คำพิพากษาศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
(๓๑)
สำหรับศาลใช้
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำพิพากษา
คดีหมายเลขดำที่ อ.๓๑๑ /๒๕๕๔
คดีหมายเลขแดงที่ อ.๔๗๒๖/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลอาญา
วันที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔
 
ความอาญา
ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นายอำพล ตั้งนพกุล จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

โจทก์ฟ้องว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นองค์ประมุขของประเทศ และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นองค์พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน และมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาท จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลขประจำเครื่อง (IMEI) หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๐ จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยใช้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวกับซิมการ์ดโทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ พิมพ์ส่งข้อความหลายครั้ง โดยเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวัน พิมพ์ข้อความว่า "ขึ้นป้ายด่วน อีราชินีชั่วไม่ยอมเอาเพชรไดรมอนด์ไปคืนซาอุฯ ราชวงศ์หัวควยมันพังแน่" โดยจำเลยพยายามสื่อให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่า สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ องค์พระราชินี ได้นำเอาเพชรบลูไดรมอนด์ของประเทศซาอุดิอารเบียไป และไม่ยอมคืนให้เจ้าของ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวัน พิมพ์ข้อความว่า "อีราชินีชั่ว อีหีเหล็ก มึงแน่จริงมึงส่งทหารเหี้ย ๆ มาปราบพวกกูสิว่ะ โคตรอีดอกทองชั่วทั้งตระกูล" โดยจำเลยพยายามสื่อให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ องค์พระราชินี เป็นผู้ที่ชอบใช้อำนาจ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวัน พิมพ์ข้อความว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควย อีราชินีหีเหล็ก ไอ้อีสองตัวนี้มันบงการฆ่าประชาชน ต้องเอาส้นตีนเหยียบหน้ามัน" โดยจำเลยพยายามสื่อให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ องค์พระราชินี เป็นผู้ที่ออกคำสั่งฆ่าประชาชน และเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวัน พิมพ์ข้อความว่า "ช่วยบอกไอ้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควย กับอีราชินีหีเหล็ก และลูกหลานมัน ทุก ๆ คนต้องตาย" อันเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่นพระเกียรติยศด้วยถ้อยคำหยาบคาย แสดงความอาฆาตมาดร้าย และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ องค์พระราชินี รัชทายาท และเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ แล้วจำเลยส่งข้อความดังกล่าวไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อันเป็นบุคคลที่สาม ในรูปแบบการส่งข้อความสั้น (SMS) ซึ่งจะทำงานโดยส่งข้อความดังกล่าวไปที่ Short Message Service Center (SMSC) จากนั้น ระบบจะทำการประมวลผล แล้วส่งไปยังเครือข่ายของเครื่องรับเข้าไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้กับหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ดังกล่าว อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ องค์พระราชินี และรัชทายาท ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นข้อมูลดังกล่าวหลงเชื่อว่า สิ่งที่ปรากฏตามข้อความนั้นเป็นความจริง อันมีผลเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ องค์พระราชินี และรัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ องค์พระราชินี และรัชทายาท และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๒) (๓)

จำเลยให้การปฏิเสธ

ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๑๓ นาฬิกา มีการส่งข้อความจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ มายังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่า "ขึ้นป้ายด่วน อีราชินีชั่วมันไม่ยอมเอาเพชรไดรมอนด์ไปคืนซาอุฯ ราชวงศ์หัวควยมันพังแน่" เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๕๙ นาฬิกา มีการส่งข้อความอีกว่า "อีราชินีชั่ว อีหีเหล็ก มึงแน่จริงมึงส่งทหารเหี้ย ๆ มาปราบพวกกูสิว่ะ โคตรอีดอกทอง ชั่วทั้งตระกูล" เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา มีการส่งข้อความอีกว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควย อีราชินีหีเหล็ก ไอ้อีสองตัวนี้มันบงการฆ่าประชาชน ต้องเอาส้นตีนเหยียบหน้ามัน" และเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๐ นาฬิกา มีการส่งข้อความอีกว่า "ช่วยบอกไอ้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควย กับอีราชินีหีเหล็ก และลูกหลานมัน ทุก ๆ คนต้องตาย" ตามภาพถ่ายข้อความ เอกสารหมายเลข จ. ๓ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการไม่เคารพสักการะ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใด ๆ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พันตำรวจเอก ศิริพงษ์ ตินลา พันตำรวจโท ธีรเดช ธรรมสุธีร์ และร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย สืบสวนจนทราบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องที่ส่งข้อความมาดังกล่าวนั้นมีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๐ ตามเอกสารหมาย จ. ๕ และ จ. ๖ เมื่อตรวจสอบไปยังเครือข่ายโทรศัพท์ของบริษัททรู มูฟ จำกัด พบว่า ในขณะนั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ดังกล่าวได้มีการนำไปใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวได้มีการโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๙๗๗๖๕๙๒๘ ของนางปรวรรณ โชติพิชิต หรือตั้งนพกุล กับนางสาวปิยะมาศ ตั้งนพกุล บุตรสาวของจำเลย ตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๖ ถึงแผ่นที่ ๑๓ พันตำรวจโท ธีรเดช จึงเชิญนางปรวรรณมาให้ถ้อยคำ นางปรวรรณแจ้งว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ดังกล่าวเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จากการตรวจสอบพบว่า หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใด ๆ จะไม่สามารถซ้ำกันได้ และจากการสืบสวน น่าเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ พันตำรวจโท ธีรเดช และร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย กับพวกจึงไปจับกุมจำเลยและยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน ๓ เครื่อง พร้อมซิมการ์ด และระบบอุปกรณ์สายเสียง เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เอกสารหมาย จ. ๑๐ โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางรายการที่ ๑ เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า สีขาว มีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ตรงกับโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องที่ใช้กระคำวามผิด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางรายการที่ ๒ เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า สีน้ำเงิน มีซิมการ์ดหมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๘

จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้ส่งข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินีตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยไม่ทราบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ และหมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ เป็นของผู้ใด ช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๓ จำเลยเคยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางไปซ่อม จำเลยไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่สามารถกระทำให้เป็นหมายเลขที่ต้องการได้ รวมทั้งสามารถขโมยหมายเลขกันได้ ทั้งหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ร้อยละ ๑๐ ไม่เป็นการเฉพาะ จำเลยรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่บ้านพักบริเวณซอยวัดด่านสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเจ้าพนักงานยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน ๓ เครื่องเป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ มาเบิกความว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๑๓ นาฬิกา มีการส่งข้อความจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ของพยานโจทก์ดังกล่าว ว่า "ขึ้นป้ายด่วน อีราชินีชั่วมันไม่ยอมเอาเพชรไดรมอนด์ไปคืนซาอุฯ ราชวงศ์หัวควยมันพังแน่" เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๕๙ นาฬิกา มีการส่งข้อความอีกว่า "อีราชินีชั่ว อีหีเหล็ก มึงแน่จริงมึงส่งทหารเหี้ย ๆ มาปราบพวกกูสิว่ะ โคตรอีดอกทอง ชั่วทั้งตระกูล" เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา มีการส่งข้อความอีกว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควย อีราชินีหีเหล็ก ไอ้อีสองตัวนี้มันบงการฆ่าประชาชน ต้องเอาส้นตีนเหยียบหน้ามัน" และเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๐ นาฬิกา มีการส่งข้อความอีกว่า "ช่วยบอกไอ้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควย กับอีราชินีหีเหล็ก และลูกหลานมัน ทุก ๆ คนต้องตาย" ตามภาพถ่ายข้อความ เอกสารหมายเลข จ. ๓ และมีพันตำรวจเอก ศิริพงษ์ ติมุลา พันตำรวจโท ธีรเดช ธรรมสุธีร์ และร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย มาเบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังเกิดเหตุ พยานโจทก์ทั้งสามสืบสวนหาผู้กระทำความผิดในคดีนี้โดยตรวจสอบรายการการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์หรือหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้กับซิมการ์ดหมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ไปยังบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าว ซึ่งบริษัทดังกล่าวแจ้งผลการตรวจสอบมาให้ตามเอกสารแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์ เอกสารหมาย จ. ๕ และ จ. ๖ แผ่นที่ ๒ ถึงแผ่นที่ ๕ ทำให้ทราบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ซึ่งเป็นระบบเติมเงิน ไม่จดทะเบียนระบุชื่อผู้ใช้บริการ โดยขณะเกิดเหตุ ใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๐ พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวจึงประสานงานกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดทุกเครือข่ายโดยแจ้งหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปให้ตรวจสอบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องที่มีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ดังกล่าวได้ใช้อยู่กับซิมการ์ดหมายเลขใด จึงพบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องที่มีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ดังกล่าวใช้อยู่กับซิมการ์ดหมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ซึ่งเป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียนผู้ใช้บริการในเครือข่ายของบริษัททรู มูฟ จำกัด โดยต่อมา บริษัททรู มูฟ จำกัด ได้ส่งข้อมูลการตรวจสอบตามหนังสือขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์ เอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๖ ถึงแผ่นที่ ๑๓ มาให้ พันตำรวจโท ธีรเดช กับร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย สืบสวนจนทราบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวได้มีการโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๙๗๗๖๕๙๒๘ ของนางปรวรรณ โชติพิชิตชัย บุตรของจำเลย จึงเชิญนางปรวรรณมาให้ถ้อยคำ นางปรวรรณแจ้งว่า จำเลยซึ่งพักอาศัยอยู่บริเวณซอยวัดด่านสำโรง ๓๒ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเจ้าของและใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยได้ทำรายงานการสืบสวนไว้ตามเอกสารรายงานผลการสืบสวนติดตามคนร้ายคดีหมิ่นสถาบันฯ เอกสารขั้นตอนการสืบสวนกรณีคนร้ายส่ง SMS เข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่เลขาฯ ส่วนตัวนายกรัฐมนตรี และเอกสารรายงานผลการสืบสวนติดตามคนร้ายคดีหมิ่นสถาบันฯ เพิ่มเติม ครั้งที่ ๑ เอกสารหมาย จ. ๑๓, จ. ๗ และ จ. ๔ จากการตรวจสอบพบว่า หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใด ๆ จะไม่สามารถซ้ำกันได้ และจากการสืบสวน เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยต่อศาล แล้วจึงไปจับกุมจำเลย โดยสามารถยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า สีขาว หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๖ และซิมการ์ดหมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ เป็นของกลาง ตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุม และบัญชีของกลางคดีอาญา เอกสารหมาย จ. ๘ และ จ. ๑๐ ทั้งมีนายธรรมนูญ อิ่มทั่ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบจัดเก็บของคอมพิวเตอร์ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับนายจักรพันธ์ จุมพลภักดี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตัวผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัททรู มูฟ จำกัด มาเบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เอกสารหมาย จ. ๕ แผ่นที่ ๒ ถึงแผ่นที่ ๔ และเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ แผ่นที่ ๘ ถึงแผ่นที่ ๑๓ พิมพ์ออกมาจากระบบจัดเก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของบริษัท เห็นว่า พันตำรวจเอก ศิริพงษ์ พันตำรวจโท ธีรเดช และร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ นายสมเกียรติ และนายธรรมนูญ กับนายจักรพงษ์ ก็เป็นพยานคนกลาง ไม่ปรากฏว่า พยานโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า พยานโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวจะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องได้รับโทษ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ในส่วนข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เอกสารหมาย จ. ๕ แผ่นที่ ๒ ถึงแผ่นที่ ๔ และเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ แผ่นที่ ๘ ถึงแผ่นที่ ๑๓ เป็นข้อมูลที่เกิดจากการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์และจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช ๒๕๕๐ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัททรู มูฟ จำกัด ผู้ให้บริการ มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาไว้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่มีกฎหมายบังคับ ทั้งกฎหมายยังกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามไว้ ประกอบกับหากผู้ให้บริการอย่างบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัททรู มูฟ จำกัด เก็บข้อมูลโดยไม่ถูกต้อง ลูกค้าผู้ใช้บริการย่อมจะไม่มีความเชื่อถือและอาจจะไม่ใช้บริการอีกต่อไป ซึ่งทำให้บริษัทจะเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ ดังนั้น ข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวจึงมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ แม้ตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๒ ซึ่งเป็นหนังสือที่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีไปถึงพันตำรวจเอก ศิริพงษ์ จะไม่ได้ระบุว่า มีเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ แนบท้ายไปด้วย ทั้งยังระบุว่า เป็นการตรวจสอบในช่วงวันที่ ๑๐ ถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อผิดพลาดในส่วนของหนังสือดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์ตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ นอกจากนี้ ในส่วนของจำนวนหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือหมายเลขอีมี่นั้น พันตำรวจเอก ศิริพงษ์ ก็เบิกความยืนยันว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือหมายเลขอีมี่สิบสี่หลักแรกเท่านั้นที่ใช้เป็นมาตรฐานในการระบุเอกลักษณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหกหลักแรกด้านซ้ายมือเป็นรหัสของประเทศที่ตรวจสอบคุณภาพ ส่วนสองหลักถัดมาเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องนั้น ซึ่งหลังจากปีคริสศักราช ๒๐๐๓ ไม่มีการกำหนดรหัสสองหลักดังกล่าว โดยใช้เป็นรหัส ๐๐ และอีกหกหลักถัดมาเป็นลำดับของผลิตภัณฑ์หรือโทรศัพท์ ส่วนหลักที่สิบห้าเป็นหลักที่ใช้ประโยชน์ในทางวิศวกรรม โดยบางบริษัทก็จัดเก็บ บางบริษัทก็ไม่จัดเก็บ ซึ่งพันตำรวจเอก ศิริพงษ์ เคยได้รับการอบรมหลักสูตรอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต การสืบสวนอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ และการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จากภายในและนอกประเทศ ทั้งนายธรรมนูญกับนายจักรพันธ์ก็เบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกันว่า หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่สิบสี่หลักแรกเท่านั้นที่สามารถระบุได้ว่า เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใด ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรง จึงย่อมมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งจำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านเกี่ยวกับความรู้ความสามารถของพันตำรวจเอก ศิริพงษ์ และนายธรรมนูญ กับนายจักรพันธ์ พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าว จึงถือได้ว่า พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อมูลของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว อันมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ประกอบกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๑๓ ระบุว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่มีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๒๐๐๐ ซึ่งมีถึงสิบแปดหลัก และโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวมีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๐ ซึ่งมีสิบห้าหลักด้วย แต่โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่าที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลาง และจำเลยรับว่า เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าว มีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ปรากฏด้านหลังตัวเครื่องสิบห้าหลัก คือ ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๖ ซึ่งตรงกับหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๑๓ เพียงสิบสี่หลักแรกเท่านั้น จึงแสดงว่า หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่สิบสี่หลักแรกเท่านั้นจะสามารถระบุได้ว่า เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใด ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์หรือหมายเลขอีมี่จำนวนสิบห้าหลักจึงจะสามารถระบุว่า เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใดนั้น เมื่อจำเลยมิได้นำพยานผู้เชี่ยวชาญคนใดมาเบิกความต่อศาลเพื่อหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าว อีกทั้งในการที่ทนายจำเลยขออนุญาตนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาให้พันตำรวจเอก ศิริพงษ์ ดำเนินการตรวจสอบโดยใช้โปรแกรมนัมเบอร์ริ่งแพลนดอตคอมในระหว่างที่พันตำรวจเอก ศิริพงษ์ เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อศาล ซึ่งทนายจำเลยอ้างว่า โปรแกรมดังกล่าวสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือหมายเลขอีมี่ซึ่งจะระบุตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นั้นมีสิบห้าหลัก แต่ผลจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อพิมพ์หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่สิบสี่หลักแรกเป็น ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ แล้วใส่หลักที่ ๑๕ ด้วยหมายเลข ๐ ถึง ๙ ปรากฏว่า มีเพียงการใส่ด้วยหมายเลข ๖ เท่านั้นที่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อใด รุ่นใด รายละเอียดปรากฏตามเอกสารอินเตอร์เนชั่นแนลนัมเบอร์ริ่งแพลน เอกสารหมาย ล. ๓ ซึ่งหากหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนสิบห้าหลักสามารถระบุได้ว่า เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใดตามที่ทนายจำเลยกล่าวอ้างแล้ว เมื่อเปลี่ยนหมายเลขหลักที่สิบห้าเป็น ๐ ถึง ๕ และ ๗ ถึง ๙ ย่อมต้องปรากฏผลของโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องอื่นด้วย แต่จากการตรวจสอบ เมื่อเปลี่ยนเป็นหมายเลขอื่น ๆ ข้างต้นกลับไม่ปรากฏผลของโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใด ๆ จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือหมายเลขอีมี่สิบสี่หลักแรกเท่านั้นที่สามารถระบุได้ว่า เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใด ซึ่งเป็นไปตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ส่วนที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือขโมยหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่กันได้นั้น เมื่อพิจารณาสถานที่และเวลาในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ กับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ตามเอกสารหมาย จ. ๕ แผ่นที่ ๒ ถึงแผ่นที่ ๔ กับเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ และแผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๑๓ จะพบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวถูกส่งสัญญาโดยสถานีฐานย่อยหรือ Cell Site บริเวณซอยวัดด่านสำโรง ๓๒ ซึ่งได้ความจากพันตำรวจโท ธีรเดช ว่า เป็นย่านเดียวกับที่จำเลยพักอาศัยอยู่ โดยเป็นพื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่เดียวกับบริเวณที่มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๑๓ และในส่วนของเวลาการเกิดเหตุเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อเวลา ๑๑.๐๓ นาฬิกา โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS จากนั้น อีก ๑ ชั่วโมง ๑๐ นาทีเมื่อเวลา ๑๒.๑๓ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ และอีก ๑๗ นาทีเมื่อเวลา ๑๒.๓๒ นาฬิกา กลับไปใช้กับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อเวลา ๑๓.๐๑ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS จากนั้นอีก ๕๘ นาทีเมื่อเวลา ๑๓.๕๙ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ และอีก ๑๔ นาทีเมื่อเวลา ๑๔.๑๔ นาฬิกา กลับไปใช้กับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อเวลา ๑๒.๑๐ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS จากนั้นอีก ๒๐ นาทีเมื่อเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ และอีก ๑๕ นาทีเมื่อเวลา ๑๒.๔๕ นาฬิกา กลับไปใช้กับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS และเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อเวลา ๑๑.๓๖ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS จากนั้นอีก ๑๔ นาทีเมื่อเวลา ๑๑.๕๐ นาฬิกา ใช้งานกับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ และอีก ๔๔ นาทีเมื่อเวลา ๑๒.๓๔ นาฬิกา กลับไปใช้กับซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ โดยเป็นการส่ง SMS เมื่อจำเลยรับว่า เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะนำโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปส่งข้อความได้ และเวลาการใช้งานของโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันกับเวลาที่มีการส่งข้อความทั้งสี่ครั้งตามฟ้อง ทั้งเวลาการใช้งานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองหมายเลขดังกล่าวก็ไม่ได้ใช่เวลาเดียวกัน และไม่เคยใช้งานในเวลาที่ซ้ำกัน โดยเวลาก่อนและหลังการใช้งานของซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ มีระยะเวลาห่างกันมากกว่า ๑๐ นาที ซึ่งเป็นเวลานานเพียงพอที่จะเปลี่ยนซิมการ์ดจากหมายเลขหนึ่งเป็นซิมการ์ดของอีกหมายเลขหนึ่งได้ ตามพฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า มีการเปลี่ยนซิมการ์ดใส่โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวเพื่อกระทำผิดในคดีนี้โดยไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือขโมยหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวเสียในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๓ และจำเลยนำไปซ่อม อันอาจทำให้มีข้อสงสัยได้ว่า มีผู้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยไปใช้ในช่วงเวลาที่ซ่อม หรือร้านซ่อมโทรศัพท์อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือขโมยหมายเลขประเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ของจำเลย แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย ว่า ขณะจับกุม จำเลยอ้างว่า โทรศัพท์หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๖ เสียในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยจำเลยนำไปซ่อมที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล สาขาสำโรง ซึ่งแตกต่างจากที่จำเลยเบิกความ นอกจากนี้ ร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย ยังยืนยันว่า จำเลยไม่สามารถนำไปตรวจสอบที่ร้านซ่อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวได้ โดยจำเลยอ้างว่า จำร้านซ่อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้ ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปซ่อมจริงตามที่เบิกความ จำเลยน่าจะต้องไปที่ร้านซ่อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงสองครั้ง คือ ครั้งแรก ในการไปส่งซ่อม และครั้งที่สอง ในการไปรับโทรศัพท์คืน จำเลยจึงน่าจะจำร้านซ่อมโทรศัพท์ได้ มิฉะนั้น คงจะไปรับโทรศัพท์เคลื่อนที่คืนไม่ได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ร้อยละ ๑๐ ของหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่ไม่เป็นการเฉพาะหรือซ้ำกันได้ตามเอกสารหมาย ล. ๗ แผ่นที่ ๑ เมื่อศาลได้พิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เอกสารดังกล่าวมีการพิมพ์ออกมาจากระบบการสืบค้นข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีผู้ใดมารับรองความถูกต้องของเนื้อความในเอกสารดังกล่าว จึงไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องได้ว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องน่าเชื่อถือได้หรือไม่ ทั้งความเห็นดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไป (General acceptance) ในหมู่ของนักวิชาการของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักให้น่ารับฟัง และที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยส่งข้อความไม่เป็น ทั้งไม่ทราบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ เป็นของผู้ใด และจำเลยไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๖ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวมีเพียงจำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น จึงเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง ทั้งยังขัดแย้งกับเอกสารหมาย จ. ๕ แผ่นที่ ๒ ถึงแผ่นที่ ๔ และเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๕ และแผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๑๓ ที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่า ในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕๘๓๘๔๖๒๗ ของจำเลย มีการส่งข้อความหรือ SMS เป็นส่วนใหญ่ ทั้งมีการส่งข้อความหรือ SMS จำนวนมาก รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๖ แผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๑๗ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อจำเลยรับว่า จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๖ มาโดยตลอดแต่เพียงผู้เดียว แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยตรงก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใด ๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้องโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑๖ ด้วยซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ของนายสมเกียรติ เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เมื่อการส่งข้อความด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องส่งข้อความไปยังระบบคอมพิวเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อข้อความอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลส่งข้อความไปยังหมายเลขปลายทางเมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทางเปิด ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ทั้งสองพระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๒) (๓) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี กับความผิดฐานนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๔ กระทง เป็นจำคุก ๒๐ ปี./


นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์

นางสาวภัทรวรรณ ทรงกำพล

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ศาลอาญา. (2554). คำพิพากษาศาลอาญา ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายอำพล ตั้งนพกุล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์. สืบค้นจาก http://www.zenjournalist.com/2012/05/เรื่องเล่าของสองคุณปู่/.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"