ข้ามไปเนื้อหา

คำสั่งศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ พ 5363/2563

จาก วิกิซอร์ซ
  • (๒๒)
  • รายงาน
  • กระบวน
  • พิจารณา
สำหรับศาลใช้
ตราครุฑ
ตราครุฑ
  • คดีหมายเลขดำที่ พ ๕๓๖๓/๒๕๖๓
  • คดีหมายเลขแดงที่
  • ศาลแพ่ง
  • วันที่ ๒๒ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
ความแพ่ง
ระหว่าง นางสาวศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ที่ ๑ กับพวก รวม ๖ คน โจทก์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ ๑ กับพวก รวม ๓ คน จำเลย
ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้เวลา – นาฬิกา
คำสั่ง

พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ประกาศใช้ และขอให้เพิกถอนประกาศของจำเลยที่ ๓ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยบรรยายฟ้องอ้างถึงเหตุที่โจทก์ทั้งหกได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ และประกาศอื่น ๆ ของจำเลยที่ ๓ ภายใต้การกำกับการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๒ รวมถึงเหตุที่ทำให้ประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ใช้บังคับต่อประชาชนทั่วไป แต่เนื่องด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า "ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง" อันทำให้การฟ้องร้องคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๘๘ บัญญัติว่า "การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล" และมาตรา ๑๙๔ บัญญัติว่า "ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น" อันแสดงให้เห็นว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม เมื่อโจทก์ทั้งหกกล่าวอ้างว่า ประกาศของจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ และการกระทำของจำเลยทั้งสามอันเนื่องมาจากการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้งหกและประชาชน กรณีมีเหตุให้รับฟ้องของโจทก์ทั้งหกไว้พิจารณา

รับคำฟ้อง หมายเรียก สำเนาให้จำเลยทั้งสาม การส่ง หากไม่มีผู้รับโดยชอบ ให้ปิด ให้โจทก์นำส่งภายใน ๗ วัน หากส่งไม่ได้ ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน ๑๕ วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลง ถือว่า โจทก์ทั้งหกทิ้งฟ้อง

นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา./


  • นายมุนี คล้ายสังข์

  • นางสาวอรรถพันธ์ อดิเทพสถิต

  • นายสมคิด บุญวัฒน์

บรรณานุกรม

[แก้ไข]
  • ประชาไท. (2563, 22 ตุลาคม). ศาลแพ่งรับฟ้องเพิกถอน​ประกาศ​สถานการณ์​ฉุกเฉิน​ที่​มีความ​ร้ายแรง​ของนิสิตนักศึกษา​ นัดไต่สวนฉุกเฉิน​และพิจารณา​คำร้องขอคุ้มครอง​ชั่วคราว​เวลา​ 13.30​ น. สืบค้นจาก https://twitter.com/prachatai/status/1319121352603824128

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"