คำพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรี ในคดีหมายเลขแดงที่ ๘๔๑๖/๒๕๕๔
หน้านี้ขาดแหล่งที่มาของเนื้อหา ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นเอกสารต้นฉบับที่สแกนมาอัปโหลดไว้ที่วิกิมีเดียคอมมอนส์แล้วจัดทำแบบพิสูจน์อักษร หรือถ้าไม่สามารถอัปโหลดต้นฉบับเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็ควรระบุแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเนื้อหาได้ |
- โจทก์ฟ้องว่า
- จำเลยให้การ
- ระหว่างพิจารณา มารดาของผู้ตายเข้าร่วมเป็นโจทก์
- โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเป็นค่าปลงศพผู้ตาย
- จำเลยให้การเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ร่วมว่า
- ทางพิจารณา
- คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า
- พิพากษา
คดีหมายเลขดำที่ ๖๗๑๖/๒๕๕๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๘๔๑๖/๒๕๕๔ |
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด | โจทก์ | ||
ระหว่าง | นางอังศุ ขำวงศ์ | โจทก์ร่วม | |
นายปริวรรต หรือติ๊บ เลาะภูมิ | จำเลย |
เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ เวลากลางวัน จำเลย กับนายธงชัย หรือแชมป์ ลีเลิศพันธ์ ซึ่งเป็นเยาวชนและถูกแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ร่วมกันมีอาวุธปืนพกลูกซอง (ประกอบขึ้นเอง) ขนาด ๒๐ ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ หนึ่งกระบอก กับลูกกระสุนปืนลูกซองขนาด ๒๐ หลายนัด ไว้ในครอบครองโดยไม่รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนรามคำแหงบริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นถนนสาธารณะอันเป็นเมืองหมู่บ้านโดยเปิดเผย โดยจำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงเด็กชายจตุพร ผลพกา ผู้ตาย ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ อายุเก้าปีเศษ ขณะนั่งอยู่บนรถโดยสารประจำทางเพื่อไปเรียนหนังสือ โดยมีเจตนาฆ่า หนึ่งนัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณหน้าผาก ทะลุเข้าไปในสมองซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เหตุเกิดที่แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ต่อมา เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดอาวุธปืนพกลูกซอง (ประกอบขึ้นเอง) ขนาด ๒๐ จำนวนหนึ่งกระบอก และกระสุนปืนลูกซองขนาด ๒๐ จำนวนหนึ่งนัด เป็นของกลาง และยึดได้ลูกกระสุนปรายกระสุนปืนลูกซองนัมเบอร์ SSG สี่ลูกจากศพผู้ตายเป็นของกลาง กระสุนปืนของกลางหมดไปในการทดลองยิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๒๘๘, ๓๗๑, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔, ๖, ๘, ๗๒, ๗๒ ทวิ และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอังศุ ขำวงค์ มารดาเด็กชายจตุพร ผลผกา ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเป็นค่าปลงศพผู้ตายสี่แสนแปดหมื่นสองพันสองร้อยบาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ร่วม เนื่องจากจำเลยมิได้ร่วมกระทำผิดกับนายธงชัย หรือแชมป์ ลีเลิศพันธ์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน โจทก์ร่วมเคยยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๔๒๓/๒๕๕๓ ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายธงชัยเป็นจำเลย และบิดานายธงชัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมแล้วหนึ่งแสนบาท สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินในส่วนนี้จึงระงับสิ้นไปแล้ว
ทางพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา จำเลย กับนายธงชัย หรือแชมป์ ลีเลิศพันธ์ นายทักษิณ รวยทรัพย์ นายต่อพงษ์ แดงจะนะ นายสิโรจน์ มุทธสากิยบุตร นายสุทธาวุธ ศรีกระสินธุ์ กับพวกซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีบางกะปิประมาณสิบคน ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองวันครบรอบวันเกิดของนายโกศล ถาวร ซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนเทคโนโลยีบางกะปิ ที่อะพาร์ตเมนต์ในซอยมิสทีน จนกระทั่งเวลาประมาณ ๑ นาฬิกาของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ งานเลี้ยงเลิก จำเลย กับนายธงชัย นายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ และนายสุทธาวุธ กับพวก รวมแปดคน ได้พากันไปนั่งดื่มสุราต่อที่ตลาดสดบริเวณหมู่บ้านธรากร ซอยรามคำแหง ๑๖๖ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ถึงเวลาประมาณ ๖ นาฬิกา จึงพากันเดินออกไปที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ เพื่อแยกย้ายกันกลับบ้าน จำเลยขอให้นายต่อพงษ์ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่บ้านที่หนองจอก นายต่อพงษ์ให้จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปเติมน้ำมันให้ก่อนเนื่องจากน้ำมันใกล้จะหมด จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ของนายต่อพงษ์ไปเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ใกล้สามแยกบัวขาว ถนนรามคำแหงฝั่งขาออก แล้วขับกลับไปหานายต่อพงษ์ที่ปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ และบอกพวกของจำเลยซึ่งยืนอยู่ที่ปากซอยดังกล่าวว่า ระหว่างจำเลยขับกลับมา จำเลยถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพซึ่งโดยสารอยู่บนรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ไล่มา หลังจากนั้นประมาณสองถึงสามนาที รถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ก็แล่นไปถึงปากซอยดังกล่าวและชะลอความเร็วลงเพื่อจะจอดรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง จำเลยบอกว่า “คันนี้แหละ” พวกของจำเลยจึงวิ่งไล่ตามรถคันดังกล่าว โดยบางคนหยิบก้อนหิน เศษไม้ เศษปูนแตกจากพื้นถนนขว้างปาไปที่รถ รถจึงไม่จอดที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง ช่วงนั้น นายธงชัยใช้อาวุธปืนพกยิงไปที่รถหนึ่งนัด กระสุนปืนถูกเด็กชายจตุพร ผลพกา ผู้ตาย เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามสำเนามรณบัตร เอกสารหมาย จ. ๑ หลังเกิดเหตุ พันตำรวจตรี สมคิด ประเชิญสุข และเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ติดตามตัวนายทักษิณและนายต่อพงษ์มาสอบถามได้ความว่า นายธงชัยเป็นคนยิง โดยมีจำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกไปดูและขับกลับมาบอกพรรคพวกซึ่งรออยู่ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ให้ทราบว่า รถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ที่กำลังจะจอดที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง มีนักเรียนคู่อริอยู่ บ่ายวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ พันตำรวจตรี สมคิดกับพวกจึงไปติดตามตัวนายธงชัยมาสอบถาม นายธงชัยให้การยอมรับว่า ร่วมกับจำเลยก่อเหตุ โดยเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งนั่งดื่มสุราด้วยกันและจำเลยมอบหมายให้เป็นคนยิง ส่วนจำเลยเป็นคนดูต้นทาง หลังก่อเหตุ นายธงชัยกลับเข้าไปเอารถซึ่งจอดไว้ในซอยรามคำแหง ๑๖๖ แล้วขับหลบหนีไปพบกับจำเลยซึ่งขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปกับนายต่อพงษ์ที่หนองจอกแล้วฝากอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุไว้กับจำเลย พันตำรวจโท บุญมี อยู่เย็น สารวัตรกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล ๓ จึงไปขอหมายค้นและนำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านจำเลย โดยมีนายดำรงค์ เลาะภูมี บิดาจำเลย เป็นผู้นำตรวจค้น ปรากฏว่า พบอาวุธปืนลูกซองสั้นและกระสุนปืนลูกซองสั้นขนาด ๒๐ จำนวนหนึ่งนัด ตามภาพถ่าย หมาย จ. ๔ แผ่นที่ ๕ ซุกซ่อนอยู่ในกล่องเก็บเสื้อผ้า จึงยึดไว้เป็นของกลาง ตามหมายค้นและบันทึกการตรวจค้น เอกสารหมาย จ. ๗ และบัญชีของกลางคดีอาญา เอกสารหมาย จ. ๘ จากนั้น พันตำรวจโท ประดิษฐ์ ทะประสิทธิ์จิตต์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ไปขอหมายจับนายธงชัยจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ตามสำเนาหมายจับ เอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ แล้วพันตำรวจตรี สมคิดจับกุมนายธงชัยตามหมายจับดังกล่าว ตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๑ และที่ ๒ ชั้นสอบสวน พันตำรวจโท ประดิษฐ์แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธงชัยว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นายธงชัยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ. ๑๑ และได้ไปชี้ที่เกิดเหตุให้ถ่ายรูปไว้ ตามหมาย จ. ๔ พันตำรวจโท ประดิษฐ์สอบปากคำนายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ และนายสุทธาวุธไว้ ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ. ๑๙, จ. ๒๐ และ จ. ๒๓ และส่งลูกกระสุนปรายกระสุนปืนลูกซองสี่ลูกซึ่งได้จากการผ่าศพผู้ตายไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับอาวุธปืนและกระสุนปืนที่ยึดได้จากบ้านจำเลย ปรากฏว่า ลูกกระสุนปรายลูกซองดังกล่าวเป็นขนาดและชนิดเดียวกับลูกกระสุนปรายในกระสุนปืนของกลาง ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย จ. ๑๘ จำเลยมีประวัติการกระทำผิดตามรายการประวัติของกองทะเบียนประวัติอาชญากร เอกสารหมาย จ. ๑๓ โจทก์ร่วมเป็นมารดาของผู้ตาย และเป็นผู้จัดการศพผู้ตาย โดยโจทก์ร่วมจัดงานศพผู้ตายที่วัดบำเพ็ญเหนือ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาหนังสือรับการการเป็นผู้จัดการศพ เอกสารหมาย จร. ๑ สิ้นเงินในการสวดพระอภิธรรมศพและฌาปนกิจศพผู้ตายสี่แสนเก้าหมื่นหนึ่งพันบาท และในการทำบุญร้อยวันอีกสี่หมื่นห้าพันบาท ตามบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการงานศพ เอกสารหมาย จร. ๒ เหตุที่โจทก์ร่วมสิ้นค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายจำนวนมากเนื่องจากมีแขกผู้ใหญ่ที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนไปร่วมงานจำนวนมาก ตามภาพถ่าย หมาย จร. ๓ แต่โจทก์ร่วมขอเรียกค่าปลงศพผู้ตายจากจำเลยเพียงสี่แสนแปดหมื่นสองพันสองร้อยบาท โดยจะไปเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอื่นในคดีละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่ง
จำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา จำเลย นายธงชัย นายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ นายสุทธาวุธ นายนพกร และนายกฤษณะไปร่วมงานเลี้ยงฉลองวันครอบรอวันเกิดของนายโกศล ถาวร ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนเทคโนโลยีบางกะปิที่บริเวณอะพาร์ตเมนต์ในซอยมิสทีน จนถึงเวลา ๒๓ นาฬิกาเศษ งานเลี้ยงเลิก จำเลย นายธงชัย นายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ และนายสุทธาวุธได้นำสุราที่เหลือจากในงานเลี้ยงไปดื่มต่อที่บริเวณตลาดธรากร ในซอยรามคำแหง ๑๖๖ จนกระทั่งเวลาประมาณ ๖ นาฬิกาของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ จึงแยกกันกลับ จำเลยขอให้นายต่อพงษ์ซึ่งมีรถจักรยานยนต์ขับไปส่งที่บ้านที่หนองจอก นายต่อพงษ์บอกว่า น้ำมันใกล้หมด จำเลยจึงอาสาขับไปเติมน้ำมันให้ จากนั้น จำเลยขับไปที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก แต่สถานบริการน้ำมันดังกล่าวงดให้บริการ จำเลยจึงขับไปเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ใกล้สามแยกบัวขาว แล้วขับกลับไปที่ซอยรามคำแหง ๑๖๖ ระหว่างที่ขับกลับนั้น จำเลยได้แซงรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ แล้วถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพในรถคันดังกล่าวขว้างปาสิ่งของ จำเลยจึงเร่งเครื่องขับไปบอกนายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ และนายสุทธาวุธซึ่งกำลังยืนอยู่สูบบุหรี่อยู่ที่ริมทางเท้าบริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ส่วนนายธงชัยไม่ได้ยินเรื่องดังกล่าวเพราะเดินไปทิ้งขยะที่บริเวณป้ายจอดรถโดยสารประจำทางซึ่งอยู่ถัดไปจากปากซอยดังกล่าว ช่วงนั้น รถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ แล่นไปถึงปากซอยพอดี นักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพที่อยู่ในรถคันดังกล่าวได้ร้องตะโกนท้าทายว่า “มาสิ ๆ” พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามรถโดยสารประจำทางคันดังกล่าวไป รถจึงไม่จอดรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง หลังจากรถคันกล่าวแล่นผ่านป้ายจอดรถโดยสารประจำทางไปได้ประมาณครึ่งคันก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด จำเลยซึ่งยังยืนคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ห่างจากนายธงชัยประมาณยี่สิบถึงสามสิบเมตรมองไปที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางก็เห็นนายธงชัยกำลังถืออาวุธปืนเล็งไปทางรถคันดังกล่าว โดยนายธงชัยยิงขึ้นไปบนรถเพื่อป้องกันตัวเนื่องจากมีนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพบนรถคันดังกล่าวเล็งปืนไปยังนายธงชัยก่อน หลังจากนั้น นายต่อพงษ์วิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำเลย จำเลยขับกลับไปบ้านที่หนอกจอก เวลาประมาณ ๘ นาฬิกา นายธงชัยจึงได้นำอาวุธปืนและกระสุนปืนหนึ่งนัดไปฝากไว้ในกล่องเสื้อผ้าเก่าในบ้านจำเลยโดยบอกว่า จะมาเอาคืนตอนเย็น ชั้นสอบสวน จำเลยให้การว่า รับฝากอาวุธปืนไว้จากนายธงชัยเท่านั้น มิได้ให้การว่า ร่วมกับนายธงชัยฆ่าผู้ตาย ข้อความตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ. ๑๑ ไม่ตรงกับที่จำเลยให้การแก่พนักงานสอบสวน เมื่อบิดาจำเลยทราบเรื่องดังกล่าวจากจำเลยจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามสำเนาหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เอกสารหมาย ล. ๑
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงและนำสืบรับกันได้ว่า เด็กชายจตุพร ผลผกา ผู้ตาย เป็นบุตรโจทก์ร่วม คืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ จำเลย นายธงชัย นายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ นายสุทธาวุธ กับพวกซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีบางกะปิ ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองวันครอบรอบวันเกิดของนายโกศลซึ่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนดังกล่าว ที่อะพาร์ตเมนต์ในซอยมิสทีน จากนั้น จำเลยกับพวกดังกล่าวไปดื่มสุรากันต่อที่บริเวณตลาดธรากร ในซอยรามคำแหง ๑๖๖ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จนถึงเวลา ๖:๓๐ นาฬิกาของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ จึงพากันเดินออกมาที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของนายต่อพงษ์ออกไปที่บริเวณสถานีบริการน้ำมันเชลล์ใกล้สามแยกบัวขาว ถนนรามคำแหงฝั่งขาออก แล้วขับกลับไปหาพวกของจำเลยดังกล่าวที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ซึ่งมีนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพโดยสารอยู่ด้านหลังแล่นไปถึงปากซอยดังกล่าวและกำลังชะลอความเร็วลงเพื่อจะจอดรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางซึ่งอยู่ถัดไปจากซอยดังกล่าว พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามรถคันดังกล่าวไป รถจึงไม่จอดที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง ส่วนนายธงชัยซึ่งอยู่ที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงขึ้นไปบนรถหนึ่งนัด กระสุนถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามสำเนารายงานการตรวจศพ เอกสารหมาย จ. ๑๕ หลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจนำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านจำเลย พบอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนที่นายธงชัยใช้ในการกระทำผิดและนำไปฝากจำเลยไว้ จึงยึดเป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เอกสารหมาย จ. ๘ จำเลยและนางธงชัยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน ตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนอาวุธปืน เอกสารหมาย จ. ๑๗ คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมกับนายธงชัยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์มีนายทักษิณ รวยทรัพย์ นายต่อพงษ์ แดงจะนะ นายสิโรจน์ มุทธสากิยบุตร และนายสุทธาวุธ ศรีกระสินธุ์ เบิกความว่า พยานทั้งสี่อยู่กับจำเลยและนายธงชัยตั้งแต่ในงานเลี้ยงฉลองวันครอบรอบวันเกิดของนายโกศลจนกระทั่งเกิดเหตุที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ โดยระหว่างที่อยู่ด้วยกัน ไม่มีผู้ใดทราบว่านายธงชัยมีอาวุธปืนติดตัว และไม่มีการพูดคุยว่าจะแก้แค้นนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพด้วย กับยืนยันว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกจากซอยรามคำแหง ๑๖๖ เพื่อไปเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ใกล้สามแยกบัวขาวนานประมาณสิบนาทีก็ขับกลับมาบอกพยานทั้งสี่กับพวกซึ่งยืนอยู่ที่บริเวณปากซอยดังกล่าวว่า ถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพที่อยู่บนรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ไล่มา จากนั้น ประมาณสองถึงสามนาทีก็มีรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ แล่นมาถึง จำเลยบอกว่า “คันนี้แหละ” พยานกับพวกจึงวิ่งไล่ตามพร้อมกับขว้างปาก้อนหิน เศษปูน เศษไม้ที่หยิบได้จากบริเวณนั้นใส่ท้ายรถซึ่งมีนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพนั่งบ้างยืนบ้างอยู่บนรถ ช่วงเดียวกันนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด เมื่อมองไปทางป้ายจอดรถโดยสารประจำทางก็เห็นนายธงชัยกำลังลดระดับอาวุธปืนที่ถือเล็งไปทางรถโดยสารประจำทางคันดังกล่าว ส่วนจำเลยยังคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ห่างจากนายธงชัยประมาณยี่สิบถึงสามสิบเมตร นอกจากนั้น โจทก์มีนายปิยะ เดชจร พนักงานขับรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ คันเกิดเหตุ เบิกความว่า พยานรับนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพขึ้นนั่งที่บริเวณเบาะหลังรถประมาณหกคน ขณะที่พยานขับไปตามถนนรามคำแหงผ่านสามแยกบัวขาวไปจนถึงปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ เหตุการณ์ภายในรถปกติ ไม่มีการโห่ร้องหรือขว้างปาสิ่งของใด ๆ ออกจากรถ แต่ขณะที่พยานกำลังจะจอดส่งผู้โดยสารที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางบริเวณซอยรามคำแหง ๑๖๖ พยานมองกระจกด้านซ้ายแล้วเห็นเด็กวัยรุ่นสี่ถึงห้าคนวิ่งจากบริเวณใต้สะพานลอยปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ไล่ตามรถที่พยานขับ และมีผู้โดยสารตะโกนบอกว่า “ไม่ต้องจอด มีวัยรุ่นตีกัน” พยานจึงไม่จอดรถ เป็นเหตุให้วัยรุ่นดังกล่าวไม่พอใจและใช้สิ่งของทุบรถด้านหลัง ในช่วงนั้นเองที่มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด แล้วมีคนตะโกนว่า มีเด็กถูกยิง พันตำรวจตรี สมคิด ประเชิญสุข สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี เบิกความประกอบแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายหมาย จ. ๒๖ และ จ. ๒๗ ว่า ถัดจากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ไปประมาณสองร้อยเมตร มีสถานีบริการน้ำมันบางจากซึ่งขณะเกิดเหตุเปิดให้บริการตามปกติตั้งแต่เวลา ๕ นาฬิกา ตั้งอยู่ที่ซอยรามคำแหง ๑๖๔ ซึ่งจำเลยสามารถขับไปเติมน้ำมันได้โดยไม่จำต้องขับผ่านสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวไปเจ็ดร้อยถึงแปดร้อยเมตรเพื่อเลี้ยวกลับรถแล้วแล่นย้อนขึ้นไปทางด้านมีนบุรีฝั่งขาออกอีกสองกิโลเมตรเศษเพื่อเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ที่บริเวณสามแยกบัวขาว เห็นว่า พยานโจทก์ปากนายทักษิณ นายต่อพงษ์ นายสิโรจน์ และนายสุทธาวุธเป็นประจักษ์พยาน แต่มีความเกี่ยวกันเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกับจำเลย และพยานทั้งสี่ดังกล่าวเบิกความรับว่า นักเรียนโรงเรียนที่พยานเรียนมีปัญหาทะเลาะวิวาทกับนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพตลอดมา โดยเฉพาะนายทักษิณและนายต่อพงษ์เบิกความรับว่า เคยถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพขึ้นไปยิงบนรถโดยสารประจำทางมาแล้ว และคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีในขณะที่พยานมาเบิกความคดีนี้ นายสุทธาวุธเบิกความรับว่า เคยถูกนักเรียนโรงเรียนดังกล่าวขว้างปาสิ่งของใส่ขณะอยู่ที่ป้ายจอดรถประจำมาแล้วสองถึงสามครั้ง อีกทั้งขณะเกิดเหตุ พยานทั้งสี่ก็มีพฤติการณ์พัวพันใกล้ชิดกับการกระทำของนายธงชัยและจำเลยด้วย การรับฟังคำพยานทั้งสี่ปากดังกล่าวจึงต้องรับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นด้วย เพราะพยานอาจเบิกความเข้าข้างเพื่อช่วยเหลือจำเลยหรือปกปิดข้อเท็จจริงบางประการที่พยานมีส่วนรู้เห็นไว้ ส่วนพยานโจทก์ปากนายปิยะและพันตำรวจตรี สมคิด เป็นพยานคนกลาง เพราะไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดี จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า พยานจะเบิกความเข้าข้างหรือกลั่นแกล้งผู้ใด โดยเฉพาะพันตำรวจตรี สมคิด เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและร่วมจับกุมจำเลยไปตามหน้าที่ และที่พันตำรวจตรี สมคิดเบิกความประกอบแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายหมาย จ. ๒๖ และ จ. ๒๗ ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งพยานโจทก์ปากนายปิยะ และพันตำรวจโท ประดิษฐ์ ทะประสิทธิ์จิตต์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ต่างเบิกความรับรองสนับสนุน และจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นนอกจากอ้างว่า ขณะเกิดเหตุ สถานีบริการน้ำมันบางจากดังกล่าวงดให้บริการ อันเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ คำพยานโจทก์ปากนายปิยะและพันตำรวจตรี สมคิด กับแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายหมาย จ. ๒๖ และ จ. ๒๗ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นายต่อพงษ์เบิกความว่า มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่ซอยรามคำแหง ๑๗๔ ซึ่งแสดงว่า อยู่ไม่ห่างจากซอยรามคำแหง ๑๖๖ เท่าใดนัก นายทักษิณเบิกความว่า มีบ้านพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านธรากร ซอยรามคำแหง ๑๖๖ และเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงฉลองวันครอบรอบวันเกิดนายโกศลพร้อมกับนายต่อพงษ์ โดยนัดพบกันที่หน้าหมู่บ้านธรากร ส่วนจำเลยกับนายธงชัยเดินทางไปถึงงานเลี้ยงภายหลัง จำเลยและนายธงชัยมีบ้านอยู่ที่หนองจอกเหมือนกัน และนายธงชัยเบิกความว่า หลังกลับจากงานเลี้ยงฉลองวันครบรอบวันเกิดนายโกศลแล้วได้มาดื่มสุรากันต่อที่ร้านในตลาธรากรโดยจอดรถยนต์ไว้ที่ลานจอดรถใกล้ร้านดังกล่าว ในสภาพการณ์ที่จำเลยกับพวกดื่มสุราและอดนอนมาทั้งคืนเช่นนั้น จึงเห็นได้ว่า หากจำเลยและนายธงชัยต้องการกลับบ้านโดยเดินออกจากร้านไปขึ้นรถยนต์ที่นายธงชัยจอดไว้ใกล้ร้านแล้วกลับด้วยกันย่อมจะเป็นการสะดวกกว่าจำเลยจะให้นายต่อพงษ์ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ซอยดังกล่าวขับไปถึงหนอกจอก แต่หากนายต่อพงษ์ต้องการขับไปส่งจำเลยจริง ก็ไม่เหตุผลใดที่นายธงชัยจะต้องเดินออกจากซอยไปพร้อมกับจำเลยกับพวกด้วย และนายต่อพงษ์ก็ควรที่จะขับรถจักรยานยนต์ออกจากซอยไปพร้อมกับจำเลยแล้วแวะเติมน้ำมันตามทางผ่าน ซึ่งพันตำรวจตรี สมคิดและนายปิยะเบิกความยืนยันว่า เมื่อขับออกจากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ไปเพียงซอยเดียวก็มีสถานีบริการน้ำมันบางจากตั้งอยู่ที่ซอยรามคำแหง ๑๖๔ ตามแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายหมาย จ. ๒๖ และ จ. ๒๗ เมื่อเป็นเช่นนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จำเลยจะขับผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากดังกล่าวไปเจ็ดร้อยถึงแปดร้อยเมตรีเพื่อเลี้ยวกลับรถแล้วขับย้อนขึ้นไปทางด้านมีนบุรีฝั่งขาออกอีกสองกิโลเมตรเศษเพื่อเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ที่บริเวณสามแยกบัวขาว จากนั้น ขับกลับมาอีกสองกิโลเมตรเศษเพื่อรับนายต่อพงษ์ที่รออยู่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ แล้วจึงจับไปหนอกจอก พฤติการณ์อันเป็นพิรุธผิดปกติของจำเลยและนายธงชัยดังกล่าว ประกอบกับคำเบิกความของนายทักษิณและนายต่อพงษ์ที่ว่า พยานเคยถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพขึ้นไปยิงบนรถโดยสารประจำทางมาแล้ว กับคำเบิกความของนายสุทธาวุธที่ว่า พยานเคยถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพขว้างปาสิ่งของใส่ที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง และคำเบิกความของนายสิโรจน์ที่ว่า พยานกับพวกทราบดีว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่นักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพจะต้องขึ้นรถโดยสารประจำทางไปเรียนหนังสือ ทำให้น่าเชื่อว่า จำเลยกับพวกต่างทราบดีว่า นายธงชัยมีอาวุธปืนติดตัวและได้ร่วมกันคบคิดตั้งแต่ก่อนจะออกจากร้านในตลาดธนากรไปยังปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ แล้วว่า จะออกไปดักยิงนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมที่โดยสารมาในรถประจำทางซึ่งจะจอดรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางบริเวณซอยรามคำแหง ๑๖๖ หาใช่เดินออกจากร้านไปเพื่อจะแยกย้ายกันกลับบ้านดังที่อ้างไม่ จากนั้น จำเลยก็ทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์ของนายต่อพงษ์ออกไปที่บริเวณสามแยกบัวขาวเพื่อดูต้นทาง เมื่อเห็นรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ คันเกิดเหตุแล่นผ่านสามแยกบัวขาวโดยมีนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพโดยสารมาในรถ จึงขับแซงขึ้นไปบอกให้นายธงชัยกับพวกที่ยืนรออยู่ที่ปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ทราบ โดยคดีได้ความจากคำเบิกความของนายต่อพงษ์และนายสิโรจน์ว่า ขณะที่จำเลยขับกลับไปบอกเรื่องดังกล่าว ทุกคนรวมทั้งนายธงชัยยังยืนจับกลุ่มอยู่ที่ปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ นายทักษิณ นายต่อพงษ์ และนายสิโรจน์เบิกความว่า หลังจากจำเลยบอกได้ประมาณสองถึงสามนาที รถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ก็แล่นไปถึง จำเลยบอกว่า “คันนี้แหละ” จากนั้น พวกของจำเลยที่บริเวณดังกล่าวก็พากันวิ่งไล่ตามรถพร้อมกับขว้างปาก้อนหิน เศษปูน เศษไม้ที่หยิบได้จากบริเวณนั้นใส่ท้ายรถ นายปิยะเบิกความว่า พยานมองกระจกด้านซ้ายเห็นพวกของจำเลยดังกล่าววิ่งไล่ตามรถและใช้สิ่งของทุบด้านหลังรถ จากนั้น มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด จึงแสดงให้เห็นว่า ขณะที่พวกของจำเลยวิ่งไล่ตามและขว้างปาสิ่งของใส่รถนั้น นายธงชัยได้วิ่งไปที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและใช้อาวุธปืนยิงใส่ขึ้นไปบนรถ วิถีกระสุนที่ปรากฏบนรถจึงมีแนวเฉียงจากด้านซ้ายไปขวา จากด้านหลังไปด้านหน้า ทำมุมเงยขึ้นประมาณสิบเอ็ดองศา และทำมุมประมาณหกสิบแปดองศากับแนวด้านข้างตัวรถ ตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการตรวจพิสูจน์วิถีกระสุนปืน เอกสารหมาย จ. ๑๖ พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า หลังเกิดเหตุ จำเลยรับฝากอาวุธปืนไว้จากนายธงชัย แสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบดีว่า นายธงชัยมีอาวุธปืนติดตัว และสมคบคิดกันก่อเหตุดังกล่าวด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์ของนายต่อพงษ์ออกไปดูต้นทางแล้วขับกลับมาแจ้งนายธงชัยว่า พบนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพที่โดยสารมาบนรถโดยสารประจำทาง ๑๑๓ แล้ว เพื่อให้นายธงชัยเตรียมพร้อม และเมื่อรถคันดังกล่าวแล่นไปถึง จำเลยก็ส่งสัญญาแก่นายธงชัยเพื่อยืนยันว่า “คันนี้แหละ” นายธงชัยจึงวิ่งไปที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางแล้วใช้อาวุธปืนยิงขึ้นไปบนรถในช่วงที่รถกำลังชะลอความเร็วเพื่อจอดรับส่งผู้โดยสาร แม้ขณะที่นายธงชัยยิง จำเลยจะมิได้ยืนอยู่ใกล้นายธงชัย แต่การเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นนั้น ผู้เป็นตัวการไม่จำต้องลงมือด้วยตนเองเสมอไป เมื่อกระสุนปืนที่นายธงชัยยิงไม่ถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโลโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ แต่ถูกผู้ตาย จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดอย่างเป็นตัวการร่วมกับนายธงชัยด้วย ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า นายธงชัยตัดสินใจและลงมือกระทำผิดไปโดยลำพัง โดยขณะจำเลยขับรถจักรยานยนต์กลับมาบอกนายต่อพงษ์ นายทักษิณ นายสิโรจน์ และนายฉีที่บริเวณปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ ว่า จำเลยถูกนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพบนรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ขว้างปาสิ่งของใส่นั้น นายธงชัยไม่ได้ยืนอยู่ที่บริเวณนั้นด้วย โดยมีนายธงชัยเบิกความสนับสนุนว่า ขณะนั้น นายธงชัยกำลังเดินเอาขยะไปทิ้งที่ถังขยะบริเวณป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง และขณะที่รถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ แล่นไปถึงป้ายจอดรถโดยสารประจำดังกล่าว นักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพที่อยู่บนรถคนหนึ่งได้เล็งปืนไปทางนายธงชัย นายธงชัยจึงชักอาวุธปืนที่พกมายิงใส่นักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพคนดังกล่าวเพื่อป้องกันตัวนั้น เห็นว่า จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ แตกต่างไปจากที่นายต่อพงษ์และนายสิโรจน์เบิกความ อีกทั้งนายปิยะก็เบิกความยืนยันว่า นับแต่ขับถึงสามแยกบัวขาวจนถึงปากซอยรามคำแหง ๑๖๖ เหตุการณ์บนรถโดยสารประจำทางสาย ๑๑๓ ที่พยานขับเป็นปกติ ไม่มีการขว้างปาสิ่งของใด ๆ ออกจากรถ นอกจากนั้น ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ. ๑๒ ก็ดี ตามสำเนาคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) เอกสารหมาย จ. ๒๙ ก็ดี ปรากฏว่า นายธงชัยให้การรับสารภาพตลอดมาโดยมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นให้การหรือต่อสู้คดีแต่อย่างใด กรณีน่าเชื่อว่า นายธงชัยเบิกความเช่นนั้นเพื่อช่วยเหลือจำเลยมากกว่าจะเบิกความไปตามจริง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่มีน้ำหนักในรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้อย่างมั่นคงปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกับนายธงชัยกระทำผิดตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเป็นค่าปลงศพผู้ตายแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด พยานโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเพียงปากเดียวเบิกความประกอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดงานศพ เอกสารหมาย จร. ๒ และภาพถ่ายหมาย จร. ๓ ว่า โจทก์ร่วมจัดงานศพผู้ตายที่วัดบำเพ็ญเหนือ สิ้นค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพสี่แสนเก้าหมื่นบาท และค่าใช้จ่ายในการทำบุญร้อยวันอีกสี่หมื่นห้าพันบาท โดยขอเรียกร้องจากจำเลยเพียงสี่แสนแปดหมื่นสองพันสองร้อยบาทตามที่ระบุไว้ในคำร้อง แต่นอกจากโจทก์ร่วมจะไม่มีพยานเอกสารมาสืบแสดงยืนยันว่า ได้จ่ายเงินจำนวนเท่าใด ให้แก่ใครไป ตามที่สรุปไว้ในค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการงานศพ เอกสารหมาย จร. ๒ แล้ว โจทก์ร่วมยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านและตอบทนายโจทก์ร่วมถามติงโดยยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการงานศพตามเอกสารหมาย จร. ๒ ดังกล่าว ทนายโจทก์ร่วมเป็นผู้ทำ ความจริงแล้ว โจทก์ร่วมจัดงานศพผู้ตายเป็นเวลาห้าคืน มิใช่หกคืนตามเอกสารดังกล่าว และค่าใช้จ่ายบางรายการตามเอกสารดังกล่าว โจทก์ร่วมไม่ได้จ่าย และบางรายการระบุไว้สูงเกินกว่าที่โจทก์ร่วมจ่ายไปจริง เช่น ค่ารถค่าเดินทางนำศพไปนิติเวชที่ระบุไว้สองหมื่นบาทนั้น โจทก์ร่วมไม่ได้จ่ายเพราะเจ้าพนักงานตำรวจใช้รถของมูลนิธีป่อเต็กตึ๊งนำศพไปสถาบันนิติเวช ส่วนค่ารถไปรับศพที่ระบุไว้หนึ่งหมื่นสองพันบาทนั้น โจทก์ร่วมเช่ารถผู้อื่นเพื่อเดินทางตามไปที่สถาบันนิติเวชเป็นเงินสองพันหรือสามพันบาท และจ่ายค่าน้ำมันไปห้าร้อยบาท เป็นต้น เห็นว่า โจทก์ร่วม้ป็นฝ่ายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ในเรื่องดังกล่าวจึงตกแก่โจทก์ร่วม แต่พยานโจทก์ร่วมกลับแตกต่างขัดแย้งกันเองจนไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมสิ้นค่าใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตายไปตามคำร้องและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการงานศพตามเอกสารหมาย จร. ๒ ดังกล่าว แต่ค่าสินไหมทดแทนจะพึงชดใช้กันเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งเมื่อพิเคราะห์จากสำเนาหนังสือรับรองการเป็นผู้จัดการศพ เอกสารหมาย จร. ๑ และภาพถ่ายหมาย จร. ๓ แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้เพียงหนึ่งแสนบาท แม้โจทก์ร่วมจะเคยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหนึ่งแสนบาทจากนายธงชัยแล้วตามสำเนาใบรับเงินหรือสิ่งของที่คู่ความรับไปจากศาล เอกสารหมาย ล. ๒ ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนายธงชัยอีก
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๘๘, ๓๗๑, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ แม้ขณะกระทำผิด จำเลยอายุสิบเก้าปีเศษ แต่เรียนหนังสือในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ ๓ และรู้สึกผิดชอบชั่วดีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว จำเลยควรว่ากล่าวตักเตือนและห้ามปรามมิให้นักเรียนรุ่นน้องทำตามค่านิยมที่ผิดในเรื่องสถาบันการศึกษา ตามที่รัฐบาลได้จัดโครงการรณรงค์เรื่องดังกล่าวในโรงเรียนอาชีวะเสมอมา แต่จำเลยกลับส่งเสริมและร่วมกระทำผิดดังเช่นอันธพาลกับนักเรียนรุ่นน้องเสียเอง เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนผู้บริสุทธิ์ที่กำลังเดินทางไปโรงเรียนต้องถึงแก่ความตาย อีกทั้งจำเลยไม่รู้สำนึกในการกระทำผิด ไม่บรรเทาผลร้ายแห่งคดี จึงไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ ให้ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกยี่สิบปี, ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกสองปี, ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกหนึ่งปี รวมจำคุกยี่สิบสามปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกสิบเจ็ดปีสามเดือน กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเป็นค่าปลงศพหนึ่งแสนบาทแก่โจทก์ร่วม ยกคำขอให้ริบของกลางเนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษาให้ริบแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๕/๒๕๕๔ ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี)
- กฤษณา รัตนาสิน
- เกรียงศักดิ์ กัมทรทิพย์
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"