คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

จาก วิกิซอร์ซ

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ท.ป. 4/2528

เรื่อง


  สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย



      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวงฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากร สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตรา ดังต่อไปนี้

      ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2528

      ข้อ 2 ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินคำนวณหักภาษีไว้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้พึงประเมินแต่ละครั้งในอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมินตามที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้

      "ข้อ 3 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับซึ่งมีเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 0.75 เฉพาะผู้จ่ายเงิน และสำหรับการซื้อสินค้า ในกรณีดังต่อไปนี้

                        (1) ยางแผ่นหรือยางชนิดอื่น อันผลิตขึ้นหรือได้มาจากส่วนใด ๆ ของต้นยางพารา เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากยางดังกล่าว ไม่ว่าจะใช้ยางนั้นเป็นส่วนใหญ่หรือไม่

                        (2) มันสำปะหลัง ไม่ว่าเป็นหัวหรือจัดทำเป็นผง แป้ง เส้น ก้อน แท่ง ฝอย ชิ้น เม็ด หรือจัดทำในลักษณะอื่น เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก

                        (3) ปอ เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตกระสอบป่าน ผ้ากระสอบป่าน ด้ายทอกระสอบป่าน หรือทอผ้ากระสอบป่าน เชือกหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ผลิตจากปอ ไม่ว่าจะใช้ปอนั้นเป็นส่วนใหญ่หรือไม่

                        (4) ข้าวโพด เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตน้ำมันพืชหรืออาหารสัตว์ทุกชนิด

                        (5) อ้อย เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทุกชนิด

                        (6) เมล็ดกาแฟ ไม่ว่าจะคั่วแล้วหรือไม่ เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากกาแฟ

                        (7) ผลปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าเป็นส่วนใดของผล เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มหรือผู้ผลิตน้ำมันพืช

                        (8) ข้าว เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก

                              คำว่า "ข้าว" หมายความว่า ข้าวสาร ปลายข้าว ข้าวกล้อง ปลายข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง และปลายข้าวนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว

                        (9) สินค้าตาม (1) ถึง (8) เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.56/2538 ใช้สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 เป็นต้นไป)

      "ข้อ 3/1 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย นอกจากที่ระบุใน (2) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตรา ร้อยละ 3.0

                        (2) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการ ซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึง มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.120/2545)

      ข้อ 3/2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย นอกจากที่ระบุใน (2) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

                        (2) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการ ซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึง มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0 "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ใช้บังคับ 16 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป)

      ข้อ 4 ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้ หักภาษี ณ ที่จ่าย

                        (1) ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับ ซึ่งเป็น

                              (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทยนอกจากที่ระบุใน (ข) แต่ไม่รวมถึงธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0

                              (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตาม (1) เป็นผู้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0

                        (3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตาม (1) เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก และจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                              (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทยนอกจากที่ระบุใน (ข) แต่ไม่รวมถึงธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0

                              (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0"

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.106/2545 ใช้บังคับ 12 เมษายน 2545 เป็นต้นไป)

(ดูคำชี้แจงกรมสรรพากร การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม ท.ป. 101/2544)

      "ข้อ 5 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็น ผู้จ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0 กรณีจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึง

                        (1) บริษัทจดทะเบียน

                        (2) บริษัทจำกัด นอกจาก (1) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัด ผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.58/2539 ใช้บังคับ 14 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไป)

      ข้อ 6 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าเช่า หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย นอกจากที่ระบุใน (3) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0

                        (3) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0

                        "(4) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย นอกจากที่ระบุใน (3) เฉพาะที่เป็นค่าเช่าเรือตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมพาณิชยนาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.68/2539 ใช้บังคับ 4 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป)

                        "ความในวรรคหนึ่ง ไม่ให้ใช้บังคับกับการจ่ายเงินค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.29/2534 ใช้บังคับ 31 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป)

                        "คำว่า "การให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง" หมายความว่า การให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                        (1) ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                        (2) ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล

                        (3) กำหนดเวลาเช่า ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่ารายอื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้"

(แก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.34/2534 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป)

      ข้อ 7 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากที่ระบุใน (2) เฉพาะที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทย หรือประกอบกิจการในประเทศไทย แล้วแต่กรณี หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

                        (2) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0

      ข้อ 8 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน เฉพาะที่เป็นค่าจ้างทำของ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 73/2541)

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 73/2541)

                        (3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 8/2528 และ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 20/2531)

                        " เฉพาะค่าจ้างทำของที่เป็นเงินได้จากการรับเหมาก่อสร้างที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ ให้ใช้บังคับสำหรับสัญญาจ้างที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.21/2530 ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป)

      ข้อ 9 ให้บุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะที่เป็นรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0

                        "(2) นักแสดงสาธารณะ

                              "(ก) กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2544 หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0"

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.111/2545 ใช้บังคับ 28 กันยายน พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป)

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.120/2545)

                              (ข) กรณีนอกจาก (ก) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0

                              คำว่า "นักแสดงสาธารณะ" หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุและโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือ นักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ"

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.31/2534 ใช้บังคับ 1 กันยายน พ.ศ. 2534 เป็นต้นไป)

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544)

      ข้อ 10 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าโฆษณา ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 2.0

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 6/2528)

      ข้อ 11 ให้บุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เฉพาะกรณีที่เป็นผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากสัตว์น้ำ และผู้ผลิตอยู่ในบังคับต้องขออนุญาตตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าซื้อสัตว์น้ำ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์น้ำไม่ว่าจะสดหรือแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อรักษาไว้มิให้เปื่อย เน่าในระหว่างการขนส่ง ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0

      ข้อ 12 ให้บุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตรา ร้อยละ 5.0

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 8/2528)

      "ข้อ 12/1 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 8 ข้อ 9 (2) ข้อ 10 ข้อ 12 ข้อ 12/3 และข้อ 12/4 แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ ค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

                              คำว่า "การให้บริการ" หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า

                              คำว่า "ภัตตาคาร" หมายความว่า กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้ "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ใช้บังคับ 15 กันยายน 2544 เป็นต้นไป)

(ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.112/2545)

(ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545)

(ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545)

      "ข้อ 12/2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0
                               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการให้รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือบริการไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดย มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.118/2545)

      ข้อ 12/3 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ใช้บังคับ 16 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป)

      "ข้อ 12/4 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

                        (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0

                        คำว่า "การขนส่งสาธารณะ " หมายความว่า การรับส่งผู้โดยสารเป็นการทั่วไปเป็นปกติธุระ

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ใช้บังคับ 15 กันยายน 2544 เป็นต้นไป)

      "ข้อ 12/5 การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท "

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ใช้บังคับ 15 กันยายน 2544 เป็นต้นไป)

      "ข้อ 13 ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งภาษีที่ต้องหักไว้ ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่นั้น ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ไม่ว่าจะหักภาษีไว้แล้วหรือไม่"

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.115/2545 ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

      ข้อ 14 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป"

สั่ง ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

วิทย์ ตันตยกุล
(นายวิทย์ ตันตยกุล )


อธิบดีกรมสรรพากร


ต้นฉบับ: http://www.rd.go.th/publish/14942.0.html

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"