คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485

จาก วิกิซอร์ซ
คำแถลงการณ์
เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่
และสหรัฐอเมริกา

ด้วยตามที่ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทย ฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วนั้น รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอแถลงให้ประชาชนทราบดังต่อไปนี้

ตั้งแต่แรกที่อังกฤษได้แผ่จักรภพมาทางตะวันออก ประเทศไทยก็ได้รับการเบียดเบียนบีบคั้นไม่ขาดสาย อังกฤษได้บั่นทอนดินแดน และแบ่งแยกเชื้อชาติไทยให้กระจัดกระจาย และกระทำการทุกอย่างให้ชาติไทยอ่อนแอ ในทางการคลังและเศรษฐกิจ อังกฤษก็เข้าคุมเส้นชีวิตและบีบบังคับไทยทุกสถาน รัฐบาลไทยทุก ๆ รัฐบาลต้องโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของอังกฤษเสมอมา แต่ถึงกระนั้น อังกฤษก็พยายามกลั่นแกล้งในทางการค้าที่สำคัญของไทย เช่น การค้าข้าว แร่ ยาง และไม้สัก ก็ได้รับการบีบบังคับจากอังกฤษอยู่เป็นเนืองนิตย์

ส่วนทางสหรัฐอเมริกานั้นเล่า ก็ดำเนินนโยบายอย่างเดียวกับอังกฤษ ชาวไทยทั้งหลายคงจะยังจำได้ว่า ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนที่แล้วมา สหรัฐอเมริกาได้ขัดขวางทางดำเนินของไทยทุกประการ ตลอดถึงริบเครื่องบินและอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยสั่งซื้อและได้ชำระเงินให้เสร็จแล้ว ทางประวัติศาสตร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เมื่อคราวพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น ไทยได้ขอให้สหรัฐอเมริการะงับกรณีพิพาทด้วยความเป็นธรรมเพื่อศานติสุขของมนุษย์ แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้นำพาประการใด ปล่อยให้ไทยถูกกดขี่ข่มเหงมาแต่ครั้งกระโน้น

ครั้นเมื่อสงครามได้บังเกิดขึ้นในบุรพทิศ โดยที่ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ที่แล้วนั้น ประเทศไทยได้รู้สึกถึงความผูกพันในหน้าที่ที่เป็นชาวเอเชีย จึงได้ร่วมมือทำสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น แต่ถึงกระนั้น ไทยก็ยังมิได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และมิได้ทำการประทุษร้ายรุกรานสองประเทศนี้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม อังกฤษ อเมริกา ได้ทำการประทุษร้ายรุกรานไทยอย่างรุนแรงในระหว่างเวลาตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ถึง ๒๐ มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ ๓๐ ครั้ง และโจมตีทางบกถึง ๓๖ ครั้ง จังหวัดที่ถูกโจมตี มีจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ พระนครและธนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และยะลา ในบรรดานักบินที่จับได้ในประเทศไทย ก็มีนักบินที่เป็นคนชาติอเมริกันอยู่ด้วย การโจมตีทางอากาศนั้นก็มิได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ มิได้โจมตีที่สำคัญทางทหารอย่างไร กลับทำการโจมตีบ้านเรือนราษฎร และใช้ปืนกลยิงผู้คนพลเมืองอย่างปราศจากศิลธรรม

ครั้นมาเมื่อคืนวันที่ ๒๔ เดือนนี้เอง เครื่องบินอังกฤษได้มาโจมตีกรุงเทพฯ อีก ทั้ง ๆ ที่ไทยยังมิได้ประทุษร้ายอังกฤษ อเมริกา อย่างใด

พฤตติการณ์ทั้งนี้ย่อมตกอยู่ในวิสัยอันไม่สามารถจะทนดูต่อไปได้ จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันนี้ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป

นับแต่วันที่ประกาศกระแสพระบรมราชโองการนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยอยู่ในสถานะสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา และไทยจะตอบสนองการประทุษร้ายทุก ๆ อย่างที่บริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาทำกับไทย

ขอให้ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือน จงปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มความสามารถ และขอให้อาณาประชาราษฎรชาวไทยจงร่วมมือกับทางราชการ ปฏิบัติตามพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่งและคำแนะนำของรัฐบาล อย่างเคร่งครัด ทั้งตั้งหน้าประกอบอาชีพให้เกิดผลสมความต้องการของประเทศชาติ และทำความพยายามทุกสถานที่จะนำประเทศชาติไปสู่ชัยชะนะในขั้นสุดท้าย

ขอให้บรรดาประชาชนที่เป็นชาวต่างชาติจงรักษาความสงบ และร่วมมือกับชาวไทยในอันจะป้องกันรักษาความเรียบร้อยภายใน รัฐบาลขอประกาศว่า บรรดาชนชาวเอเชียทั้งหลาย แม้จะถือสัญชาติหรืออยู่ในบังคับของบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาก็ดี ถ้าหากสังวรณ์ระวังรักษาความสงบเรียบร้อยและร่วมมือร่วมใจกับชาวไทยเป็นอันดีแล้ว รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ถือว่า เป็นศัตรู และจะให้ได้รับผลปฏิบัติอย่างเดียวกับชาติที่เป็นมิตรตลอดไป

รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความมั่นใจในเหตุผลและความเป็นธรรม และเชื่อมั่นในความรักชาติกล้าหาญและความเป็นนักรบของไทยแต่โบราณกาลว่า จะนำชัยชะนะและความรุ่งโรจน์มาสู่ชาติไทยต่อไปในอนาคต

ขอความสวัสดีมีไชยจงมีแด่ชาติไทย

๒๕ มกราคม ๒๔๘๕

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก