คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๐/๒๕๕๘

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ ๑๐/๒๕๕๘
เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม[1]




จากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกันยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ซึ่งหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยเร่งด่วนภายในหกเดือนอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ําของประเทศไทยในอนาคตและความมั่นคงของประเทศไทย ในภาพรวม ดังนั้น เพื่อให้สามารถเร่งดําเนินการแก้ปัญหาให้การทําการประมงสามารถดําเนินการได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ และยกระดับมาตรฐานการประมงของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง อุตสาหกรรมต่อเนื่องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากมิได้มีการป้องกันและแก้ไขโดยเร่งด่วน จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้ เพื่อดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (Command Center for Combating Illegal Fishing) เรียกโดยย่อว่า ศปมผ. (CCCIF) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) และทั้งนี้ ให้ ศปมผ. เริ่มปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ข้อ ๒ ศปมผ. มีโครงสร้างการปฏิบัติการดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมายซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ ๕๒/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ ทําหน้าที่กําหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในระดับรัฐบาล

(๒) ให้กองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ซึ่งจัดตั้งโดยมติสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักของ ศปมผ. ในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓) ให้มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (Port In - Port Out Controlling Center) และศูนย์ให้บริการและอํานวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จ (Fishing One Stop Service) ประจําในแต่ละจังหวัดชายทะเล ทั้งนี้ ตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

ข้อ ๓ ให้ ศปมผ. มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กําหนดแนวทางของไทยและจัดทําแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Thailand’s National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate IUU Fishing, NPOA - IUU) ตลอดจนกํากับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนนั้น รวมถึงดําเนินงานทําความเข้าใจกับสหภาพยุโรป

(๒) ควบคุม สั่งการ กํากับดูแล และประสานการปฏิบัติการทั้งปวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สํานักงานตํารวจแห่งชาติและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม

(๓) พิจารณาเสนอแนะ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการทําการประมงที่ผิดกฎหมายและบทลงโทษที่เหมาะสม

(๔) กําหนดโครงสร้างและอัตรากําลังของ ศปมผ. โดยในโครงสร้างนี้ต้องกําหนดให้มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก รวมถึงศูนย์ให้บริการและอํานวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จประจําในแต่ละจังหวัดชายทะเล

(๕) แต่งต้ังเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติงานใน ศปมผ. จากข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม

(๖) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทํางาน เพื่อดูแลรับผิดชอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะได้ตามความเหมาะสม

(๗) เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อร่วมประชุมแนวทางการดําเนินงาน ประสานการปฏิบัติและติดตามผลการดําเนินงานตามความเหมาะสม

(๘) ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งยกระดับความร่วมมือกับประเทศที่สามโดยเฉพาะประเทศที่เรือที่ชักธงไทยเข้าไปทําการจับปลาในน่านน้ําของประเทศนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

(๙) รายงานผลการปฏิบัติให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสหภาพยุโรปได้ยกเลิกประกาศเตือนประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรการอย่างเพียงพอในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทําประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(๑๐) ปฏิบัติการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๔ ให้ ศรชล. มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นใน ศรชล. ประกอบด้วยกําลังทั้งเรือ อากาศยาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล. ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่เพื่อบังคับใช้กฎหมายในทะเลและควบคุมการปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนดโดยเร็วที่สุด

(๒) ควบคุมและสั่งการหน่วยงานที่มาปฏิบัติการภายใต้ ศรชล.

(๓) บูรณาการข้อมูลข่าวสารทางทะเลที่เกี่ยวข้อง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ภาพสถานการณ์ทางทะเล

(๔) จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ประจําในศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทะเล (ศขท.)จากหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล. ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าติดตาม พิสูจน์ทราบ และตรวจสอบพฤติกรรมการทําประมงผิดกฎหมายของเรือประมง โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance Center : MCS) ด้วย เพื่อให้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) มีความครบถ้วนสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด

(๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่ ศปมผ. มอบหมาย

ข้อ ๕ ให้สํานักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับ ศปมผ. และ ศรชล. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบของทางราชการ

ข้อ ๖ ให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดที่ใช้ทําการประมง ขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ําที่ได้จากยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดที่ใช้ทําการประมง ที่มีขนาดตั้งแต่ ๓๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป หรือตามขนาดที่ ศปมผ. ประกาศกําหนดต้องดําเนินการดังต่อไปนี้

(๑) จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง ตามรูปแบบ ระยะเวลา และวิธีการที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

(๒) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ซึ่งมีมาตรฐานสมรรถนะของอุปกรณ์และข้อกําหนดเชิงหน้าที่ (Performance Standards and Functional Requirements) ตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด โดยจะต้องติดตั้งให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

(๓) แจ้งการเข้า - ออก ท่าเทียบเรือทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

เมื่อได้ดําเนินการติดตั้ง VMS แล้ว ให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง แจ้งรหัสการเข้าถึงระบบการติดตามเรือ (Access Code) ให้ ศปมผ. ทราบ และต้องเปิดเครื่องไว้ตลอดเวลาขณะอยู่ในทะเล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตําบลที่เรือได้ ในกรณีที่อุปกรณ์ดังกล่าวขัดข้องหรือไม่สามารถส่งตําบลที่เรือได้ด้วยประการใด ๆ ให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

เจ้าของหรือผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้าระบบเพื่อตรวจสอบจุดพิกัดของเรือ

ข้อ ๗ ให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมงหรือเรืออ่ืนตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด และจําหน่ายทะเบียนเรือออกจากสมุดทะเบียนในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑

(๒) เจ้าของเรือแสดงความประสงค์เป็นหนังสือขอเลิกใช้ทะเบียนเรือไทยต่อนายทะเบียนเรือ

(๓) เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้รับใบอนุญาตใช้เรือ หรือใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุเป็นเวลาต่อเนื่องกันตั้งแต่สามปีขึ้นไป

เมื่อได้มีคําสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนเรือแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของเรือส่งคืนใบทะเบียนเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเรือ

ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาการทําประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ห้ามมิให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเรือประมงยินยอมให้บุคคลใด ๆ กระทําการดังต่อไปนี้ในเรือประมงของตน

(๑) ครอบครองเครื่องมือทําการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตในเรือประมง

(๒) นําเรือประมงซึ่งมีเครื่องมือทําการประมงท่ีไม่ถูกต้องตรงกับเครื่องมือที่ได้รับอาชญาบัตรหรือไม่ได้รับอาชญาบัตรหรือเครื่องมือทําการประมง ออกจากท่าเทียบเรือไปทําการประมง

(๓) นําเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทยกฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองออกจากท่าเทียบเรือจนกว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้นให้ครบถ้วน

ข้อ ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงออกไปทําการประมงในน่านน้ําของรัฐต่างประเทศและในทะเลหลวง หรือนําเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ออกไปน่านน้ําต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ศปมผ. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ศปมผ. อาจมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้อนุญาตแทนได้

ข้อ ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงออกไปทําการประมงในน่านน้ําของรัฐต่างประเทศและในทะเลหลวงโดยฝ่าฝืนกฎข้อบังคับด้านการประมงของรัฐชายฝั่งที่เข้าไปทําการประมงหรือขององค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค

ข้อ ๑๑ ผู้ใดประสงค์จะนําเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดทุกขนาดที่ใช้ทําการประมง ขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ําที่ได้จากยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดที่ใช้ทําการประมง ออกนอกน่านน้ําไทยหรือเดินทางมาจากน่านน้ําต่างประเทศหรือทะเลหลวงเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องออกจากท่าเรือหรือเข้าจอดเรือ ณ ท่าเรือหรือแพปลาที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

ข้อ ๑๒ ห้ามมิให้ผู้ใดนําเรือประมงต่างประเทศ หรือเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นที่อยู่ในบัญชีเรือที่ห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด เข้ามาเทียบท่าในราชอาณาจักร

ข้อ ๑๓ เจ้าของท่าเรือและเจ้าของแพปลาในทุกจังหวัดชายทะเล รวมถึงตามเกาะแก่งต่าง ๆต้องจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดทุกขนาดที่ใช้ทําการประมง ขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทําการประมงทุกลําที่เข้าใช้บริการจอดเรือหรือขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ําเก็บไว้เพื่อการตรวจสอบ

ในกรณีเรือตามวรรคหนึ่ง เป็นเรือที่ต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๑ เจ้าของเรือและเจ้าของแพปลาต้องดําเนินการรวบรวมและจัดส่งรายงานการเข้า - ออกเรือ มาที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

รายงานตามวรรคหนึ่งต้องกําหนดให้ครอบคลุมกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือปฏิเสธแจ้งการเข้า - ออก ซึ่งเจ้าของท่าเทียบเรือหรือเจ้าของแพปลาจะต้องทําหน้าที่รายงานฝ่ายเดียว

ข้อ ๑๔ ให้ ศปมผ. และ ศรชล. แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามคําสั่งนี้

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งมีอํานาจขึ้นตรวจสอบเรือ หรือกักเรือทุกลําที่กระทําความผิดตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้ กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทยกฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงและการเดินเรือ

ในการขึ้นตรวจสอบเรือตามข้อ ๑๒ หากมีเหตุสงสัยว่าเรือดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งห้ามการขนถ่ายสัตว์น้ําหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ําขึ้นจากเรือ และในกรณีที่เป็นเรือประมงต่างประเทศจะสั่งให้นําเรือออกไปจากราชอาณาจักรก็ได้ และให้ ศปมผ. แจ้งให้รัฐเจ้าของธงและองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคเพื่อดําเนินการต่อไป

ข้อ ๑๕ พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ ศปมผ. และ ศรชล. ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทําผิดกฎหมายแต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๖ ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการป้องกันปราบปรามผู้กระทําผิดด้านการทําประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมและปฏิบัติตามแผน NPOA - IUU อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องเร่งดําเนินการในเรื่องการจดทะเบียนเรือประมง การออกใบอนุญาตใช้เรือ การต่อใบอนุญาตใช้เรือ การออกอาชญาบัตรและใบอนุญาตทําการประมงและเอกสารทางราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทําผิด

ข้อ ๑๗ เพื่อให้การปฏิบัติตามคําสั่งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ ศปมผ.และเจ้าหน้าที่ ศรชล. ได้สั่งการให้ส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งในการปฏิบัติตามคําสั่งนี้ แต่ส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทําการหรืองดเว้นกระทําการตามคําสั่งของเจ้าหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ ศปมผ.หรือเจ้าหน้าที่ ศรชล. รายงานพฤติกรรมดังกล่าวไปยัง ผบ.ศปมผ. และ ผบ.ศปมผ. มีอํานาจสั่งย้ายหัวหน้าส่วนราชการแห่งนั้นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากพื้นที่รับผิดชอบได้ทันที และให้แจ้งรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่หัวหน้าส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดทราบพร้อมด้วยเหตุผลในการนี้ ให้รัฐมนตรีหรือหัวหน้าส่วนราชการดําเนินการเพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งหน้าที่ หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยเร็ว และในกรณีที่มีมูลความผิดทางวินัยให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุของหัวหน้าส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นต่อไป

คําสั่งของ ผบ.ศปมผ. ตามวรรคหนึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาในศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อ ๑๘ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๖ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามสิบล้านบาท

ข้อ ๒๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๗ วรรคสอง และข้อ ๑๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ข้อ ๒๑ ผู้ใดกระทําความผิดตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้ ถ้าได้กระทําความผิดนั้นซ้ำอีกต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ

ข้อ ๒๒ ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นตลอดจนยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดที่ใช้ทําการประมง ขนถ่าย หรือเก็บรักษาสัตว์น้ําที่ได้จากยานพาหนะทางน้ําทุกชนิด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนี้ นอกจากจะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ตามคําสั่งนี้ ให้ ศปมผ. มีอํานาจสั่งให้มีการยกเลิกเอกสารทางราชการหรือใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้ด้วย โดยห้ามมิให้หน่วยงานที่มีอํานาจออกใบอนุญาตออกเอกสารทางราชการหรือใบอนุญาตให้ใหม่เป็นเวลาหนึ่งปี หรือตามระยะเวลาที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

ข้อ ๒๓ ประกาศของ ศปมผ. ที่ออกตามคําสั่งนี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ทั้งนี้ นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษที่ ๙๙ ง/หน้า ๑-๘/๒๙ เมษายน ๒๕๕๘



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"