คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2556/เฉลิมพล เอกอุรุ

จาก วิกิซอร์ซ
ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน
ของ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕
 
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ความเห็น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยมิให้ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด โดยวางข้อสันนิษฐานในคดีอาญาไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เรียกกันว่า ข้อสันนิษฐานความบริสุทธิ์ (presumption of innocence) ของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งเป็นหลักการที่นานาประเทศล้วนยึดถือ ทั้งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่มีการระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ (๑) ว่า "ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี" และในข้อ ๑๔.๒ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – iccpr) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ว่า "บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด"

ส่วนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและศีลธรรมซึ่งผู้สร้างสรรค์พึงได้รับจากผลงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น จึงมีการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานในด้านวรรณกรรม ศิลปกรรม และงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มากยิ่งขึ้น

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีบทบัญญัติกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดไว้ด้วย และสำหรับกรณีนิติบุคคลกระทำความผิด มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย" พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในส่วนที่บทบัญญัตินี้กำหนดให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิด เป็นการวางข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ถ้านิติบุคคลกระทำความผิด บุคคลเหล่านี้ก็เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย เป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยโดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาของจำเลยว่า ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลอย่างไร คงพิสูจน์แต่เพียงว่า นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลเท่านั้น ภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่จะต้องพิสูจน์ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย บทบัญญัติมาตรานี้เป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข จึงเป็นการตรงกันข้ามกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

จึงเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น โดยไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

  • นายเฉลิมพล เอกอุรุ
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ