จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ/ตอนที่ 12

จาก วิกิซอร์ซ

ตอนที่ ๑๒ ว่าด้วยผู้รับใช้ปรนิบัติราชทูตที่โฮเต็ล แลราชทูตออกจากลอนดอนจะกลับมาเมืองไทย มาแวะที่เมืองฝรั่งเศส[แก้ไข]

เมื่อพวกราชทูตไปอยู่ที่เมืองลอนดอนนั้น กวีนโปรดให้ไปอยู่ที่โฮเต็ลชื่อกลาริช มีที่กินอยู่นั่งนอนเปนสุขยิ่งกว่าอยู่ในบ้านเรือนของตัว เวลาเช้าตื่นนอนล้างหน้าแต่งกายใส่เสื้อเสร็จแล้วจึงเปิดประตูห้องออกไว้ พวกผู้หญิงสาว ๆ ก็เอาถ่านศิลาเข้าไปไส่ให้แล้วเช็ดถูตู้เตียงสิ่งของ ทั้งปวงให้หมดจด ทั้งที่นั่งที่นอนก็ปูปัดจัดแจงน้ำกินน้ำใช้ใส่ที่พร้อมแล้ว ก็ลากลับไป ถึงเวลาเย็นก็มากระทำเหมือนเวลาเช้า แล้วเอาเทียน ปักไว้ที่เชิงเทียนสองเล่มพอจุดตลอดรุ่ง เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้าใหม่ไว้ เอา ผืนเก่าไปซักเสีย ทำดังนั้นเสมอทุกวันมิได้ขาด แล้วมีหมอคนหนึ่ง มาตรวจตราดูแลทุกวัน ถ้าพวกราชทูตคนใดป่วยไข้ หมอก็ให้ยา รักษาจนหาย

เมื่อเวลาเช้าก่อนกินเข้า คนที่คอยรับใช้ก็ยกถาดเงินใหญ่ใส่ น้ำชา มีน้ำตาลทรายนมโคขนมปังอ่อนเนยเหลวมาให้ถึงในห้อง เวลา สาย ๔ โมงจึงเลี้ยงเข้า เวลาเที่ยงเลี้ยงน้ำชา มีผลไม้แลขนมอีก หลายสิ่ง บ่าย ๓ โมงเลี้ยงเข้าเย็น เวลาค่ำเลี้ยงน้ำชาเหมือนกลางวัน อีกครั้งหนึ่ง ในเวลาที่เลี้ยงหรือเวลาอื่นก็ดีพวกราชทูตจะปราร์ถนากินสิ่งใด ผู้รับใช้ก็ไปหาซื้อมาให้มิได้คิดราคาถูกแลแพง ถ้าของไม่มี ในเมืองหลวง จะมีอยู่หัวเมืองทางไกลกันเหมือนกรุงเทพ ฯ ไปพระ พิศณุโลก ผู้รับใช้นั้นก็บอกไปโดยสายเตลคราฟ ฝ่ายคนที่อยู่ในเมือง โน้นรู้แล้วก็จัดแจงของนั้นฝากมากับรถไฟโดยเร็วไม่ทันข้ามวัน ก็ได้กิน สมความปราร์ถนา เมื่อพวกราชทูตอยู่ในเมืองลอนดอนนั้น ถ้าปราร์ถนา จะไปเที่ยวแห่งใด ๆ ทางใกล้ก็ดี ทางไกลก็ดี จะไปด้วยรถเทียมม้า หรือรถไฟ หรือจะดูการงานแลของวิเศษสิ่งไรที่จะต้องเสียเงิน ก็ไม่ต้อง เสียเลย ด้วยกวีนโปรดให้ใช้เงินหลวงแทนสิ้นทั้งนั้น

ตั้งแต่วันราชทูตไปถึงลอนดอน ถ้าจะนับถึง ๔ เดือนกับ ๘ วัน จึงได้กลับออกจากเมืองลอนดอนมาลงเรือที่ท่าโดเวอ แล้วลง เรือกลไฟข้ามทเลไปขึ้นที่ท่ากาลิศ (๑) ครั้นถึงท่ากาลิศฟากข้างฝรั่งเศส มิศเตอร์เฟาล์จึงนำพวกราชทูตขึ้นพักอยู่บนโฮเต็ลคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นกิน อาหารพร้อมแล้ว เวลาเช้า ๓ โมงจึงขึ้นรถไฟไปเมืองปารีศ เปนเมือง หลวงของฝรั่งเศส ไปทางประมาณ ๒ ชั่วโมง มีป้อมแห่ง ๑ บ่ายโมง ครั้นถึงโฮเต็ลกลางทางหยุดรถกินของหวานน้ำชา บ่าย ๕ โมงเศษถึง เมืองปารีศ ทาง ๒๐๐ ไมล์ คือ ๙๐๐๐ เส้น มิสเตอร์เฟาล์ให้พวก ราชทูตพักอยู่ที่โฮเต็ล ชื่อแครนด์โฮเต็ลดูลูฟรี

วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ เจ้าพนักงานฝ่ายฝรั่งเศสมานำพวกราชทูตไปที่ลิมิวสิดูลูฟรี เปนตึกใหญ่ ในนั้นมีรูปเขียน รูปศิลา ต่าง ๆ ทั้งผู้ชายแลผู้หญิง แลของต่างประเทศ คือของจีนของเมือง อื่น ๆ ก็มีมาก ดูแล้วจึงเลยไปหาเลอรด์เกาเล เปนกงสุล (๒) อังกฤษ พูดจาปราไสกันแล้วลากลับมาที่อยู่

วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษ เอมเปอเรอคือพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสให้รถมารับพวกราชทูต ๓ รถ มีคนแต่งตัวใส่ หมวกติดสายแถบทองเปนคนขับรถคน ๑ ยืนท้ายรถ ๒ คน ไปที่วังชื่อ ลิปาลิศเดศตูวิลิริศ ราชทูตคอยอยู่จนบ่าย ๒ โมง เอมเปอเรอ กับเอมเปเรศ ซึ่งเปนพระมเหษีเกี่ยวพระกรเสด็จมาด้วยกัน (๓) มีขุนนาง นำ ๔ คู่ เอมเปอเรอแต่งพระองค์อย่างนายทหาร ทรงฉลองพระองค์ดำกางเกงแดง แต่เอมเปรศนั้นแต่งตามธรรมเนียม พวกราชทูตพร้อม กันยืนขึ้นคำนับ เอมเปอเรอแลเอมเปรศเสด็จมายืนตรัสด้วยพวกราชทูต อยู่ประมาณ ๕ นาฑี แล้วเสด็จกลับไป ราชทูตก็กลับมาโฮเต็ลที่พัก

รุ่งขึ้นพวกราชทูตไปดูที่ฝังศพแนบโปเลียนบูนะปาต อยู่ในวัดใหญ่แนบโปเลียนบูนะปาตคนนี้ได้เปนกษัตริย์ครองกรุงฝรั่งเศส เปนลุงของ พระเจ้าฝรั่งเศสองค์นี้ แต่ศพยังหาได้ฝังไม่ ใส่หีบตั้งไว้ในห้องแห่ง ๑ หลุมที่จะฝังนั้นขุดลงไปลึกได้ประมาณ ๓ วา กว้างประมาณ ๔ วา ตามข้างหลุมก่อด้วยศิลาขาว ที่สำหรับใส่ศพตั้งอยู่กลาง ประดับด้วย โมราดำ แต่การที่ทำยังหาสำเร็จไม่ (๔)

วันอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์พาจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ หม่อมราโชไทย นายพิจารณ์สรรพกิจ ไปเยี่ยมเจ้าแลขุนนาง ผู้ใหญ่ในเมืองปารีศแทนราชทูต อุปทูต (๕)

วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง มิศเตอร์ เฟาล์นำพวกราชทูตไปขึ้นรถไฟออกจากเมืองปารีศ ครั้นถึงเวลาบ่าย เวลาค่ำหยุดพักกินอาหารที่โฮเต็ลตามระยะทาง รุ่งขึ้นวันศุกรเดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ ถึงท่าเมืองมาเซล์ เปนเมืองขึ้นแก่ ฝรั่งเศส ทาง ๘๐๐ ไมล์ คือ ๓๖๐๐๐ เส้น มิศเตอร์เฟาล์จงให้พวก ราชทูตขึ้นพักอยู่บนโฮเต็ล ชื่อเดศโกโลนิศ แล้วจึงเชิญให้ไปเยี่ยม เจ้าเมือง แลแอดมิรัล จนเวลาเย็นจึงกลับมาที่สำนัก กินอาหารเสร็จ แล้วก็พร้อมกันมาลงเรือกลไฟชื่อกาเรดอก ซึ่งเคยรับราชทูตไปส่ง เมืองปอรด์สมัท เมื่อมานั้นมิศเตอร์เฟาล์ก็ตามลงมาส่งถึงกำปั่นด้วย แล้วจึงลากลับไป

วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ กำปั่น กาเรดอกได้ใส่ไฟใช้จักรออกจากท่าเมืองมาเซล์ วันจันทร์เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ บ่ายโมง ๑ ถึงสิกสิลี เปนชื่อฝั่ง ขณะนั้นสุริยอุปราคาจับข้าง ทิศพายัพ เวลา ๘ ทุ่มถึงเมืองมอลตา รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมงเศษ เจ้าเมืองให้จัดเรือโบต ๓ ลำมารับพวกราชทูต เมื่อราชทูตลงจากกำปั่น แล้วที่บนป้อมหน้าเมืองยิงปืนใหญ่สลูตรับ ๑๙ นัด ครั้นถึงฝั่งมีรถมา คอยรับอยู่ ๓ รถ พวกราชทูตก็ขึ้นรถไปหาเจ้าเมือง พูดจาไถ่ถาม สุขทุกข์กันแล้ว เจ้าเมืองจึงว่า ค่ำวันนี้ทุ่ม ๑ ขอเชิญท่านทั้ง ๖ คน มากินโต๊ะกับข้าพเจ้า ราชทูตรับคำแล้วลามาโฮเต็ล บ่าย ๒ โมงจึงพา กันไปบ้าน เลอรด์ไลออนส์เปนที่แอดมิรัล (ผู้บัญชาการทหารเรือ) ถึง เวลาทุ่ม ๑ ก็พร้อมกันขึ้นรถไปกินโต๊ะที่บ้านเจ้าเมือง สำเร็จแล้วก็ลากลับ มาโฮเต็ล รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมง เจ้าเมืองกับแอดมิรัลแลขุนนางฝ่ายทหาร อีก ๕ คนมาเยี่ยมราชทูตที่โฮเต็ล

วันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ แอดมิรัลกับขุนนางรองมาหาราชทูตแล้วมอบล่ามคน ๑ ให้มาส่งราชทูตด้วยจนถึงท่าเมืองสุเอศ ครั้นแอดมิรัลลากลับไปแล้ว พวกราชทูตพร้อมกันมาลงเรือโบตที่ท่า เมอเรือจะออก จากท่านั้นบนป้อมให้ยิงสลูตส่ง ๑๙ นัด เวลา ๕ โมงเช้า กำปั่นกาเรดอก ได้ออกจากที่ทอดสมอเมืองมอลตา

วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ ถึงเมือง อาเล็กซันเดอ เจ้าเมืองให้จัดเรือโบตมารับพวกราชทูต ๓ ลำ แล้วเชิญ ให้ขึ้นพักอยู่ในวัง ชื่อมูแซเฟียฮอเนอ อาเล็กซันเดรีย แลขุนนาง ผู้ใหญ่ในเจ้าไกโรคน ๑ มาต้อนรับราชทูต แล้วแจ้งความว่าเจ้าไกโร ไม่อยู่ ขึ้นไปธุระข้างปลายน้ำ เห็นจะช้าอยู่สัก ๔-๕ วันจึงจะกลับมา เมื่อเจ้าไกโรจะไปได้สั่งไว้ว่า ถ้าพวกราชทูตไทยมาถึงแล้วให้รับรอง เหมือนอย่างแต่ก่อน แล้วให้ขุนนางมารับใช้อยู่คน ๑ ถ้าพวกราชทูต จะปราร์ถนาสิ่งใด ก็ให้ดูจัดแจงให้ แล้วสั่งว่า ถ้าพวกราชทูตจะใคร่ พบกันกับเจ้าไกโร ขอเชิญคอยสัก ๔-๕ วัน ราชทูตตอบว่า หยาก จะพบกับเจ้าไกโรอยู่ แต่จะรอช้าวันนั้นไม่ได้ ด้วยกลัวกำปั่นรบจะมา คอย ขุนนางในเจ้าไกโรจึงว่า ถ้าท่านจะไปเมื่อไร เจ้าไกโรสั่ง ไว้กับขุนนางล่ามคน ๑ ให้ตามไปส่งจนถึงกำปั่นรบด้วย พูดกัน เท่านั้นแล้วก็ลาไป ราชทูตพักอยู่ที่วัง ๓ คืน

วันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงพร้อมกันขึ้นรถไฟไปจนบ่าย ๔ โมงเศษถึงเมืองไกโร เจ้าพนักงานจัดรถมารับมีทหาร ขัดกระบี่ขี่ม้านำหน้าคู่ ๑ ตำรวจเดินถือหวายคู่ ๑ นำไปส่งถึงโฮเต็ล ชื่อโอเรียนเตล ราชทูตพักอยู่ที่นั้น ถึงวันจันทร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ขุนนางล่ามที่เจ้าไกโรให้มาอยู่ด้วยนั้นมาแจ้งความว่า ที่เมืองสุเอศบอกเตลคราฟมาว่า กำปั่นรบซึ่งมารับราชทูตนั้น บัดนี้ถึงเมืองสุเอศแล้ว

รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมงครึ่ง พวกราชทูตทั้งนายแลไพร่พร้อมกันขึ้นรถไฟออกจากเมืองไกโร ไปจนบ่าย ๔ โมงครึ่ง สิ้นทางรถไฟ ๘๐ ไมล์ คือ ๓๖๐๐ เส้น ถึงที่รถเทียมม้า เจ้าพนักงานจัดให้ พวกราชทูตขึ้นรถม้าต่อไป จนเวลายาม ๑ ถึงเมืองสุเอศ ครั้นเวลาเช้ากงสุลอังกฤษอยู่ที่เมืองสุเอศมาบอกว่า กำปั่นที่มานี้มิใช่มารับราชทูต เปนกำปั่นที่มาเที่ยวหยั่งน้ำในทเลว่าที่ไหนลึกที่ไหนตื้น พวกตุรเกส่องกล้องดูเห็นเปนเรือกลไฟก็สำคัญว่าจะมารับราชทูต จึง ได้บอกเตลคราฟขึ้นไปถึงกงสุลที่เมืองไกโร ไม่รอรั้งฟังให้แน่ก่อน การอย่างนี้เปนผิดอยู่ อนึ่งเมืองนี้เปนเมืองเล็กน้อย โฮเต็ลก็คับแคบ ทั้งอาหารก็กันดาร ที่เมืองไกโรนั้นเปนเมืองใหญ่ อาหารจะบริโภคก็บริบูรณ์ ที่อยู่ที่กินก็เปนสุข ท่านจะกลับไปอยู่ที่เมืองไกโรหรือจะคอยอยู่ที่นี่ก็ตามแต่ใจ พวกราชทูตจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ซึ่งจะกลับไปกลับมานั้นจะเปนที่รำคาญใจแก่เจ้าพนักงาน ด้วยต้องรับต้องส่งบ่อย ๆ จึงบอกกับกงสุลว่าถึงจะลำบากอดหยากบ้าง ได้มาแล้วจะคอยอยู่ที่นี่กว่ากำปั่นจะมารับ กงสุลจึงว่าถ้าท่านมีธุระอย่างไร จะประสงค์สิ่งใด ขอจงใช้คนมาบอกข้าพเจ้าให้ทราบด้วย พูดกันแล้วกงสุลก็ลาไป.


(๑) การที่ราชทูตกลับทางประเทศฝรั่งเศสนั้น ปรากฎในจดหมายเหตุของ รัฐบาลอังกฤษว่า แต่เดิมรัฐบาลจะจัดให้กลับมาเรือจากเมืองอังกฤษเหมือนเมื่อขาไปราชทูตว่าเมื่อขาไปถูกคลื่นใหญ่ที่อ่าวบิศเคลำบากเต็มที่ ขากลับเปนฤดูหนาว เขาว่าคลื่นใหญ่ยิ่งกว่าขาไป ขอกลับทางประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลอังกฤษจึงจัดให้มาทางนั้น

(๒) ลอร์ดเคาเล เปนเอกอรรคราชทูตอังกฤษ มิใช่กงสุล

(๓) พระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ กับพระราชินี ยือยินี

(๔) ที่ตึก แอนเวอริด

(๕) ได้ความในรายงานมิศเตอร์เฟาล์ ว่าไปส่งก๊าศที่เจ้านะโปเลียน พระญาติ ของเอมเปอเรอ อรรคมหาเสนาบดี เสนาบดีว่าการต่างประเทศ แลเสนาบดีกระทรวงวัง


งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก