จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ/ตอนที่ 3
ตอนที่ ๓ ว่าด้วยราชทูตออกจากไกโร ไปถึงเกาะมอลตา แลเมืองยิบรอลตา เมืองไวโคแลปอร์ดสมัท
[แก้ไข]วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ บ่าย ๒ โมง ทูตานุทูตพร้อมกันมาลงกำปั่น ขณะนั้นกัปตันโอแกแลแฮนมาส่งราชทูตถึงท่าแล้ว ก็ลาคืนหลังยังเรือกลไฟเอนกวนเตอ กลับมาทางทะเลแดงอ้อมแหลมคุดโฮบไปเมืองอิงแคลนด์ คือเมืองอังกฤษ แต่กำปั่นที่มาคอยรับราชทูตมี ๒ ลำ ลำ ๑ เปนกำปั่นรบ ชื่อเดศเปอเรต ลำ ๑ เปนเรือเร็วสำหรับเจ้าแลขุนนางผู้ใหญ่(๑) ชื่อกาเรดอก ต่อด้วยเหล็กเดินเร็วถึงชั่วโมงละ ๑๒ นอด คือ ๕๔๐ เส้น ห้องที่อยู่ก็งดงาม ราชทูตเลือกเอาเรือกาเรดอก เรือนั้นจักรข้างยาว ๑๒๐ ฟิต คือ ๑๘ วา ศอกคืบ ๖ นิ้ว ปากกว้าง ๒๕ ฟิต คือ ๓ วา ๓ ศอก ๘ นิ้วกับ ๓ กระเบียด กินน้ำลึก ๘ ฟิต คือ ๔ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว กำลัง ๓๕๐ แรงม้า มีขุนนางอยู่ในเรือ ๑๐ นายทั้งกัปตัน คนเลว ๕๕ คน รวม ๖๕ คน ราชทูตแลคนใช้ลงในเรือกาเรดอกพร้อมแล กัปตันเกลเวอริง(๒) ก็ให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากท่าเมืองอาเล็กซันเดอ ไปตามทะเลชื่อเมตดิเตอราเนียน
วันพฤหัสบดีเดือน ๑๑ แรม ๑๕ ค่ำ เวลา ๘ ทุ่มครึ่ง ถึงเมืองเกาะมอลตาขึ้นแก่อังกฤษ รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมงอังกฤษเจ้าเมืองชื่อเซอวิลเลียมริด ให้เอาเรือโบต ๓ ลำมารับพวกราชทูตขึ้นไปบนตลิ่งแล้วที่ป้อมหน้าเมืองก็ยิงสลูตรับ ๑๙ นัด พวกราชทูตก็ขึ้นรถไปที่บ้านเจ้าเมือง พูดจาไต่ถามทุกข์สุขกันแล้ว เจ้าเมืองจึงพาให้พวกข้าหลวงเที่ยวดูในเรือนทุกๆ ห้อง แล้วจัดแจงเชิญราชทูตไปสำนักอยู่ที่โฮเต็ล
วันศุกร เดือน ๑๑ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าเมืองให้มาเชิญพวกราชทูตไปดูหัดทหารๆ ที่หัดวันนั้น ๒๐๐๐ คน ดูทหารแล้ว เลยไปดูอู่ จนบ่าย ๕ โมงเจ้าเมืองให้มาเชิญพวกราชทูต ๖ คนไปกินโต๊ะกับขุนนางอังกฤษ ๑๕ คน
วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ เวลาเที่ยง พวกข้าหลวงพร้อมกันไปลงเรือกาเรดอก บนป้อมหน้าเมืองจึงให้ยิงสลูตส่งราชทูต ๑๙ นัดกัปตันเกลเวอริงก็ให้ใส่ไฟใช้จักรไปจากเกาะมอลตา
วันศุกร เดือน ๑๑ แรม ๑๓ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่มถึงเมืองยิบรอเตอ รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมง กัปตันเกลเวอริงให้ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นเสากลาง ธงพระปิ่นเกล้าขึ้นเสาหน้า บนป้อมหน้าเมืองก็ยิงปืนสลูตคำนับ ๒๑ นัดอยู่ประมาณ ๑๕ นาฑี อังกฤษเจ้าเมืองชื่อเซอแยมส์เฟอรคัดซอน ให้รถ ๓ รถมารับพวกราชทูตขึ้นบนบก พวกราชทูตแต่งตัวนุ่งห่มเหมือนขึ้นที่เมืองสิงคโปร์แล้วลงจากกำปั่นไปขึ้นรถ เมื่อราชทูตจะขึ้นรถมีทหารปืนปลายหอกยืนคำนับ ๒ แถวๆ ละ ๕๐ คน ปี่พาทย์สำหรับทหาร ๔๐ คน ครั้นขึ้นรถพร้อมกันแล้วคนขับรถก็ขับรถไปถึงบ้านเจ้าเมือง เจ้าเมืองจัดแจงต้อนรับตามธรรมเนียม พูดจากันเสร็จแล้วราชทูตก็ลามาโฮเต็ลที่พัก บ่าย ๒ โมง เจ้าเมืองให้เอารถมา ๓ รถเชิญพวกราชทูตไปดูป้อม ป้อมนั้นมั่นคงแน่นหนานักด้วยเปนภูเขา ข้างในภูเขาเจาะรวงเปนอุโมงค์รอบไป ที่ในอุโมงค์กว้างประมาณ ๗ ศอก สูงประมาณ ๖ ศอก แล้วเจาะช่องปืนเปนระยะห่างกันประมาณ ๓ วาถึงข้าศึกจะยิงบ้างก็ไม่ถูกทหารบนป้อมด้วยภูเขานั้นสูง ยิงก็จะเตลิดขึ้นไปข้างบน ฝ่ายข้างบนยิงปักปลายปืนลงมาได้ถนัด ราชทูตดูป้อมแล้วไปดูหัดทหารๆ ที่หัดนั้น ๒๐๐๐ คน ที่ยิบรอเตออยู่ข้างแผ่นดินสะเปน แต่เปนเมืองขึ้นแก่อังกฤษ ตั้งอยู่ปากช่องทะเลแขงแรงคับขัน มีทหารอยู่รักษาทุกถนนพร้อมด้วยศัสตราวุธ
วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาเช้า เจ้าเมืองมาเยี่ยมราชทูตที่โฮเต็ล ไต่ถามสุขทุกข์แล้วก็ลากลับไป รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมงครึ่ง เจ้าเมืองให้รถ ๕ รถมารับพวกราชทูตไปส่งถึงท่าที่กำปั่นจอด เมื่อไปถึงท่าเมืองมีทหารยืนคำนับคอยส่งอยู่ ๒ แถวประมาณ ๑๐๐ คน มีปี่พาทย์วงหนึ่ง นายทหารใหญ่กับขุนนางลงมาส่งถึงกำปั่นหลายคน ครั้นราชทูตลงในกำปั่นแล้ว ทหารบนป้อมก็ยิงสลูต ๑๙ นัด กัปตันเกลเวอริงจึงให้ถอนสมอออกจากเมืองยิบรอเตอไป รุ่งขึ้นเช้าบังเกิดลมใหญ่พัดแรงจัดไปจนดึก เหลือกำลัง จักรข้อเสือเครื่องไฟหักออกไป กัปตันให้เอาโซ่ขันเข้าไว้มั่นคง แล้วก็ใช้ไฟต่อไป
วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษถึงเมืองไวโค(๓) อยู่ฟากฝรั่งเศสแต่ขึ้นแก่เมืองโปตุกัล กัปตันเห็นลมพัดกล้าอยู่จึงให้แวะเข้าทอดสมอพักอยู่ที่หน้าเมือง แล้วจะได้เอาถ่านศิลาเติมด้วย เมื่อกำปั่นเข้าพักอยู่เจ้าเมืองแลขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนก็ลงมาเยี่ยมราชทูตถึงในกำปั่น
วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้าออกจากเมืองไวโค
วันอังคาร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลายามหนึ่งถึงท่าเมืองปอร์ดสมัท เปนท่าขึ้นที่จะไปลอนดอน แต่เรือยังไม่ได้เข้าประทับท่า ด้วยเปนเวลากลางคืน กัปตันให้ทอดสมอลงห่างตลิ่งประมาณ ๑๕ เส้น รุ่งขึ้นเวลาเช้ากัปตันเกลเวอริงให้ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นเสากลาง ธงพระปิ่นเกล้าขึ้นเสาหน้า ธงอังกฤษอยู่ข้างท้าย ประมาณครึ่งชั่วโมงแอดมิรัลแม่ทัพเรือ(๔) จึงลงมาเยี่ยมถามข่าวราชทูตที่ในกำปั่น แล้วแจ้งความว่ากวีนมีรับสั่งมาว่า ถ้าราชทูตไทยมาถึงเมื่อไรก็ให้จัดแจงรับโดยอย่างยิ่ง จะได้เปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้ากรุงสยาม ด้วยพระเจ้ากรุงสยามกับพระเจ้ากรุงลอนดอนนี้ มีพระทัยรักกันเหมือนพระญาติพระวงศ์อันสนิท แต่จะรับให้เหมือนไทยนั้นไม่ได้ ด้วยของที่ใช้แลเครื่องแห่แหนไม่เหมือนกัน จะต้องรับตามธรรมเนียมข้างยุโรป แล้วแอดมิรัลเล่าความว่า กวีนรับสั่งให้ประกาศว่า ที่ทางแห่งใดๆ ซึ่งเปนที่ต้องห้ามแลเปนที่ต้องเสียเงินจึงจะดูได้ ถ้าพวกราชทูตไทยปราร์ถนาจะดูก็ให้ดูได้โดยสดวก อย่าให้ห้ามปรามขัดขวางเลย แล้วแอดมิรัลก็ลากลับไป กัปตันเกลเวอริงจึงให้ถอยกำปั่นเข้าไปเทียบท่าทหารบนป้อมก็ยิงปืนใหญ่สลูต ๑๙ นัด เวลาเช้า ๔ โมง แอดมิรัลจึงพาอังกฤษคนหนึ่งลงมาหาราชทูตแล้วบอกว่า เลอรด์กลาเรนดอน ให้ข้าพเจ้านำคนนี้ ชื่อมิศเตอร์เฟาล์(๕) มาอยู่ด้วยท่าน จะได้ปรนิบัติรับกิจการธุระทั้งปวง ด้วยคนนี้รู้ธรรมเนียมข้างอินเดีย ได้เคยไปอยู่เมืองพม่าถึง ๑๘ ปี บอกเท่านั้นแล้วแอดมิรัลก็ลากลับ สั่งให้ทอดตะพานปูผ้าแดงมีราวสองข้างลงมาจนถึงกำปั่น เวลาเช้า ๔ โมงเศษ ราชทูตได้เชิญพระราชสาส์นขึ้นจากกำปั่นกาเรดอก แอดมิรัลให้ยิงสลูตคำนับธงพระจอมเกล้า ๒๑ นัด มีทหารถือปืนยืน ๒ แถวๆ ละ ๖๐ คน ปี่พาทย์วงหนึ่ง ๒๐ คน พวกราชทูตพร้อมกันทั้ง ๖ คน ขึ้นรถไปบ้านแอดมิรัลๆ จึงเชิญพวกราชทูตกินโต๊ะกับขุนนางอังกฤษ ๑๗ คน แล้วให้พวกราชทูตไปอยู่ที่โฮเต็ลคืนหนึ่ง (๖)
เชิงอรรถ
[แก้ไข](๑) เรืออย่างนี้เรียว่าเดสแปดชโบต
(๒) นายนาวาตรี เกลเวอริง รับทูตไปคราวนี้เปนเหตให้คุ้นเคยชอบพอกันมากเมื่อไปถึงเมืองอังกฤษ ทูตขอต่อรัฐบาลให้มาเปนผู้อยู่กับทูตอีกคนหนึ่ง
(๓) เมืองไวโค เปนเมืองท่าแห่งหนึ่งในโปรตุกอล อยู่ห่างฝรั่งเศส
(๔) นายพลเรือเอก เซอยอชสีมัว เปนผู้บัญชาการทหารที่เมืองปอรด์สมัท
(๕) มิศเตอร์เอดวาดเฟาล์คนนี้ เดิมเคยอยู่ทางประเทศพม่า รัฐบาลอังกฤษหาคนสันทัดธรรมเนียมไทยให้มาอยู่กับทูตไม่ได้ จึงเลือกมิศเตอร์เฟาล์ ซึ่งเข้าใจขนบธรรมเนียมพม่า ด้วยเข้าใจว่าธรรมเนียมพม่าก็จะคล้ายๆ กับไทย ด้วยเปนประเทศใกล้ชิดกัน มิศเตอร์เฟาล์นี้ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้เปนหลวงสยามนุเคราะห์ ตำแหน่งกงสุลสยามณเมืองร่างกุ้ง อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕
(๖) ในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า เมื่อแอดมิรัลเลี้ยงกลางวันแล้ว พาทูตไปดูอู่กำปั่นหลวงแล้วจึงไปส่งที่โฮเต็ลชื่อยอช เวลาค่ำวันนั้นจัดให้ทูตไปดูละคอนพูดที่โรงชื่อว่า ทิเอเตอรอแยล เล่นเรื่องยิวเวส
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
- (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
- (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก