ข้ามไปเนื้อหา

จดหมายเหตุพระสุบินนิมิตร/บทที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
ทำนายพระสุบินนิมิตร
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ในปีเดือนกลางคืนข้างขึ้นวันเดียวกันกับพระสุบินล้นเกล้าฯ นั้น เปนเวลา ๓ ยาม ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระสุบินนิมิตรว่า ล้นเกล้าฯ ตรัสใช้ให้หมื่นแก้วไปซื้อเพ็ชรเมืองไยกะตรา หมื่นแก้วกลับมาได้เพ็ชรมาถวาย ๓ เม็ด ใหญ่เท่าผลหมากดิบหมากสง ในพระสุบินนิมิตรว่า เพ็ชรนั้นวางอยู่น่าพระที่นั่งล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเฝ้าอยู่ที่นั้น ทอดพระเนตรดูเพ็ชรแล้ว จึงตรัสว่า เพ็ชรใหญ่เท่าผลหมากดิบหมากสง ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น

คำทำนายพระสุบินนิมิตร

อาตมาภาพ พระราชาคณะทั้งปวง ได้รับพระราชทานสดับฟังในเรื่องพระสุบินนิมิตร พิจารณาดู เห็นเปนบุพพนิมิตรมหามงคลอันประเสริฐใหญ่หลวงยิ่งนัก พร้อมกันถวายพยากรณ์ทำนายตามสาระโสลกว่า เทวินฺท พฺรหฺมา รวิตารจนฺโท ปาสาทนาโถ มณิราชราชี เนื้อความว่า ถ้าคนไพร่กะดุมพีผู้ยากฝันว่า ได้เห็นแก้ว แลพระมหากระษัตร แลองค์อรรคมเหษี ทำนายว่า ผู้นั้นจะได้เปนใหญ่ จะได้ที่ฐานเปนเสนาอำมาตย์ราชมนตรีแลลาภสักการเปนอันมากตามตระกูลที่ฐานแห่งผู้ฝันนั้น บัดนี้ ทรงพระสุบินนิมิตรว่า สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารตรัสใช้ให้หมื่นแก้วไปซื้อเพ็ชรเมืองไยกะตรา หมื่นแก้วกลับมาได้เพ็ชรมาถวาย ๓ เม็ดใหญ่เท่าผลหมากดิบหมากสงนั้น ถวายพยากรณ์ทำนายว่า มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์จะได้ราชสมบัติในมหานครราชธานีแลนานาประเทศเปนที่ชื่นชอบพระไทยโดยสดวกมิได้ลำบากแก่ไพร่ฟ้าโยธาทหาร แลเมื่อกลับมานั้น จะได้พระราชลาภอันประเสริฐทั้ง ๓ ประการประดุจดวงแก้วเพ็ชรรัตน คือ ธรรมรัตน ขัตติยรัตน แลรัตนกัญญา ด้วยพระราชอธิบายอันสุขุมภาพ ข้อซึ่งว่า พระสุบินนิมิตรว่า เพ็ชรนั้นวางอยู่น่าพระที่นั่ง แลบพิตรพระราชสมภารบวรสถานมงคลเสด็จเฝ้าอยู่ที่นั้น ทอดพระเนตรดูเพ็ชรแล้ว จึงตรัสว่า เพ็ชรใหญ่เท่าผลหมากดิบหมากสง ไม่เคยเห็นก็ได้เห็นนั้น ถวายพยากรณ์ทำนายว่า บันดากระษัตรขัตติยวงศ์อันอยู่ในราชธานีอันมิเคยที่จะได้ ก็จะได้มาอยู่ในเงื้อมพระหัดถ์ ด้วยพระอุบายปัญญาแห่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ทรงราชอิศริยยศพระเดชานุภาพพระบารมีภิญโญภาวะยิ่ง ๆ ขึ้นไป สพฺพโสตฺถี ภวนฺตุเต ขอถวายพระพร ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พยาธรรมปโรหิต ราชบัณฑิตทั้งปวง พระอาลักษณ์ ได้รับพระราชทานสดับซึ่งลักษณพระสุบินนิมิตรทราบเกล้าทราบกระหม่อมแล้ว พร้อมกันพิจารณาโดยสักกะปัญญานุรูปตามสาระโสลกสุบินสาตร เห็นในวันยามแลเพลาทรงพระสุบินนิมิตรนั้น เปนลักษณเทวตูปสังหรณสุบินแลบุพพินิมิตรสุบิน ผลนั้นจะประสิทธิเสร็จในพระบาทเปนแท้ เปนมงคลมหาสุบินนั้น นับเข้าในหมู่สุบินมงคล ๘๔ ประการ อันโบราณาจารย์นิพันธ์พระคาถาไว้ฉนี้ ปาสาทนาโถมณิราชราชี ขอพระราชทานถวายพยากรณ์ทำนายโดยอรรถาธิบายในสารโสลกนั้นว่า บุทคลผู้ใดนิมิตรฝันว่า ได้เห็น แลถูกต้อง แลประดับเครื่องอลังการแก้วก็ดี แลฝันว่า ได้เห็นแลพูดจากับพระมหากระษัตร พระอรรคมเหษีก็ดี ผู้นั้นจะบริบูรณ์จำเริญยศศักดิ์สมบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะปราถนาสิ่งใด จะได้ดังความปราถนาโดยอันควรตามถานาศักดิ์อาตมานั้น แลข้อซึ่งล้นเกล้าฯ เสด็จสถิตย์อยู่ในภูมิมหาประเทศจักรพัตราธิราชอยู่แล้ว แลมาทรงพระสุบินอันเปนมหามงคลสุบินดังนี้ ก็จะทรงพระจำเริญพระราชอิศริยยศสมบัติเปนที่พระจักรพัตราธิราชยิ่งขึ้นตามถานาศักดิ์แห่งขัตติยวงศ์นั้น ขอพระราชทานถวายพยากรณ์ทำนายพระสุบินนิมิตรโดยสังเขปตามบุราณสารโสลกสุบินสาตรดังนี้แล้ว ขอพระราชทานถวายพยากรณ์โดยวิตถารสืบไป ทรงพระสุบินนิมิตรว่า ล้นเกล้าฯ ตรัสใช้ให้หมื่นแก้วไปซื้อเพ็ชรเมืองไยกะตรา หมื่นแก้วกลับมา ได้เพ็ชรมาถวาย ๓ เม็ดใหญ่เท่าผลหมากดิบหมากสงนั้น ขอพระราชทานถวายพยากรณ์ทำนายว่า ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์จะได้พระราชลาภอันเปนที่ชื่นชมล้ำเลิศประเสริฐในพระนครอันเปนปัจจามิตรข้าศึกครั้งนี้ มีกรุงรัตนะปุระอังวะเปนต้น ด้วยใช้แต่พระปรีชาญาณอุบายอันสว่างไปในการสงครามนั้นนับด้วยหมื่นแสน แลจะได้ไชยชำนะแลพระราชลาภอันล้ำเลิศเปนที่ยินดีด้วยง่ายงาม มิได้ยากลำบากแก่ไพร่พลทหารนัก แลเมื่อจะเสด็จกลับมานั้น จะได้พระราชลาภอันเลิศทั้ง ๓ ประการอันใหญ่หลวงประดุจดวงแก้วเพ็ชรรัตน คือ พระธรรมรัตนะ ๑ พระกระษัตราธิราช ๑ แลนางรัตนกัญญาอันเปนวงศ์กระษัตรเก่าใหม่ซึ่งเปนที่ชื่นชม จะได้ด้วยง่ายงามนั้นก็เพราะพระอุบายปัญญาอันใหญ่หลวง แลข้อในพระสุบินนิมิตรว่า เพ็ชรนั้นวางอยู่น่าพระที่นั่ง ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จเฝ้าอยู่ที่นั้น ทอดพระเนตรดูเพ็ชรแล้วจึงตรัสว่า เพ็ชรใหญ่เท่าผลหมากดิบหมากสง ไม่เคยเห็นก็ได้เห็นนั้น ขอพระราชทานถวายพยากรณ์ทำนายว่า พระราชลาภอันเปนแก้วอันประเสริฐทั้ง ๓ ประการนั้นมิได้พ้นจากเงื้อมพระหัดถ์ ปรากฎในจักษุญาณุบาย ลันเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงพระโสมนัศในพระราชลาภอันวิเศษ อันมิควรที่จะได้นั้น ก็จะได้ดังพระไทยปราถนา ควรมิควร ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานพระเดชพระคุณปกเกล้าปกกระหม่อม ขอเดชะ ฯ