คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2556/คำวินิจฉัยกลาง

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖
 
เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบสรุปได้ว่า

ผู้ร้องได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายวิศิษฏ์ เลาหพูนรังษี นางนิภาพัฒน์ โรมรัตนพันธ์ และนายทัน เทียนสุวรรณ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ ว่า เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีนายวิศิษฏ์ เลาหพูนรังษี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ นางนิภาพัฒน์ โรมรัตนพันธ์ และนายทัน เทียนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในขณะนั้น ได้ถูกเจ้าพนักงานทำการค้นเพื่อยึดอายัดเครื่องคอมพิวเตอร์ แผ่นซีดี หรือสิ่งของอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่มีการติดตั้งหรือบันทึกข้อมูลโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม และบันทึกการตรวจค้น ยึด อายัดของกลาง และรายงานการตรวจค้นเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท ต่อมา ได้มีการร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ และมีหมายเรียกผู้ต้องหาจากกองบังคับการปราบรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมายังบริษัทและกรรมการบริษัททุกคนในฐานะผู้ต้องหาจากกรณีดังกล่าว ผู้ร้องเรียนเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย" เป็นบทบัญญัติที่สันนิษฐานว่า ผู้ร้องเรียน ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มีความผิด โดยผู้กล่าวหาไม่จำต้องพิสูจน์หรือแสดงหลักฐานให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ร้องเรียนก่อน แต่กลับนำการกระทำความผิดของบริษัทมาเป็นข้อสันนิษฐานให้ผู้ร้องเรียนมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา เป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์มายังกรรมการหรือผู้จัดการที่ต้องพิสูจน์ว่า ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา โดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ทำให้กรรมการหรือผู้จัดการถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น ถูกหมายเรียก และอาจถูกจับกุม คุมขัง ต้องขอประกันตัว โดยไม่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้นว่า กรรมการหรือผู้จัดการได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังขัดต่อหลักนิติธรรม และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง ผู้ร้องเรียนจึงส่งเรื่องให้ผู้ร้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑)

ผู้ร้องเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า บุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริง ถือเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความผิดทางอาญา โดยให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ เป็นการสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคล โดยให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม จึ่งมีผลว่า เมื่อโจทก์สามารถนำสืบให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐานว่า บุคคลนั้นเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่กระทำความผิดแล้ว ก็จะทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย อันเป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญา เป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้แก่กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลในการที่จะต้องนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนั้น นอกจากนั้น บทบัญญัติดังกล่าวยังส่งผลให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยไม่จำต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้นหรือไม่ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) หรือไม่ เห็นว่า ประเด็นตามคำร้องเป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่ กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๗ (๑๘) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

พิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ เป็นบทบัญญัติในหมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๔ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยวรรคสองบัญญัติว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งข้อสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสองนี้ เป็นข้อสันนิษฐานอันมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ ที่ว่า บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยและผู้นั้นได้รับหลักประกันทั้งหลายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อ ๑๔.๒ ที่ว่า บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด อันถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมิใช่ผู้กระทำความผิดอาญา เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญาจนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้กระทำความผิด และเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ

สำหรับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและศีลธรรม ซึ่งบุคคลผู้สร้างสรรค์พึงได้รับจากผลงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการเป็นผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น จึงต้องมีมาตรฐานคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานในด้านวรรณกรรม ศิลปกรรม และงานด้านอื่น ๆ รวมทั้งมีบทกำหนดโทษหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ และสำหรับกรณีนิติบุคคลกระทำความผิด มีบทบัญญัติให้กรรมการหรือผู้จัดการเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลตามมาตรา ๗๔ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ มีวัตถุประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคล โดยให้ถือว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลด้วย จึงเป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานของจำเลยโดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยก่อน เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยมีความผิดและต้องรับโทษอาญา เนื่องจากการสันนิษฐานว่า ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ก็ให้กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลผู้กระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนิติบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ถึงการกระทำหรือเจตนาของกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นว่า มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลอย่างไร คงพิสูจน์แต่เพียงว่า นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นเท่านั้น กรณีจึงเป็นการสันนิษฐานไว้แต่แรกแล้วว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นได้กระทำความผิดร่วมกับนิติบุคคลด้วย อันมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา และยังขัดกับหลักนิติธรรมข้อที่ว่า โจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบของความผิด นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังเป็นการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น การถูกจับกุม หรือถูกคุมขัง โดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่า บุคคลนั้นได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดตามที่ถูกกล่าวหา บทบัญญัติมาตราดังกล่าวในส่วนที่สันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยไม่ปรากฏว่า ผู้ต้องหรือจำเลยได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดนั้น จึงขัดต่อหลักนิติธรรม และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน ๖ คน คือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายชัช ชลวร นายนุรักษ์ มาประณีต และนายบุญส่ง กุลบุปผา วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้น โดยไม่ปรากฏว่า มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน ๓ คน คือ นายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น โดยไม่ปรากฏว่า มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ