คำแนะนำในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

จาก วิกิซอร์ซ
คำแนะนำ
ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร


สำนักงานโฆษณาการ
พิมพ์แจก
ในคราวเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒

พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ๑๐,๐๐๐๐ ฉะบับ
พิมพ์ครั้งที่สอง ๕๐,๐๐๐ ฉะบับ
 

  • ก่อนที่ท่านจะไปทำการเลือกตั้ง
  • ผู้แทนของท่าน โปรดอ่าน
  • คำแนะนำในสมุดเล่มนี้

คำนำ

เนื่องจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๑ และรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งทางราชการได้กำหนดให้กระทำการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วทั้งประเทศสยามในวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ศกนี้ สำนักงานโฆษณาการจึ่งเห็นสมควรจัดทำคำแนะนำแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อจะช่วยให้ประชาชนชาวสยามได้มีความเข้าใจในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนซึ่งมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญให้ได้ผลดีสมตามความมุ่งหมายของทางราชการ

หนังสือนี้ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้มุ่งที่จะให้เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความรู้ในการปกครองของประเทศดีอยู่แล้ว หรือสำหรับบรรดากรรมการเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้เรียบเรียงข้อแนะนำโดยฉะเพาะสำหรับเป็นระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว หนังสือนี้ได้จัดทำขึ้นโดยประสงค์ที่จะให้เป็นคำแนะนำและชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งยังมิใคร่จะมีความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรดี ฉะนั้น จึ่งได้ทำเป็นคำอธิบายอย่างย่อฉะเพาะที่สำคัญควรรู้พอที่สามัญชนจะอ่านเข้าใจได้ และพิมพ์ขึ้นแจกจ่ายเพื่อให้แพร่หลายเป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม

สำนักงานโฆษณาการหวังว่า หนังสือคำแนะนำนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และคงจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปลงคะแนนเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งได้ใช้สิทธินั้นไปด้วยความเข้าใจในหน้าที่และความรู้สึกรับผิดชอบในความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองด้วยอย่างพร้อมบูรณ์

สำนักงานโฆษณาการ.
๓ ตุลาคม ๒๔๘๑

คำแนะนำ
ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
พ.ศ. ๒๔๘๑

ทำไมจึ่งต้องมีสภาผู้แทนราษฎร?
สภาผู้แทนราษฎรคืออะไร?

ประเทศสยามได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง และใช้อำนาจนั้นได้โดยเด็ดขาด) มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรูปการปกครองที่ถือว่า อำนาจสูงสุดในแผ่นดินหรืออำนาจในการปกครองประเทศนั้นมาแต่ปวงชนชาวสยาม แต่เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ฉะนั้น ชาวสยามทุกคนจึ่งมีสิทธิมีส่วนร่วมในกิจการงานของประเทศชาติ แต่เนื่องจากเหตุทว่าพลเมืองทั้งประเทศมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๔ ล้านคน ไม่สามารถจะไปประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือกิจการของชาติได้เองโดยตรง เพราะความลำบากอันจะพึงบังเกิดขึ้นด้วยประการต่าง ๆ เช่น จะหาสถานที่ซึ่งใหญ่โตสำหรับจะให้พวกเราเข้าประชุมพร้อมกันไม่ได้ และพวกเราทุกคนก็คงไม่มีเวลาว่างพอที่จะมาประชุมร่วมกันได้ในคราวเดียว เป็นต้น ดั่งนี้ พลเมืองชาวสยามจึ่งต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนขึ้นไปดำเนินกิจการอันเกี่ยวด้วยการออกกฎหมายและควบคุมราชการแผ่นดินเพื่อความสุขความเจริญของบานเมืองและของราษฎรทั้งหลาย การปกครองของประเทศสยามในปัจจุบันนี้จึ่งต้องมีสภาผู้แทนราษฎรควบคุมกิจการงานของชาติ สภาผู้แทนราษฎรนี้ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศสยามของเราเพิ่งย่างเข้าสู่การปกครองเช่นนี้ใหม่ ๆ ราษฎรโดยทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจและความเคยชินต่อการปกครองประชาธิปไตยดี รัฐธรรมนูญจึ่งได้กำหนดเวลาชั่วคราวไว้ว่า ในระหว่างนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น ประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นหัวหน้าของประเทศทรงตั้งขึ้นให้ดำเนินกิจการงานแผ่นดินร่วมกัน

ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่องผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๑ ซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยฉะเพาะเท่านั้น

ทำไมจึ่งต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
กันอีกในปีนี้?

ตามปกติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี เมื่อครบ ๔ ปีแล้ว ก็เป็นอันพ้นจากหน้าที่ ราษฎรจะต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นมาใหม่

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเรานั้นได้ทำกันไปแล้ว ๒ คราว คราวแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และคราวหลังสุด คือ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ปีกลายนี้ ถ้าพูดกันถึงเหตุปกติแล้ว ผู้แทนราษฎรชุดที่ได้รับการเลือกตั้งไปเมื่อปีที่แล้ว ก็จะต้องดำรงตำแหน่งไป ๔ ปี คือ จะยังไม่หมดอายุใน พ.ศ. ๒๔๘๑ นี้ แต่การสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพแหงสภาผู้แทนราษฎรนั้นย่อมเป็นไปได้ด้วยเหตุหลายประการ ตามความในรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งหน้าที่ของผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ

๑. ถึงคราวออกตามวาระ (คือ ครบ ๔ ปี) หรือยุบสภา

๒. ตาย

๓. ลาออก

๔. ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เช่น เป็นบ้า หรือติดฝิ่น เป็นต้น)

๕. สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่า มีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาที่มาประชุมกันเห็นด้วย

ตามน เราจะเห็นได้ว่ ผู้แทนราษฎรอาจขาดจากตำแหน่งได้ถึง ๕ ประการ ที่เราต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรกันใหม่อีกในปีนั้น ก็เพราะสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ (ข้อ ๑) เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ศกนี้ เพื่อให้ราษฎรทำการเลือกตั้งผู้แทนขึ้นมาใหม่ภายในเวลา ๙๐ วันนับจากวันที่สภาถูกยุบ ซึ่งทางการได้กำหนดเอาวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ศกนี้ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ

ราษฎรควรต้องไปทำการลงคะแนน
เลือกตั้งผู้แทนของตน

การปกครองตามแบบทุกวันนี้เป็นการปกครองที่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้ปกครองกันเอง ราษฎรทุกคนมีสาวนเกี่ยวข้องในการที่จะหาความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติของเรา แต่เนื่องจากไม่สามารถที่จะให้ราษฎรทั้งประเทศไปประชุมร่วมกันได้ดั่งที่อธิบายมาแล้ว จึ่งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนของราษฎรขึ้น สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนนี้ เมื่อว่าโดยทั่วไปแล้ว ราษฎรทุกคนย่อมได้รับทั่วหน้ากัน ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ต่ำจเป็นต้องมีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลบางจำพวกซึ่งไม่มีความสามารถที่จะใช้สิทธินี้ให้ถูกต้องและให้ได้ผลดี เช่น เด็ก คนบ้า หรือนักโทษในเรือนจำ เป็นต้น

สิทธิเลือกตั้งนเป็นสิทธิอันสูงและสำคัญยิ่ง กฎหมายก็ได้ให้ความคุ้มกันและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น นายจ้างทั้งปวงจะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และผู้ใดมิได้มีอำนาจจะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยประการใด ๆ โดยเจตนาขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปณที่เลือกตั้ง หรือเข้าไปณที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึงณที่ดั่งว่านั้นภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้ ก็จะต้องมีความผิด ซึ่งอาจจะถูกปรับหรือจำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำก็ได้

อนึ่ง ในการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปทำการลงคะแนนเลือกตั้งนั้น ก็ย่อมได้รับความสะดวกในเรื่องการเดินทางอีก คือ จะมีการเลือกตั้งเป็นตำบล ๆ ไป ราษฎรตำบลไหน ก็ไปเลือกตั้งในตำบลนั้น ซึ่งโดยปกติมีระยะการเดินทางพอที่จะไปและกลับในวันเดียวกันได้ อนึ่ง ถ้าตำบลที่มีเขตต์ต่อเนื่องใกล้ชิดกันในอำเภอเดียวกัน มีจำนวนราษฎรรวมกันได้ไม่เกินสี่พันคน ทางราชการก็ย่อมรวมตำบลเหล่านั้นเข้าเป็นหน่วยหรือที่ลงคะแนนเดียวกัน แต่การรวมนี้ไม่รวมเกินสามตำบล

ฉะนั้น เมื่อถึงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ นาฬิกาถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา (๑ โมงเช้าถึง ๕ โมงเย็น) ซึ่งเป็นวันและเวลากำหนดเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ขอให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปทำการเลือกตั้งให้จงได้ แม้ว่าในวันนั้นจะมีความจำเป็นในเรื่องส่วนตัวประการใด เช่น ในการทำนา ทำสวน หรือการค้าก็ตาม ควรพยายามหาโอกาสปลีกตัวไปให้จงได้ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นกิจของชาติ ซึ่งนาน ๆ จึงจะมีสกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น ขอจงพากันไปประกอบกิจในวันงานสำคัญของชาติเช่นนี้ เมื่อสิทธิเลือกตั้งเป็นของเรา และถึงโอกาสที่จะได้ใช้แล้ว ก็ไม่ควรเพิกเฉยเสีย

ถ้าไม่ไปเลือกตั้งจะเสียผลอย่างไร?

ที่ว่า “เสียผล” ในที่นี้ไม่หมายความถึงเงินทอง แต่หมายความว่า การที่มีคนไปลงคะแนนเลือกตั้งมาก ๆ นั้น จะทำให้เราได้ผู้แทนราษฎรที่ถูกต้องตรงกับความประสงค์อันแท้จริงของราษฎรแน่นอนขึ้น

ในต่างประเทศบางแห่ง เขาถึงกับออกกฎหมายบังคับว่า ถ้าราษฎรคนใดเพิกเฉยเสียไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนโดยไม่มีเหตุผลแก้ตัวได้แล้ว จะต้องถูกปรับ ถ้าทำบ่อย ๆ เข้า เขาก็ประกาศชื่อให้คนทั่วไปรู้ เพื่อให้รู้สึกอับอายขายหน้าว่า คนนั้นไม่รักชาติ ไม่เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของประเทศบ้านเมือง แต่ในประเทศสยามของเรานี้ไม่บังคับให้ราษฎรไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ราษฎรก็ไม่ควรถือว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของตน ซึ่งจะไปใช้หรือไม่ก็ได้ แต่ควรถือว่า เป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติอันควรปฏิบัติด้วยความเต็มใจ เมื่อเราต้องการผู้แทนราษฎรที่ดีสมความประสงค์ของเรา เราก็ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทน มิฉะนั้น เราจะต้องเสียใจภายหลัง และจะไปบ่นว่าใครไม่ได้

เมื่อเรารู้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรต้องไปทำการลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลที่ตนพอใจให้เป็นผู้แทนแล้ว ก็ควรทราบต่อไปด้วยว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งบ้าง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ผู้ซึ่งมีสิทธิทำการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้นั้นจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติและลักษณะดั่งนี้ คือ

๑. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้ง

๒. มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย แต่ผู้มีสัญชาติเป็นไทยคนใด

 ก. ถ้าบิดาเป็นคนต่างประเทศซึ่งได้สมรสกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้รับประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๓ ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายรับราชการทหาร หรือเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือครูโรงเรียนประชาบาล โดยมีเงินเดือนประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี

 ข. ถ้าเป็นบุคคลแปลงชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอันกำหนดไว้ใน (ก) หรือมีภูมิลำเนาในประเทศสยามติดต่อกันนับแต่เมื่อแปลงชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี

๓. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันแรกแห่งระยะเวลาซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง

๔. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

๕. ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

๖. ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

๗. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลืิอกตั้ง

บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

บรรดาผู้มีสิทธิไปทำการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อความแน่นอนและไม่ต้องลำบากในการไปโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ผู้ซึ่งรู้สึกว่า ตนประกอบด้วยคุณสมบัติและลักษณะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งดั่งกล่าวแล้ว ก็ควรจะต้องไปตรวจดูชื่อของตนในบัญชีซึ่งคณะกรมการอำเภอได้จัดทำและปิดประกาศไว้ให้ราษฎรทราบในที่เปิดเผยมองเห็นได้ง่าย และปิดไว้ณสถานที่ซึ่งจะทำการเลือกตั้งอีกด้วย

คณะกรมการอำเภอจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสำหรับหน่วยลงคะแนนแต่ละหน่วยให้ทราบก่อนวันเลืิอกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน

การร้องขอให้เพิ่มเติมชื่อของตน
ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อผู้ใดได้ตรวจดูบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนใด แต่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อของตนอยู่ในบัญชีนั้น และรู้ว่า ตนสมควรมีชื่อในบัญชีเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ในหน่วยเลือกตั้งนั้น ก็มีสิทธิที่จะทำคำร้องยื่นต่อคณะกรมการอำเภอขอให้เติมชื่อของตนในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ถ้าคณะกรมการอำเภอได้สอบสวนพิจารณาหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงพึงฟังได้ว่า ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิ ก็จะได้เติมชื่อให้ แต่ถ้าเห็นว่า หลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะยกคำร้องนั้นเสีย ถึงแม้ว่าคณะกรมการอำเภอจะได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นแล้วก็ดี แต่ผู้ยื่นคำร้องยังเห็นว่า ตนควรมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดได้อีกโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และเมื่อศาลจังหวัดสั่งอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น คำสั่งของศาลนี้เป็นที่สุด จะอุทธรณ์ต่อไปอีกไม่ได้ การร้องขอให้เติมชื่อลงในบัญชีรายชื่อผู้มีิสทธิเลือกตั้งนั้นเป็นสิทธิฉะเพาะตัว จะร้องขอแทนบุคคลอื่นไม่ได้

การคัดค้านผู้มีชื่อในบัญชีเลือกตั้ง

นอกจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะยื่นคำร้องขอให้เติมชื่อของตนลงในบัญชีรายชื่อได้ตามที่กล่าวแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านผู้อื่นที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นได้อีก กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดเห็นว่า ตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งคณะกรมการอำเภอได้ประกาศนั้น มีบุคคลซึ่งไม่สมควรมีสิทธิเลือกตั้งปนอยู่ด้วย ก็มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อคณะกรมการอำเภอขอให้ถอนชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชี คำร้องนี้จะต้องยื่นต่อคณะกรมการอำเภอก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เมื่อคณะกรมการอำเภอมีคำสั่งให้ถอนชื่อตามคำร้องก็ดี หรือให้ยกคำร้องนั้นเสียก็ดี จะต้องแจ้งให้บุคคลทั้งสองนั้นทราบผลด้วย และถ้าผู้ถูกถอนชื่อหรือผู้ยื่นคำร้องไม่พอใจในคำสั่งของคณะกรมการอำเภอ ก็มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดได้อีกโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

การกำหนดจำนวนผู้แทนราษฎร

ตามปกติ จังหวัดหนึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอย่างน้อยคนหนึ่ง แต่บางจังหวัดอาจมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรมากกว่าคนหนึ่งได้ จำนวนผู้แทนราษฎรนั้นจะเพิ่มขึ้นได้ตามเกณฑ์ของจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ๆ โดยถือเอาราษฎร ๒๐๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง การเพิ่มจำนวนผู้แทนราษฎรได้มากกวาคนหนึ่งนั้น ถือเกณฑ์ดั่งนี้ คือ จังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าสองแสนคน จังหวัดนั้นก็มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นได้อีกคนหนึ่งทุก ๆ สองแสน แต่เศษของสองแสนนั้น ถ้าถึงหนึ่งแสนหรือเกินกว่าหนึ่งแสน ก็ให้นับเป็นสองแสนได้

ตัวอย่างเช่น จังหวัดหนึ่งมีจำนวนราษฎร ๓๐๑,๐๐๐ คน ซึ่งเศษของสองแสนนั้นเกินกว่าหนึ่งแสน จึ่งมีผู้แทนราษฎร ๒ คน แต่อีกจังหวัดหนึ่งมีจำนวนราษฎร ๒๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งเศษของสองแสนยังไม่ถึงหนึ่งแสน ก็มีผู้แทนราษฎรได้แต่เพียงคนเดียว

เขตต์เลือกตั้ง

เมื่อจังหวัดใดจะต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้มากกว่า ๑ คนแล้ว จังหวัดนั้นก็จำจะต้องจัดให้มีเขตต์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีกเท่ากับจำนวนของผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนั้นพึงมีได้ หรือจะกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า ถ้าจังหวัดใดจะมีจำนวนผู้แทนราษฎรได้เท่าใด จังหวัดนั้นก็ต้องมีเขตต์เลือกตั้งเท่านั้น เช่น จะต้องมีผู้แทนราษฎรสองคน ก็ต้องมีเขตต์เลือกตั้งสองเขตต์ ผู้ซึ่งจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรนั้นจะสมัครได้ฉะเพาะเขตต์เลือกตั้งเขตต์ใดเขตต์หนึ่งเท่านั้น และราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในเขตต์ใด ก็ไปทำการลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตต์นั้น

ถ้าหากจังหวัดใดจะต้องแบ่งเขตต์เลือกตั้งหลายเขตต์แล้ว จะได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศแบ่งเขตต์และระบุว่า เป็นเขตต์เลือกตั้งที่เท่าใดในจังหวัดนั้น พระราชกฤษฎีกานี้จะได้ประกาศให้ราษฎรทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน เช่น จังหวัดพระนคร มีผู้แทนราษฎรได้ ๓ คน ก็แบ่งเขตต์เลิือกตั้งออกเป็น ๓ เขตต์ คือ เขตต์ที่ ๑ เขตต์ที่ ๒ และเขตต์ที่ ๓

กำหนดวันและเวลาเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสำหรับปีนี้ (๒๔๘๑) ได้กำหนดวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นวันเลือกตั้ง ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ นาฬิกา (๑ โมงเช้า) ถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา (๕ โมงเย็น)

หน่วยลงคะแนน

คำว่า “หน่วยลงคะแนน” นี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง หมายความถึง ท้องถิ่นที่กำหนดไว้เพื่อการลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้าจะพูดให้สั้นเข้าและเข้าใจได้ง่ายแล้ว “หน่วยลงคะแนน” ก็หมายถึง ตำบลซึ่งราษฎรไปเพื่อทำการลงคะแนนเลือกตั้งรวมกัน โดยปกติก็ใช้เขตต์ตำบลหนึ่งเป็นหน่วยลงคะแนนหน่วยหนึ่ง และในหน่วยลงคะแนนหน่วยหนึ่งนั้นก็ให้มีที่เลือกตั้งแห่งหนึ่ง เขตต์เลือกตั้งหนึ่ง ๆ ย่อมประกอบด้วยหน่วยลงคะแนนหลายหน่วย

สถานที่เลือกตั้ง

หน่วยลงคะแนนหน่วยหนึ่งจะต้องมีที่ทำการเลือกตั้ง (คือ สถานที่ที่ราษฎรจะไปลงคะแนนเลือกตั้ง) อยู่ด้วยเสมอไป ซึ่งคณะกรมการอำเภอจะได้ประกาศระบุที่เลือกตั้งให้ราษฎรทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน อนึ่ง สถานที่เลือกตั้งนั้นย่อมเป็นที่ซึ่งประชาชนเข้าออกได้เพื่อการเลือกตั้ง

ณสถานที่ทำการเลือกตั้งนี้ จะมีคูหาลงเครื่องหมาย (คือ ที่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าไปปิดเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง) ซึ่งจะมีไม่น้อยกว่า ๕ คูหา มีหีบบัตรเลือกตั้ง โต๊ะกรรมการตรวจคะแนน ป้ายบอกที่ทำการเลือกตั้ง ป้ายปิดประกาศติดรูปถ่ายและเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เขตต์ที่ทำการเลือกตั้ง

มีเครื่องหมายแสดงเขตต์โดยรอบ ๓๐ เมตร์วัดจากที่ทำการเลือกตั้ง เพื่อมิให้ผู้ใดชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาเพื่อการเลือกตั้งภายในเขตต์นี้ ผู้ใดจะฝ่าฝืนไม่ได้

วิธีลงคะแนนเลือกตั้ง

การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปทำการเลือกตั้งยังหน่วยลงคะแนนใดนั้น ให้พึงสังเกตว่า ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสำหรับหน่วยลงคะแนนใด ก็มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ฉะเพาะหน่วยลงคะแนนนั้น จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยอื่นไม่ได้ ถ้าไปทำเข้า จะต้องมีความผิด อนึ่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องไปทำการเลือกตั้งด้วยตนเอง จะมอบหมายให้ผู้อื่นไปกระทำแทนไม่ได้

กำหนดระยะเวลาสำหรับทำการเลือกตั้งนั้นจะเริ่มแต่ ๗.๐๐ นาฬิกาตรง และสิ้นสุดลงเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกาตรง (คือ ตั้งแต่เช้า ๑ โมงถึงบ่าย ๕ โมง) จึ่งเป็นการสมควรยิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายจะต้องไปถึงที่เลือกตั้งเสียแต่เช้า ๆ

เมื่อถึงเวลา ๗.๐๐ นาฬิกาตรง กรรมการตรวจคะแนนจะได้กล่าวเปิดการลงคะแนน และเมื่อได้ประกาศเปิดการลงคะแนนแล้ว จึ่งเริ่มการลงคะแนนต่อไปตามระเบียบดั่งนี้ คือ

๑. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเข้าไปแสดงตน คือ บอกชื่อ นามสกุล และที่อยู่ ต่อกรรมการตรวจคะแนน เพื่อกรรมการจะได้ตรวจบัญชีรายชื่อผู้มีิสิทธิเลือกตั้งดูว่า ผู้นั้นมีชื่ออยู่ในบัญชีหรือไม่

๒. เมื่อกรรมการตรวจคะแนนได้หมายเหตุในบัญชีรายชื่อว่า ผู้นั้นมาแล้ว ก็จะขานชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ เมื่อไม่มีผู้ใดทักท้วงว่า มิใช่เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว กรรมการตรวจคะแนนจะส่งบัตรเลือกตั้งหนึ่งฉะบับ กับเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแห่งเขตต์เลือกตั้งนั้น ๆ ทุกคนครบตามจำนวนผู้สมัคร ให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนิงชุด

๓. เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับบัตรและเครื่องหมายประจำตัวแล้ว ก็ให้เข้าไปยังคูหาลงเครื่องหมายที่ยังไม่มีใครเข้าไป เพื่อทำการติดเครื่องหมายที่บัตร

ผู้ที่รับบัตรไปนั้นควรทำการตรวจบัตรและเครื่องหมายเสียก่อนว่า มีรอยชำรุด ขีด ฆ่า หรือลบเลือนประการใด บัตรและเครื่องหมายนั้นมีซ้อนกันมากกว่าหนึ่งแผ่นหรือไม่ ถ้ามีซ้อนกันมากกว่าหนึ่งแผ่น ก็ให้มอบคืนแก่กรรมการตรวจคะแนน ควรเอาไว้แต่หนึ่งแผ่นหรือหนึ่งชุด หรือถ้ามีรอยชำรุด ขีด ฆ่า หรือลบเลือน หรืออย่างอื่นใดแล้ว ซึ่งอาจจะแสดงได้ภายหลังว่า เป็นบัตรหรือเครื่องหมายที่ใช้ไม่ได้ ก็ให้คืนแก่กรรมการตรวจคะแนนเพื่อเปลี่ยนใบใหม่ต่อไป

๔. การติดเครื่องหมายลงที่บัตรนั้น ทำดั่งนี้ คือ เมื่อตนพอใจจะให้ผู้สมัครรับเลือกคนใดเป็นผู้แทนราษฎร ก็ให้ฉีกตามรอยปรุ เพื่อเอาเครื่องหมายประจำตัวผู้นั้นแต่เพียงเครื่องหมายเดียว แล้วทาด้วยน้ำ (ซึ่งมีอยู่ในคูหานั้น) ตรงด้านหลัง (เพราะทากาวแห้งไว้) แล้วปิดลงในบัตรเลือกตั้งด้านใน ตอนกลางภายในขอบเส้นดำสี่เหลี่ยมที่พิมพ์ไว้และมีอักษรข้างบนว่า “ที่ปิดเครื่องหมาย” วิธีติดนี้ก็คล้ายกับติดดวงตราไปรษณีย์ลงบนซองจดหมาย แล้วจึ่งพับบัตรเลือกตั้งนั้นตามเดิม ส่วนเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นที่มิได้ใช้ ก็ให้ทิ้งไว้ในภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ซึ่งจัดไว้ในคูหา

เมื่อพับบัตรเรียบร้อยแล้ว จะมีรูปร่างดั่งที่แสดงไว้ในรูปที่ ๑ และที่ ๒

รูปที่ ๑
บัตรเลือกตั้งเมื่อพับแล้วเห็นด้านหน้า
รูปที่ ๒
บัตรเลือกตั้งเมื่อพับแล้วเห็นด้านหลัง

การเข้าไปติดเครื่องหมายลงบัตรเลือกตั้งในคูหานี้ ไม่ควรเข้าไปอยู่เป็นเวลานาน ควรรีบทำแล้วรีบออกมา เพื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นจะได้เข้าไปบ้าง

๕. เมื่อพับบัตรเรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาจากคูหา มอบบัตรที่พับแล้วนั้นให้กรรมการตรวจคะแนน เพื่อหย่อนลงในหีบใส่บัตรเลือกตั้งต่อหน้าตนเสียก่อน จึ่งออกไปจากที่เลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดรับบัตรและเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งไปจากกรรมการตรวจคะแนนแล้ว แต่ไม่ประสงค์ที่จะลงคะแนนเลือกผู้ใด ก็ต้องมอบบัตรและเครื่องหมายที่ได้รับนั้นส่งคืนแก่กรรมการตรวจคะแนน

แบบบัตรเลือก

บัตรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนั้นเป็นกระดาษสีขาว ขนาดกว้าง ๙ เซ็นติเมตร ยาว ๑๘ เซ็นติเมตร พับสามตอน ทางด้านบนจะทำเป็นรูปสามเหลี่ยมในลักษณะเดียวกันกับซองจดหมาย ด้านนอกมีตราครุฑ และมีข้อความว่า “บัตรเลือกตั้งผู้แทนราษฎร” ด้านในตอนกลางมีเส้นดำพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีข้อความอยู่เบื้องบนว่า “ที่ปิดเครื่องหมาย” ดั่งรูปที่ ๓, ๔

ด้านนอก
รูปที่ ๓
ตัวอย่าง “บัตรเลือกตั้งผู้แทนราษฎร”
แลเห็น “ด้านนอก”
ช่องข้างล่าง หมายถึง รอยกระดาษที่ตัดไว้
ด้านใน
รูปที่ ๔
ตัวอย่าง “บัตรเลือกตั้งผู้แทนราษฎร”
แลเห็น “ด้านใน”
เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เพื่อความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะทำการเลือกตั้งให้ใครเป็นผู้แทนราษฎรนั้น ในการเลือกตั้งนี้ ทางราชการได้จัดทำเครื่องหมายประจำตัวผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรไว้ บรรทัดบนเป็นเลขไทย บรรทัดล่างเป็นจุดสีดำ มีจำนวนน้อยมากเรียงลำดับกันไป (เช่น เลข ๑ ก็มีหนึ่งจุด, เลข ๒ ก็มีสองจุด) ดั่งปรากฏตามตัวอย่างที่พิมพ์ไว้แล้วใน

รูปที่ ๕ ตัวอย่างเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง

คำแนะนำนี้ (ดูรูปที่ ๕) การที่พิมพ์จุดดำไว้นั้น ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่อ่านตัวเลขไม่ออก จะได้นับจุดแทน เครื่องหมายนี้พิมพ์บนกระดาษสีขาว ขนาด ๔ เซ็นติเมตร จตุรัส (ยาวด้านละ ๔ เซ็นมิเตรเท่ากันทั้งสี่ด้าน)

บัตรเสีย

คำว่า “บัตรเสีย” นี้ หมายความถึง บัตรเลือกตั้งที่ใช้ไม่ได้ ไม่นับเป็นคะแนน บัตรเสียนี้กรรมการตรวจคะแนนจะได้สลักหลังว่า “เสีย” และลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกคน และจะได้แยกออกไว้เป็นพวกหนึ่งเมื่อถึงเวลานับบัตร

ตามกฎหมายเลือกตั้ง บัตรเสียมีดั่งนี้ คือ

๑. บัตรปลอม

๒. บัตรซึ่งลงเครื่องหมายเลอะเลือน ไม่ได้ความชัดว่า เป็นเครื่องหมายของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด

๓. บัตรซึ่งลงเครื่องหมายกว่าหนึ่งเครื่องหมาย

๔. บัตรซึ่งมิได้ลงเครื่องหมายเลย

๕. บัตรซึ่งปรากฏว่า มีบัตรซ่อนอยู่ในบัตรนั้นอีก

๖. บัตรซึ่งมีเครื่องหมาย เครื่องสังเกต หรือข้อความอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ (เช่น ปิดเครื่องหมายภายนอกบัตร เป็นต้น)

ดั่งนี้ จึงเห็นได้ว่า บัตรเลือกตั้งที่ลงไปของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจใช้ไม่ได้หลายประการ ฉะนั้น ในการลงคะแนนของท่าน ควรระมัดระวัง ทำให้เรียบร้อย มิฉะนั้น จะเป็นการเสียเวลาเปล่า ๆ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีกลาย ปรากฏว่า บางจังหวัดมีบัตรเสียคิดเฉลี่ยถึงร้อยละ ๑๗ ใบ

การคัดค้านการเลือกตั้ง

ภายใน ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการจังหวัดประกาศผลของการเลือกตั้ง ผู้มีิสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตต์เลือกตั้งใดเห็นว่า การเลือกตั้งในเขตต์นั้นมิได้เป็นไปโดยชอบ สมควรที่จะให้มีการเลือกตั้งเสียใหม่ ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้านไปยังศาลจังหวัดซึ่งเขตต์เลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ เป็นหน้าที่ของศาลตังหวัดที่ได้รับคำคัดค้านนั้นจะได้ดำเนินการพิจารณาแล้วทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลจังหวัดได้วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ให้มีอำนาจสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้ แต่ในระหว่างที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จะต้องถือว่า ผู้แทนราษฎรซึ่งถึงแม้จะถูกคัดค้านนั้นเป็นผู้แทนราษฎรโดยชอบ

โทษของผู้กระทำผิดการเลือกตั้งบางประการ

โดยเหตุที่ทางราชการประสงค์จะให้การเลือกตั้งได้เป็นไปโดยชอบธรรม ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทำการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิใจ ให้มีเสรีภาพ และให้ได้รับความสะดวกในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง จึ่งได้มีบทลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนความประสงค์อันนี้ ซึ่งสมควรนำมากล่าวให้ทราบไว้แต่โดยย่อ คือ

๑. นายจ้างผู้มิให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

๒. ผู้ที่มิได้มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยประการใด ๆ โดยเจตนาขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปณที่เลือกตั้ง หรือเข้าไปณที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึงณที่ดั่งว่านั้นภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้

๓. ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ที่ให้หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใด ๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด โดยเจตนาจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองก็ดี หรือให้แก่ผู้ใดก็ดี หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ใดก็ดี

๔. ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จัดรถหรือยานพาหนะใด ๆ นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้งหรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือกลับจากที่เลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะซึ่งต้องเสียตามปกติ หรือผู้ที่กระทำการเช่นว่านั้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด

๕. ผู้มีสิิทธิเลือกตั้งที่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใด ๆ เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อรับสัญญาว่า จะลงคะแนนเลือกตั้งหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใด

๖. ผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งหรือผู้ที่พยายามลงคะแนนเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนนั้นได้ก็ดี หรือทอดบัตรหรือพยายามทอดบัตรมากกว่าบัตรหนึ่งก็ดี

๗. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เจตนาทุจจริตในการเลือกตั้ง ไม่คืนบัตรเลือกตั้งให้กรรมการตรวจคะแนน

๘. ผู้ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่เลือกตั้งหรือในที่ประชาชนชุมนุมกันอยู่เพื่อรอการเข้าไปลงคะแนนเลือกตั้ง

๙. ผู้ที่ชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาเพื่อการเลือกตั้งภายในปริมณฑล ๓๐ เมตรแห่งที่ทำการเลือกตั้ง ฯลฯ

เหล่านี้ จะต้องมีความผิดต่าง ๆ กัน เช่น ถูกปรับ หรือถูกจำคุก หรือถูกทั้งปรับและจำ ตลอดจนถูกเพิกถอนสิทธิออกเสียงเป็นเวลาหลายปี

โทษเหล่านี้ย่อมมีไว้ป้องกันผู้ทุจริตและเพื่อคุ้มครองผู้ทำการเลือกตั้งโดยสุจริต

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ศกนี้ ซึ่งตรงกับ
วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล
เป็น
วันเลือกตั้ง

ฉะนั้น ขอท่านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของท่าน จงเลือกผู้ที่ท่านพอใจด้วยความบริสุทธิใจ เป็นผู้แทนของท่าน

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • สำนักงานโฆษณาการ. (2481). คำแนะนำในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก