คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒๓/๒๕๕๘

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ ๒๓/๒๕๕๘
เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๑๙[1]




โดยที่ในปัจจุบันปรากฏว่ายังคงมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นภัยอันร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อเป็นการป้องกัน ระงับ และปราบปรามการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติสมควรกําหนดมาตรการเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมอบหมายอาจขอความร่วมมือจากข้าราชการทหาร โดยแจ้งความประสงค์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป ไปปฏิบัติการตามคําขอดังกล่าวได้

ข้อ ๒ ในการปฏิบัติการตามข้อ ๑ ให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีบุคคลซึ่งกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิมแต่ในกรณีที่เป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก ข้าราชการทหารผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอกขึ้นไป

(๒) ค้นบุคคล หรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด ซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๓) จับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้เพื่อทําการสอบสวนเบื้องต้นได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกําหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควรให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไปทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(๔) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้

(๕) ค้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ ๓ ในกรณีที่จําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เสพยาเสพติดให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอํานาจสั่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวรับการตรวจ หรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่

ข้อ ๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการทหารตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ให้ข้าราชการทหารดังกล่าวมีอํานาจขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ และให้บุคคลนั้นมีอํานาจช่วยการปฏิบัติงานของข้าราชการทหารได้

ข้อ ๕ ในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ ๖ ให้เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายดังกล่าวโดยเคร่งครัด และให้ดําเนินการร่วมกับข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานดังกล่าวขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจนก่อให้เกิดความเสียหายในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําความผิดวินัยร้ายแรง

ข้อ ๗ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษที่ ๑๗๓ ง/หน้า ๑๐/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"