเจริญพระราชไมตรีกับทิเบต พ.ศ. ใด ? (พ.ศ. ๑๒๙๕ ในรัชสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง กษัตริย์ไทยในอาณาจักรน่านเจ้า, พระเจ้าโก๊ะล่อฝงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพีล่อโก๊ะ และเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งอาณาจักรน่านเจ้า, เวลานั้นไทยมีอาณาจักรกว้างขวางใหญ่โต แคว้นสิบสองปันนา, สิบสองจุไทย, ลานนาและลานช้าง ได้รวมกันอยู่ในอาณาจักรนี้ทั้งสิ้น)
๏๒๓ ครั้งแรกของไทย ที่ตั้งอาณาจักรน่านเจ้านั้น พ.ศ. ใด ? มีนครหลวงชื่อใด ? และใครเป็นกษัตริย์ปกครอง ? (พ.ศ. ๑๑๗๓ มีนครหลวงชื่อนครหนองแส (จีนเรียก ‘ม่งแซ’) พระเจ้าเมืองแสหลวง (จีนเรียก ‘มองเซียหลง’) เป็นกษัตริย์ปกครอง จีนเรียกอาณาจักรไทยน่านเจ้านี้ว่า ‘นันเจา’ อาณาจักรนี้ได้ถูกกลืนไปหมด ต้องสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๗)
๏๒๔ ครั้งแรกของไทยที่ได้ตั้งอาณาจักรอ้ายลาวขึ้นนั้น เมื่อใด ? (เมื่อก่อนพุทธศักราชเจ็ดสิบห้าปี (ก.พ.ศ. ๗๕) อยู่ในดินแดนฮุนหนำ ซึ่งปัจจุบันนี้จีนเรียกว่า ‘ยูนนาน’)
๏๒๕ ครั้งแรกของไทย ที่ตั้งแคว้นลานนาขึ้นนั้น พ.ศ. ใด และใครเป็นผู้ตั้ง ? (พ.ศ. ๑๒๙๘ ท้าวไชยพงศ์ (จีนเรียก ‘ไสผง’) เป็นผู้ตั้ง, ท้าวไชยพงศ์เป็นราชบุตรองค์ที่ ๔ ของขุนบรม ๆ เป็นโอรสของพระเจ้าพีล่อโก๊ะ)
๏๒๖ ครั้งแรกของไทย ที่ตั้งแคว้นลานช้างขึ้นนั้น พ.ศ. ใด และใครเป็นผู้ตั้ง ? (พ.ศ. ๑๒๙๐ ก่อนตั้งลานนา ๘ ปี, ขุนลอซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของขุนบรม เป็นผู้ตั้ง, แคว้นลานช้างอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง แคว้นลานนาอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง, ไทยสมัยโบราณเรียกอาณาจักรลานช้างว่าอาณาจักรตะวันออก, เรียกอาณาจักรลานนาว่าอาณาจักรตะวันตก)
๏๒๗ ครั้งแรกของไทย ตั้งชาติขึ้นเมื่อใด ? (ตั้งชาติขึ้นเมื่อก่อนพุทธศักราชห้าพันปี (ก.พ.ศ. ๕๐๐๐) ขณะที่รวมกันอยู่ที่เขาอัลไทย ให้ชื่อว่าชาติไทย[ไท] (ไม่มีตัว ‘ย’ สกด) ลุ ก.พ.ศ. ๓๕๐๐ อพยพมาอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเหลือง ให้ชื่อว่าชาติอ้ายลาว และ ก.พ.ศ. ๗๕ ได้อพยพมาตั้งอาณาจักรอ้ายลาวขึ้นที่ยูนนาน แต่จีนยังเรียกชาติอ้ายลาวนี้คงเดิมว่าชาติไท, อาณาจักรอ้ายลาวต้องดับไปเมื่อ พ.ศ. ๓๒๘ ครั้งหนึ่ง, ต่อมาขุนเมืองได้กู้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๔๒๑ ตั้งนครเพรายเป็นราชธานี แต่แล้วในที่สุดก็ต้องสูญสิ้นไปอีก เมื่อ พ.ศ. ๗๖๘, คำว่า ‘ชาติอ้ายลาว’ ก็สิ้นสุดลงไปด้วย เหลือแต่คำว่า ‘ลาว’ มาจากคำว่า ‘ละว้า หรือ ลัวะ’, ไทยสูญสิ้นเฉพาะอาณาจักรที่ถูกกลืนไป ส่วนชาติไทยังไม่สูญสิ้น พระเจ้าสีหนุหลวง (จีนเรียก ‘สินุโล’) กษัตริย์รัชกาลที่ ๓ ของอาณาจักรน่านเจ้า ได้รวมไทยแคว้นต่าง ๆ เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วตั้งชื่อชาติให้เหมือนนามเดิมว่า “ชาติไทย” (แต่มีตัว ‘ย’ สกด) ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๙๑ สืบมาจนถึงทุกวันนี้)
๏๒๘ ครั้งแรกที่สร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น พ.ศ. เท่าใด ? ใครเป็นผู้สร้าง ? (พ.ศ. ๑๗๘๑ ขุนบางกลางท่าวเป็นผู้สร้างและราชาภิเศกทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทราทิตย์” ซึ่งเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “พระร่วง”)
๏๒๙ ครั้งแรกของสุวรรณภูมิ์หมายถึงอะไร ? และครั้งหลังหมายถึงอะไร ? (ครั้งแรกหมายถึงแคว้น เรียกว่า แคว้นสุวรรณภูมิ์, ครั้งหลังหมายถึงเมือง เรียกว่า เมืองสุวรรณภูมิ์ คือเมืองสุพรรณบุรีปัจจุบันนี้)
๏๓๐ กษัตริย์ไทยราชวงศ์สุวรรณภูมิ์พระองค์แรก ที่ครองกรุงศรีอยุธยา คือใคร ทรงพระนามว่าอย่างไร เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ใด ? (คือขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐมเหสี (พี่เมีย) ของพระเจ้าอู่ทอง, เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๓ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑)
๏๓๑ ครั้งแรกของไทย ที่ได้สร้างธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีนั้น พ.ศ. ใด และใครเป็นผู้สร้าง ? (พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้าตาก (สิน) เป็นผู้สร้าง)
๏๓๒ เมื่อสร้างกรุงธนบุรีเสร็จแล้ว ศึกครั้งแรกของกรุงธนบุรีได้รบกับใคร ? (ได้รบกับชาวทวาย ซึ่งยกทัพเข้ามาทางไทรโยค มีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ เจ้าเมืองทวายเป็นแม่ทัพ, เวลานั้นทวายขึ้นแก่พม่า ได้รับคำสั่งจากพม่าให้นำทัพทวายเข้ามา แต่ได้ถูกกองทัพธนบุรี ซึ่งมีพระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพ ยกออกไปตีกองทัพทวายแตกหนีกลับคืนไปยังเมืองทวาย นับเป็นศึกครั้งแรกของไทยสมัยกรุงธนบุรี)
๏๓๓ ครั้งแรกของไทย ที่ได้สร้างกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นราชธานีนั้น พ.ศ. ใด และใครเป็นผู้สร้าง ? (สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้าง)
๏๓๔ การรบครั้งแรกของไทย สมัยกรุงเทพฯ รบกับใคร ? (โปรดให้พระยานครสวรรค์เกณฑ์ทัพเขมรไปรบญวนไซ่ง่อนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖)
๏๓๕ ครั้งแรกของไทย ที่เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ใด ? (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับ ร.ศ. ๑๑๒ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯ)
๏๓๖ ครั้งแรกของไทย ที่ได้เข้าร่วมสงครามโลก พ.ศ. ใด ? (พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยไทยเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ กรุงเทพฯ)