คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2556/จรัญ ภักดีธนากุล

จาก วิกิซอร์ซ
ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน
ของ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕
 
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ความเห็น

พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดยผลของกฎหมายรัฐธรรมนูญอันมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมิใช่ผู้กระทำผิดทางอาญา เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา ที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร นอกจากนี้ หลักการของข้อสันนิษฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับทั้งในนานาอารยประเทศและในระดับระหว่างประเทศ ดังปรากฏจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1948 (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ (๑) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. ๑๙๖๖ (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อ ๑๔-๒ เป็นต้น

หลักการของข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์นี้ ประเทศไทยได้รับรองให้ปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ และในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับจนถึงฉบับปัจจุบันซึ่งได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้ในมาตรา ๓๙ วรรคสอง หมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๔ สิทธิในกระบวนการุยติธรรม โดยบัญญัติว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" อันมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามิให้ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่จะได้รับการพิสูจน์ความผิดจากโจทก์

สำหรับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและศีลธรรมซึ่งบุคคลพึงได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงานอันเกิดจากการเป็นผู้คิดค้นลงมือทำหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานนั้นด้วยการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตน เพื่อรับรองการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในสาขาต่าง ๆ ให้มีประโยชน์ มีคุณค่า และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี โดยบทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้บัญญัติความรับผิดของนิติบุคคลและผู้บริหารนิติบุคคลไว้ เพื่อลงโทษผู้บริหารนิติบุคคลทุกคนในกรณีที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด โดยให้ถือว่า เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลด้วย โดยมาตรา ๗๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"

กรณีมีปัญหาว่า บทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าโจทก์จะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลย โดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลย แต่กลับนำเอาการกระทำของผู้อื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยต้องรับผิดและรับโทษทางอาญา โดยบทบัญญัติมาตรา ๗๔ วางข้อสันนิษฐานว่า ถ้านิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย กล่าวคือ โจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ถึงการกระทำหรือเจตนาของกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลว่า มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับนิติบุคคลแต่อย่างใด คงพิสูจน์เพียงว่า นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการกระทำหรือเจตนาของกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลที่กระทำความผิดแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นได้กระทำความผิดด้วย อันมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นทั้งหมดทุกคน บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงถือเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่สันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหาหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำบางอย่างบางประการอันเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาแล้วเท่านั้น จึงขัดต่อหลัก Presumption of Innocence ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เพราะมาตรา ๓๙ วรรคสอง ได้วางหลังไว้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บุคคลเหล่านั้นได้กระทำผิดตามกฎหมาย ทั้งยังเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาและหลักนิติธรรม ซึ่งมีหลักการว่า ในคดีอาญา โจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำความผิดของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ดังนั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ในส่วนที่สันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยได้กระทำการใดเกี่ยวกับความผิดนั้นด้วย คงอาศัยเพียงสถานะของจำเลยเท่านั้นเป็นเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐาน จึงเป็นการสันนิษฐานที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา ๖

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ เฉพาะในส่วนมี่สันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลยโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖

  • นายจรัญ ภักดีธนากุล
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ