ข้ามไปเนื้อหา

คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องร้องเรียนเลขแดงที่ 180/2564

จาก วิกิซอร์ซ
คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน
สำนักสอบสวน ๑
เรื่องร้องเรียนเลขดำที่ ๗๙/๒๕๖๔
เรื่องร้องเรียนเลขแดงที่ ๑๘๐/๒๕๖๔
 
วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔
๑. ผู้แจ้ง/ผู้ร้องเรียน

นายศรีสุวรรณ จรรยา

๒. ผู้ถูกร้องเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๒.๑ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

๒.๒ กระทรวงสาธารณสุข

๓. ประเด็นเรื่องร้องเรียน

ร้องเรียนกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกนัและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

๓.๑ กรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อยังสามารถเปิดให้บริการได้

๓.๒ กรณีการบริหารจัดการของภาครัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น)

๓.๓ กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน

๔. ข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๓ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นหนังสือจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งได้มีการแสวงหาข้อเท็จริงจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้

๔.๑ กรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนักชุมชน ขณะที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ยังสามารถเปิดให้บริการได้ นั้น

๔.๑.๑ สืบเนื่องจากกรณีที่ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในบางเขตพื้นที่ รัฐบาลจึงต้องดำเนินการยกระดับมาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามเป็นวงกว้าง ประกอบกับพบว่า อาการของผู้ติดเชื้อมีลักษณะอาหารที่แตกต่างไปจากเดิม คือ ไม่ปรากฏอาการของโรคโดยทันที จึงเป็นเหตุที่ทำให้เชื้อโรคมีการแพร่ระบาดออกไป นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ระบาดของโรคไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๖) ประกาศ ณ วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๔ กำหนดเงื่อนไขการเปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนด

๔.๑.๒ กรณีที่มีการปิดตลาดในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ นั้น เป็นการพิจารณาสั่งปิดตลาดที่เป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค มิได้สั่งปิดในทุกตลาด โดยตลาดที่ถูกสั่งปิดจะต้องดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมถึงดำเนินการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งหากดำเนินการเป็นไปตามมาตรการป้องกันแล้ว กรมอนามัยจะเข้าไปพิจารณาและประเมินก่อนทำการเปิดตลาดให้ทำการค้าปกติต่อไป สำหรับกรณีห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ นั้น เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานที่ดังกล่าว จึงสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ แต่เป็นการเปิดภายใต้เงื่อนไขมาตรการคัดกรองและเข้มงวดความปลอดภัยด้านสุขอนามัย กล่าวคือ ให้ผู้มาใช้บริการได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากอนามัย กำหนดการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม จัดให้มีที่ล้างมือ รวมทั้งให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ผ่านแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com และแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนไทยชนะ

๔.๒ กรณีการบริหารจัดการของภาครัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากาอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) นั้น

๔.๒.๑ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด โดย บริษัท ซี.พี. โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด เป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ภายใต้โครงการหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โดยมอบหน้ากากอนามัยผ่านทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหน้ากากอนามัย ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้รับหน้ากากอนามัย และพิจารณาจำนวนในการแจกจ่ายทั้งหมด ปัจจุบัน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๑ ล้านชิ้น และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการส่งมอบหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรการกุศล และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มอาสาสมัคร ประมาณ ๑,๐๙๔ แห่ง

๔.๒.๒ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้นำหน้ากากอนามัยหลายชนิดมาจำหน่ายภายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ นั้น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มิได้นำหน้ากากอนามัยที่ผลิตภายใต้โครงการหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไปของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มาจำหน่ายแต่อย่างใด แต่เป็นการติดต่อกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์รายอื่น โดยกำหนดราคาเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุม คือ ชิ้นละ ๒.๕๐ บาท บรรจุกล่องละ ๕๐ ชิ้น ราคากล่องละ ๑๒๕ บาท นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยังจำหน่ายหน้ากากทางเลือกชนิดอื่นที่สามารถป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยป้องกนัฝุ่น PM ๒.๕ ซึ่งหน้ากากอนามัยชนิดนี้มักใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กได้ หรือทำด้วยวัสดุที่สวยงาม ทนทานต่อการใช้งาน จึงทำให้ราคาหน้ากากอนามัยทางเลือกมีราคาสูงกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์

๔.๓ กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน นั้น

๔.๓.๑ ประเทศไทยเริ่มมีแผนการจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับประชาชน ตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 อยู่ในระหว่างการพัฒนา และทดสอบวัคซีน โดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน หากวัคซีนที่ทำการจองไม่ประสบควาามสำเร็จ ประเทศไทยจะสูญเสียงบประมาณในการจองวัคซีนไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยต้องทำการจองวัคซีนล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน COVID-19 เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชบัญญัติการจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้เปิดโอกาสให้สามารถใช้จ่ายงบประมาณในกรณีการวิจัยพัฒนาได้

๔.๓.๒ วัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่จะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ นั้น จะต้องมีการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะพิจารณาองค์ประกอบ ๓ ด้าน ประกอบด้วย คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน COVID-19 จาก ๓ บริษัท ที่ได้มีคำขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกอบด้วย บริษัท AstraZeneca จำกัด ได้อนุมัติทะเบียนแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ บริษัท Sinovac Biotech จำกัด ได้ยื่นข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร แต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติทะเบียน และบริษัท Johnson & Johnson ได้มีการยื่นข้อมูลเพื่อพิจารณาบางส่วน

๕. ข้อกฎหมาย

๕.๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐

๕.๒ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘

๕.๓ พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

๕.๔ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓

๕.๕ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๖) ประกาศ ณ วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๔

๕.๖ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดราคาจำหน่ายและการแจ้งข้อมูลหน้ากากอนามัย ประกาศ ณ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๓

๕.๗ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น ประกาศ ณ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

๖. ข้อพิจารณา

ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นหนังสือจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งได้มีการแสวงหาข้อเท็จริงจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยพิจารณาได้ดังนี้

๖.๑ ประะเด็นการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อยังสามารถเปิดให้บริการได้ นั้น ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งไม่ได้มีการสั่งปิดตลาดในทุกตลาด แต่เป็นการปิดเฉพาะตลาดที่พบว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาด หรือตลาดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น สำหรับกรณีการเปิดห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค หรือมีความเสี่ยงต่อการติดโรค จึงสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการคัดกรองและเข้มงวดความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดออกออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๖) ประกาศ ณ วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๔ กรณีจึงถือได้ว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสั่งปิดตลาดจึงไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการพิจารณาโดยคำนึงถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่ที่กำกับดูแล และรับผิดชอบ ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างต่อไป

๖.๒ ประเด็นการบริหารจัดการของภาครัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) นั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริง ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ปรากฏว่า บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ดำเนินโครงการหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไป โดยผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหน้ากากอนามัย ซึ่งได้มีการส่งมอบหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ องค์กรการกุศล และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มอาสาสมัคร ประมาณ ๑,๐๙๔ แห่ง จำนวนรวมทั้งสิ้น ๑๑ ล้านชิ้น สำหรับกรณีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยภายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) นั้น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มิได้นำหน้ากากอนามัยที่ผลิตภายใต้โครงการหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไปของบริษีท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มาจำหน่ายแต่อย่างใด แต่เป็นการติดต่อกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์รายอื่น และกำหนดราคาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีปริมาณจำกัดจึงทำให้จำหน่ายหมดภายในเวลารวดเร็ว กรณีจึงถือได้ว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการแจกจ่ายหน้ากกาอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตโดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งการจำหน่ายหน้ากากอนมัยทางการแพทย์ในร้านสะดวก (เซเว่น อีเลฟเว่น) ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในด้านราคาของกรมการค้าภายใน และการควบคุมคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย

๖.๓ กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน นั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประเทศไทยเริ่มกระบวนการตั้งแต่ในช่วงที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาใช้กับประชาชนเกิดความล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ความรุนแรงของโรคได้ ด้วยเหตุนี้ การจัดทำวัคซีนป้องกัน COVID-19 จึงเป็นการพิจารณาจัดซื้อภายใต้ความเสี่ยง โดยต้องทำการจองวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชบัญญัติการจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ เนื่องจากการจัดซื้อภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่วัคซีนเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติความมุ่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติสามารถใช้จ่ายงบประมาณในกรณีการวิจัยพัฒนาได้ ขณะนี้ประเทศไทยได้จัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 จาก ๒ บริษัท ได้แก่ บริษัท ชิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ โดส และจากบริษัท AstraZeneca จำนวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ โดส รวมทั้งมีแผนที่จะจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีกอีก ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ โดส ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ครอบคลุมประชาชน จำนวน ๓๓,๐๐๐,๐๐๐ โดส หรือคิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของประชาชนทั้งประเทศ สำหรับวัคซีนที่จัดซื้อไว้แล้วคาดว่าจะได้รับตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กรณ๊จึงถือได้ว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดหาวัคซีน COVID-19 เป็นไปด้วยความรอบคอบแล้ว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ดังนั้น ปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้จึงมิได้เป็นไปตามมาตรา ๒๒ (๒) ตามประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งกำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา ๓๗ (๘) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐

๗. คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคำวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียน โดยให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยให้ผู้ร้องเรียนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างแท้จริง ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๗.๑ กรณีการสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ระบาดของโรคเป็นการชั่วคราวในกรณีที่เป็นการสั่งปิดตลาด หรือสถานที่ที่ส่งผลกระทบถึงการประกอบอาชีพของประชาชนเป็นวงกว้าง ขอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระทรวงมหาดไทย สั่งปิดสถานที่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ มุ่งเน้นเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นที่เป็นสำคัญ และควรกำหนดระยะเวลาปิดโดยให้กระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนน้อยที่สุด โดยขอให้ทุกสถานที่เข้มงวดมาตรการคัดกรองและความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมทั้งขอให้กรมควบคุมโรคเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการให้ประชาชนทุกคนใช้แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ในการบันทึกข้อมูลการเดินทาง เพื่อประโยชน์ต่อการป้องกันตนเองในการจะเข้าหรือพบว่าเคยเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

๗.๒ กรณีการจัดสรรหน้ากากอนามัยเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงหน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึง ขอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระทรวงสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยทางเลือดชนิดอื่น ซึ่งเพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์นั้นเหมาะสำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ความต้องการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่เกิดการขาดแคลน อย่างไรก็ตาม หากประชาชนยังต้องการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีราคาถูกก็ยังหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อ จึงขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนจัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มาจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งให้คัดเลือกหน้ากากอนามัยทางเลือกที่มีคุณภาพดี แต่มีราคาที่สมเหตุสมผลมาจัดจำหน่าย

๗.๓ กรณีการจัดกาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกัน COVID-19 มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งเกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาหารไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 กับผู้ผลิตได้โดยตรง

  • พลเอก วิวัส รชตะนันทน์
  • (วิทวัส รชดะนันทน์)
  • ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"