คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑/ชัช ชลวร
คำวินิจฉัยที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ | เรื่องพิจารณาที่ ๑๙/๒๕๕๑ เรื่องพิจารณาที่ ๒๙/๒๕๕๑ |
- ประเด็นวินิจฉัยมีว่า
ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบมาตรา ๒๖๗ เพราะเหตุผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว หรือไม่
- ความเห็น
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ บัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖๕ มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย”
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว ผู้ถูกร้องได้เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง ๖ โมงเช้า” ซึ่งเป็นรายการของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ที่ออกรายการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งผู้ถูกร้องเข้ารับหน้าที่พิธีกรมาตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยได้รับค่าตอบแทน และเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกร้องยังคงเป็นพิธีกรในรายการดังกล่าวให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด
ประเด็นต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การเป็นพิธีกรของผู้ถูกร้องเป็นการดำรงตำแหน่งใดในบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ บัญญัติอยู่ในหมวด ๑๒ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ ๒ การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน อันจะทำให้เกิดการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ดังนั้น การดำรงตำแหน่งใดในบริษัท ตามความแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ จึงต้องแปลความทั้งการดำรงตำแหน่งใดในบริษัทตามที่กฎหมายรับรอง เช่น การเป็นกรรมการหรือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท หรือตำแหน่งใดที่บริษัทจัดให้มีขึ้น เช่น ประธานกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้จัดการ หรือพนักงาน เป็นต้น นอกจากนั้น การดำรงตำแหน่งใดในบริษัท ยังหมายความรวมถึง ตำแหน่งใด ๆ ในทางข้อเท็จจริงซึ่งมีการยอมรับหรือแสดงออกโดยปริยายว่าเป็นตำแหน่งในบริษัทอีกด้วย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องมิได้ดำรงตำแหน่งใดในบริษัทตามที่กฎหมายรับรอง กล่าวคือ ผู้ถูกร้องมิได้เป็นกรรมการหรือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด และมิได้ดำรงตำแหน่งใดที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จัดให้มีขึ้น กล่าวคือ มิได้เป็นประธานกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้จัดการ พนักงาน ฯลฯ คงได้ความแต่เพียงว่า ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง ๖ โมงเช้า” ซึ่งเป็นรายการของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เท่านั้น การเป็นพิธีกรของผู้ถูกร้องดังกล่าว แม้จะดำเนินการมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็มิได้ดำเนินการติดต่อกันมาโดยตลอด เพราะบางช่วงเวลาที่ผู้ถูกร้องมิได้เป็นพิธีกร ก็จะมีการจัดบุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทน กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ถูกร้องหรือบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ได้ยอมรับหรือแสดงออกโดยปริยายว่า ผู้ถูกร้องมีตำแหน่งเป็นพิธีกร อันเป็นการดำรงตำแหน่งใดในบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด แต่อย่างใด ผู้ถูกร้องจึงมิได้ดำรงตำแหน่งใดในบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗
ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวของตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จึงขัดกันในลักษณะที่ผลประโยชน์ส่วนตัวได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ
การจะทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล จึงมิใช่แปลความคำว่า “ลูกจ้าง” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์แตกต่างกันไปตามเหตุผลแห่งการบัญญัติกฎหมายนั้น ๆ ทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงกฎหมายลำดับรองอันมีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย
ดังนั้น คำว่า “ลูกจ้าง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของ กฎหมายดังกล่าว โดยต้องแปลความตามความหมายทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ว่าหมายถึง “ผู้รับจ้างทำการงาน; ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” โดยมิได้คำนึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินหรือไม่ หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ ทั้งสิ้น
ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนผู้ถูกร้องว่า หลังจากผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกร้องยังคงเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง ๖ โมงเช้า” ให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวมีลักษณะกิจการงานที่ทำเพื่อมุ่งหาผลกำไร มิใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ ซึ่งผู้ถูกร้องเคยให้สัมภาษณ์แก่หนังสือสกุลไทยว่า ผู้ถูกร้องได้รับเงินเดือนจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เดือนละแปดหมื่นบาท สำหรับหนังสือที่นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล มีถึงผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องแจ้งว่า จะทำให้เปล่า ๆ โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนเคยนั้น ผู้ถูกร้องไม่เคยแสดงหนังสือทั้งสองฉบับมาก่อนจะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งเรียกให้ชี้แจง ทั้งผู้ถูกร้องก็ชี้แจงยืนยันเสมือนว่าก่อนเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ ผู้ถูกร้อง ได้รับค่าตอบแทนเป็นเพียงค่าน้ำมันรถเท่านั้น ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับคำเบิกความของนางดาริกา รุ่งโรจน์ และหลักฐานทางภาษีที่แสดงว่า ก่อนหน้านั้นผู้ถูกร้องได้รับค่าจ้างแสดง ไม่ใช่ค่าน้ำมันรถ ส่วนที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้รับค่าน้ำมันรถและค่าใช้จ่าย น่าจะเป็นการนำเงินไปให้คนขับรถมากกว่านั้น เป็นการขัดแย้งกับคำชี้แจงของผู้ถูกร้องลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ซึ่งให้การว่า ผู้ถูกร้องได้รับค่าพาหนะเฉพาะเมื่อไปออกรายการเท่านั้น ข้อนำสืบของผู้ถูกร้องจึงมีน้ำหนักน้อยพยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องทำหน้าที่พิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” หลังจากเข้าดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ถูกร้องยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างทำการงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ แล้ว กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗)
เชิงอรรถ
[แก้ไข]1. ^ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๒ ก/หน้า ๑๘/๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"