ข้ามไปเนื้อหา

จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ/ตอนที่ 6

จาก วิกิซอร์ซ

ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระนางเจ้าเชิญราชทูตไปเลี้ยงโต๊ะ

[แก้ไข]

วันจันทร์เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ เลอรด์ชันบันให้หนังสือมาว่าสมเด็จพระนางเจ้ารับสั่งว่า จะเลี้ยงโต๊ะแล้วจะเสวยร่วมโต๊ะเดียวกันด้วย ให้เชิญราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชทัย ไปกินโต๊ะที่วังวินด์เซอณวันพุธ เวลา ๒ ทุ่ม

ครั้นถึงวันพุธ เดือนอ้ายขึ้น ๙ ค่ำ บ่าย ๕ โมงเจ้าพนักงานจัดรถเทียมม้า ๓ รถมารับราชทูตไปถึงที่รถไฟ ก็ขึ้นรถไฟไปตามทาง ๓๒ ไมล์ คือ ๑๐๓๕ เส้นถึงที่พัก เจ้าพนักงานจึงเชิญขึ้นรถม้าต่อไป เวลาย่ำค่ำกับ ๓๖ นาฑีถึงวังวินด์เซอมิศเตอร์เฟาล์จึงเชิญราชทูตไปอยู่ห้องที่พัก ครั้นเวลาเกือบ ๒ ทุ่มจึงนำราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชทัย ขุนจรเจนทเลล่าม ไปคอยอยู่ในห้องแห่งหนึ่ง เปนทางที่กวีนจะเสด็จ มิศเตอร์เฟาล์จึงบอกราชทูตว่า ถ้ากวีนเสด็จมาถึงที่แล้วก็จะก้มพระเศียรลง ให้พวกราชทูตก้มลงทุก ๆ คน ถึงเวลา ๒ ทุ่ม กวีนกับ ปรินสอาลเบิต เจ้าหญิงลูกเธอองค์ใหญ่ชื่อปรินสเสศรอยัล เจ้าชายลูก เธอที่สองชื่อปรินสเวลส์ แลเจ้าซึ่งจะมาเปนบุตรเขย ชื่อปรินสเฟรดดริก วิลเลียม กับดัชเชสเก็นต์มารดาของกวีน อีกพระญาติพระวงศ์ประมาณ ๙ คน ๑๐ คนตามเสด็จด้วย ครั้นถึงห้องที่พวกราชทูตยืนอยู่กวีนก็ก้มพระเศียรลง พวกราชทูตแลขุนนางอังกฤษก็ก้มลงตามทุกคน กวีนจึงเลยเสด็จไปที่ห้องเลี้ยงโต๊ะ ราชทูตกับขุนนางทั้งปวงก็ตามเสด็จ ไป กวีนจึงเสด็จนั่งลงที่เก้าอี้กลาง ตรงกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต ต่อไปข้างซ้ายเลอรด์กลาเรนดอนนั่งตรงกับปรินสเฟรนดดริก วิลเลียม ถัดไปเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีอุปทูต นั่งตรงกับปรินสเสศรอยัล ฝ่ายขวาจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูต นั่งตรงกับปรินสอาลเบิต ต่อมา หม่อมราโชทัย นั่งตรงกับดัชเชสเก็นต์มารดาของกวีน แต่ขุนจรเจนทเลเลอรด์กลาเรนดอนให้นั่งอยู่ข้างหลังคอยเปนล่าม เมื่อกินโต๊ะอยู่นั้นกวีน หาได้ตรัสประการใดด้วยราชทูตไม่ จนเสวยแล้วก็เสด็จจากเก้าอี้ก ลับไป พวกราชทูตแลขุนนางอังกฤษต้องยืนขึ้นก้มศีร์ษะคำนับทุกคน

กวีนจึงเสด็จไปประทับอยู่ห้องแห่งหนึ่ง แล้วรับสั่งให้ขุนนางมาเชิญราชทูตไปเฝ้าในที่นั้น เมื่อพวกราชทูตไปถึง จึงพร้อมกันก้มศีร์ษะ ลงคำนับ กวีนก็เสด็จมายืนตรงหน้าราชทูตตรัสถามว่า ท่านมาตามทาง มีความสบายอยู่ฤๅ ราชทูตทูลว่ามีความสุขสบายมาก กวีนจึงรับสั่งว่า เราได้ยินคำว่าสบายนั้นเรามีความยินดีนัก แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้า อุปทูตตรัสถามว่า พระเจ้าอยู่หัวที่หนึ่งในกรุงสยามทรงสบายอยู่ฤๅ อุปทูตทูลว่าทรงสบายอยู่ แล้วตรัสถามว่า ท่านไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ เปนแต่ได้ทรงเลี้ยงมาฤๅ อุปทูตก็รับสั่ง แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้าตรีทูต ตรัสถามว่า พระเจ้าอยู่หัวที่สองในกรุงสยามทรงสบายอยู่ฤๅ ตรีทูต ทูลว่า ทรงสบายอยู่ แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้าหม่อมราโชไทยตรัสถามว่าท่านพูดอังกฤษได้ฤๅ หม่อมราโชไทยทูลว่าพูดได้เล็กน้อย แล้ว รับสั่งถามว่า ท่านเรียนในเมืองไทยฤๅไปเรียนที่อื่น หม่อมราโชไทย ทูลว่าเรียนในเมืองไทย แล้วผันพระพักตร์ไปรับสั่งด้วยมิศเตอร์เฟาล์แลกัปตันเวอริงแล้วก็เสด็จกลับไป ปรินสอาลเบิตจึงเสด็จมาจับมือราชทูต ทั้ง ๓ กับหม่อมราโชไทย แล้วตรัสไถ่ถามถึงทุกข์สุขเสร็จแล้วก็เสด็จกลับไป ลูกเธอเจ้าหญิงใหญ่ เจ้าชายรอง เจ้าหญิงที่ ๓ จึงเข้ามา พูดจาแล้วก็หลีกออกไป เจ้าเฟรดดริกวิลเลียมจึงเข้ามาพูดต่อภายหลัง

ครั้นเสร็จแล้วกวีนจึงเสด็จไปอยู่ในห้องอีกแห่งหนึ่ง รับสั่งให้หาราชทูตที่ ๓ หม่อมราโชไทยไปเฝ้า กวีนโปรดให้นั่งบนเก้าอี้พระ ราชทานน้ำชากาแฟ ให้นั่งกินร่วมโต๊ะเดียวกัน พูดจาถามไถ่กัน ไปมาตามธรรมเนียม แล้วรับสั่งให้มีมโหรีอังกฤษให้ทูตานุทูตฟัง

ถึงเวลา ๕ ทุ่ม กวีนเสด็จขึ้น ราชทูตก็พากันกลับมาห้องที่พัก นอนค้างอยู่ที่วังวินด์เซอคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเช้า ๓ โมงปรินสอาลเบิตจึงพา เจ้าลูกเธอ ๙ องค์มารับของซึ่งพระราชทานออกไปแต่กรุงเทพ ฯ แต่ กวีนหาได้เสด็จมาด้วยไม่ ปริสอาลเบิตกับเจ้าราชบุตรรับของ แลตรัส ด้วยราชทูตแล้วก็ลากลับไป เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พวกราชทูตกินอาหาร เสร็จแล้วก็กลับมาจากวังวินด์เซอ ถึงโฮเต็ลที่พักในเมืองลอนดอน

วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ พวกราชทูตไปดูโรงหมอใหญ่ ชื่อกัลเลชออฟซาเยนส์ (๑) ที่ในโรงหมอสูงประมาณ ๑๐ วา กว้าง ๒ เส้น ทำเปน ๔ ชั้น มีกระดูกคนทั้งชายทั้งหญิงแลเด็ก แลกระดูกคนโบราณสูง ๘ ศอก (๒) กระดูกสัตว์ต่าง ๆ ก็มีมาก กระดูก เหล่านั้นเอามาลำดับ แล้วผูกด้วยลวดให้เปนรูปยืนอยู่ บางทีเอารูป ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ตาย รูปร่างวิปลาศผิดกับมนุษย์ ธรรมดาไม่เคยมี หมอเห็นว่าทารกนั้นสิ้นชีวิตแล้ว จึงเอามาใส่ในขวด แช่เหล้าไว้ บางทีก็เอาสัตว์ที่ประหลาดมาแช่ บางทีเปนของที่เกิดในตัวมนุษย์บ้าง แต่ขวดที่แช่ของเหล่านั้นเหลือที่จะประมาณ มากมายนัก

ดูในโรงหมอแล้วจึงไปดูที่ทำเงิน ตึกที่ทำเงินชื่อ รอยัลมิน (๓) ในนั้นใช้เครื่องกลไฟทำเร็วยิ่งกว่าคนทำด้วยมือหลายเท่า การที่ทำ ครั้นจะพรรณาก็จะมากมายยืดยาวนัก

ดูที่ทำเงินแล้ว จึงไปดูที่แห่งหนึ่งชื่อเตาเวอ เปนตึกใหญ่มีรูปทหารขี่ม้าใส่เกราะเหล็กถืออาวุธต่าง ๆ มีเครื่องสำหรับฆ่าคนอย่างเก่า แต่โบราณ แลเครื่องสำหรับพันธนาการจำจอง มีห้องที่ขังเจ้านาย ซึ่งทำความผิด แล้วเจ้าพนักงานนำขึ้นไปดูชั้นบนที่ไว้เกราน์ สมมุติว่ามงกุฎของกวีน กับเครื่องทรงอิกหลายอย่าง แลเพ็ชรเม็ดใหญ่ประมาณ เท่าฟองนกพิราบ ครั้นดูทั่วแล้วก็กลับมาโฮเต็ล

วันอังคารเดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำ เจ้าพนักงานนำราชทูตไปดูวัง ชื่อบักกิงฮัม เปนที่กวีนเสด็จอยู่(ในเมืองลอนดอน)เมื่อฤดูร้อน ทำ เปนตึกหลังเดียว ประมาณยาว ๓ เส้น กว้าง ๒ เส้น สูง ๑๐ วา ทำ เปน ๔ ชั้น มีรั้วเหล็กล้อมรอบ เมื่อไปถึงวังมีผู้หญิงคนหนึ่งออกมานำ ราชทูตเที่ยวดูทุกห้อง เว้นแต่ห้องที่บรรธมห้องเดียว ในที่นั้นมีห้อง มากกว่าร้อยห้อง ชื่อต่าง ๆ กันทั้ง ๔ ชั้น กั้นเปนห้องใหญ่ห้องเล็ก ลดเลี้ยวสนุก งามด้วยลวดลายระบายเขียนแลลายปั้น แล้วเอาศิลา อ่อนมาทำเปนรูปมนุษย์แลรูปสัตว์ต่าง ๆ วางตั้งไว้เปนอันมาก เครื่อง แต่งห้องก็ต่างกัน พื้นทำด้วยไม้ลายบ้าง ปูพรมบ้าง ฝาปิดกระดาษ ทำเปนลายศิลาบ้าง ลายทองบ้าง เก้าอี้แลโต๊ะเครื่องใช้ก็ต่างกันทุกห้อง ห้องที่เรียกว่าแพรเขียว เบาะหมอนก็ล้วนไปด้วยแพรเขียว ที่เรียก ห้องแพรเหลือง ก็ล้วนแต่แพรเหลืองสิ้นทั้งนั้น ที่เรียกแพรอันใด เบาะ แลหมอนก็ทำด้วยแพรอันนั้น มีเครื่องใช้ประจำอยู่ทุกห้อง ถ้าเสด็จอยู่ ห้องไหนก็ใช้ของห้องนั้น ไม่ได้เอาของห้องนี้ไปใช้ห้องโน้น ของทั้งปวง ล้วนต่าง ๆ หลายอย่างหลายชนิด สุดที่จะพรรณาให้ถ้วนถี่ ราชทูต ดูรอบแล้วก็กลับมาโฮเต็ล


(๑) วิทยาลัยสอนวิชาแพทย์

(๒) จะเปน ๘ ฟิตมิใช่ศอก

(๓) คือดูโรงกระสาปน์ ด้วยทูตไปคราวนั้น โปรดให้ไปว่าซื้อเครื่องจักรเข้ามาตั้งโรงกระสาปน์ในกรุงเทพ ฯ ด้วย ปรากฎว่าได้เครื่องพิมพ์เงินเหรียญเปนของรัฐบาล อังกฤษจัดถวายมาส่วน ๑ นอกนั้นว่าซื้อเครื่องจักรที่ห้างชื่อ เตเลอ เมืองเบอมิงฮัม เครื่องจักรนั้นที่มาตั้งโรงกระสาปน์แรก


งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก