คำแถลงการณ์ของรัฐบาล ลงวันที่ 11 กันยายน 2481
ด้วยในการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ กันยายน ศกนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติของสมาชิกฯ ขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๖๘ เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อพิจารณารับหลักการชั้นต้นในสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสนอต้องการให้แสดงบัญชีรายละเอียดแสดงหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีอากร สถิติต่าง ๆ จำนวนคน และรายการละเอียดอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก
ความจริง ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนี้ ในเวลาร่างทำขึ้น ก็ได้ศึกษาระเบียบการสภาฯ ในนานาประเทศ โดยเปรียบเทียบและปรับปรุงให้เหมาะสมแก่ประเทศนี้ และกรรมาธิการของสภาฯ ก็ได้พิจารณาแล้วเป็นอย่างดี ระเบียบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณที่เป็นอยู่ในเวลานี้ได้ใช้มาด้วยดีตลอดเวลา ๕ ปี มิได้ปรากฏความขัดข้องเสียหายประการใด ข้อบังคับนี้ก็ระบุให้มีรายละเอียดแต่พอควรแก่การพิจารณาชั้นรับหลักการ ส่วยรายละเอียดนอกจากนั้นก็ไปแสดงในชั้นกรรมาธิการ ถึงกระนั้นก็ดี รัฐบาลก็ได้แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมเท่าที่จะทำได้
การทำงบประมาณนั้น ในชั้นรัฐบาล ก็ได้พิจารณาโดยรอบคอบที่สุด เมื่อหัวหน้าส่วนราชการได้ร่างงบประมาณขึ้นแล้ว เจ้ากระทรวงก็สอบสวนพิจารณาในชั้นต้น เสร็จแล้ว เสนอไปยังกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางได้ตรวจตราโดยรอบคอบ แล้วเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเสนอคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีตั้งกรรมการสอบสวนซักถามรายละเอียดทุกรายโดยถี่ถ้วน ในชั้นกรรมการนี้ ก็มีการตัดทอนแก้ไข เสร็จแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีการตัดทอนแก้ไขในชั้นนี้อีก แล้วจึ่งเสนอไปยังสภาฯ เพื่อรับหลักการชั้นต้น ครั้นสภาฯ รับหลักการและตั้งกรรมาธิการขึ้นแล้ว รัฐบาลก็เสนอรายการละเอียดต่อคณะกรรมาธิการทุกประการ และให้เจ้าหน้าที่ไปคอยชี้แจงตอบคำซักถามของกรรมาธิการตามที่ต้องการ
แต่การที่จะวางข้อบังคับให้ตายตัวดั่งที่สมาชิกฯ เสนอนี้ รัฐบาลเห็นว่า เป็นการขอเอารายละเอียดจนเกินความจำเป็นในการพิจารณาชั้นรับหลักการ การที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณตามวิธีที่สมาชิกฯ เสนอนี้ จะต้องเป็นเอกสารตั้ง ๖๐๐ หรือ ๗๐๐ หน้ากระดาษ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า ไม่จำเป็นสำหรับการพิจารณาเพื่อรับหลักการชั้นต้น และไม่ได้ผลสมควรกับที่จะต้องทำเช่นนั้น อีกประการหนึ่ง รายได้รายจ่ายหลายเรื่องต้องสงวนเป็นความลับ ที่จะเสนอรายละเอียดโดยเปิดเผยไม่เป็นการสมควร โดยฉะเพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์การคำนวณภาษีอากรนั้น ถ้าเปิดเผยออกไป ก็จะนำความเสียหายมาให้แก่ประเทศ อนึ่ง รายการปลีกย่อยนั้น ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการตามยุคตามสมัยและความต้องการของกระทรวงทะบวงการต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน จะวางข้อบังคับให้ตายตัวลงไปเช่นนั้นไม่เป็นการสมควร
แม้รัฐบาลจะได้ชี้แจงแสดงเหตุผลดั่งกล่าวมาข้างต้นนั้นอย่างแจ้งชัดแล้วก็ดี และแม้จะได้แสดงให้เห็นทางเสียหายที่ประเทศชาติจะได้รับในการแก้ไขข้อบังคับเช่นนี้ก็ดี ผู้โต้แย้งก็ยังหาสนใจที่จะฟังเหตุผลไม่
รัฐบาลได้พยายามเสนอมาที่จะร่วมมือกับผู้แทนราษฎร และได้ยินยอมทำความพอใจแก่ผู้แทนราษฎรมาแล้ว แม้ในเรื่องที่สำคัญ เช่น การยกเลิกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับด้วยน้ำใจกว้างขวาง ในบางเรื่อง เช่น ญัตติร่างพระราชบัญญัติกำหนดเขตต์การรักษาป่า ซึ่งผู้แทนราษฎรเสนอมา รัฐบาลได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่สามารถจะปฏิบัติตามร่างนั้นได้ สภาฯ ก็ได้รับหลักการ ครั้นถึงเวลาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ กรรมาธิการของสภาฯ เองก็มีความเห็นว่า ปฏิบัติไม่ได้ รัฐบาลก็ยังหาทางทำความพอใจให้แก่ผู้เสอนโดยวิธีอื่น ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้พยายามร่วมมือกับผู้แทนราษฎรโดยจริงใจ แต่ผู้แทนราษฎรหาได้ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลตามสมควรไม่
โดยฉะเพาะการพิจารณาญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๖๘ นี้ ได้เริ่มอภิปรายมาจนหมดเวลาประชุมตามปกติ มีสมาชิกอยู่ประชุมเป็นส่วนน้อยแล้ว และสภาฯ ก็เห็นเป็นเรื่องสำคัฯ สภาฯ น่าจะให้การประชุมปรึกษาเป็นไปตามระเบียบ คือ อภิปรายต่อไปในวันหลัง เพื่อให้โอกาสสมาชิกฯ ส่วนมากได้ฟังเหตุผลและใช้ดุลยพินิจโดยรอบคอบ แต่สมาชิกฝ่ายผู้แทนราษฎรก็เสนอญัตติให้รวบรัดการพิจารณาและเสนอให้ลงมติโดยไม่ให้โอกาสรัฐบาลแถลงชี้แจงอีก วิธีการดั่งนี้เป็นวิธีช่วงชิงเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรม ในที่สุด สภาฯ ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับนั้น
รัฐบาลเห็นว่า ความเป็นไปในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ หลายเรื่องที่แล้วมา ผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นอันมากไม่สนใจฟังคำชี้แจงหรือเหตุผลทางรัฐบาล และมิได้คำนึงถึงความเสียหายอันจะพึงมีแก่ประเทศชาติ
การเป็นดั่งนี้ รัฐบาลจึ่งรู้สึกว่า ไม่สามารถจะบริหารราชการของประเทศในความไว้วางใจของสภาฯ นี้ได้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องนี้แด่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ทราบความประสงค์ของคณะรัฐมนตรีที่จะขอลาออกจากหน้าที่ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่า สภาพการของโลกในเวลานี้อยู่ในระหว่างความปั่นป่วนคับขัน ประกอบกับจะต้องเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พระนคร รัฐบาลคณะนี้ควรจะบริหารราชการของประเทศต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็เห็นมีทางเดียวที่จะดำเนินตามวิถีรัฐธรรมนูญ คือ ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นทางที่ราษฎรจะได้เลือกตั้งผู้แทนมาใหม่ ดั่งที่ได้ประกาศในพระราชกฤษฎีกาแล้ว
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลนี้มิได้มุ่งหมายที่จะทำสิ่งใดนอกเหนือไปจากวิถีรัฐธรรมนูญ การลาออกของคณะรัฐมนตรีก็ดี การยุบสภาฯ ก็ดี เป็นเหตุการณ์ตามสภาพแห่งการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึ่งขอให้ประชาชนตั้งอยู่ในความสงบ อย่าได้มีความหวั่นไหวตกใจอย่างหนึ่งอย่างใด รัฐบาลอยู่ในฐานะที่จะรักษาความปลอดภัยของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของประเทศอยู่เสมอ
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- ๑๑ กันยายน ๒๔๘๑
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "คำแถลงการณ์ของรัฐบาล ลงวันที่ 11 กันยายน 2481". (2481, 11 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55, ตอน 0 ก. หน้า 407–412.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก