ข้ามไปเนื้อหา

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2562/ส่วนที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
(๒๓)
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๑๔/๒๕๖๒
เรื่องพิจารณาที่ ๑๐/๒๕๖๒
 
วันที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
 
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง
ระหว่าง
นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง
เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) หรือไม่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสี่ ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องสรุปได้ดังนี้

เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ และวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ และกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงวันศุกร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งมีรายชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ผู้ร้องได้ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อโดยปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

ผู้ร้องพิจารณาหลักฐานแล้วเห็นว่า บริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๕ โดยมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิว่า เป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งตามแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการขายนิตยสารและการให้บริการโฆษณา/รายได้อื่น ซึ่งถือว่า เป็นการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวจำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น เลขหมายของหุ้น ตั้งแต่หมายเลข ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลข ๒๐๒๕๐๐๐ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นหมายเลขดังกล่าวให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ ๖๓/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) และให้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังนี้

๑.ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสินสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓)

๒.มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง

๓.มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๑

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสี่ ประกอบมาตรา ๑๐๑ (๖) และมาตรา ๙๘ (๓) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงเพราะมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ผู้ร้องมีมติให้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๕) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง และปรากฏข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องว่า ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทุกครั้งจะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพร้อมมีหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในเวลาใกล้ชิดกัน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่า มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย นับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และมีหนังสือแจ้งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบ

ส่วนคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการอื่นเป็นการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๑ นั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง แล้ว จึงยังไม่มีเหตุจำเป็นที่จะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวใด ๆ อีก

ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมเอกสารประกอบต่อศาลรัฐธรรมนูญ สรุปได้ดังนี้

๑.ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เนื่องจากมีข้อบกพร่องทั้งรูปแบบและขั้นตอนในสาระสำคัญอย่างร้ายแรง กล่าวคือ ผู้ร้องมีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้รับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๑ ผู้ถูกร้องมีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๐ การมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา นอกจากนี้ ผู้ร้องตั้งข้อกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒ (๓) ซึ่งหากผู้ถูกร้องเป็นบุคคลต้องห้ามดังกล่าวจริง ผู้ถูกร้องย่อมไม่ได้รับการประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๑ แต่ในคดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนข้อหาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งคดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การแสวงหาข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จ โดยประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวนของผู้ร้องได้มีหนังสือเรียกบุคคลไปให้ข้อเท็จจริงหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและกลั่นแกล้งผู้ถูกร้องในทางการเมือง

๒.บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือเป็นสื่อมวลชนนับตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ โดยได้เลิกผลิตนิตยสาร Who? ยุบกองบรรณาธิการ และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของบริษัทจำนวน ๑๔๕ คน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ และจดแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวต่อสำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ และไม่ได้กลับมาผลิตอีกเลย ส่วนการผลิตนิตยสารรายเดือน JIBjib Magazine นั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ผลิตให้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด สำหรับใช้เผยแพร่บนเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ จึงต้องผลิตตามสัญญาถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ อย่างไรก็ตาม บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มิได้เป็นเจ้าของ JIBjib Magazine โดยผู้ที่เป็นเจ้าของนิตยสาร JIBjib Magazine ตลอดจนเครื่องหมายทางการค้าและชื่อทางการค้า ซึ่งมีอำนาจกำหนดเนื้อหาและรูปเล่ม คือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด ซึ่งสัญญาการตกลงผลิต JIBjib Magazine ไม่มีข้อตกลงให้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด ต้องชำระราคาการผลิตให้แก่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แต่ให้บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีสิทธิใช้พื้นที่โฆษณาได้จำนวน ๖ หน้า โดยไม่มีสิทธินำเนื้อหาในนิตยสารไปเผยแพร่ หรือทำซ้ำ หรือนำออกแจกจ่ายแก่บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงมิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือเป็นสื่อมวลชนใด ๆ

๓.ผู้ถูกร้องโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่ผู้อื่นตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ โดยข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้

(๑)เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๑ ผู้ถูกร้องได้โอนขายหุ้นจำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยทำเป็นหนังสือ ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท และมีการชำระเงินค่าหุ้นด้วยเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท และจดแจ้งการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันดังกล่าว จึงมีผลผูกพันต่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และบุคคลภายนอก ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม

(๒)เมื่อปลายปี ๒๕๖๑ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ปิดกิจการเพราะสภาพการณ์ของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยทยอยปิดส่วนต่าง ๆ และเลิกจ้างพนักงานแทบทั้งหมดตามแผนเตรียมเลิกกิจการ แต่ยังต้องติดตามหนี้ค้างชำระ จึงยังมิได้ดำเนินการเลิกกิจการ ประกอบกับนายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ หลานชายของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประสงค์จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตหนังสือ และนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเห็นว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีกระแสเงินสดอยู่กว่า ๑๑ ล้านบาทเศษ จึงโอนหุ้นให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ เพื่อให้เข้ามาดูแลกิจการ ต่อมา นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ เห็นว่า สภาพการณ์ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป และผู้บริโภคหันไปใช้บริการสิ่งพิมพ์ออนไลน์แทบทั้งสิ้น จำนวนเงินสดหมุนเวียนที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้หมุนเวียนกิจการอีกครั้ง จึงได้รายงานต่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อดำเนินการเลิกบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด

(๓)เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ แต่ผู้ถูกร้อง และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภริยาของผู้ถูกร้อง ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แล้ว ในการประชุมดังกล่าว ได้รับทราบว่า มีผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะโอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ คือ นายทวี จรุงสถิตพงศ์ นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ นายอรัญ วงศ์งามนิจ นายณรงค์ศักดิ์ โอปิลันธน์ และนางกมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งต่อมาวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ บุคคลดังกล่าวได้มีการโอนหุ้น และในวันเดียวกัน ได้มีการแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และด้วยเหตุที่ในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๑๐ คน แต่ในวันที่แจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท คือ วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๕ คน การจดแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) จึงไม่อาจอ้างอิงจำนวนผู้ถือหุ้นบริษัท ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้ และต้องจดแจ้งว่า คัดมาจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒

ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก่อนที่ผู้ถูกร้องจะโอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นั้น เนื่องจากข้อบังคับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการโอนหุ้นว่า ต้องได้รับความยินยอมจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นการโอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท มิใช่เป็นการโอนให้บุคคลภายนอกรายใหม่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นดังเช่นที่ผ่านมา ส่วนการที่ไม่ได้มีการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ทันทีดังที่เคยกระทำนั้น เนื่องจากบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จึงไม่มีพนักงานที่จะดำเนินการด้านเอกสาร

๔.สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) มิใช่หลักฐานแห่งการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ ผู้ร้องจึงไม่อาจนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) มาใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นหลังจากวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ อันเป็นวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและสนับสนุนข้อกล่าวหาของผู้ร้องว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือเป็นสื่อมวลชนได้

๕.สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งบริษัทได้จัดทำขึ้นและเก็บรักษาไว้ ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๑ โดยได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่า มีความถูกต้องและแท้จริง ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ส่วนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) มิใช่หลักฐานแห่งการโอนหุ้น และมิได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่า มีความถูกต้องและแท้จริง

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล สรุปได้ดังนี้

๑.กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหนังสือที่ พณ ๐๘๐๖.๐๖/๖๖๔๑ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๒ ส่งแบบตรวจสอบรายการในหนังสือรับรองของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด รายละเอียด วัตถุที่ประสงค์ และแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ปรากฏว่า ในรอบปี ๒๕๕๙–๒๕๖๑ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีรายได้จากการประกอบกิจการโฆษณา โดยในรอบปี ๒๕๕๙ และรอบปี ๒๕๖๐ มีรายได้จากการให้บริการโฆษณาร้อย ๑๐๐ ส่วนรอบปี ๒๕๖๑ มีรายได้จากการให้บริการโฆษณาร้อยละ ๙๘.๒๕ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ และขณะนี้ ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี

๒.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งสำเนาคำชี้แจงของผู้ถูกร้องต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉบับลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ และวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สรุปคำชี้แจงได้ว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ โดยเดินทางจากจังหวัดบุรีรัมย์กลับมาที่กรุงเทพมหานครด้วยรถยนต์ ปรากฏตามสำเนาใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรในข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน ๒ ใบ และหลักฐานการชำระค่าผ่านทางพิเศษด่านธัญบุรี ๑ (ขาเข้า) ในเวลา ๑๔.๕๗ นาฬิกา และผ่านด่านทับช้าง ๑ ในเวลา ๑๕.๑๔ นาฬิกา

๓.บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่งต้นฉบับเอกสาร ประกอบด้วย ต้นขั้วใบหุ้นทั้งหมดของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ใบหุ้น สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ข้อบังคับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เอกสารลายมือชื่อผู้เข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ต้นขั้วเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนบางนา–ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) สมุดเช็คเลขที่ H ๑๕๘๘๘๑๐ ของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นสมุดเช็คสั่งจ่ายค่าหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้องด้วยเช็คเลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๕๙ โดยสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นปรากฏรายละเอียดการโอนหุ้นว่า ผู้ถูกร้องรับโอนหุ้นมาจากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลขหุ้น ๒๐๒๕๐๐๐ และผู้ถูกร้องโอนหุ้นเลขหมายดังกล่าวให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โอนหุ้นหมายเลขดังกล่าวให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ และนายทวี จรุงสถิตพงศ์ โอนหุ้นเลขหมายดังกล่าวให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ส่วนข้อบังคับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุว่า "ข้อ ๔ การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนโดยมีพยานสองคนลงชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว"

๔.สำนักหอสมุดแห่งชาติมีหนังสือที่ วธ ๐๔๒๕/๒๐๖๔ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลว่า บริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑ ตามเอกสารหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ เลขทะเบียนที่ สสช ๓/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และเลขทะเบียนที่ สสช ๒๒๘/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๒๗ วรรคสาม กำหนดให้มีการไต่สวนพยานบุคคลของศาลรวม ๑๐ ปาก ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายณัฐนนท์ อภินันทน์ นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม นางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายพิพัฒน์พงษ์ รุจิตนานนท์ โดยกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ พยานของศาลทั้ง ๑๐ ปากได้เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสรุปคำเบิกความของพยานได้ดังนี้

๑.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เบิกความว่า ก่อนที่พยานจะเป็นนักการเมือง พยานได้ถือหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ของครอบครัวมากกว่า ๓๐ บริษัท สำหรับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด พยานถือหุ้นมาประมาณ ๔ ถึง ๕ ปี ต่อมาเมื่อพยานจะทำงานด้านการเมือง จึงต้องบริหารจัดการระบบการถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ของพยานและคนในครอบครัวใหม่ จึงมีการประชุมสมาชิกในครอบครัวหลายครั้งเพื่อปรึกษาเรื่องการจัดระบบการถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมมีการถือหุ้นไขว่กันไปมาเป็นจำนวนมาก และบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทลูกถึงร้อยละ ๑๐๐ เมื่อประชุมแล้ว ได้ข้อตกลงว่า ให้สมาชิกในครอบครัวถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้ง และให้บริษัทโฮลดิ้งถือหุ้นในบริษัทลูกร้อยละ ๑๐๐ และให้บริษัทลูกถือหุ้นในบริษัทหลานร้อยละ ๑๐๐ เพื่อให้พยานถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งเพียงบริษัทเดียว จึงจะสะดวกต่อการรายงานทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พยานจึงต้องโอนหุ้นในหลายบริษัทออกไป รวมถึงบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ด้วย โดยได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ตามตราสารการโอนหุ้น (เอกสารหมาย ถ ๒๖/๒) ซึ่งพยานยืนยันว่า ในวันดังกล่าว พยานปฏิบัติภารกิจที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงเช้า และเดินทางกลับกรุงเทพมหานครโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน ๗ กภ ๘๘๓๙ กรุงเทพมหานคร เป็นพาหนะในการเดินทาง โดยมีนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ พนักงานขับรถประจำตัว เป็นผู้ขับรถ โดยเดินทางออกจากจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ นาฬิกา และยืนยันเอกสารหลักฐานที่มีการออกใบสั่งเนื่องจากขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จุดแรก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเวลา ๑๑.๔๑ นาฬิกา และจุดที่สอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อเวลา ๑๔.๔๕ นาฬิกา และเบิกความเพิ่มเติมว่า พยานเดินทางถึงบ้านพักที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ในเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกา โดยมีนายณัฐนนท์ อภินันทน์ เป็นทนายความผู้จัดทำตราสารการโอนหุ้น นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ เป็นพยานลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้น นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ชำระราคาหุ้นด้วยเช็ค และพยานมอบเช็คดังกล่าวให้นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภริยา เป็นผู้เก็บเช็คดังกล่าวไว้ โดยพยานไม่ได้ติดตามว่า จะมีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อใด

๒.นายณัฐนนท์ อภินันทน์ เบิกความว่า พยานเป็นทนายความของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรค พยานเป็นผู้จัดทำตราสารโอนหุ้นของผู้ถูกร้องให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยได้รับข้อมูลที่จะใช้ในการจัดทำตราสารโอนหุ้นล่วงหน้าประมาณหนึ่งสัปดาห์จากนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ พยานไม่ได้รับข้อมูลจากผู้ถูกร้องโดยตรง เวลานัดในการทำนิติกรรม คือ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา แต่พยานไปถึงบ้านของผู้ถูกร้องเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกาเพื่อจัดเตรียมเอกสาร โดยพบภริยาของผู้ถูกร้อง ต่อมาในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา ได้พบนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ ซึ่งมาถึงบ้านของผู้ถูกร้องในเวลาใกล้เคียงกับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และมีการลงนามในตราสารโอนหุ้นในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา โดยมีการชำระราคาหุ้นด้วยเช็คซึ่งนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้จัดเตรียมมา

๓.นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ เบิกความว่า พยานทำงานเป็นพนักงานขับรถประจำตัวผู้ถูกร้องเป็นเวลาสองปี เนื่องจากในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ตามกำหนดการ ผู้ถูกร้องมีกิจกรรมการปราศรัยที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา พยานได้ขับรถยนต์ยี่ห้อฮุนไดสีขาวหมายเลขทะเบียน ๗ กภ ๘๘๓๙ กรุงเทพมหานคร ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๒ ไปจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อรอรับผู้ถูกร้องที่สนามบินจังหวัดอุบลราชธานี และในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องมีกำหนดการเสร็จภารกิจในเวลาไม่เกิน ๑๐.๐๐ นาฬิกา ซึ่งตามแผนการเดินทาง ผู้ถูกร้องต้องไปที่สนามบินอุบลราชธานีเพื่อโดยสารเครื่องบินกลับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากตั๋วเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดบุรีรัมย์เต็ม พยานเห็นว่า การเดินทางจากอำเภอสตึกไปจังหวัดอุบลราชธานีต้องใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง แต่หากขับรถยนต์จากอำเภอสตึกถึงกรุงเทพมหานคร พยานใช้เวลาไม่เกินสี่ชั่วโมง จึงเสนอให้ผู้ถูกร้องเดินทางกลับกรุงเทพมหานครโดยรถยนต์ ในวันนั้น พยานและผู้ถูกร้องได้ออกเดินทางจากอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ นาฬิกา และถูกเจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งฐานขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดสองครั้ง คือ ที่อำเภอนางรอง (เอกสารหมาย ถ ๕๖/๑ ถึง ถ ๕๖/๒) และที่อำเภอคลองหลวง (เอกสารหมาย ถ ๕๗/๑ ถึง ถ ๕๗/๒) พยานขับรถผ่านด่านธัญบุรี ๑ (ขาเข้า) เมื่อเวลา ๑๔.๕๗ นาฬิกา และผ่านด่านทับช้าง ๑ เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ นาฬิกา ปรากฏตามรายงานข้อมูลการใช้บัตรของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (เอกสารหมาย ถ ๕๘) และถึงบ้านของผู้ถูกร้องที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ไม่น่าเกินเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา และพยานได้พบเห็นรถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีบรอนซ์เงิน แต่ไม่ทราบว่า เป็นรถยนต์ของผู้ใด

๔.นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เบิกความว่า เมื่อปี ๒๕๕๑ พยานกับทีมงานได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยให้ทีมงานเป็นผู้บริหาร ผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี ๒๕๕๓ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาเป็นผู้บริหาร จึงมีกำไร ในปี ๒๕๕๘ พยานจึงซื้อหุ้นจากทีมงานทั้งหมดแล้วขายให้บุตรและหลาน ต่อมาเมื่อผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นบุตรของพยาน ประสงค์จะทำงานด้านการเมือง ผู้ถูกร้อง และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นภริยาของผู้ถูกร้อง จึงขายหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้กับพยาน โดยพนานได้รับโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จากผู้ถูกร้องและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ และในวันดังกล่าว มีการทำนิติกรรมการโอนหุ้นที่บ้านของผู้ถูกร้อง โดยนัดหมายเวลากันประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาที่ทุกคนเลิกงานแล้ว โดยมีนายณัฐนนท์ อภินันทน์ ทนายความของพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้จัดทำเอกสารตราสารการโอนหุ้น ซึ่งมาถึงก่อนเพื่อเตรียมงาน และมีนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ พนักงานของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด เป็นผู้ประสานงานกับนายณัฐนนท์ อภินันทน์ ซึ่งมาถึงก่อนพยานเล็กน้อย และเป็นพยานลงนามในตราสารการโอนหุ้นดังกล่าว เมื่อลงนามในตราสารการโอนหุ้นแล้ว พยานได้ชำระราคาหุ้นให้ผู้ถูกร้องด้วยเช็คเป็นเงินจำนวน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท (เอกสารหมาย ถ ๒๗) และชำระราคาหุ้นให้นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยเช็คอีกฉบับหนึ่ง

ต่อมา พยานได้คุยกับนายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชายของพยาน ซึ่งเป็นบุตรของพี่ชายที่ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ซึ่งพยานได้ช่วยเหลือเกื้อกูลมาโดยตลอด ว่า ไม่มีผู้ดำเนินงานบริหารบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เนื่องจากนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องดูแลบุตรที่ยังเป็นเด็กเล็กหลายคน จึงไม่มีเวลาบริหารงาน หากจะต้องเลิกบริษัทก็เสียดาย เพราะพยานไม่เคยทำธุรกิจขาดทุนจนต้องเลิกบริษัท ต่อมา พยานได้ปรึกษาและตกลงให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ไปศึกษาการฟื้นฟูบริษัท โดยให้นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายทวี จรุงสถิตพงศ์ มาดำเนินการร่วมกันด้วย เนื่องจากขณะนั้น ได้เลิกจ้างพนักงานของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปหมดแล้ว พยานจึงโอนหุ้นที่รับโอนมาจากผู้ถูกร้องและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อให้ทำการฟื้นฟูบริษัทที่อยู่ในภาวะขาดทุนอันมีผลมาจากความนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษลดน้อยลง หลังจากนั้นอีกสองเดือนต่อมา นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งจบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ได้เสนอผลการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ว่า ถ้าจะดำเนินการต่อไป อาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท พยานจึงตัดสินใจไม่ทำ และให้หลานชายทั้งสองโอนหุ้นคืนให้พยาน จากนั้น พยานได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไป

๕.นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปดูแลสายงานบัญชี ได้ลงนามเป็นพยานในตราสารโอนหุ้นแต่ละครั้ง พยานติดต่อประสานงานกับนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ พยานมีความเข้าใจเกี่ยวกับการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะพยานมีหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าวของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ส่วนกรณีของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มอบหมายให้พยานมาดำเนินการ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีพนักงานดูแลเรื่องนี้แล้ว หลังจากการโอนหุ้นในแต่ละครั้ง พยานได้บันทึกการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกครั้ง แต่ในการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พยานดำเนินการเฉพาะกรณีของการโอนหุ้นในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ เท่านั้น เพราะการโอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ และวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นการโอนหุ้นกันเองภายในครอบครัว จึงไม่ต้องดำเนินการแจ้งเปลี่ยนแปลงสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ในทันที ส่วนกรณีการโอนหุ้นในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ มีการแจ้งทันที เพราะในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ มีกรรมการบริษัทลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจดเปลี่ยนแปลงกรรมการภายใน ๑๔ วัน เมื่อต้องดำเนินการจดเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทอยู่แล้ว จึงได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ไปในเวลาเดียวกัน

๖.นางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด รับผิดชอบด้านงานการเงิน ซึ่งย่อมต้องทราบเรื่องจำนวนเงินที่ใช้ในการโอนหุ้นและกำหนดการจ่ายเงิน ในช่วงปลายปี ๒๕๖๑ พยานได้รับแจ้งจากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า จะมีการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ รวมทั้งหมดสิบกว่าบริษัท รวมถึงหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ด้วย โดยกำหนดสถานที่ทำการโอนหุ้นที่บ้านของผู้ถูกร้อง ในวันดังกล่าว พยานไปถึงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา วันนั้น มีนายณัฐนนท์ อภินันทน์ เป็นทนายความผู้จัดทำตราสารโอนหุ้น พยานได้ลงนามเป็นพยานในตราสารหุ้นที่ผู้ถูกร้องโอนหุ้นในนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ และเป็นพยานลงนามในตราสารโอนหุ้นที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โอนให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ที่บ้านของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการโอนหุ้นแบบไม่มีค่าตอบแทน และตราสารโอนหุ้นที่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ นายอรัญ วงศ์งามนิจ นายณรงค์ศักดิ์ โอปิลันธน์ และนางกมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ โอนหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่บ้านของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ในส่วนที่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ โอนให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน ส่วนการโอนรายอื่นมีค่าตอบแทน

๗.นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เบิกความว่า พยานเป็นภริยาของผู้ถูกร้อง ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ มีนัดโอนหุ้นที่บ้านของผู้ถูกร้องเวลา ๑๘.นาฬิกา ในวันดังกล่าว พยานอยู่ที่บ้านทั้งวัน ซึ่งในเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกา นายณัฐนนท์ อภินันทน์ ทนายความผู้จัดทำตราสารโอนหุ้นเดินทางมาถึงแล้วไปเตรียมเอกสารในห้องทำงานที่ใช้เป็นสถานที่ทำการโอนหุ้น ผู้ถูกร้องมาถึงก่อนเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกาแล้วไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า หลังจากนั้น นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และทีมงานที่ดูแลเรื่องบัญชีและการเงิน คือ นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ เดินทางมาถึง ผู้ถูกร้องและพยานได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ชำระราคาหุ้นด้วยเช็คที่เตรียมมาก่อน โดยสั่งจ่ายผู้ถูกร้องหนึ่งฉบับและสั่งจ่ายพยานหนึ่งฉบับ เมื่อพยานได้รับเช็คแล้ว พยานเป็นผู้เก็บเช็คทั้งสองฉบับไว้และไปเรียกเก็บเงินในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยปกติ พยานนำเช็คไปเรียกเก็บเงินด้วยตนเองเท่านั้น ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่บุตรคนเล็กเพิ่งคลอดตอนปลายเดือนกันยายน ๒๕๖๑ พยานยังเป็นแม่ลูกอ่อน ส่วนใหญ่ดูแลบุตรที่บ้าน และยังมีบุตรอีกสามคน จึงแทบไม่มีเวลา ประกอบกับเป็นเช็คที่เชื่อถือได้ จึงไม่ได้รีบร้อนนำเช็คไปขึ้นเงิน และเหตุที่ล่าช้าไปถึงเดือนพฤษภาคม เพราะหลังจากเดือนมกราคม ยุ่งเรื่องบุตร แต่พอช่วงเดือนมีนาคม มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการไม่มีการซื้อขายหุ้นจริง ทนายความจึงรวบรวมหลักฐานเพื่อนำไปให้ปากคำกับผู้ร้องในช่วงเดือนเมษายน เมื่อได้รับคืน จึงนำไปเรียกเก็บเงินในเดือนพฤษภาคม

๘.นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ เบิกความว่า พยานเป็นหลานของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ พยาน และน้องชาย คือ นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้รับโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นการโอนเพื่อให้เข้าไปบริหารกิจการ ต่อมาเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ มีการพูดคุยเรื่องแผนดำเนินการทางธุรกิจซึ่งมีการเสนอให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท แต่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่เห็นด้วยและขอให้โอนหุ้นคืน พยานจึงโอนหุ้นคืนให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ การโอนหุ้นทั้งสองครั้งทำที่บ้านนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยพยานเดินทางไปพร้อมกับนายทวี จรุงสถิตพงศ์ พยานจำชื่อทนายความที่ทำตราสารโอนหุ้นไม่ได้ และไม่ได้สนใจว่า ใครเป็นผู้จัดเตรียมเอกสาร จำได้แต่เพียงว่า มีพนักงานของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด อยู่ด้วย แต่ไม่ทราบชื่อ สำหรับการโอนหุ้นทั้งสองครั้งนั้น ไม่มีการชำระค่าตอบแทน

๙.นายทวี จรุงสถิตพงศ์ เบิกความว่า พยานเป็นหลานที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือมาโดยตลอด โดยทำงานกับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มาตั้งแต่เรียนจบจากต่างประเทศ ในบางบริษัท นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ให้พยานเป็นผู้ถือหุ้น โดยพยานลงทุนด้วยแรงงาน ส่วนนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ลงทุนด้วยเงิน พยานจบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ปรากฏตามปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพและสำเนาระเบียนแสดงผลการศึกษา (เอกสารหมาย ถ ๗๑) ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่พยาน และพี่ชาย คือ นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ เพื่อให้หาแนวทางฟื้นฟูธุรกิจ เมื่อพยานรับโอนหุ้นมาแล้ว ได้จัดทำการวิเคราะห์การนำบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด กลับมาเริ่มธุรกิจใหม่ตามบทวิเคราะห์โดยนายทวี จรุงสถิตพงศ์ (เอกสารหมาย ถ ๖๖/๑ ถึง ๖๖/๖) แล้วถือโอกาสที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นนำเสนอแผนการฟื้นฟูธุรกิจให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ทราบ แต่เนื่องจากต้องมีการลงทุนเพิ่มตามเอกสารประมาณการรายรับ–รายจ่ายสำหรับโครงการวี-ลัค มีเดีย (เอกสารหมาย ถ ๖๗/๑ ถึง ถ ๖๗/๖๐) นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ตกลงและให้โอนหุ้นคืนเพื่อดำเนินการเลิกบริษัท พยานจึงได้โอนหุ้นคืนเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ในวันนั้น พยานได้เดินทางไปถึงบ้านนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมกับนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ในเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกา เมื่อไปถึง ได้พบกับทนายความ ทีมเจ้าหน้าที่บัญชี และนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อพูดคุยกันสักครู่แล้ว พยานลงนามในเอกสาร แล้วพยานก็เดินทางกลับ โดยไม่ได้มีการชำระราคาหุ้นกันแต่อย่างใด

๑๐.นายพิพัฒน์พงษ์ รุจิตานนท์ เบิกความว่า พยานเป็นทนายความโนตารีในสำนักงานกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้จัดทำเอกสารการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ และเอกสารการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ การโอนหุ้นทั้งหมดทำขึ้นที่บ้านนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยไม่มีการชำระราคาหุ้น มีนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ ลงนามเป็นพยานในตราสารโอนหุ้น สำหรับการโอนหุ้นในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นั้น เมื่อนายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ลงนามในตราสารโอนหุ้นแล้ว ทั้งสองคนก็ได้เดินทางกลับ หลังจากนั้น พยานได้มีการทำตราสารโอนหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นอีกสามคน

ผู้ร้องยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจากคำร้องสรุปไดว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทข้อ ๒๓ ข้อ ๒๔ และข้อ ๑๕ แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บ.ช. ๓) ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุว่า มีรายได้จากการขายนิตยสารและการให้บริการโฆษณา และยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี คำเบิกความของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อศาลว่า มีการชำระค่าหุ้นด้วยเช็คให้แก่ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นบุตร แต่การโอนหุ้นให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นหลานชาย กลับไม่มีการชำระราคาหุ้น นอกจากนี้ นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม ผู้จัดการทั่วไปดูแลสายงานบัญชี ยังได้เบิกความต่อศาลว่า ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ มีการโอนหุ้นหลายบริษัท แต่บางบริษัทยังไม่มีการชำระราคาหุ้นในวันนั้น โดยชำระภายหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คล่าช้าอีกด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ชำระราคาหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้องจริง

ผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสรุปได้ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซง ครอบงำ หรือบงการสื่อมวลชนได้ เพราะจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง และขัดต่อหลักเสรีภาพของสื่อมวลชน ดังนั้น การที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตผลงานตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง มิใช่ผู้เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปของประชาชน จึงมิใช่กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้หมายถึงสื่อมวลชนในทำนองเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สถานีโทรทัศน์ช่อง MCOT สถานีโทรทัศน์ช่องเนชั่น เป็นต้น

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบ รวมทั้งการไต่สวนพยาน และคำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีแล้ว คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ และวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ และกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งมีรายชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ผู้ร้องได้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แต่ผู้ถูกร้องถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น เลขหมายของหุ้น ตั้งแต่หมายเลข ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลข ๒๐๒๕๐๐ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ โดยรับโอนหุ้นมาจากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้แจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้นหมายเลขหุ้นดังกล่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ ซึ่งมาตรา ๙๘ (๓) บัญญัติให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงมีมูลกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) ด้วย ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง และเพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจครอบงำสื่อมวลชนอันจะทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง

ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งประการแรกว่า กระบวนการไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสี่ ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเหตุสิ้นสุดลงตามมาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๖๓/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) และได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งประการที่สองว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีเจตนารมณ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีที่บุคคลดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ โดยมาตรา ๔ ได้นิยามความหมายคำว่า "หนังสือพิมพ์" หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึง นิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน และในมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักร ต้องจดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้" และมาตรา ๑๘ บัญญัติว่า "ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์" ข้อเท็จจริงปรากฏจากเอกสารในสำนวนว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ โดยมีวัตถุประสงค์ข้อ ๒๓ ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ข้อ ๒๕ ประกอบกิจการโฆษณาด้วยสื่อการโฆษณาทุกอย่าง เช่น โฆษณาในหนังสือพิมพ์ แผ่นป้ายโฆษณา สิ่งพิมพ์ ใบปลิว กระจายเสียงผ่านสื่อทางวิทยุ โทรทัศน์ โทรเลข เคเบิลทีวี โทรสาร การส่อสารด้วยระบบดาวเทียม และสื่ออื่นใด (เอกสารหมายเลข ร ๗/๓) และแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของหน้าหุ้นส่วนบริษัท (แบบ สสช. ๑) ระบุว่า ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย (เอกสารหมาย ร ๘) และบริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑ ตามเอกสารหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ เลขทะเบียนที่ สสช ๓/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และเลขทะเบียนที่ สสช ๒๒๘/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งปรากฏตามสำเนาหนังสือของสำนักหอสมุดแห่งชาติที่ วธ ๐๔๒๕/๒๐๖๔ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ (เอกสารหมาย ศ ๒๐/๑) นอกจากนี้ แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ (เอกสารหมาย ศ ๔/๑ ศ ๕/๑ และ ศ ๖/๑) ก็ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการให้บริการโฆษณา ประกอบกับไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘ ก่อนวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องโดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในรายชื่อลำดับที่ ๑ แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสาร และเลิกจ้างพนักงานบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เป็นต้นมา รวมทั้งได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หยุดกิจการชั่วคราว ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ก็ตาม แต่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ตราบที่ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องโดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในรายชื่อลำดับที่ ๑

สำหรับข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องประการที่สามว่า ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพราะได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นมารดาของผู้ถูกร้องไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ นั้น เห็นว่า จากพยานเอกสารที่ได้จากการไต่สวน ได้แก่ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ (เอกสารหมาย ร ๑๐/๑๐ ถึง ร ๑๐/๑๒) และเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ (เอกสารหมาย ร ๑๐/๒๕ ถึง ๑๐/๒๗) ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลขหุ้น ๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ จึงมีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ระบุหุ้นหมายเลขดังกล่าวว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถูกร้องชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาว่า ตนได้โอนหุ้นของบริษัทดังกล่าวให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้น (เอกสารหมาย ถ ๒๖/๒) โดยมีลายมือชื่อของนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ เป็นพยาน ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ กำหนด และมีการจ่ายค่าตอบแทนในการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท ปรากฏตามสำเนาเช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๙๕๙ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ สั่งจ่ายชื่อผู้ถูกร้อง (เอกสารหมาย ถ ๒๗) ต่อมา มีการโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ และนายทวี จรุงสถิตพงศ์ โอนคืนให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยไม่มีค่าตอบแทนในการโอน

ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงขึ้นว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นของผู้ถูกร้องจำนวนดังกล่าวไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ กล่าวคือ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้มีหนังสือส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยเร็วเป็นปกติทุกครั้ง ดังเห็นได้จากหนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ หนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการโอนหุ้นของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้กับผู้ถูกร้อง และหนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) โดยคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ แต่การโอนหุ้นของผู้ถูกร้องให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทั้งที่การส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ดังกล่าวจะเป็นหลักฐานที่สำคัญหากผู้ถูกร้องมีความประสงค์เข้าสู่การเมือง การที่ไม่มีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจึงเป็นการผิดปกวิสัยที่เคยปฏิบัติมา ทั้ง ๆ ที่การโอนหุ้นครั้งนี้มีความสำคัญต่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกร้องอย่างยิ่ง เพราะถ้ามิได้โอนไปก่อนวันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมจะทำให้ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) แม้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเบิกความเป็นพยานต่อศาลให้เหตุผลในการไม่ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกุรงเทพมหานครทันทีหลังจากที่มีการโอนหุ้นดังกล่าวว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้เลิกจ้างพนักงานบริษัทไปแล้วทั้งหมดตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จึงไม่มีนักบัญชีที่คอยดำเนินการติดตามจัดการเอกสารทางทะเบียนดังเช่นตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการโอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ แต่คำชี้แจงดังกล่าวขัดแย้งกับคำเบิกความของนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม พยานบุคคล ที่ว่า ตนสามารถทำได้ถ้ามีคำสั่งให้ทำ ซึ่งนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) และเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ดำเนินการเกี่ยวกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ด้วย ประกอบกับในทางปฏิบัติ การยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) นั้น สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ และการยื่นเอกสารดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยากแต่ประการใด เพราะบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ใช้วิธีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) งบดุลประจำปี ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครทางอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึงปี ๒๕๖๑

ผู้ถูกร้องอ้างว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้องด้วยเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนบางนา–ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) ขีดคร่อมผู้ถือ (A/C PAYEE ONLY) เลขที่เช็ค ๑๑๓๐๙๙๕๙ ฉบับลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ สั่งจ่าย "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นจำนวนเงิน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งปรากฏว่า มีการนำฝากเข้าบัญชีวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ (เอกสารหมาย ถ ๒๗ และ ถ ๒๘) ซึ่งตรงกับวันที่ผู้ร้องได้ส่งคำร้องคดีนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และเป็นระยะเวลานานถึง ๑๒๘ วันหลังจากวันที่ระบุในเช็ค ทั้งที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเช็ค คือ ประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐ ให้ผู้ทรงเช็คมีหน้าที่ต้องนำเช็คไปยื่นต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้มีการใช้เงินภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน หากเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกันกับเมืองที่ธนาคารตามเช็คที่มีหน้าที่จ่ายเงินตั้งอยู่ หรือภายในระยะเวลา ๓ เดือน หากเป็นเช็คที่ออกต่างเมือง กล่าวคือ สถานที่ที่ออกเช็คและธนาคารตามเช็คอยู่คนละจังหวัดกัน โดยในคดีนี้ ธนาคารตามเช็คที่มีหน้าที่จ่ายเงิน คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนบางนา–ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) อยู่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อไม่ระบุสถานที่ออกเช็ค ต้องถือว่า ออกเช็ค ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย คือ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงมีหน้าที่นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินภายในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แม้ผู้ถูกร้องอ้างว่า มีการนำเช็คเรียกเก็บเงินล่าช้าเช่นนี้เป็นประจำ แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดย้อนหลังไป ๓ ปี พบว่า การเรียกเก็บเงินตามเช็คจำนวนตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไประหว่างปี ๒๕๖๐–๒๕๖๒ นั้น มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คหลังจากวันที่ลงในเช็คประมาณ ๔๒ ถึง ๔๕ วัน กล่าวคือ เช็คลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มี ๓ ฉบับ ฉบับที่ ๑ จำนวน ๓,๓๖๑,๐๓๗.๕๐ บาท ฉบับที่ ๒ จำนวน ๕,๒๔๖,๒๓๗.๕๐ บาท และฉบับที่ ๓ จำนวน ๕,๓๐๖,๒๓๗.๕๐ บาท เช็คทั้งสามฉบับนำไปเรียกเก็บเงินวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ส่วนเช็คลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จำนวน ๒,๖๔๓,๗๕๐.๐๐ บาท นำไปเรียกเก็บเงินวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ ดังนั้น เช็คทั้งสี่ฉบับนำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีใช้เวลาอย่างมาก ๔๒ วัน และเช็คลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มี ๑ ฉบับ จำนวน ๓,๓๒๖,๒๓๗.๕๐ บาท นำไปเรียกเก็บเงินวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ใช้เวลา ๔๒ วัน และเช็คลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มี ๑ ฉบับ จำนวน ๒,๓๓๖,๑๙๒.๐๐ บาท นำไปเรียกเก็บเงินวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ใช้เวลา ๔๕ วัน แต่ในการเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ กลับใช้เวลาถึง ๑๒๘ วัน แม้จะมีเช็คฉบับลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ใช้เวลานำฝากเข้าบัญชี ๙๘ วันก็ตาม แต่เป็นเช็คที่มียอดเงินเพียง ๒๗,๐๐๐ บาทเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การนำเช็คชำระราคาหุ้นฉบับลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารมีความล่าช้าผิดแผกแตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภริยาของผู้ถูกร้อง เบิกความว่า ช่วงนั้น ตนมาสะดวกที่จะนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน เนื่องจากต้องดูแลบุตรซึ่งยังเป็นเด็กทารก และเป็นเช็คที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ มีข่าวว่า ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาว่า ไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นกันจริง ทนายความจึงรวบรวมพยานหลักฐานรวมทั้งเช็คเพื่อนำไปให้ปากคำกับผู้ร้องในเดือนเมษายน และได้รับเช็คกลับคืนมาในเดือนพฤษภาคม คำเบิกความดังกล่าวมีความขัดแย้งกับหนังสือของผู้ถูกร้องลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ที่ชี้แจงต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐาน ซึ่งส่งสำเนาเช็คให้ผู้ร้องเท่านั้น มิได้จัดส่งต้นฉบับเช็คให้กับผู้ร้องแต่อย่างใด (ปรากฏตามเอกสารหมาย ศ ๙/๕๗ และ ถ ๑๕/๙) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ สามารถนำเช็คฝากเข้าบัญชีได้ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๒ แล้ว ข้ออ้างเรื่องการไม่นำเช็คไปขึ้นตามทางปฏิบัติปกติจึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ เนื่องจากเป็นเช็คชนิดระบุชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้รับเงินและขีดคร่อม (A/C PAYEE ONLY) ซึ่งต้องนำเข้าบัญชีธนาคารในชื่อผู้ถูกร้องเท่านั้นและไม่สามารถสลักหลังโอนให้ผู้อื่นได้ นอกจากนั้น การนำเช็คไปขึ้นเงินก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนตนได้ ดังนั้น ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คในฐานะผู้รับเงินสามารถมอบอำนาจให้บุคคลใดไปดำเนินการแทนได้ มิใช่เฉพาะนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มิใช่ผู้รับเงินตามเช็คนั้น โดยต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกร้องเช่นเดียวกัน นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ จึงไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงินด้วยตนเองและไม่ต้องรอเวลาถึง ๔ เดือนเศษ

สำหรับการโอนหุ้นที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลขหุ้น ๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นหมายเลขเดิมของผู้ถูกร้อง ให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชายของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอกสารหมาย ถ ๓๓/๒) และต่อมาในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้โอนหุ้นหมายเลขดังกล่าวกลับคืนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอกสารหมาย ถ ๔๐/๒) นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนปรากฏว่า การโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืนดังกล่าวไม่มีค่าตอบแทนโดยอ้างความสัมพันธ์ในทางเครือญาติ ซึ่งย้อนแย้งและแตกต่างจากการโอนหุ้นระหว่างนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กับผู้ถูกร้อง ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นมารดากับบุตร กลับมีค่าตอบแทน แม้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเบิกความว่า ต้องการให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ มาแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ตาม แต่การโอนหุ้นให้แก่กันโดยไม่มีค่าตอบแทนย่อมทำให้ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า ได้มีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่ คงมีเพียงพยานเอกสารที่ใช้อ้าง คือ ตราสารโอนหุ้น และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และใบหุ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเอกสารที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด สามารถจัดทำขึ้นเองได้ในภายหลัง ประกอบกับการที่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้โอนหุ้นดังกล่าว ได้โอนหุ้นดังกล่าวกลับคืนให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากได้รับโอนหุ้นไปเพียงสองเดือนกว่า โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เบิกความว่า นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้ทำการศึกษาแล้ว ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท ตนจึงมีความประสงค์จะปิดบริษัท และให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ โอนหุ้นกลับคืนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ย่อมขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไปที่มีความประสงค์จะฟื้นฟูบริษัทที่ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาพอสมควร และต้องลงมือทำงานตามแผนธุรกิจที่ศึกษาเสียก่อน อีกทั้งการโอนหุ้นที่มีมูลค่าสูงให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นหลานชายของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวอ้างว่า ต้องการอุปถัมภ์หลานชาย ก็ขัดแย้งกับการที่ให้หลานชายโอนหุ้นกลับคืนมาภายในระยะเวลาสองเดือนเศษโดยไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ใดเป็นการตอบแทน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ต้องลงทุนเพิ่มหากเทียบกับฐานะทางเศรษฐกิจของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้ว ถือว่า เป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ซึ่งขัดแย้งกับที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า บริษัทมียอดหนี้ของลูกหนี้และสิทธิเรียกร้องประมาณ ๑๑ ล้านบาท แต่ตามแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่นำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า มีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นเพียง ๒,๘๗๕,๘๑๘.๓๔ บาท (สองล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันแปดร้อยสิบแปดบาท สามสิบสี่สตางค์) (เอกสารหมาย ศ ๖/๔) จำนวนเงินดังกล่าวที่มีจำนวนไม่ตรงกัน ประกอบกับหนี้ที่มีจำนวนไม่มากเช่นนี้ การทวงถามหนี้ก็ดี หรือการวิเคราะห์ว่า บริษัทจะดำเนินต่อไปหรือไม่อย่างไร บริษัทสามารถใช้ทนายความหรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจให้ดำเนินการได้ ทั้งการดูแลกิจการในครอบครัวสามารถให้บุคคลใดเข้ามาดูแลโดยไม่จำต้องโอนหุ้นให้ก็ย่อมทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นเพียงผู้ถือหุ้นไม่ทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ไม่มีอำนาจติดตามหนี้สิน และยิ่งไม่มีสิทธิที่จะบริหารเงินสดแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า ได้โอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ โดยอ้างถึงพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตราสารการโอนหุ้นซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันที่มีความใกล้ชิดกับผู้ถูกร้อง ประกอบกับเอกสารการโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งได้แก่ สำเนาเอกสารหนังสือรับรองการโอนหุ้นของทนายความผู้ทำคำรับรอง ตราสารการโอนหุ้น เช็คสั่งจ่ายค่าหุ้น สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ต้นขั้วเช็ค และต้นขั้วใบหุ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเอกสารที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จัดทำ และเก็บรักษาไว้ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทั้งสิ้น จึงเป็นการกล่าวอ้างเพียงเพื่อให้เจือสมกับที่ปรากฏหลักฐานในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ รับโอนหุ้นหมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลขหุ้น ๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น กลับคืนมาจากนายทวี จรุงสถิตพงศ์ (เอกสารหมาย ร ๑๐/๒๕ ถึง ร ๑๐/๒๗) เท่านั้น

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ได้เดินทางกลับจากการปราศรัยที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ กลับมายังบ้านพัก บ้านเลขที่ ๑๕๗ หมู่บ้านเลคไซด์วิลล่า ๒ แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้ถูกร้อง เพื่อโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเดินทางกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์มายังบ้านพักที่กรุงเทพมหานครในวันดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็รับฟังได้เพียงว่า ผู้ถูกร้องอยู่ที่กรุงเทพมหานครในวันที ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า มีการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันดังกล่าวจริง การพิจารณาว่า มีการโอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี

คดีนี้ แม้ผู้ถูกร้องจะมีพยานหลักฐานมาแสดงว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ และแม้ผู้ถูกร้องจะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานจากข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น" และมาตรา ๑๑๔๑ ที่บัญญัติว่า "สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับหรือให้อำนาจให้เอาลงในทะเบียนนั้น" ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ ประกอบกับพยานหลักฐาน พฤติเหตุแวดล้อมกรณี ที่สอดรับกันอย่างแน่นหนาแล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อได้มากกว่าพยานหลักฐานของผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการประกอบกันมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้

ดังนั้น ข้อพิรุธที่น่าสงสัยหลายประการดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓)

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) แล้ว สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย... ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง" บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมิได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้น สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง นับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๕ วรรคหนึ่ง (๒) จึงให้ถือว่า วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง คือ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และให้ถือว่า วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังเป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๕ วรรคหนึ่ง (๒) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

  • นุรักษ์ มาประณีต
  • (นายนุรักษ์ มาประณีต)
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

  • จรัญ ภักดีธนาุกล
  • (นายจรัญ ภักดีธนาุกล)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
  • (นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


  • บุญส่ง กุลบุปผา
  • (นายบุญส่ง กุลบุปผา)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


  • วรวิทย์ กังศศิเทียม
  • (นายวรวิทย์ กังศศิเทียม)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  • ชัช ชลวร
  • (นายชัช ชลวร)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  • (นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


  • ปัญญา อุดชาชน
  • (นายปัญญา อุดชาชน)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
  • (นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ