คำสั่งนายกรัฐมนตรี ให้ประหารชีวิตนายรวม วงศ์พันธ์
โดยที่มีหลักฐานแน่ชัด ทั้งเอกสารและคำให้การของผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนตรงกันว่า นายรวม วงศ์พันธ์ มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำการเป็นกบฏ ทรยศต่อประเทศชาติ รับคำสั่งจากคนต่างด้าวภายนอกประเทศมาล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย เพื่อจะเปลี่ยนให้กลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ นายรวม วงศ์พันธ์ ได้วางแผนดำเนินงานไว้อย่างกว้างขวาง โดยได้แบ่งเขตการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และส้องสุมกำลังผู้คนไว้เป็นภาค ๆ เมื่อได้สมัครพรรคพวกพอแล้ว ก็จะทำการเป็นกบฏเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยสืบไป การกระทำดังกล่าวนับว่า ร้ายแรงที่สุด เพราะเป็นการทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ ก่อกวนความสงบสุขของประชาชน และคุกคามต่อเอกราชอธิปไตยของชาติเป็นอย่างยิ่ง นายรวม วงศ์พันธ์ ได้กระทำความผิดนี้ในท้องที่ ๕ จังหวัด คือ จังหวัดพระนคร สุพรรณบุรี ลพบุรี อ่างทอง และกาญจนบุรี การกระทำของนายรวม วงศ์พันธ์ ไม่สมควรเป็นการกระทำของผู้ที่เกิดมาเป็นคนไทย เพราะเป็นการกระทำที่พยายามจะนำเอาเอกราชและอธิปไตยของชาติตนไปมอบให้เป็นทาสของชาติอื่น ซึ่งเป็นความผิดอันร้ายแรงยิ่ง สมควรจะต้องโทษประหารชีวิตเพื่อมิให้เป็นตัวอย่างที่เลวทรามแก่ผู้อื่นสืบไป
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๐๕ จึงให้กระทรวงมหาดไทยทำการประหารชีวิตนายรวม วงศ์พันธ์ เสียแต่บัดนี้ และเมื่อทำการประหารชีวิตเสร็จแล้ว ให้รีบรายงานให้ข้าพเจ้าทราบโดยด่วน
การประหารชีวิตนี้ให้กระทำที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
- สั่ง ณ วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๐๕
- (ลงนาม) จอมพล ส. ธนะรัชต์
- (สฤษดิ์ ธนะรัชต์)
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- สภาร่างรัฐธรรมนูญ. (2505). รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่นิติบัญญัติ) ครั้งที่ 120 วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2505. สภาร่างรัฐธรรมนูญ: พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 328–329.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก