คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562/จรัญ ภักดีธนากุล

จาก วิกิซอร์ซ
  • ความเห็นส่วนตน
  • ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๑๔/๒๕๖๒
เรื่องพิจารณาที่ ๑๐/๒๕๖๒
 
วันที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

ประเด็นวินิจฉัย

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด

คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) กล่าวคือ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ โดยผู้ร้องได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการพิมพ์นิตยสารออกจำหน่าย รับจ้างพิมพ์นิตยสาร และให้บริการโฆษณา อันเป็นการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ในวันที่สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖)

ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เนื่องจากกระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้อง และบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสารและเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แล้ว นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องและได้ยื่นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง จึงให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเนื้อหาดังนี้

(๑) บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่

(๒) ผู้ถูกร้องยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หรือไม่

ความเห็น

ประเด็นที่ ๑ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์และประกอบกิจการโฆษณาด้วยสื่อโฆษณาทุกอย่าง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยผู้ถูกร้องยอมรับว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ประกอบกิจการออกนิตยสารมาก่อน ซึ่งสอดคล้องกับแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในรอบปี ๒๕๕๙ ถึง ๒๕๖๑ ที่แจ้งว่า มีรายได้จากการให้บริการโฆษณา ตามเอกสารหมาย ศ ๔/๑ ศ ๕/๑ และ ๖/๑ และอ้างว่า ได้หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสารและเลิกจ้างพนักงานเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แล้ว แต่ไม่ได้มีการจดแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน ๓๐ วันตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท จึงไม่มีผลเป็นการยกเลิกการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ แม้ผู้ถูกร้องจะยืนยันว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ยุติการพิมพ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องภายในของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เท่านั้น ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จะกลับมาประกอบกิจการผลิตหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารอีกเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตกับหน่วยงานใดอีก ทั้งยังปรากฏหลักฐานการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ของบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่า มีการโอนหุ้นของบริษัทให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ หลังจากวันที่ผู้ถูกร้องสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อนานถึง ๔๗ วัน ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) อยู่ในวันที่ผู้ถูกร้องสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

ประเด็นที่ ๒ ผู้ถูกร้องยังเป็นถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หรือไม่

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเข้าเป็นถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จำนวน ๖๗๐,๐๐๐ หุ้น ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ ต่อมา ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นโดยนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ที่ไม่ปรากฏชื่อของผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร ๑๐/๒๕ ถึง ร ๑๐/๒๗

ผู้ถูกร้องชี้แจงและยื่นหลักฐานว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นทั้งหมดในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้กับนางสมพรฯ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ตามตราสารการโอนหุ้นที่ได้ทำต่อหน้าทนายความผู้ทำคำรับรอง และอ้างสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นพยานหลักฐานต่อศาล ทั้งได้เบิกความยืนยันความจริงของการโอนหุ้นตามเอกสารดังกล่าวต่อศาลด้วย ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม จะบัญญัติให้การโอนหุ้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสองใช้ยันกับบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้เมื่อมีการจดแจ้งการโอนในทะเบียนผู้ถือของบริษัทแล้ว ประกอบกับมาตรา ๑๑๔๑ บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับหรือให้อำนาจให้เอาลงในทะเบียนนั้น ผู้ถูกร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม และมาตรา ๑๑๔๑

อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น มิได้เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด อันเนื่องมาจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นเอกสารภายในของบริษัท มิได้นำไปจดแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และมิได้แสดงต่อสาธารณะโดยเปิดเผย อันจะทำให้เป็นพยานหลักฐานที่หนักแน่นมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ การพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงจำเป็นต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะข้อเท็จจริงที่จดแจ้งอาจไม่ตรงต่อความจริงก็ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อพิรุธและพยานหลักฐานอื่นประกอบด้วย

คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีผู้ถือหุ้นรวม ๑๐ คนซึ่งเป็นคนในครอบครัวผู้ถูกร้องรวมถึงคู่สมรสของผู้ถูกร้องด้วย ข้อพิรุธประการแรกในคดีนี้เกิดขึ้นจากการตรวจสอบของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒ เนื่องจากบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการได้อ้างถึงรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยระบุว่า มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม ๑๐ คน จึงเป็นประเด็นให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ และได้เข้าร่วมประชุมด้วย จึงทำให้มีผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมจำนวน ๑๐ คนเท่าเดิม

ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า ได้โอนขายหุ้นทั้งหมดของตนเองและคู่สมรสให้กับนางสมพรฯ ผู้เป็นมารดา ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒

ข้อเท็จจริงตามที่ได้จากเอกสารหลักฐานในสำนวนและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของศาลมีข้อพิรุธที่เป็นสาระสำคัญหลายประการดังนี้

(๑) ผู้ถูกร้องอ้างว่า ได้โอนขายหุ้นให้นางสมพรฯ มารดา ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ แต่ไม่ได้ดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เพิ่งจะดำเนินการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ หลังจากวันที่อ้างว่าได้ทำสัญญาโอนหุ้นนานถึง ๗๒ วัน และยังปรากฏว่า เป็นวันหลังจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ถูกถอนชื่อออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง ๒ วัน คือ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ เขต ๒ จังหวัดสกลนคร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ สั่งให้ถอนชื่อออกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ๑๗๐๖/๒๕๖๒

เมื่อพิจารณาประกอบกับตราสารการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องที่มีทนายความรับรองลายมือชื่อ อันเป็นการกระทำมากกว่าที่กฎหมายบัญญัติ แสดงให้เห็นถึงความจงใจของผู้ถูกร้องเพื่อทำให้น่าเชื่อว่า มีการโอนหุ้นกันในวันดังกล่าวจริง ส่วนที่ผู้ถูกร้องเบิกความอ้างว่า ตั้งใจอย่างจริงจังอยากจะทำงานการเมืองโดยที่ไม่มีข้อผลประโยชน์เหมือนกับที่คุณทักษิณโดนมาก่อน ไม่ได้ตั้งใจมาทำเพื่อผลประโยชนส่วนตัวนั้น ย่อมแสดงว่า ผู้ถูกร้องต้องจัดการโอนหุ้นอย่างรอบคอบเนื่องจากจะเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นนักการเมืองที่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกตรวจสอบได้ แต่การดำเนินการเพื่อให้การโอนหุ้นสมบูรณ์โดยไม่มีข้อโต้แย้งสามารถทำได้ง่ายกว่าและได้ผลสมบูรณ์ชัดเจนจนไม่อาจโต้แย้งได้ โดยเพียงนำหลักฐานการโอนหุ้นหรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยื่นไว้ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยเร็วตามที่เคยปฏิบัติมา ไม่มีเหตุที่ต้องปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง ๗๒ วัน

จากเอกสารหลักฐานที่มิได้อยู่ในความครอบครองควบคุมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยยังไม่ได้โอนหุ้นออกไป เนื่องจากเป็นบริษัทที่ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้บริหารและไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องตามที่ได้เบิกความไว้ต่อศาล แต่เมื่อผู้ถูกร้องทราบว่า นายภูเบศร์ เห็นหลอด ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรค ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้ถอนชื่อออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน ผู้ถูกร้องกลับจัดทำเอกสารการโอนหุ้นย้อนหลังเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติ จึงทำให้เกิดพิรุธหลายประการ

(๒) ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท (แบบ บอจ. ๕) ต่อนายทะเบียน มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จะจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยเร็วทุกครั้ง เพิ่งจะมีการโอนหุ้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ตามที่ผู้ถูกร้องอ้างเท่านั้น ที่ไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและไม่มีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยที่เคยปฏิบัติมา ทั้ง ๆ ที่การโอนหุ้นครั้งนี้มีความสำคัญต่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะถ้ามิได้โอนไปก่อนวันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมจะทำให้ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ส่วนที่ผู้ถูกร้องและพยานเบิกความว่า เหตุที่ไม่ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นการโอนหุ้นในระหว่างคนในครอบครัว จึงไม่จำเป็นต้องประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะการโอนหุ้นจากนางสมพรฯ ให้กับผู้ถูกร้องเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๘ ก็มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและมีหนังสือนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามเอกสารหมาย ร ๑๙ ข้ออ้างของผู้ถูกร้องขัดกับเอกสารของตนเอง ส่วนข้ออ้างที่ว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไม่มีพนักงานที่จะดำเนินการแจ้งการโอนหุ้นให้นายทะเบียนทราบนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวลาวัลย์ฯ ซึ่งเป็นพนักงานของกลุ่มบริษัทของครอบครัวผู้ถูกร้องว่า เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำเอกสารแบบ บอจ. ๕ และเอกสารการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และหากนางสมพรฯ สั่งให้ทำ ก็สามารถทำได้ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดทำเอกสารรายงานการประชุม เอกสารการโอนหุ้น และเอกสารแจ้งการโอนหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า ได้มีการลงรายการโอนหุ้นวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริง ผู้ถูกร้องย่อมสามารถจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้ในเวลารวดเร็วดังที่เคยปฏิบัติมา ข้ออ้างของผู้ถูกร้องจึงฟังไม่ขึ้น

(๓) ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า เมื่อสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้ถูกร้องและคู่สมรสโอนหุ้นให้กับนางสมพรฯ มารดา ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ แล้ว เหตุใดเอกสารการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ จึงระบุว่า มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม ๑๐ คน เท่ากับจำนวนผู้ถือหุ้นที่ผู้ถูกร้องและคู่สมรสจะโอนหุ้นให้กับนางสมพรฯ หลังจากนั้น ผู้ถูกร้องจึงได้ชี้แจงว่า หลังจากผู้ถูกร้องและคู่สมรสโอนหุ้นในนางสมพรฯ แล้ว นางสมพรฯ ได้โอนหุ้นให้กับนายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นหลาน เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ หลังจากวันที่นางสมพรฯ ซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถูกร้องและคู่สมรสเพียง ๖ วันเท่านั้น โดยอ้างว่า เพื่อให้เข้ามาดูแลกิจการบริษัทในการติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ค้างชำระและบริหารเงินสดคงเหลือในบริษัทเพื่อดำเนินกิจการต่อไป ทั้ง ๆ ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้หยุดประกอบกิจการและเลิกจ้างพนักงานแล้วนั้น ขัดต่อเหตุผลและสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์อย่างชัดแจ้ง เพราะการเข้ามาดูแลกิจการดังกล่าวในบริษัทที่เป็นกิจการในครอบครัว เจ้าของบริษัทจะให้ใครเข้ามาดูแลโดยไม่จำต้องโอนหุ้นให้ก็ย่อมทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ไม่มีอำนาจที่จะติดตามหนี้สิน และยิ่งไม่มีสิทธิที่จะบริหารเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด หากนางสมพรฯ ประสงค์จะให้นายทวีฯ และนายปิติฯ มีอำนาจในบริษัทเพื่อบริหารจัดการดังกล่าว ก็ควรจะต้องแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัทมากกว่าที่จะโอนหุ้นให้เพื่อให้เป็นผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า บริษัทจะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ บทวิเคราะห์ที่นายทวีฯ และนายปิติฯ นำเสนอต่อนางสมพรฯ ตามเอกสารหมาย ถ ๖๖ สามารถจัดทำได้โดยไม่ต้องเป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่เหตุผลที่จะต้องโอนหุ้นให้นายทวีฯ และนายปิติฯ เพื่อให้ดูแลกิจการตามที่อ้าง ทั้งการโอนหุ้นให้นายทวีฯ และนายปิติฯ ก็ไม่ปรากฏว่า มีการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้กับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา นอกจากนั้น ยังเป็นการโอนหุ้นที่มีมูลค่าสูงมากให้ไปโดยไม่มีค่าตอบแทน ขัดแย้งกับการโอนหุ้นให้บุตรชายและบุตรสะใภ้เมื่อปี ๒๕๕๘ ที่กลับต้องมีค่าตอบแทนตามคำเบิกความของผู้ถูกร้องและนางสมพรฯ ส่วนข้อที่ว่า ต้องการอุปถัมภ์หลาน ก็ขัดแย้งกับการที่ให้หลานโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวกลับคืนมาให้แก่ตนโดยไม่ปรากฏว่า หลานได้รับสิทธิประโยชน์อะไรเลย ข้ออ้างเรื่องการโอนหุ้นให้นายทวีฯ และนายปิติฯ และรับโอนคืนกลับมาเป็นของตนในระยะเวลาสั้น ๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ แก่กันเลย จึงไม่น่าเชื่อว่า เป็นความจริง แต่กลับน่าเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อให้มีจำนวนผู้ถือหุ้นครบจำนวน ๑๐ คนตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ เพื่อขจัดข้อพิรุธที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะให้หมดไปเท่านั้น

(๔) ผู้ถูกร้องอ้างว่า นางสมพรฯ ได้สั่งจ่ายเช็คค่าหุ้นให้กับผู้ถูกร้องและคู่สมรส โดยอ้างต้นขั้วเช็คยืนยันว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คตามลำดับ ไม่ได้ทำย้อนหลังนั้น เมื่อพิเคราะห์ต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ศ ๙/๑๑๐ ถึง ศ ๙/๑๑๗ ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ถ ๓๐ แล้ว เห็นว่า สมุดเช็คเล่มดังกล่าว นางสมพรฯ ไม่ได้ใช้สั่งจ่ายเช็คเป็นประจำ การสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับห่างกันเป็นเดือนหรือหลายเดือน โดยเฉพาะเช็คเลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๕๓ ที่สั่งจ่ายวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เช็คฉบับถัดมาเลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๕๔ สั่งจ่ายเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นเวลาห่างกันถึง ๕ เดือน เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่มีการเก็บเช็คดังกล่าวไว้โดยไม่นำไปขึ้นเงินกับธนาคารเป็นเวลานานผิดปกติต่างจากที่เคยปฏิบัติมา จนเมื่อถูกสื่อมวลชนตั้งประเด็นถาม จึงได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่า ที่ยังไม่นำเช็คไปขึ้นเงินเป็นเพราะเหตุผลใด จึงยังไม่อาจหักล้างข้อพิรุธในจุดนี้ได้ และจึงไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เชื่อว่า มีการสั่งจ่ายเช็คค่าหุ้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริง

(๕) สำหรับข้ออ้างของผู้ถูกร้องที่อ้างว่า ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงเช้า จึงกลับมาบ้านที่กรุงเทพมหานครทันเวลาทำสัญญาโอนหุ้นนั้น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้นางสมพรฯ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ แม้จะฟังว่า ผู้ถูกร้องกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์มาบ้านที่กรุงเทพมหานครในวันดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็รับฟังได้เพียงว่า ผู้ถูกร้องอยู่ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า มีการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันดังกล่าวจริง การพิจารณาว่า มีการโอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่น ๆ และพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี

คดีนี้ แม้ไม่มีพยานหลักฐานโดยตรงที่ชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นในนางสมพรฯ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ และแม้ผู้ถูกร้องจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม และมาตรา ๑๑๔๑ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ ประกอบกับพยานหลักฐาน พฤติเหตุแวดล้อมกรณี ที่สอดรับกันอย่างแน่นหนาแล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อมากกว่าพยานเอกสารและคำเบิกความของพยานผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการประกอบกันมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนในวันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) เป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) โดยต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และถือว่า ตำแหน่งว่างลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

  • จรัญ ภักดีธนากุล
  • (นายจรัญ ภักดีธนากุล)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. (2562). คำวินิจฉัยส่วนตน ปี 2562 นายจรัญ ภักดีธนากุล คำวินิจฉัยที่ 14/2562 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ (18/12/2562). สืบค้นจาก http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20191218144939.pdf