ข้ามไปเนื้อหา

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2557

จาก วิกิซอร์ซ
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ ๔๑/๒๕๕๗
เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด

เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและสังคมโดยรวม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

๑. ให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติและชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้าและส่งออก รวมทั้งผู้สมคบและสนับสนุนช่วยเหลือ ให้ได้ผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ สกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดตลอดแนวชายแดน ปราบปรามเครือข่ายค้ายาเสพติดในทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ และใช้มาตรการตรวจสอบเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ

๒. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมตรวจสอบสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุด หรือเกสเฮ้าส์ ที่ให้ผู้อื่นเช่า สถานที่ที่จัดให้มีการเล่นบิลเลียด สนุกเกอร์ รวมทั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสถานประกอบการอื่น ๆ หากพบว่ามีการปล่อยปละละเลยให้มีการซุกซ่อน จำหน่าย และเสพยาเสพติด ให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับเจ้าของหรือผู้ประกอบการในทันที

๓. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาโดยทันที และติดตามดูแล ให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด ให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติ ทั้งในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ โดยประสานงานกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน และองค์กรชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานดังกล่าวอย่างจริงจัง

๔. เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดปล่อยปละละเลย หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะต้องถูกดำเนินการทางวนิัยและทางอาญาทันที

๕. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดติดตามผลการดำเนินงานตามข้อ ๑ - ๔ และรายงานผลการปฏิบัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


  • สั่ง ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เพราะเนื้อหาทั้งหมดเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ และหาผู้สร้างสรรค์แท้ ๆ ไม่ได้ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการมีลิขสิทธิ์