ข้ามไปเนื้อหา

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2556/ส่วนที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๗
ราชกิจจานุเบกษา

ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน
ของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕
 
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ความเห็น

พิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" การที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย" เป็นการบัญญัติให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลต้องร่วมรับผิดในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำของนิติบุคคลนั้น เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นผลให้ผลักภาระการพิสูจน์ไปยังกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคล แม้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาดก็ตาม แต่ตามหลักกฎหมายทั่วไปทางอาญา มีเจตนารมณ์ที่จะรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา จึงต้องมีข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นไม่มีความผิด อันสอดคล้องกับหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ทำให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ในคดีอาญา โจทก์มีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบแห่งความผิด ศาลจึงจะลงโทษได้ โดยจำเลยอาจนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนหรือไม่ก็ได้ การที่ให้จำเลยต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองเพื่อให้พ้นผิด นับว่า เป็นผลร้ายแก่จำเลย วิธีการเช่นนี้ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปทางอาญาดังกล่าว ทำให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์แต่เพียงว่า จำเลยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่กระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งแทบไม่มีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากมีการจดทะเบียนไว้ต่อทางการแล้ว แทนที่โจทก์จะต้องนำสืบพิสูจน์ด้วยว่า จำเลยคนใดมีส่วนร่วมกระทำความผิดอย่างไร ซึ่งไม่น่าจะมีความยากลำบากในการแสวงหาพยานหลักฐานแต่อย่างใด การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ย่อมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในการถูกดำเนินคดีอาญา อย่างน้อยก็ต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นพิจารณา และยังต้องหาทนายความมาช่วยแก้ต่างเพื่อให้พ้นจากข้อสันนิษบานตามกฎหมาย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกไม่น้อย ทั้งการที่กฎหมายตั้งข้อสันนิษฐานไว้เช่นนี้ ย่อมทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินคดีแก่บุคคลเหล่านี้ในแบบเหมาหมด คือ สอบสวนเพียงให้ปรากฏว่า ผู้ต้องหาเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลซึ่งกระทำความผิดเท่านั้น แล้วฟ้องต่อศาลทั้งหมด ปล่อยให้จำเลยไปหาพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพื่อให้พ้นผิด หากหาพยานหลักฐานไม่ได้ ก็ต้องรับโทษ การที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ บัญญัติให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบบุคล เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำของนิติบุคคลนั้น จึงเป็นการสันนิษฐานไว้แต่แรกแล้วว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลได้กระทำความผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วย ซึ่งการออกพระราชบัญญัติประเภทนี้ ก็มักจะใช้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ จะอยู่กับฝ่ายจำเลยเป็นส่วนใหญ่ จึงผลักภาระไปให้จำเลยเป็นฝ่ายพิสูจน์ตนเองให้พ้นผิด โดยอ้างว่า จำเลยเป็นฝ่ายรู้ข้อเท็จจริงมากกว่า ทั้งยังอ้างว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลทั่วไปที่รัฐใช้เป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายที่มีลักษณะเช่นนี้ การผลักภาระการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญาไปให้จำเลย นอกจากจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปทางอาญาดังกล่าวแล้ว ยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดอีกด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวมา จึงมีความเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

  • นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญ