ข้ามไปเนื้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531

จาก วิกิซอร์ซ
คำพิพากษา
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ที่ ๒๓๕๔/๒๕๓๑
  • ศาลฎีกา
  • วันที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑
 
ความอาญา
ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์
นายวีระ มุสิกพงศ์ จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๖ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้และในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๖ บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในตำแหน่งอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาท อันประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงทางเครื่องขยายเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้ จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้ อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบ ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ทั้งนี้ เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี สำหรับคนที่จะเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังและเป็นพระองค์เจ้านั้นต้องเป็นพระมหากษัตริย์และเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรัชทายาทเท่านั้น ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้า มีความหมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นการกล่าวต่อนายศิว์ณัฏฐพงศ์ วัฒนาชีพ และประชาชนอีกหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ว่า ทุกพระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ทรงทำอะไร ตอนเที่ยงก็เข้าห้องเย็น (หมายถึง ห้องที่มีเครื่องทำความเย็น) เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ไม่ต้องออกไปยืนกลางแดด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาในวันเวลาดังกล่าวข้างต้น ภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้ จำเลยได้กล่าวว่า ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้า ป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบ ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ทั้งนี้ เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี บุคคลที่เกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังและเป็นพระองค์เจ้านั้นจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่เป็นรัชทายาทเท่านั้น ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังเป็นพระองค์เจ้า มีความหมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นการกล่าวต่อร้อยตำรวจโท วิเชียร เฉลิมรมย์ และประชาชนอีกหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ว่า พระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ต้องมาพูดให้ประชาชนฟังจนคอแหบคอแห้ง ขณะนี้ เป็นเวลาหกโมงครึ่ง (หมายถึง เวลาหกโมงครึ่งตอนเย็น) จะได้เสวยน้ำจัณฑ์ (สุรา) ให้สบายอกสบายใจ ขณะที่ยืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์ (หมายถึง แข้ง) เต็มทีแล้ว ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ตำบลสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, ๙๑ รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๖ นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๖๒๒๘/๒๕๒๘ ของศาลแขวงพระนครเหนือ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๒๑๒๘/๒๕๒๘ ของศาลแขวงพระนครใต้

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นการใส่ความ และไม่อาจทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๖ ปี คำขอให้นับโทษต่อให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่า ไม่จำเป็นแก่คดี จึงให้งดเสีย ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นรัชกาลที่ ๙ ในราชวงศ์จักรี มีพระบรมราชินีทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ส่วนองค์รัชทายาท คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา จำเลยได้กล่าวปราศรัยในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่หน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพูดทางเครื่องขยายเสียงมีประชาชนมาฟังประมาณ ๔–๕ พันคน ในคำปราศรัยของจำเลยตอนหนึ่ง จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนอยู่กลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้ เลือกเกิดในท้องคนจนก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดในท้องคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ เลือกเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ไม่ได้ ปรากฏข้อความตามแถบบันทึกเสียง หมาย จ. ๒ และคำถอดแถบบันทึกเสียง เอกสารหมาย จ. ๘ ในวันเดียวกันหลังจากที่จำเลยได้ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศแล้ว จำเลยได้ไปกล่าวปราศรัยที่หน้าว่าการอำเภอสตึก ต่อหน้าประชาชนที่มาฟังประมาณ ๒ หมื่นคน มีข้อความตอนหนึ่งว่าถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีกว่าเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระ ไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้งนี่ก็เวลาตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยนำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ปรากฏข้อความตามแถบบันทึกเสียงหมาย จ. ๓ และคำถอดแถบบันทึกเสียงเอกสารหมาย จ. ๘ ในวันเดียวกัน หลังจากที่จำเลยได้ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศแล้ว จำเลยได้ไปกล่าวปราศรัยที่หน้าที่ว่าการอำเภอสตึกต่อหน้าประชาชนที่มาฟังประมาณ ๑ หมื่นคน มีข้อความตอนหนึ่งว่า ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้า ป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ปรากฏข้อความตามแถบบันทึกเสียง หมาย จ. ๓ และคำถอดแถบบันทึกเสียง เอกสารหมาย จ. ๙ คำกล่าวปราศรัยของจำเลยทั้งสองแห่งเป็นการกล่าวตำหนิล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมโอรสาธิราชฯ ทั้งนี้ คำที่จำเลยกล่าวถึงพระบรมมหาราชวัง มีความหมายถึง พระบรมมหาราชวังใหญ่อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นที่ประสูติและสวรรคตด้วย พระบรมมหาราชวังนี้ นอกจากจะหมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ แล้ว ย่อมหมายถึง พระราชินีและองค์รัชทายาทด้วย แม้จะประสูติที่ใด ก็ให้ถือว่า ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม้จะไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ที่ประทับนั้น ก็ให้ถือว่า เป็นพระบรมมหาราชวังด้วย ฉะนั้น เมื่อประชาชนได้ยินคำพูดถึงพระบรมมหาราชวัง ก็จะนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะประสูติ ทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า ดังนั้น พระองค์เจ้าที่เกิดในพระบรมมหาราชวัง จึงหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่จำเลยกล่าวที่อำเภอปลายมาศว่า ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง มีความหมายว่า ทั้งสามพระองค์มีความเป็นอยู่สุขสบาย การงานไม่ต้องทำ พักผ่อนกันตลอด ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอสตึกว่า ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี้ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ข้อความนี้หมายความว่า ทั้งสามพระองค์อยู่อย่างสะดวกสบาย ดื่มสุราเพื่อความสำราญ ผิดกับประชาชนธรรมดาที่ต้องทนกรำแดดกรำฝนไม่มีเวลาพักผ่อน คำว่า บรรทม น้ำจัณฑ์ และพระชงฆ์ เป็นคำราชาศัพท์ ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระองค์เจ้าอยู่หัว พระมเหสี หรือองค์รัชทายาท ซึ่งความจริงแล้วทั้งสามพระองค์มิได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า พระองค์มีพระราชภารกิจอยู่มากมายและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและความมั่นคง ความอยู่สุขของประชาราษฎร์ พระราชภารกิจประจำวันของพระองค์ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า การกล่าว เช่นนี้ทำให้พระองค์ได้รับความเสียหาย เป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนขาดความเคารพสักการะ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งตามปกติพระองค์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะล่วงเกินมิได้ การที่จำเลยกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวอย่างมีเจตนา โดยเมื่อจำเลยพูดในตอนบ่าย ก็ยกตัวอย่างในช่วงตอนบ่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ในตอนบ่าย ครั้งถึงตอนเย็นจำเลยก็ยกตัวอย่างเกี่ยวกับพฤติการณ์ตอนเย็น ซึ่งเรื่องนี้หากจำเลยไม่ตั้งใจ จำเลยจะพูดเพียงครั้งเดียวแล้วไม่พูดอีก แต่จำเลยพยายามที่จะดัดแปลงข้อความในการพูดทั้งสองครั้งให้เข้ากับบรรยากาศในเวลาที่กำลังพูด ต่อมาประชาชนบางกลุ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะเดินขบวนประท้วงการกระทำของจำเลย ซึ่งจะเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง สมาชิกวุฒิสภาและนายทหารราชองค์รักษ์ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นญัตติไปยังประธานรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ. ๑๓ หรือ ป.จ. ๑ ให้รัฐบาลแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าได้ดำเนินการไปอย่างไร เพื่อประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริง จำเลยได้ติดต่อขอทำความเข้าใจกับผู้ที่ยื่นญัตติโดยจำเลยยอมรับว่าได้มีการกล่าวข้อความดังกล่าวจริง และในที่สุดจำเลยได้ทำพิธีขอขมา โดยกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภา ตามข้อความในเอกสารหมาย จ. ๑๔ หรือ ป.จ. ๒ ต่อหน้าสื่อมวลชนและสมาชิกวุฒิสภาที่ยื่นญัตติ การที่จำเลยได้กระทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพโดยความสมัครใจ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามเอกสารหมาย จ. ๑๕ หรือ ป.จ. ๑๔

จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ศึกษาอยู่นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ และเป็นหัวหน้าทีมโต้วาทีของมหาวิทยาลัยหลายปีติดต่อกัน หลังจากจบการศึกษาแล้ว จำเลยประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไทยรัฐ มติชน และชาวไทย โดยเริ่มงานเป็นผู้สื่อข่าวการเมือง และเขียนบทความการเมืองประจำเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในกรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร ๒ ครั้ง และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดพัทลุง ๓ ครั้ง ติดต่อกัน ระหว่างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ จำเลยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งในพรรคการเมืองจำเลยเคยเป็นกรรมการกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้เป็นกรรมการบริหารในตำแหน่งโฆษกพรรค และครั้งหลังสุดเป็นเลขาธิการพรรค ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่มีบทบาทในการหาเสียงคือหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย นายมารุต บุนนาค และตัวจำเลย เกี่ยวกับคดีนี้ เนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ จำเลยในฐานะเลขาธิการพรรคต้องเดินทางไปช่วยหาเสียงให้แก่ลูกพรรคทั่วประเทศ ในจังหวัดบุรีรัมย์พรรคประชาธิปัตย์ส่งสมาชิกลงสมัครในเขตเลือกตั้งทุกเขต เขต ๑ มีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างหาเสียงนั้นจำเลยได้รับรายงานจากนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ทำให้คู่แข่งหวั่นวิตกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้ง คู่แข่งขันจึงระดมกันโจมตี นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ โดยการปราศรัยและออกใบปลิวแจกจ่ายแก่ประชาชน อ้างว่าชาวบุรีรัมย์ควรเลือกคนบุรีรัมย์เป็นผู้แทนราษฎร นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นคนเกิดที่กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกเศรษฐีจึงไม่ควรเลือกนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดบุรีรัมย์ ข้อกล่าวหานี้ทำให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์วิตกว่าอาจจะทำให้คะแนนเสียงลดลงหรือทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง จำเลยจึงรับที่จะแก้ไขให้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ จำเลยได้ไปช่วยหาเสียงให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ นายการุณ ใสงาม เฉพาะในเขต ๑ จำเลยไปปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ส่วนเขตของนายการุณ ใสงาม จำเลยปราศรัยที่หลังสถานีรถไฟอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ข้อความที่ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก จำเลยปราศรัยเรื่องการเมืองและปัญหาสังคม และอธิบายถึงหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่แท้จริงให้ประชาชนได้เข้าใจ เมื่ออธิบายถึงหน้าที่ของผู้แทนราษฎรแล้ว จำเลยได้อธิบายถึงคุณสมบัติของผู้สมัครของพรรคว่า นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ มีวุฒิทางการศึกษาสูง จบจากต่างประเทศ มีสถานะส่วนตัวดี อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ และได้ขอร้องประชาชนว่าอย่าถือเอาที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดเองได้ โดยจำเลยกล่าวว่า แม้ตัวจำเลยเอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดพัทลุง ก็ถูกคู่แข่งโจมตีในลักษณะนี้มาแล้วโดยที่ถูกโจมตีว่าเป็นคนที่จังหวัดสงขลาแล้วมาลงสมัครผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพัทลุง ขอให้ประชาชนชาวพัทลุงต่อต้านอย่าเลือกจำเลยเป็นผู้แทนราษฎร ในครั้งนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดพัทลุงคือ นายพร้อม บุญฤทธิ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวปราศรัยแก้แทนจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัคร จำเลยเล่าให้ประชาชนฟังเหมือนกับที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ปรากฎตามข้อความในเอกสารหมาย จ. ๘ และ จ. ๙ ขีดเส้นใต้ที่โจทก์ทำมาฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยพูดโดยมีเจตนาจะแก้ข้อที่ว่าคนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถที่จะเลือกทำความดีได้ และการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้ดูว่าเขามีความสามารถทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ไม่ถือที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการที่จำเลยยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพูดเป็นเรื่องอุปมาอุปมัย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจชัดว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้จริง ๆ จะเลือกเกิดเป็นคนจนก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดเป็นคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่บุรีรัมย์ก็ไม่ได้ จำเลยไม่ได้มุ่งที่จะเปรียบเทียบหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาทแต่อย่างใด คำว่าถ้าเลือกเกิดได้นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติตัวเองขึ้น และคำว่าพระองค์เจ้าวีระนั้น จำเลยหมายถึงตัวจำเลยเอง เป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติขึ้นแล้วที่ว่าเป็นพระองค์เจ้าวีระแล้วจำเลยจะบรรทมตื่นสายนั้น จำเลยหมายถึงตัวจำเลย ไม่ได้เปรียบเทียบกับพระองค์อื่นใด ที่โจทก์อ้างว่าพระบรมมหาราชวังหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และองค์รัชทายาทนั้นเป็นการตีความที่บิดเบือน เพราะเป็นการเอาวัตถุมาหมายถึงบุคคลซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หนังสือพระราชวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. ๒๓๒๔–๒๕๒๕) ตามเอกสารหมาย ป.จ. ๓๓ ให้ความหมายคำว่า พระบรมมหาราชวังคือศูนย์กลางการปกครอง และที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คนทั่วไปมีความเข้าใจว่าพระบรมมหาราชวังคือบริเวณพระราชวัง ซึ่งอยู่ที่วัดพระแก้ว และเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ไม่ได้ประทับที่พระบรมมหาราชวัง หากแต่ประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มิได้ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประสูติที่พระที่นั่งอัมพรสถาน และคำว่าพระองค์เจ้าที่โจทก์กล่าวหาว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ มีน้อยคนที่จะทราบว่าความจริงแล้วพระองค์ทรงอิสริยยศเป็นอะไร ตามตำราของกระทรวงศึกษาธิการตามเอกสารหมายเลข ล. ๑๐ ปรากฎว่า เดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้า จึงเข้าใจมาตลอดว่าพระอนุชาคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นหม่อมเจ้าด้วย หาใช่พระองค์เจ้าไม่ ฐานันดรเดิมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นหม่อมราชวงศ์ พระองค์ไม่เคยทรงฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อตอนประสูติก็ทรงฐานันดรเป็นเจ้าฟ้าไม่เคยทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า เมื่อเอ่ยคำว่าพระองค์เจ้าลอย ๆ ไม่ระบุชื่อ จะไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด เมื่อระบุชื่อลงไปด้วยจึงจะทราบว่าหมายถึงใคร ที่โจทก์นำสืบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปประทับทีไหน ก็ให้ถือว่าที่นั่นเป็นพระบรมมหาราชวังนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการบัญญัติถ้อยคำขึ้นเองเพื่อลงโทษจำเลย คำราชาศัพท์ที่ว่าบรรทมตื่นสาย เสวยน้ำจัณฑ์ เมื่อยพระชงฆ์นั้น เป็นราชาศัพท์ที่คนทั่วไปรู้ว่าใช้ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป สำหรับความรู้สึกของประชาชนต่อการที่จำเลยกล่าวปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกทั้งหมดนั้น ประชาชนรู้สึกเฮฮาสนุกสนาน ไม่มีปฏิกิริยาประท้วงหรือลุกขึ้นเดินหนีแต่ประการใด จำเลยกล่าวปราศรัยให้ นายการุณ ใสงาม ที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จำเลยก็ไม่ได้กล่าวข้อความที่โจทก์ฟ้อง เพราะในเขตเลือกตั้งนั้นไม่มีการกล่าวการโจมตีนายการุณ ใสงาม ในประเด็นเดียวกันกับนายพรเทพ เตชะไพบูลย์หลังจากจำเลยกล่าวคำปราศรัยแล้วทั้งสองแห่ง ไม่มีประชาชนไปแจ้งความเรื่องที่จำเลยกล่าวปราศรัย ต่อมานายเชิดชัย เพชรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานครฯ ได้ไปแจ้งความ นายศิว์ณัฐพงศ์ พยานโจทก์เป็นผู้แทนของพรรคสหประชาธิปไตย และนายจรูญ นิ่มนวล เป็นหัวคะแนนของพรรคสหประชาธิปไตยซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ การที่นายเชิดชัย เพชรพันธ์ ไปแจ้งความก็เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อทำลายคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ หลังการเลือกตั้งจำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มีการปลุกระดมกลุ่มมวลชนต่าง ๆ โดยเริ่มจากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายทหาร ทำการปลุกระดมในกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ท.ส.ป.ช. และกลุ่มกระทิงแดง เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แรกเริ่มเกิดเรื่องนี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปให้กรมตำรวจพิจารณาก่อนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนเบื้องต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่าไม่มีความผิด ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จึงส่งเรื่องให้กรมตำรวจ ทางกรมตำรวจได้ให้พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องกฎหมายในสถานการณ์เลือกตั้งพิจารณาเรื่องนี้ พลตำรวจตรี สุภาส จีรพันธ์ ได้ประชุมพิจารณาและทำความเห็นไปยังอธิบดีกรมตำรวจว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา ๑๑๒ จึงให้ระงับเรื่อง ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนเริ่มลุกฮือเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ในที่สุดตำรวจได้สั่งการให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยให้ถือว่าคดีพอมีมูลที่จะฟ้องร้องได้ ทั้งนี้จริง ๆ แล้วเพื่อแก้ปัญหาความกดดันทางการเมือง เมื่อมีความกดดันดังกล่าวจำเลยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออกโดยไม่มีใครบังคับ ทั้งนี้ เพื่อเจตนาที่จะแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองและปกป้องรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย ที่จำเลยกล่าวขอขมาเนื่องจากพลโท วัฒนชัย วุฒิศิริ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๑ ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อแก้ปัญหา โดยให้จำเลยพบ พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ ๑ ในขณะนั้น จำเลยก็ได้ไปพบตามที่นัดหมาย และได้พูดคุยทำความเข้าใจจนชัดแจ้งว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเจตนาที่จำเลยปราศรัยที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อแก้ข้อกล่ให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ และไม่ได้มีเจตนาอย่างที่ฝ่ายค้านหรือทางทหารเข้าใจ พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ ก็เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างและจะเลิกรากันไป แต่มีปัญหาว่าญัตติที่พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ ยื่นไว้ต่อวุฒิสภากล่าวหาว่าจำเลยละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะถอนญัตติจะอธิบายแก่ประชาชนอย่างไร เพราะประชาชนอาจมองไปในแง่ไม่ดี จำเลยบอกว่าจะให้ทำอย่างไรก็ยินดี พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ จึงเชิญสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเจ้าของญัตติมาพบพร้อมกันที่รัฐสภา ขอให้จำเลยกล่าวคำขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ จำเลยจึงกล่าวขอขมาเพื่อให้ผู้ยื่นญัตติทุกคนสบายใจ และเพื่อให้กลุ่มมวลชนที่กำลังลุกฮือสลายตัวไป ทั้งนี้โดยการแสดงออกถึงความจริงใจของจำเลยในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนคำกล่าวของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่า จะผิดหรือไม่ผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในประเด็นข้อกฎหมายนั้นจะไม่พูดถึงทั้งนี้เพราะจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องของศาล และถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทจำเลยก็พร้อมที่จะขอพระราชทานอภัย สำหรับคำกล่าวขอพระราชทานอภัยตามเอกสารหมาย ป.จ. ๒ นั้น กองทัพภาคที่ ๑ ได้จัดพิมพ์ใส่ซองมาให้จำเลยกล่าว ไม่ใช่เป็นการรับสารภาพเพราะจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล จำเลยมีสาเหตุขัดแย้งกับพยานโจทก์ คือ นายสิงห์โต จ่างตระกูล นายสรวง อักษรานุเคราะห์ นายชวลิต รุ่งแสง พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ และ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก เป็นการพูดหลายครั้ง เป็นการกระทำโดยเจตนานั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยไม่มีเจตนา จำเลยเป็นรัฐมนตรี เห็นว่าสิ่งใดผิดจะไม่พูด และขณะนั้นเป็นช่วงหาเสียงต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน หากพูดสิ่งที่ประชาชนโกรธและเกลียดก็จะไม่ได้คะแนนเสียง จำเลยเข้าใจอย่างซาบซึ้งว่า ทุกพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ยากที่บุคคลธรรมดาจะปฏิบัติได้ และการที่นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ อธิบดีกรมอัยการมีคำสั่งให้พนักงานอัยการพิเศษ ๒ นายเป็นผู้ดำเนินคดีนี้เฉพาะเรื่อง ก็เพราะมีเหตุโกรธเคืองจำเลยเนื่องมาจากเรื่องคดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต สำหรับคดีที่จำเลยถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือและศาลแขวงพระนครใต้ซึ่งโจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลทั้งสองได้พิจารณายกฟ้องแล้ว

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อช่วยหาเสียงให้แก่ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต ๑ ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ คำปราศรัยของจำเลยที่กล่าวที่อำเภอลำปลายมาศซึ่งได้มีการบันทึกเสียงไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า ถ้าผมเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกที่ก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ ก็มันเลือกเกิดไม่ได้ คำปราศรัยของจำเลยที่กล่าวที่อำเภอสตึกซึ่งได้มีการบันทึกเสียงไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่จนอยู่ทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันในใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์ เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ คำกล่าวของจำเลยเป็นการกล่าวแก้ให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ซึ่งได้ถูกผู้รับสมัครเลือกตั้งฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีว่านายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นลูกเศรษฐีและไม่ได้เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่สมควรเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมามีประชาชนบางกลุ่มเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งได้ยื่นญัตติด่วนต่อประธานรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ. ๑๓ ป.จ. ๑ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๙ จำเลยได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภาซึ่งมีข้อความตามเอกสารหมาย จ. ๑๔ หรือ ป.จ. ๒ และจำเลยมีหนังสือขอพระทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการตามเอกสารหมาย จ. ๑๕ หรือ ป.จ. ๔ ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนนั้นมีข้อความตรงตามที่โจทก์บรรยายในฟ้อง

คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทหรือไม่ โจทก์มีพยานหลายปากซึ่งได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุทั้งสองแห่งมาเบิกความให้ความเห็นต่อคำกล่าวของจำเลย โดยนายเปลื้อง เขียนนิลศิริ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดบุรีรัมย์เบิกความว่า การปราศรัยของจำเลยตอนหนึ่งพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยไม่ควรเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มากล่าวในการหาเสียงอย่างนี้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพบูชาของคนไทยทั้งชาติ ถ้าพยานไม่ทราบพระราชกรณียกิจในพระราชวัง ก็อาจเชื่อตามที่จำเลยกล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสุขสบาย แต่เท่าที่ทราบทั่วไปก็ปรากฏว่าไม่มีความสุขสบายอย่างนี้ การที่จำเลยซึ่งเป็น รัฐมนตรีพูดจะทำให้ประชาชนเชื่อถือว่าเป็นจริงเพราะไม่ค่อยมีคนได้รู้ได้เห็นเรื่องในรั้วในวัง อาจจะทำให้คุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ลดน้อยลงในทางสังคม นายศิว์ณัฐพงศ์ วัฒนาชีพ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต ๑ สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย เบิกความว่า พยานได้ไปฟังจำเลยปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและบันทึกเสียงไว้ด้วย จำเลยกล้าปราศรัยพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นการไม่บังควร เป็นการปราศรัยที่จะทำให้เสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์เพราะจะทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์มีชีวิตอย่างสุขสบาย ในลักษณะที่ไม่ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเหมือนผู้ปกครองประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหมายความว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่จำเลยกล่าวว่าเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่จะเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังนั้นจะต้องเกิดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์รัชทายาท พยานเห็นเป็นการพูดดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ นายจรูญ นิ่มนวล ชาวนาตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยหาเสียงไม่ควรจะพูดเปรียบเทียบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงทำความดีตลอดมา ไม่ควรเอามาพูดว่าเสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นบ่ายสามโมง ซึ่งความจริงไม่ได้ทรงเป็นเช่นนั้น เพราะพระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อประชาชน พยานเห็นว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระองค์ ร้อยตำรวจตรี วิเชียร เฉลิมรมย์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ปราศรัย จึงได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัย พยานฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ความที่ว่าเป็นพระองค์เจ้า พยานเห็นว่าเป็นการดูหมิ่น เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เมื่อทรงพระราชสมภพ ทรงเป็นพระองค์เจ้า ข้อความที่ว่าเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังก็เป็นการดูหมิ่น เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คนที่จะเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังได้ก็มีแต่พระบรมโอรสาธิราชฯ หรือพระราชธิดาที่เกิดจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้อความที่เปรียบเทียบอีกว่าเป็นเวลา ๖ โมงครึ่งแล้วได้เวลาเสวยน้ำจัณฑ์ ก็มีความหมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสุขสบายคือถึงเวลาก็เสวยน้ำจัณฑ์ซึ่งหมายถึงสุรา ความจริงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามที่ปรากฎในสื่อมวลชนนั้นไม่ได้ทรงสุขสบาย เป็นการพูดดูหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวไทย การพุดในทำนองนี้จะทำให้ประชาชนที่รับฟังมองไปในทางที่ไม่ดี จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย นายดาบตำรวจ ประทับ นพตลุง ซึ่งรับราชการประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า พยานได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยแล้วรู้สึกตกใจและไม่สบายใจ เพราะเป็นการพูดหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่จะเกิด ใจกลางพระบรมมหาราชวังได้ก็คือพระโอรสของพระมหากษัตริย์ซึ่งต่อไปจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ และข้อความที่ว่า ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่ก็เวลา 6 โมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์ ให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าหรือ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีอยู่แล้ว เป็นคำพูดที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัชทายาทไม่ได้ทรงทำอะไร มีแต่ความสุขสบายซึ่งไม่เป็นความจริง นายสัญชัย เลาวเกียรติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า คำพูดของจำเลยเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมโอรสาธิราชฯ เพราะจำเลยกล่าวว่าไปเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังซึ่งมีคนอื่นอยู่ไม่ได้นอกจากสองพระองค์เท่านั้น และนายทรงศักดิ์ สืบขำเพชร กำนันตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า จำเลยกล่าวปราศรัยเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สูงส่งมาเปรียบเทียบในทางที่เสื่อมเสียสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายความถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นการเปรียบเทียบในทางที่เสื่อมเสียว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอะไรซึ่งเป็นการตรงกันข้าม คำว่าที่เกิดเป็นพระองค์เจ้าก็เป็นการพูดล้อเลียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทางที่เสื่อมเสีย ทำให้ประชาชนขาดความเคารพและศรัทธา พยานและประชาชนที่ฟังต่างไม่พอใจคำปราศรัยของจำเลย นอกจากนี้ โจทก์ยังมีบุคคลอีกมากมายซึ่งได้ทราบคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภายหลังมาเบิกความเป็นพยาน อาทิเช่น พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้อำนวยการรักษาความสงบภายในประเทศ พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ ๑ ยศพลโท พลโท รวมศักดิ์ ไชยโมมินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ ๓ พลตรีสุดสาย เทพหัสดิน สมาชิกวุฒิสภา นายสมัคร สุนทรเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าพรรคประชากรไทย นายสิงห์โต จ่างตระกูล สมาชิกวุฒิสภาและผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นายสรวง อักษรานุเคราะห์ สมาชิกวุฒิสภา เรือตรีหญิงสุรีย์ บูรณธนิต รองอธิการบดีวิทยาลัยกรุงเทพ นายฐัตย์ ชูศิลป์ ทนายความ นายเชิดชัย เพชรพันธ์ ที่ปรึกษาพรรคสหประชาธิปไตย นายสุรินทร์ พันธ์ฤกษ์ นายอำเภอลำปลายมาศ และนายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พยานดังกล่าวต่างเบิกความให้ความเห็นในทำนองเดียวกับพยานโจทก์ซึ่งได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการ เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการจาบจ้วงล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ คือ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย พระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท คำว่าพระบรมมหาราชวังนอกจากจะเป็นสถานที่แล้วยังหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นเจ้าของด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตอนประสูติก็ทรงเป็นพระองค์เจ้า ปรากฎตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๔ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๐ ผู้ที่เกิดในพระบรมมหาราชวังได้ต้องเป็นพระโอรสและพระธิดาของพระมหากษัตริย์ซึ่งต่อไปจะเป็นองค์รัชทายาท บุคคลอื่นจะเกิดในพระบรมมหาราชวังไม่ได้เพราะฉะนั้นที่จำเลยกล่าวว่าเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวัง เป็นพระองค์เจ้า ย่อมหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นหมายความว่าทั้งสามพระองค์มีความเป็นอยู่สุขสบาย การงานไม่ต้องทำ พักผ่อนกันตลอดไป ซึ่งความจริงทั้งสามพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความสุขของประชาชน ตามปกติพระราชภารกิจประจำวันของพระองค์มิได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า การกล่าวเช่นนี้เป็นการเจตนาใส่ความล่วงละเมิด จะทำให้ประชาชนขาดความเคารพสักการะศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากทั้งผู้ที่ได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุและที่ได้ทราบคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภายหลัง ล้วนเบิกความให้ความเห็นสอดคล้องทำนองเดียวกันว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น จำเลยเจตนาหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยกล่าวใส่ความว่าทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจใด ๆ เอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา ผิดกับจำเลยและประชาชนคนธรรมดาสามัญซึ่งต้องทำงานหนัก มีแต่ความเหนื่อยยากลำบาก พยานโจทก์ดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว ส่วนที่รู้จักกับจำเลยก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จะมีบ้างก็เฉพาะผู้ที่เป็นนักการเมืองต่างพรรค ซึ่งอาจมีความขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นความขัดแย้งในทางแข่งขันช่วงชิงความนิยมจากประชาชน หาใช่มีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวไม่ ย่อมไม่มีเหตุที่พยานโจทก์จะกลั่นแกล้งเบิกความแสดงความเห็นปรักปรำจำเลยเพื่อให้ต้องได้รับโทษทางอาญา น่าเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม และเป็นความเห็นประกอบกับข้อความที่อ้างว่าหมิ่นประมาทย่อมรับฟังได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อความที่จำเลยกล่าวแล้ว เห็นว่า พระบรมมหาราชวังเป็นที่ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดา พระราชโอรสทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสันติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปในเมื่อแผ่นดินว่างกษัตริย์ลง นายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการพยานโจทก์เบิกความตอนหนึ่งว่า ตามราชประเพณี แม้ความจริงพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และรัชทายาทจะมิได้ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ก็ให้ถือว่าได้ประสูติในพระบรมมหาราชวังโดยต้องประสูติจากเอกอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น คนนอกจะมาเกิดในพระบรมมหาราชวังมิได้ นายภาวาส บุนนาค เป็นถึงรองราชเลขาธิการย่อมจะมีความรอบรู้เกี่ยวกับประเพณีในราชสำนักดี ทั้งพยานโจทก์คนอื่น ๆ ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนว่าถ้าจำเลยเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้งแต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท

ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับข้อความที่จำเลยกล่าวด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๒ บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาตรา ๖ บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ มาตรา ๔๕ บัญญัติว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญมิได้ มาตรา ๔๖ บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรา ๕๔ บัญญัติว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป รวมทั้งบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา ๑๑๒ ด้วย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวมา ย่อมเห็นโดยแจ้งชัดว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิหรือเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป มิเพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้นหามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วฟังได้ว่า จำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท พยานโจทก์ทุกปากทั้งผู้ที่ได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุ และที่ได้ทราบคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภายหลังล้วนเบิกความให้ความเห็นสรุปรวมว่า จำเลยกล่าวใส่ความว่าทั้งสามพระองค์ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใด ๆ เอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา ผิดกับจำเลยและประชาชนคนธรรมดาสามัญซึ่งต้องทำงานหนัก มีแต่ความเหนื่อยยากลำบาก พยานโจทก์ดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลจากหลายท้องถิ่นและหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ครูบาอาจารย์ ทนายความ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนาแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปต่างเห็นว่าจำเลยเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภาต่อหน้าสื่อมวลชนและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าจำเลยรู้สึกสำนึกในการที่ได้กระทำลงไป

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวว่าถ้าเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ ไม่ต้องมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง พอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจนั้น เป็นการเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใด ๆ เวลาเที่ยงเสวยเสร็จก็บรรทมไปจนถึงเวลาบ่ายสามโมง ตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์อย่างสบายอกสบายใจ ต่างกับจำเลยซึ่งเป็นลูกชาวนาต้องทำงานหนัก มีแต่ความยากลำบากเพราะเลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งข้อความที่จำเลยกล่าวมานั้นไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศ ทั้งสามพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจและทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความเจริญมั่นคงของประเทศชาติโดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากแม้แต่จำเลยเองก็เบิกความรับว่า จำเลยเข้าใจอย่างซาบซึ้งว่าทุกพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ยากที่บุคคลธรรมดาจะปฏิบัติได้ พยานจำเลยที่นำสืบไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำของจำเลยจะไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวของจำเลย จำเลยก็หาพ้นความรับผิดไม่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นทั้งสามพระองค์ แต่เป็นการสมมุติอุปมาอุปมัยเพื่อกล่าวแก้ให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งถูกฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีในการหาเสียงว่าเป็นลูกเศรษฐีและไม่ได้เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ จำเลยกล่าวเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าคนเราเลือกที่เกิดไม่ได้ และที่จำเลยกล่าวว่าถ้าเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดเป็นพระองค์เจ้าวีระ ก็หมายถึงตัวจำเลยเอง เมื่ออ่านคำกล่าวปราศรัยของจำเลยตลอดทุกข้อความจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ มิใช่ถือตามความเข้าใจของจำเลย ซึ่งเป็นผู้กล่าวเอง การที่จำเลยจะช่วยกล่าวแก้ให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งถูกฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีนั้นย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะกล่าวได้ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนมากล่าวเปรียบเทียบในทางที่เสื่อมเสีย ที่จำเลยกล่าวว่า ถ้าจำเลยเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดเป็นพระองค์เจ้าวีระ หมายถึง ตัวจำเลยเองนั้น ถ้าเกิดเป็นตัวจำเลยเองเหตุใดจึงไม่เป็นนายวีระซึ่งเป็นสามัญชน และเหตุใดจึงจะไปเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวัง ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาทั้งหมดแล้ว มิได้พิจารณาเพียงตอนใดตอนหนึ่ง การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่าไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง

ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยล้วนเป็นแต่ข้อปลีกย่อยซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้จึงไม่เป็นสาระแห่งคดีอันควรได้รับคำวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายสมัยและเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ได้ประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติ จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดหาทุนสร้างสวนหลวง ร.๙ และจัดหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นับว่าเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อน นอกจากนี้หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภา และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการ เป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปราณีลดโทษให้จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงลงโทษจำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๔ ปี นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

วีระชัย สูตรสุวรรณ
สุพจน์ นาถะพินธุ
วิศิษฐ์ ลิมานนท์
ศักดิ์ สนองชาติ

บรรณานุกรม

[แก้ไข]
  • ศาลฎีกา. (2534). "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531 ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ในความอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์ นายวีระ มุสิกพงศ์ จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์". ใน ปริญญา จิตรการนทีกิจ (ผู้รวบรวม), หมิ่นประมาท–ดูหมิ่นซึ่งหน้า (น. 82–114). กรุงเทพฯ: นิติธรรม. ISBN 974-7688-07-7.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"