คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 13/2529
ที่ ป. 13/2529
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นรายการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (แบบ ภ.ง.ด. 50) พร้อมด้วยงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรตรวจสอบและรับรองแล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 2 การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 ให้คำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับรายจ่ายที่สาขาในประเทศไทยได้จ่ายไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเพื่อเป็นค่าตอบแทนการให้ความช่วยเหลือหรือการให้บริการแก่กิจการของสาขาในประเทศไทยที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (14) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือหรือให้บริการของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นนั้นเกี่ยวกับกิจการของสาขาในประเทศไทย
(2) รายจ่ายเกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนา (Research and Development) โดยสาขาในประเทศไทยจะต้องไดรับบริการ หรือได้นำผลการค้นคว้าและพัฒนามาใช้ประโยชน์ในกิจการของสาขาในประเทศไทยตามความเป็นจริง
(3) รายจ่ายใดถ้าสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นได้นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นแล้ว จะนำมาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยอีกไม่ได้
(4) รายจ่ายที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นเรียกเก็บมายังสาขาในประเทศไทย จะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นที่รับรองทั่ไป (Generally Accepted) และจะต้องถือปฏิบัติเช่นเดียวกับสาขาในประเทศอื่น ๆ และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
(5) รายจ่ายดังกล่าวจะต้องมิใช่รายจ่ายของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นโดยเฉพาะ เช่น ค่าเช่าที่ทำการ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเครื่องเขียน เครื่องใช้ ค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของเครื่องมือเครื่องใช้
จำนวนเงิน หลักเกณฑ์ และวิธีการดังกล่าวตามวรรคสองที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยได้จะต้องมีหลักฐานหรือหนังสือรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือโดยบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเชื่อถือได้ และหลักฐานหรือหนังสือดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินการธุรกิจของสาขาในประเทศไทย ตามความเป็นจริง
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามไม่กระทบกระเทือนถึงวิธีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 14/2529
ข้อ 3 กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 จะยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง หรือมาตรา 76 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีกรมสรรพากรได้พิจารณาเห็นว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ และอนุญาตหรือสั่งให้ยื่นรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น
ข้อ 4 กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 รายใดยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง หรือมาตรา 76 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร ก่อนอธิบดีกรมสรรพากรอนุญาตหรือมีคำสั่งตามข้อ 3 โดยนำแบบยื่นรายการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้สำหรับใช้ยื่นรายการในกรณีอื่น ๆ มาทำการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อความแล้วใช้ยื่นรายการในกรณีดังกล่าว ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมิได้ยื่นรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ข้อ 5 กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 ได้ยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ 4 แล้ว ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ในข้อ 1 และข้อ 2 หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายจ่ายได้ ก็ให้ถือว่ามีรายจ่ายตามเกณฑ์ดังนี้
(1) การประกอบกิจการรับทำงานให้ ให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 30 ของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาตามมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
(2) การประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน ให้หักรายจ่ายได้ในอัตราร้อยละของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
(ก) ร้อยละ 30 กรณีให้เช่าบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง อย่างอื่นหรือยานพาหนะ
(ข) ร้อยละ 10 กรณีให้เช่าทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจาก (ก)
ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาตามมาตรา 5(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
(3) การประกอบกิจการวิชาชีพอิสระ ให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 30 ของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาตามมาตรา 6 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
(4) การประกอบกิจการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ ให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 70 ของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาตามาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
(5) การประกอบกิจการรับขน ให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 80 ของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาตามมาตรา 8 (15) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
(6) การประกอบกิจการซื้อขาย ให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 80 ของยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ โดยเทียงเคียงกับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาตามมาตรา 8 (25) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.21/2531)
ข้อ 6 ระเบียบ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก
สั่ง ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2529
วิโรจน์ เลาหะพันธุ์
อธิบดีกรมสรรพากร
เชิงอรรถ
[แก้ไข]งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"