คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 65/2525

จาก วิกิซอร์ซ
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ 65/2525
เรื่อง แผนรุกทางการเมือง


1. หลักการและเหตุผล

1.1 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ลงวันที่ 23 เมษายน 2523 เรื่อง นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ได้กำหนดนโยบายให้ "ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง" คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2525 เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแนะของกรรมการนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เรื่องแผนรุกทางการเมือง และให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ ให้เป็นไปตามแผนการรุกทางการเมือง และแผนงานต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จะได้กำหนดเป็นผนวกประกอบแผนการรุกทางการเมืองในโอกาสต่อไป

1.2 ปัจจัยสำคัญต่อการรุกทางการเมือง เพื่อต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ และทำลายเผด็จการทุกรูปแบบ ก็คือการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะประชาชนในชาติปรารถนาที่จะให้ชาติบรรลุถึงซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่โดยเหตุผลที่การพัฒนาทางการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยยังล่าช้าและมีจุดอ่อน คอมมิวนิสต์จึงได้ใช้เป็นเงื่อนไขโฆษณาชวนเชื่อ ช่วงชิงประชาชน แต่ประชาธิปไตยที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เสนอนั้นเป็นเพียงยุทธวิธี เพื่อให้ได้อำนาจรัฐแล้วพลิกกลับไปสู่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในที่สุด ฉะนั้นรัฐจึงต้องเร่งพัฒนาประชาธิปไตยที่ดีกว่าให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งด้านยุทธศาสตร์และด้านยุทธวิธี กลุ่มบุคคลที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ ประชาธิปไตยในระยะเริ่มแรกนี้ ได้แก่ ข้าราชการทุกฝ่ายและประชาชนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยร่วมมือร่วมใจสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมต่อไป

2. จุดประสงค์

เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกและความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และเพื่อทำให้เสรีภาพของบุคคลได้ดุลยภาพกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน

3. นโยบาย

ทำลายระบอบเผด็จการทุกรูปแบบและสถาปนาสังคมในระบอบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยใช้ลัทธิประชาธิปไตยเป็นแนวทาง

4. ยุทธศาสตร์

สร้างองค์กรนำที่มีเอกภาพ โดยมีข้าราชการและประชาชนที่มีอุดมการณ์ที่มีอุดมการประชาธิปไตยเป็นแกนนำและทำการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

5. ยุทธวิธี

ใช้องค์กรนำที่จัดตั้งขึ้นไปสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น

6. แนวความคิดในการปฏิบัติ

องค์กรนำที่จัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่ในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน และสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เป็นจริง โดยเฉพาะความปรารถนาขั้นพื้นฐานสำคัญของประชาชน คือ

6.1 ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข ปราศจากการกดขี่ ขูดรีด และอิทธิพลต่าง ๆ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

6.2 ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี โดยมีส่วนร่วมในทางการเมือง และเป็นเจ้าของพรรคการเมือง เป็นเจ้าของประเทศ

6.3 ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความหวัง มีอนาคต มีความรู้สึกว่าชาติมั่นคง

7. แนวทางปฏิบัติ

7.1 การพัฒนาประชาธิปไตยมีงานสำคัญที่จะต้องทำ 2 ส่วน คือ งานทำให้เกิดความรู้สึกและเข้าใจว่าอธิปไตยเป็นของปวงชน อันได้แก่ การทำลายอำนาจเผด็จการและการกำจัดอิทธิพลตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ถึงระดับชาติ และงานทำให้เสรีภาพของบุคคลให้สมบูรณ์ อันได้แก่ การทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย งานเหล่านี้มีเรื่องต้องพิจารณาดำเนินการอย่างกว้างขวาง ยากที่จะทำให้สมบูรณ์ในเวลาอันสั้น ทั้งยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ทรัพยากร และข้อจำกัดทางกฎหมาย ที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิก ดังนั้น การพัฒนาประชาธิปไตยจะต้องทำอย่างมีขั้นตอน และมีความต่อเนื่อง รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับลักษณะพิเศษของสังคมไทย และความเป็นไปได้ของสภาวการณ์นั้น ๆ ด้วยการดำเนินการในรายละเอียดนั้นคณะกรรมการนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จะได้กำหนดเป็นแผนงานต่าง ๆ ตามห้วงเวลาที่เหมาะสมโดยการจัดทำเป็นผนวกประกอบแผนการรุกทางการเมืองในโอกาสต่อไป

7.2 สำหรับแนวทางปฏิบัติที่ส่วนราชการต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนงานต่าง ๆ ต่อไปนั้น นอกจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ลงวันที่ 23 เมษายน 2523 แล้วให้ใช้แนวดังต่อไปนี้ประกอบด้วย คือ

 7.2.1 การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ว่าจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้อย่างเสรี มีความสุข มีเกียรติ มีหลักประกัน และมีความหวัง โดยให้มีแนวทางในแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้คือ

 7.2.1.1 ส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้องอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านทฤษฎี และการประยุกต์ทฤษฎีให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ

 7.2.1.2 ให้ข่าวสาร ข้อมูล และชี้แจงสถานการณ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์โดยต่อเนื่องอีกทั้งเชิดชูประชาธิปไตยให้ปรากฏแก่ประชาชน ทั้งทางเปิดและทางปิด โดยใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐสื่อมวลชน และนักวิชาการ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอด เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลด้านดีของประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถเปรียบเทียบข้อเสียที่บางกลุ่มพยายามเผยแพร่อยู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้วิจารณาญาณทางการเมืองโดยอิสระ กล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการหยิบยกสภาพในแง่ดีมาใช้ให้ได้่ประโยชน์

 7.2.1.3 จัดให้มีการอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก้สื่อมวลชนของรัฐและเอกชน เพื่อเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไปสู่ประชาชน

 7.2.1.4 ให้ข้าราชการปฏิบัติอย่างให้เป็นแบบอย่างในการเป็นประชาธิปไตยก่อให้เกิดศรัทธาแก่ประชาชน

 7.2.2 การเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยของกลไกรัฐให้แยกดำเนินการออกเป็น 2 ระดับ คือ

 7.2.2.1 การบริหารระดับสูง เนื่องจากผู้บริหารระดับสูง หรือฝ่ายการเมือง พรรคการเมืองและผู้บริหารประเทศมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้ตัดสินใจในการบริหารประเทศและเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จึงมีแนวทางเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นดังนี้ คือ

 7.2.2.1.1 กำหนดนโยบายที่ชัดเจนแน่วแน่ และเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชาติ หากเกิดผิดพลาดต้องรับผิดชอบ

 7.2.2.1.2 ใช้ความเข้มแข็ง เด็ดขาด โดยคำนึงถึงความถูกต้องและผลประโยชน์ของประเทศชาติ และของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว ทันต่อสถานการณ์และความต้องการเร่งด่วน

 7.2.2.1.3 เปิดโอกาสให้หลาย ๆ ฝ่าย อาทิ นักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ และผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาอาชีพ เข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา

 7.2.2.1.4 ปรับปรุงรูปแบบการบริหารราชการในการสั่งการติดตามการปัญหาสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีชุดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ดำเนินการเป็นเรื่อง ๆ โดยคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ จากทุกส่วนราชการมาช่วยงาน

 7.2.2.1.5 ปรับปรุงระบอบราชการให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการสถาปนา และการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการให้ข้าราชการมีจิตสำนึกทางการเมือง และทำให้ข้าราชการมีอุดมคติในการสนองตอบประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบตลอดจนควบคุมให้ข้าราชการดำเนินการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนโดยถ้วนหน้า

 7.2.2.1.6 ให้กลไกรัฐสภามาช่วยแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหมู่มาก เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับตามครรลองประชาธิปไตย ตลอดจนออกกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้แท้จริง

 7.2.2.1.7 ใช้อำนาจที่มีอยู่ดำเนินการปราบปรามกลุ่มอิทธิพลที่อำนาจเกินกว่าขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง

 7.2.2.2 การบริหารงานที่เกี่ยวกับข้าราชการประจำ เนื่องจากข้าราชการประจำมีบทบาทสำคัณในฐานะเป็นกลไกนำนโยบายรัฐไปปฏิบัติ แต่ยังขาดจิตสำนึกและอุดมการ จึงทำให้ขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน และทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีแนวทางเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยของข้าราชการประจำดังต่อไปนี้ คือ

 7.2.2.2.1 ให้ข้าราชการโดยเฉพาะระดับสูงศึกษานโยบายของรัฐให้เข้าใจแจ่มชัด จนเกิดความมั่นใจแล้วแบ่งความรับผิดชอบลดหลั่นลงไป

 7.2.2.2.2 ค้นหาสาเหตุของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไขโดยด่วนด้วยความเด็ดขาดและจริงจัง โดยในระยะเริ่มแรกควรมุ่งการแก้ไขข้าราชการในระดับสูงโดยเฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยก่อน เพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับรอง ๆ ลงมาเอง แม้ไม่สมบูรณ์ก็จะได้ผลในระดับหนึ่ง เมื่อทำต่อเนื่องความสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้น

 7.2.2.2.3 กำชับให้มีการปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งต่าง ๆ โดยเคร่งครัด และดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนให้เป็นตัวอย่าง นอกจากนั้น ต้องกำกับดูแลให้มีการสั่งหรือร้องขอในลักษณะที่ทำให้ข้าราชการต้องรับผิดชอบเหนืออำนาจหน้าที่หรือ เกินขีดความสามารถ

 7.2.2.2.4 ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องให้ความช่วยเหลือและให้หลักประกันแก่ข้าราชการที่อุทิศตนต่องานราชการ แต่ต้องถูกกดดันจากผู้มีอิทธิผลต่าง ๆ

 7.2.2.2.5 ดูแล กวดขัน ไม่ให้ข้าราชการทำตนเป็นเจ้าขุนมูลนายเอารัดเอาเปรียบขูดรัดประชาชน และลงโทษข้าราชการที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง

 7.2.2.2.6 พัฒนาขีดความสามารถ ตลอดจนอบรม และปลูกฝังเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ข้าราชการทุกระดับตระหนักถึงฐานะและภาระหน้าที่ ในการเสนอสนองต่อประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบ เสียสละ และซื่อตรง

 7.2.2.2.7 ปรับปรุงระบบราชการให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้นโดยแก้ไขโครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการ ให้มีการกระจายอำนาจบริหารไปสู่ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ข้าราชการในระดับต่าง ๆ สามารถตัดสินใจ หรือสั่งการในเรื่องรับผิดชอบที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติและเพื่อให้เกิดความฉับไวมากยิ่งขึ้น

 7.2.2.2.8 ปรับปรุงให้ข้าราชการ โดยเฉพาะขั้นผู้น้อยมีรายได้ และสวัสดิการเพียงพอ เพื่อให้สามารถรักษาเกียรติ และศักดิ์ศรีของตนได้

 7.2.2.2.9 เชิดชูเกียรติของข้าราชการที่ดีเด่น

 7.2.2.2.10 พิจารณาเร่งรัดปรับปรุงระบบการประเมินผล การปฎิบัติงานของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพ และได้ผลอย่างเต็มที่

 7.2.3 การส่งเสริมการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเนื่องจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีประสบการณ์ในทางปฏิบัติ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิดความรู้สึกและความเข้าใจว่าอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จึงให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้ คือ

 7.2.3.1 เร่งรัดการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์การพัฒนาประชาธิปไตยด้วยการปฏิบัติในระดับใกล้ตัว อาทิ สภาตำบล คณะกรรมการหมู่บ้านในรูปแบบต่าง ๆ และสหกรณ์

 7.2.3.2 แก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยการประสานประโยชน์ระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างยุติธรรม

 7.2.3.3 ผู้มีอำนาจต้องมีความเสียสละ ใจกว้าง อดทน และอดกลั้นต่อสภาพความวุ่นวายทางการเมือง และใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เป็นเครื่องมือประคับประคองการพัฒนาประชาอธิปไตยและให้กลไกของระบอบประชาธิปไตย แก้ไขความไม่ดีงามด้วยวิถีทางของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ประชาชนเรียนรู้ มีประสบการณ์ถึงสาเหตุ และสภาพปัญหา เพื่อให้สามารถใช้ดุลยพินิจตัดสินใจด้วยตนเองได้

 7.2.3.4 ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้พรรคการเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองตามระบอบประชาธิปไตย โดยเมื่อมีปัญหาควรให้ร้องเรียนให้พรรคการเมืองช่วยแก้ปัญหาให้หรือนำเข้าแก้ปัญหาในสภา ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

 7.2.3.5 นำแนวทางในการเสริมสร้างศรัทธาในความดีงามของประชาธิปไตยตามข้อ 7.2.2.1 มาใช้ประโยชน์

 7.2.4 การจัดระเบียบการดำเนินบทบาทของกลุ่มพลัง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ บทบาททางการเมืองของกลุ่มพลัง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมหรือขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้น เพื่อให้บทบาทของกลุ่มพลัง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แสดงบทบาทขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย และต้องปรามให้กลุ่มพลัง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย และต้องปรามมิให้กลุ่มพลังและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แสดงบทบาทขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย จึงให้มีการจัดระเบียบการดำเนินบทบาทของกลุ่มพลัง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

 7.2.4.1 กลุ่มเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งขณะนี้จุดอ่อนด้านกลไกรัฐ การจัดสรรทรัพยากร และการกระจายผลประโยชน์ ทำให้กลุ่มเศรษฐกิจบางกลุ่มมีโอกาสและสามารถใช้อิทธิพลผูกขาดทางเศรษฐกิจได้ อันเป็นผลทำให้เกิดไม่เป็นธรรมในสังคม และความยากไร้ทางวัตถุในหมู่ประชาชน และมีส่วนก่อให้เกิดเงื่อนไขสงคราม นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า กลุ่มผูกขาดทางเศรษฐกิจบางกลุ่มสามารถสร้างพลังต่อรองทางการเมืองได้สูง จนเป็นเหตุให้เป็นอุปสรรคและขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยได้

 อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่อกลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าวก็ควรทำในลักษณะอันเป็นขั้นตอนและถูกต้องตามกฎหมาย โดยเน้นการประสานประโยชน์ตามลักษณะของสังคมไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากการกระทำที่รุนแรงน่าจะก่อผลเสียมากกว่าผลดีทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา จึงให้มีแนวทางดำเนินการเพื่อลดการผูกขาดกลุ่มทางเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ คือ

 7.2.4.1.1 เร่งรัดกวดขันกิจการธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจนพิจารณาเพิ่มบทลงโทษความผิดที่สำคัญ ๆ ให้สูงขึ้น

 7.2.4.1.2 ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและทำลายการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ

 7.2.4.1.3 ส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกให้พ่อค้านายทุนมีความรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักเสียสละ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม และเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยวิธีให้การยอมรับความสำคัญ ยกย่องนายทุนที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม การใช้การเรียนรู้ต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพวกตน

 7.2.4.1.4 ดำเนินการตามความเหมาะสมต่อธุรกิจอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม โดยใช้มาตรการทางการเงิน การคลัง กฎหมาย และการบริหาร เพื่อให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจายสู่ประชาชน

 7.2.4.2 มวลชนพื้นฐาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานและชาวนาชาวไร่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นมวลชนพื้นฐานที่จะชี้ขาดการปฏิวัติประเทศไทย และเป็นเป้าหมายในการแย่งชิงมวลชนของกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มวลชนพื้นฐานถูกฝ่ายตรงกันข้ามช่วงชิง และเพื่อดึงมวลชนพื้นฐานให้สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย และมิให้ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มคอมมิวนิสต์ จึงให้มีแนวทางในการดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ

 7.2.4.2.1 ให้การสนับสนุนองค์กร จัดตั้ง มวลชนพื้นฐานที่มีแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตลอดจนช่วงชิงการนำองค์กรจัดตั้ง ที่มีอยู่มิให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้าม

 7.2.4.2.2 ชิงการนำเพื่อทำลายการจัดตั้งของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมอยู่ในองค์กรจัดตั้งมวลชนพื้นฐาน

 7.2.4.2.3 สร้างและส่งเสริมบรรยากาศที่ดีทางการเมืองเพื่อเปิดให้มวลชนพื้นฐาน สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย

 7.2.4.3 นักเรียนนักศึกษา เนื่องจากนักเรียน นักศึกษา เป็นกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะพิเศษ และมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง มีลักษณะที่ใฝ่หาประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม แต่ยังมีประสบการณ์น้อย เป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองสูงตลอดมา และเป็นเป้าหมายที่กลุ่มคอมมิวนิสต์จะใช้เป็นแนวร่วมพื้นฐานด้วย ดังนั้น เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เป็นพลังส่งเสริมประชาธิปไตย และป้องกันมิให้ตกเป็นเครื่องมือตามยุทธวิธีประชาธิปไตยของกลุ่มคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเผด็จการอื่น ๆ จึงให้มีแนวทางดำเนินการดังนี้คือ

 7.2.4.3.1 ให้นักเรียน นักศึกษา มีเสรีภาพในการทำกิจกรรมรวมทั้งกิจกรรมทางการเมืองภายใต้กรอบทางกฎหมาย และระเบียบของสถาบันการศึกษา

 7.2.4.3.2 สนับสนุนและส่งเสริมความเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย และเชิงการนำความเคลื่อนไหว มิให้นักเรียน นักศึกษา หันเหหรือตกเป็นเครื่องของกลุ่มคอมมิวนิสต์ได้

 7.2.4.3.3 เปิดโอกาสและหาหนทางให้นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกับทางราชการในการแก้ไขปัญหาที่เป็นเงื่อนไขสงคราม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้เห็นสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตั้งใจจริงของทางราชการ ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนักเรียน นักศึกษากับราชการ และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย

 7.2.4.3.4 ให้การศึกษาทางการเมืองที่ถูกต้องแก่นักเรียน นักศึกษา โดยกำหนดเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยของไทยไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ และมอบให้นักวิชาการจัดทำตำราที่เป็นมาตรฐานต่อไป

 7.2.4.4 กลุ่มก้าวหน้าในเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวในเมืองของทุกกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้กลับใจจากป่า กลุ่มแสวงหาแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาประเทศไทยกลุ่มคอมมิวนิสต์ กลุ่มแนวร่วม รวมทั้งกลุ่มแนวทางประชาธิปไตยอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อให้กลุ่มก้าวหน้าในเมืองเคลื่อนไหวอยู่ในขอบเขตที่ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และการพัฒนาประชาธิปไตย จึงให้มีแนวในการดำเนินการดังนี้ คือ

 7.2.4.4.1 เปิดโอกาสให้กลุ่มแสดงออกทางความได้ภายใต้กรอบทางกฎหมาย

 7.2.4.4.2 สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยให้เข้มแข็งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ลว. 23 เมษายน 2523

 7.2.4.4.3 สนับสนุนและชิงการนำทางความคิด ในบรรดากลุ่มที่กำลังแสวงหาแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

 7.2.4.4.4 ติดตามและขัดขวางความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และการพัฒนาประชาธิปไตยโดยใกล้ชิดต่อเนื่อง

 7.2.4.5 สื่อมวลชน เนื่องจากสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นพลังในการส่งเสริมสร้างประชาธิปไตยดังต่อไปนี้ คือ

 7.2.4.5.1 ส่งเสริมและให้การสนับสนุนความเหมาะสมแก่สื่อมวลชนที่มีอุดมการประชาธิปไตย และเสริมสร้างให้สื่อมวลชนทุกสาขา มีความผิดชอบในการเสนอข่าวสารเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย

 7.2.4.5.2 สนับสนุนการต่อสู้ทางความคิดในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยของสื่อมวลชน

 7.2.4.5.3 ใช้สื่อมวลชนของรัฐในการส่งเสริมประชาธิปไตยให้มีน้ำหนักเหนือกว่าข่าวสารที่ทำลายประชาธิปไตย

 7.2.4.5.4 ยับยั้งการเผยแพร่ข่าวสารที่กระทบกระเทือนต่อระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ทั้งมาตรการทางการบริหาร และกฎหมาย

 7.2.4.5.5 ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง พยายามสร้างความสัมพันธ์กับ สื่อมวลชน และชักจูงให้สื่อมวลชนทำประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

 7.2.4.6 กลุ่มทหารและผู้ถืออาวุธ

 7.2.4.6.1 ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

 7.2.4.6.2 สนับสนุนค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย

8. คำแนะนำในการดำเนินการ

8.1 กอ.รมน. จัดตั้งองค์กรนำ ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย คือ คณะกรรมการปฏิบัตินโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ (ปตค.) ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของทางราชการ

8.2 ใช้ชิงการนำต่อขบวนการที่แอบแผงประชาธิปไตยอื่น ๆ ซึ่งได้แก้ การพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์โดยเร็ว

8.3 ให้ยึดคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ลว. 23 เมษายน 2523 เป็นแนวทางการปฏิบัติการรุกทางการเมือง

8.4 ให้คณะกรรมการนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ พิจารณากำหนดแผนงานต่าง ๆ ตามห้วงเวลาที่เหมาะสม ในลักษณะเป็นผนวกประกอบการรุกทางการเมือง และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำแผนงานที่จะกำหนดขึ้นดังกล่าว ไปปฏิบัติให้บังเกิดผลสำเร็จและแจ้งให้กรรมการปฏิบัตินโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ (ปตค.) ทราบ เพื่อเป็นการประสานงานและการติดตามประเมินผลต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  • สั่ง ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2525

  • (ลงชื่อ) พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
  • (เปรม ติณสูลานนท์)
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมือง". (ม.ป.ป.). ใน เฉลิมพล โสมอินทร์, พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 78 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 กฎกระทรวง, ประกาศกระทรวง และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523, ที่ 65/2525 และที่ 47/2529 พระราชบัญญัติผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ พ.ศ. 2519 (น. 156–167). เชียงใหม่: วัฒนาการพิมพ์.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"