งานแปล:ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี/ส่วนที่ 3
อำนาจสูงสุดทั่วราชอาณาจักร ให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งมหาเสนาบดี[1] คนหนึ่ง ซึ่งจะรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินในงานบริหารทั้งปวงของรัฐบาล พระเจ้าแผ่นดินจะทรงถอดถอนผู้นั้นเมื่อใดก็ได้
ให้มหาเสนาบดีแต่งตั้งเสนาบดีแห่งรัฐซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงทั้งหลายในรัฐบาล และจะถอดถอนบุคคลเหล่านั้นก็ได้ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเอง ให้มหาเสนาบดีรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินในงานทั้งหมดของกระทรวงแต่ละแห่ง ทั้งให้มีหน้าที่ที่จะดำเนินนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบังคับบัญชา และที่จะประสานงานของกระทรวงต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ให้เสนาบดีแต่ละคนในรัฐบาลรับผิดชอบโดยตรงต่อมหาเสนาบดีในงานของกระทรวงตน ให้เสนาบดีเป็นผู้ช่วยดำเนินนโยบายทั่วไปตามที่มหาเสนาบดีบังคับบัญชา
คณะเสนาบดีนั้น ให้มหาเสนาบดีเรียกประชุมและเป็นประธาน และให้ประกอบด้วยเสนาบดีแห่งรัฐทุกคน คณะเสนาบดีจะอภิปรายกิจการที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมก็ได้ แต่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจทั้งปวงนั้นให้อยู่ที่มหาเสนาบดี
มหาเสนาบดีจะได้ทูลเสนอปัญหาทั้งปวงในนโยบายทั่วไประดับใหญ่ต่อพระเจ้าแผ่นดินเพื่อทรงวินิจฉัย ให้มหาเสนาบดีอยู่ภายใต้ความควบคุมโดยตรงของพระเจ้าแผ่นดินในกิจการทั้งปวง
ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งอภิมนตรีสภา[2] ซึ่งมีสมาชิกห้าคน ให้มหาเสนาบดีเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง แต่มิให้เจ้าหน้าที่คนอื่นใดในคณะเสนาบดีเป็นสมาชิก มิให้อภิมนตรีสภาใช้อำนาจบริหารไม่ว่าจะเป็นประการใด กิจหน้าที่ของอภิมนตรีสภานั้นให้มีแต่การถวายคำแนะนำต่อพระเจ้าแผ่นดินในปัญหาทางนโยบายทั่วไปหรือในปัญหาอื่นนอกจากงานบริหารของรัฐบาลในเชิงรายละเอียดเมื่อได้รับเรียกให้ดำเนินการเช่นนั้น มิให้อภิมนตรีสภามีอำนาจแนะนำเกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือเกี่ยวกับรายละเอียดในการบริหาร ทว่า ให้อภิมนตรีสภามีอำนาจตั้งกระทู้ถาม[3] มหาเสนาบดีหรือเจ้าหน้าที่คนใด ๆ ในคณะเสนาบดี
ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งสมาชิกคณะองคมนตรี และจะทรงถอดถอนผู้นั้นเมื่อใดก็ได้
ภายในสามวันนับแต่ขึ้นทรงราชย์ ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกรัชทายาทเป็นการชั่วคราวตามคำแนะนำและยินยอมของคณะองคมนตรี การเลือกนี้ให้จำกัดอยู่ที่พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน[4] กับพระมเหสี หรือบรรดาผู้มีสายพระโลหิต แต่จะจำกัดด้วยประการอื่นใดมิได้ ไม่ว่าด้วยชั้นยศหรือความอาวุโส การเลือกรัชทายาทนั้นมิให้เป็นเรื่องที่เพิกถอนมิได้ แต่ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำใหม่ตามคำแนะนำและยินยอมของคณะองคมนตรีทุก ๆ สิ้นระยะเวลาห้าปีนับจากนั้น (หมายเหตุ หรือบางทีอาจจะประสงค์ระยะเวลาที่นานกว่าห้าปีก็ได้) ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตก่อนจะได้ทรงเลือกผู้ใด ก็ให้คณะองคมนตรีเลือกรัชทายาททันทีที่พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต การเลือกตั้งจะต้องใช้เสียงสามในสี่ของสมาชิกคณะองคมนตรีซึ่งมีตัวอยู่ในราชอาณาจักร ณ เวลานั้น ๆ ในทุกกรณี
ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุดของพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจตุลาการนั้น ให้เป็นของศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา และของศาลชั้นรองที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงจัดตั้งขึ้นเป็นระยะ ๆ
อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัตินั้น ให้อยู่ที่พระเจ้าแผ่นดิน
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายพื้นฐานนี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยพระเจ้าแผ่นดินตามคำแนะนำและยินยอมของสมาชิกสามในสี่ของคณะองคมนตรี
หมายเหตุ
[แก้ไข]- ↑ ต้นฉบับใช้ทั้ง "prime minister" และ "premier" ในคำแปลนี้จึงใช้ "อัครมหาเสนาบดี" กับ "prime minister" และ "มหาเสนาบดี" กับ "premier" เพื่อแสดงความแตกต่างทางถ้อยคำเท่านั้น
- ↑ ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรีสภา" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Council of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
- ↑ "interpolate" แปลว่า แทรก, สอดแทรก ฯลฯ ซึ่งฟังดูไม่เข้าที อาจเป็นการเขียนหรือพิมพ์ "interpellate" (ซักถาม, ตั้งกระทู้ถาม ฯลฯ) หรือ "interrogate" (ซักถาม, ไต่ถาม, สอบถาม ฯลฯ) ผิด ในที่นี้แปลตามความหมายของ "interpellate"
- ↑ โปรดสังเกตว่า ต้นฉบับใช้ "a King" ซึ่งหมายความว่า จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดก็ได้ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเลือกรัชทายาทหรือผู้ทรงราชย์อยู่ในขณะนั้น
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- กัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์), พระยา. (2545). Outline of preliminary draft. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 191–192). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.